posttoday

มาตรา 44 เฟ้อ รถกระบะชนรถถัง

07 เมษายน 2560

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมือรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใหม่ๆปรากฏว่า คสช.ให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมอยู่ไม่น้อย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมือรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใหม่ๆ ปรากฏว่า คสช.ให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมอยู่ไม่น้อย นอกเหนือไปจากการพยายามเข้ามาจัดการทางการเมือง

ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์รถตู้โดยสารสาธารณะราคาขายสลากกินแบ่งรัฐบาล พื้นที่ค้าขายริมทางเท้า ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจังเหมือนกับรัฐบาลของ คสช.

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรื่องเหล่านั้นล้วนเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคการเมือง อีกทั้งการเข้าไปแตะของร้อนดังกล่าว ส่งผลให้ต้องมีการปะทะกับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบพอสมควร เมื่อเป็นเช่นนี้บรรดารัฐบาลพรรคการเมืองหลายชุด จึงไม่ค่อยอยากเข้าไปยุ่งเท่าไหร่นัก เพราะไม่ต้องการเสียฐานคะแนนและความนิยม

ปัญหาต่างเลยถูกสะสมและทับถมจนล้นออกมาจากใต้พรม และเมื่อ คสช.เข้ามามีอำนาจจำเป็นต้องเข้ามาจัดการให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยเสียที

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงแรกที่ คสช.ลงมือผ่าตัดปัญหาโลกแตกนี้ ได้รับเสียงชื่นชมพอสมควร เพราะเกิดการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ไม่เหมือนกับรัฐบาลของนักการเมืองที่มักจะดำเนินการในลักษณะรูปหน้าปะจมูก

ตัวอย่างเช่น กรณีของราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล คสช.ก็สามารถใช้กำลังภายในจนกดราคาขายต่อหน่วยให้เหลือฉบับละ 80 บาทได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่นเดียวกับการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ ปรากฏว่าสามารถช่วยให้เกิดการกำหนดราคาที่เหมาะสมโดยที่ไม่เอาเปรียบกับผู้บริโภค หรือในกรณีของการจัดระเบียบทางเท้าในพื้นที่สำคัญใจกลางเมืองหลวง ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน

การลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในเรื่องเหล่านี้ อันเป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชนที่เอือมระอากันมานานก่อนจะมีการรัฐประหาร ช่วยให้ คสช.ได้คะแนนความนิยมไม่น้อย ที่สำคัญช่วยให้ คสช.ไม่ถูกมองว่าเข้ามาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อจัดการกับเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว

ทว่า มาถึงเวลานี้สิ่งที่เคยทำให้ คสช.ได้คะแนน กลับย้อนศรมาทำร้าย คสช.เองแบบไม่น่าเชื่อ

โดยมีผลพวงล่าสุดมาจากการจัดระเบียบการจราจรในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้รถกระบะทำการบรรทุกคนขึ้นท้ายกระบะของรถ เว้นแต่จะเป็นการขนส่งสินค้าหรือสิ่งของ และการห้ามไม่ให้ประชาชนนั่งด้านหลังคนขับรถกระบะที่เป็นรถสองประตู (แคป)

คสช.เอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก ถึงใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เข้ามาจัดการกับเรื่องนี้แบบฟ้าผ่า เพราะทุบโต๊ะลงมาว่ามาตรการเหล่านี้จะมีผลทันทีตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์

มองในมุมของ คสช.ก็พอเข้าใจว่า แม้ที่ผ่านมาจะกวดขันการจราจรและกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายจราจรมากขึ้น แต่กลับไม่ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงแต่อย่างใด

มิหนำซ้ำยังมาเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญรถตู้โดยสารเส้นทาง กทม.-จันทบุรี ประสบอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตหลายรายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา ยิ่งเป็นปัจจัยที่บีบให้ คสช.ต้องหามาตรการมาควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์

แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่งการใช้มาตรา 44 ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดที่สามารถยกเว้นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ มาใช้กับกรณีนี้ ย่อมถูกทำให้มองว่าเป็นการดำเนินการเหมือนกับ “เผาบ้านทั้งหลัง เพื่อจับหนูตัวเดียว”

การใช้มาตรา 44 ควรใช้กับการแก้ไขปัญหาใหญ่ที่เป็นเรื่องโครงสร้างของประเทศ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง การทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น ที่ผ่านมา คสช.ก็ใช้ได้อย่างดีในระดับหนึ่ง แต่เมื่อ คสช.งัดไม้ตายออกมาใช้กับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 หลายครั้ง จึงไม่ต่างอะไรกับการทำให้เกิดการใช้มาตรา 44 จนเฟ้อ

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า การเงื้อใช้มาตรา 44 แต่ละครั้ง มีผลเทียบกับการเป็นกฎหมายหนึ่งฉบับ โดยที่ไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน เหมือนกับการตรากฎหมายตามระบบปกติ ประกอบกับมาตรา 44 ที่ถูกใช้ครั้งล่าสุดนั้นส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรา 44 ยังให้การคุ้มครองในขั้นสูงสุดอีกด้วย กล่าวคือ ทำให้ไม่สามารถฟ้องศาลเพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบการถ่วงดุลได้ เท่ากับว่าหากเจ้าของรถที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรา 44 ครั้งนี้ ก็ไม่อาจไปพึ่งกระบวนการทางกฎหมายได้แต่อย่างใด

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจว่า ทำไมระยะหลังที่ คสช.งัดมาตรา 44 ออกมาใช้แต่ละครั้ง ถึงได้เกิดกระแสลบมากกว่ากระแสบวก

จากกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นอย่างหนักในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการล้อเลียน คสช.ในรูปแบบสารพัด จนส่งผลให้มาตรา 44 ถูดลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลง

ด้วยเหตุนี้เอง คสช.จึงใส่เกียร์ถอยหนึ่งขั้นด้วยการอนุโลมให้ประชาชนยังโดยสารท้ายกระบะและนั่งหลังแคปได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลังจากนั้นถึงจะค่อยมาหามาตรการที่เหมาะสมอีกที

นับเป็นครั้งแรกที่ คสช.ยอมผ่อนผันกับความเข้มงวดของมาตรการที่ออกมาตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่กระตุก คสช.ให้ตระหนักว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดมากเกินไปที่ขาดการมีส่วนร่วม อาจส่งผลร้ายย้อนกลับมายัง คสช.ในแบบที่คาดไม่ถึง