posttoday

‘เรือดำน้ำ’ ของแสลง สลัดหนีไม่พ้น

10 พฤษภาคม 2560

ดูเหมือนว่าเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกสะกิดเรื่อง โครงการซื้อเรือดำน้ำ ทีไร มักจะทำให้เพดานทางอารมณ์ที่เคยสูงกลับลงมาต่ำอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ดูเหมือนว่าเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกสะกิดเรื่อง โครงการซื้อเรือดำน้ำ ทีไร มักจะทำให้เพดานทางอารมณ์ที่เคยสูงกลับลงมาต่ำอีกครั้ง ไม่ต่างอะไรกับการโดนจี้ใจดำ

ล่าสุด เมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามท่าทีของนายกฯ ภายหลัง “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการลงนามซื้อเรือดำน้ำกับจีน อาจขัดรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่านายกฯ มีอารมณ์บ่จอยอย่างเห็นได้ชัด

“จะเข้ามาตราอะไรก็เข้าไป ไม่รู้ ไปว่ากันตามกฎหมาย ผมขี้เกียจพูดแล้ว อย่ามาพูดกับผมเรื่องเรือดำน้ำอีก ไม่เคยเข้าใจอะไรเลย จะไปว่าอะไร ก็ว่ามา” คำพูดที่สะท้อนถึงอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์

ต้องยอมรับก้าวย่างของศรีสุวรรณมีความน่าสนใจพอสมควร เพราะเป็นภาคประชาชนเพียงไม่กี่คนที่ออกมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภายหลังองค์กรอิสระหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกมาการันตีว่าโครงการนี้โปร่งใส ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติโครงการไปได้ไม่เท่าไร

“ได้ตรวจสอบเอกสารลับในเรื่องความจำเป็นที่ต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ยังไม่มีอะไรที่เป็นสาระสำคัญทำให้ สตง.ท้วงติงให้ทบทวนได้

เพราะกระบวนการขั้นตอนดำเนินการมีการเปรียบเทียบคุณสมบัติเรือดำน้ำของแต่ละประเทศ มีคณะกรรมการมาคัดเลือก สรุปคุณสมบัติ ความเหมาะสมด้านราคา ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจพบว่าไม่มีอะไรที่แพง” คำยืนยันความโปร่งใสเบื้องต้นจาก พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.

ดังนั้น การยื่นเรื่องให้ตรวจสอบของศรีสุวรรณ จึงไม่ต่างอะไรกับการ กระตุกหนวดเสือ ซึ่งทำให้ชายชาติทหารมีอาการหงุดหงิดอย่างเห็นได้ชัด

การดำเนินการของศรีสุวรรณในครั้งนี้ ไม่ได้ทำในลักษณะแบบสุ่มสี่สุ่มห้า โดยไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะเป็นการอ้างอิงถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวของรัฐบาลขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดซื้ออาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ มาตรา 23 ที่ระบุว่า หน่วยงานของรัฐที่จะก่อหนี้ผูกพัน จะต้องเสนอเรื่องให้ ครม.อนุมัติภายใน 60 วัน

กรณีนี้กองทัพเรือเสนอให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 18 เม.ย. 2560 ทั้งที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2559 ซึ่งถือว่าเกินเวลา 60 วัน

ขณะเดียวกัน การซื้อแบบรัฐต่อรัฐ น่าจะเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง การลงทุนของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 178 ซึ่งกำหนดให้ต้องเสนอให้รัฐสภา ในที่นี้ หมายถึง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบก่อน

เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามระบบ ทำให้กลายเป็นชนักปักหลังรัฐบาลแบบหนีไม่พ้น หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ากรณีนี้ไม่มีปัญหา ทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นย่อมหมายความว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการอนุมัติโครงการเรือดำน้ำ

ทันทีที่คำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดินถึงมือศาลรัฐธรรมนูญเมื่อไร เท่ากับว่าถึงเวลานั้นรัฐบาลต้องเผชิญกับสถานการณ์คาบลูกคาบดอกอีกครั้ง เพราะนั่นหมายถึงโอกาสแพ้ชนะมีพอๆ กัน

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ไม่ต่างอะไรกับพยัคฆ์ติดปีก เนื่องจากเป็นการรับรองความชอบธรรมให้กับโครงการอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเป็นการทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถนำประเด็นนี้มาทิ่มแทงรัฐบาลได้อีก

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาในทำนองว่ากระบวนการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ย่อมนำมาซึ่งกระบวนการตามล้างตามเช็ดของฝ่ายตรงข้ามอีกระลอกใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีอาญาเอาผิดกับการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล รวมไปถึงแรงกดดันที่ให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นด้วย เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญลงความเห็นว่ากระบวนการจัดซื้อไม่ถูกกฎหมายแล้ว โครงการที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้ก็ต้องเสียเปล่าเช่นกัน

ถ้าเป็นแบบนั้นจะไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยเผชิญมา ซึ่งบางทีอาจจะรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ จึงอย่าได้แปลกใจว่าทำไมเวลาถูกถามถึงเรื่องเรือดำน้ำแล้วบิ๊กๆ ในรัฐบาลค่อนข้างไม่สบอารมณ์เท่าไร เพราะเห็นปัญหาที่รออยู่ข้างหน้าแล้วนั่นเอง