posttoday

สปท.เร่งผลงานทิ้งทวน เอาใจ"คสช."จองตั๋ว เก้าอี้ใหม่

17 พฤษภาคม 2560

นับจากนี้จึงน่าจะได้เห็นการเร่งทำผลงานของ สปท.อย่างแข็งขัน เมื่ออำนาจการสรรหาบุคคลมารับตำแหน่งต่อไปล้วนแต่อยู่ในมือของ คสช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางตามโรดแมปคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้ามาจนถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญกับการวางกฎกติกาปูทางไปสู่การเลือกตั้ง และการส่งไม้ต่อไปยังกลไกต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสานต่องาน “ปฏิรูป” และ “ปรองดอง” ให้เดินหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ

ไม่แปลกที่จะเห็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ​ (สปท.) ออกมาเร่งสร้างผลงานในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดวาระ ทั้งการเร่งสรุปข้อเสนอ แผนปฏิบัติ ตลอดจนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

ที่น่าสนใจคือบรรดาข้อเสนอของ กมธ.แต่ละชุดของ สปท. ซึ่งเสนอขึ้นมานั้นดูจะสอดคล้องไปกับความต้องการของ คสช. ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จนมองว่าเป็นการรับลูกออกมาขับเคลื่อน หรือ เอาใจ คสช.ในการเป็นต้นทางชงเรื่องเข้าสู่กระบวนการดำเนินการต่อไป

ล่าสุดกับความเคลื่อนไหวของ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน ​ออกมาผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อจัดระเบียบการสื่อสารในสังคมออนไลน์

ที่กำลังเป็นประเด็นถูกถล่มเรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถือเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของทางรัฐบาล คสช.​จากก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามผลักดันซิงเกิ้ลเกตเวย์ เพื่อสะดวกต่อการเข้าไปตรวจสอบควบคุมแต่ถูกกระแสคัดค้านจนต้องชะลอการเดินหน้าออกไป

ก่อนหน้านี้ กมธ.ชุดดังกล่าว เคยออกมาจุดประเด็นเดินหน้า พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือที่ถูกเรียกว่า พ.ร.บ.คุมสื่อนำไปสู่กระแสต่อต้านคัดค้าน ทำให้ กมธ.ต้องยอมปรับแก้เนื้อหาในบางส่วน ทั้งเรื่องการขึ้นทะเบียนสื่อ รวมทั้งประเด็นโทษ ปรับ และจำคุก ​ซึ่งถูกถล่มว่าเป็นลิดรอนสิทธิเสรีสื่อมวลชน

ไม่ต่างจาก กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่เสนอ​ให้รัฐบาลตั้งโรงเรียนการเมืองเพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย​ ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แม้จะไม่มีการเสนอเรื่อง “นิรโทษกรรม” แต่มีแนวคิดเสนอให้ใช้เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และกระบวนการให้โอกาสทางคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด อาทิ การรอลงอาญา การถอนฟ้อง การจำหน่ายคดีชั่วคราวแลกกับการไม่ไปปลุกม็อบสร้างความวุ่นวาย นำมาใช้ในคดีความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ทั้งการปิดสนามบิน การยึดทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ครอบคลุมถึงความผิดทุจริตมาตรา 112 และเรื่องความมั่นคง

แถมล่าสุด ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งได้ถ่ายโอนอำนาจไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. ออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปจำนวน 36 ฉบับ จากทั้งหมด 27 วาระ

อาทิ กฎหมายเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กฎหมายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กฎหมายบริหารจัดการสุขภาพ กฎหมายจัดตั้งธนาคารที่ดิน กฎหมายการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต และกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

เมื่อมองในภาพรวมจะเห็น “จิ๊กซอว์” ที่นำมาปะติดปะต่อเห็นการเคลื่อนไหวในภาพรวมที่กำลังเร่งขับเคลื่อนในช่วงนี้

อีกด้านยังสะท้อนภาพการเร่งทำผลงานบรรดาสมาชิก สปท.ที่ใกล้จะครบวาระ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำคะแนนหวังให้เข้าตา คสช. เพื่อถูกดึงตัวมาทำงานในตำแหน่งอื่นที่จะเกิดขึ้นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สว.ชุดใหม่ ที่เป็นยาว 5 ปี แถมมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี หรือยังมีตำแหน่งคณะทำงานด้านยุทธ์ศาสตร์และปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ไม่ต่างจากเมื่อครั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ใกล้หมดวาระ ช่วงที่ต้องลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เริ่มเห็น สนช. หลายคนออกมาเร่งทำคะแนน และหลายคนก็ได้รับแต่งตั้งเป็น สปท.ในเวลาต่อมา

หรือก่อนหน้านี้ เมื่อ กมธ.การเมือง สปท.ออกมาชงประเด็นเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยช่วยจัดการเลือกตั้ง จน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแซวว่าเป็นไอ้ห้อยไอ้โหนสอพลอผู้มีอำนาจหวังรับตำแหน่ง 

นับจากนี้จึงน่าจะได้เห็นการออกมาเร่งทำผลงานของบรรดา สปท.อย่างแข็งขัน เมื่ออำนา​จการสรรหาบุคคลมารับตำแหน่งต่อไปล้วนแต่อยู่ในมือของ คสช.