posttoday

เร่งเครื่องโรดแมปปฏิรูป เดิมพันสุดท้าย คสช.

19 เมษายน 2560

นี่ถือเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของรัฐบาล คสช. ที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่เสียของ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทาง “ปฏิรูป” กำลังถูกส่งไม้ต่อจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไปสู่กลไกใหม่ที่ตั้งขึ้นมา รองรับ โดยกำหนดให้ สปท.อยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะจนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศในกรอบ 120 วัน หลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ

นำมาสู่คำถามเดิมๆ ที่ว่าผลลัพธ์สุดท้ายของการปฏิรูปจะสามารถไปถึงฝั่งฝันได้อย่างที่มุ่งหวังหรือไม่

ต้องยอมรับว่า “ปฏิรูป” ถือเป็นธงหลักที่แม่น้ำทั้ง 5 สาย ต้องให้ความสำคัญขับเคลื่อนให้สำเร็จพาประเทศก้าวพ้นจากวังวนปัญหาในอดีต แต่ผ่านมาสองปีกว่าหลังรัฐประหารหลายเรื่องยังเป็นเพียงแค่ข้อเสนอในรายงานที่ส่งถึงมือนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เคยขยับไปสู่การปฏิบัติ

จากรายงานสุดท้ายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ ศ.เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. จัดทำ ข้อสรุปจากกรรมาธิการแต่ละด้านออกมาเป็นวาระการปฏิรูป 37 วาระ และ 6 วาระพัฒนา ส่งต่อมาให้ สปท.ดำเนินการสานต่อให้การปฏิรูปแต่ละด้านเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งล่าสุด สปท. ได้ส่งแผนปฏิรูปและข้อเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีแล้วจำนวนทั้งสิ้น 146 เรื่อง และมีอีก 27 วาระปฏิรูป เร่งด่วนที่นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแห่งการปฏิรูป

แต่มาถึงโค้งสุดท้ายของ สปท. ผลสำเร็จของการปฏิรูปดูจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องสำคัญอย่างที่สังคมมุ่งหวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสาธารณสุขที่เป็นเรื่องใหญ่ แม้กระทั่งเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ” ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องรีบปฏิรูปแต่กลับมีความคืบหน้าเพียง เล็กน้อย

ท่าทีล่าสุดทางรัฐบาล คสช. จะส่งสัญญาณเอาจริงด้วยการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มาเร่งเครื่อง “ปฏิรูป” ควบคู่ “ปรองดอง” ในช่วงนี้ แต่ก็ยังไม่อาจสร้างความมั่นใจว่าสุดท้ายจะสำเร็จได้จริง

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะเขียนล็อกไว้ในมาตรา 259 กำหนดให้การปฏิรูปประเทศตามหมวดนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทําแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดําเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดําเนินการ และระยะเวลาดําเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องกําหนดให้เริ่มดําเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลา 5 ปี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จ

อีกด้านหนึ่ง บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบ และโครงสร้าง เปิดเผยว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นภารกิจสำคัญ ที่มีความเชื่อมโยงและสนับสนุนต่อกัน

ทั้งนี้จะเห็นว่าทิศทางการปฏิรูปดูจะให้น้ำหนักในหลายเรื่องสำคัญ อาทิ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเป็นการแก้ไขสาเหตุรากฐานของความขัดแย้งในสังคม นำไปสู่การสร้างความปรองดองในระยะยาว ในอีกด้านหนึ่งความก้าวหน้าและความสำเร็จของการสร้างความปรองดองทำให้กระบวนการปฏิรูปเดินหน้าได้มากและมีพลังร่วมมากขึ้น

โดยเฉพาะมาตรา 65 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง” ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้กระบวนการปฏิรูปได้รับการยอมรับและเกิดผลยั่งยืน

ความสำคัญยังอยู่ที่การตั้งต้นซึ่งภายใต้การทำงานของ  ป.ย.ป. มีการตั้งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นประธาน และ สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นเลขาธิการ ทำหน้าที่ 1 กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศเพื่อเตรียมความพร้อม

2.ดูแลแนวทางและทิศทางการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 3.บูรณาการและประสานการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศกับ คสช. สนช. สปท. และภาคส่วนต่างๆ และ 4.สานพลังสังคมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

ทิศทางการทำงานที่ดูเอาจริงเอาจังในรอบนี้ จึงถือเป็นความพยายามที่น่าจะฝากความหวังไว้ได้มากกว่าช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนี่ถือเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของรัฐบาล คสช. ที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่เสียของอย่างที่ประกาศไว้