posttoday

มรสุมรุมเร้า ฉุด คสช.ขาลง

21 เมษายน 2560

ล่าสุด ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจาก “สวนดุสิตโพล” ระบุว่า ประชาชน 29.24% เห็นว่า สถานการณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนี้ “​ค่อนข้างน่าเป็นห่วง”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ล่าสุด ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจาก “สวนดุสิตโพล” ระบุว่า ประชาชน 29.24% เห็นว่า สถานการณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนี้ “​ค่อนข้างน่าเป็นห่วง” มีเพียง 26.49% ที่เห็นว่า “ยังไม่น่าเป็นห่วง” สอดรับกับ “ความเชื่อมั่น” ของรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ​

​ที่สำคัญห้วงเวลานับจากนี้จนถึงการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 รัฐบาล คสช.จะต้องเผชิญหน้ากับ “มรสุม” หลายลูกที่ถาโถมใส่อย่างต่อเนื่องและมีแต่จะฉุดให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น

เรื่องแรกปัญหาเศรษฐกิจที่ยังรุมรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีวี่แววว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างที่สังคมคาดหวังจนถึงขั้นมีกระแสเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายและปรับ ครม.ยกเครื่องทีมเศรษฐกิจกันใหม่

ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.​ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบาย ลด แลก แจก แถม และการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านภาคส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

รวมไปถึงเมกะโปรเจกต์ที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน​หวังว่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจชดเชยการค้า การลงทุน ทั้งจากในและนอกประเทศที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง​

ทว่า ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมายังไม่อาจปลุกเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง แถมเมื่อผลพวงลุกลามไปถึงปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนของชาวบ้านจึงทวีความรุนแรงย้อนกลับมาเป็นแรงกดดันรัฐบาล คสช.หนักขึ้นอีกขั้น

ไม่แปลกที่รัฐบาลจะรีบออก “แพ็กเกจ” เอาใจรากหญ้า ทั้งพักชำระหนี้และดอกเบี้ยชาวนา 2 ปี เพิ่มเบี้ยคนชราจาก 600 บาท/เดือน เป็นรายละ 1,200-1,500 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน รวมทั้งการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อจะได้จัดสวัสดิการมาตรการช่วยเหลือต่อไป

สอดรับไปกับสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะไม่ปรับ ครม. เศรษฐกิจ เพราะมองมิติเศรษฐกิจอยู่หลายด้าน และให้ความสำคัญกับ​ระดับฐานรากหลายล้านคนที่จะต้องพัฒนาให้มีรายได้สูงขึ้น

เรื่องที่สองปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่กลับมารุนแรงอีกรอบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้สถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้น จนล่าสุดเมื่อค่ำวันที่ 19 เม.ย. คนร้ายก่อเหตุความไม่สงบในหลายจุดทั้งระเบิดที่ จ.ปัตตานี ระเบิดและยิงใส่จุดตรวจที่ จ.นราธิวาส เหตุระเบิด และลอบยิงเจ้าหน้าที่ จ.สงขลา ​

สวนทางกับความพยายามเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ที่มีความคืบหน้าตามลำดับ สอดรับไปกับจำนวนสถานการณ์ความรุนแรงที่ลดลงไปเป็นบางช่วง แต่ก็มีแรงกระเพื่อมก่อตัวขึ้นเป็นระยะ

แน่นอนว่าเหตุความรุนแรงที่กลับมาเกิดบ่อยขึ้น นอกจากจะสะท้อนให้เห็น​ปัญหาในกระบวนการแก้ปัญหาแล้ว อีกด้านยังสะท้อนว่าความพยายามจะใช้กลไกการพูดคุยสันติอาจไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาอย่างที่รัฐบาล คสช.ต้องการ

ยิ่งหากยังไม่มีความชัดเจนว่าเส้นทางการแก้ปัญหาที่กำลังเดินหน้าต่อไปนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จได้จริงด้วยแล้วย่อมทำให้แรงกดดันที่เกิดขึ้นเพิ่มมากขึ้นทุกครั้งที่เกิดเหตุความรุนแรง

เรื่องที่สามมาตรการบังคับใช้กฎหมายห้ามโดยนั่งท้ายรถกระบะ รวมไปถึงแค็บหลังคนขับที่นำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ถึงขั้นทำให้รัฐบาลต้องทบทวนและตัดสินใจผ่อนปรนการบังคับใช้ออกไปในช่วงสงกรานต์​ และอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

​ล่าสุด ​วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะมีการหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมการขนส่งทางบกในวันที่ 21 เม.ย.นี้ เพื่อประเมินการบังคับใช้กฎหมายต่อไป

ปัญหาอยู่ที่มาตรการดังกล่าวที่รัฐบาลคิดว่าจะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางท้องถนน แต่อีกด้านหนึ่งกลับไปสร้างภาระและกระทบกับการใช้ชีวิต และประกอบอาชีพของคนจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงการพิจารณาที่ไม่รอบคอบ รอบด้าน อันจะกระทบต่อไปถึงความเชื่อมั่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ปัจจัยเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข​​ย่อมมี แต่จะฉุดให้ คสช.อยู่ในช่วงขาลงต่อไป