posttoday

ปราบทุจริตไม่คืบ ฉุดความเชื่อมั่น คสช.

02 มีนาคม 2560

การปราบทุจริตคอร์รัปชั่นถือเป็นโจทย์ใหญ่และเร่งด่วนที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

การปราบทุจริตคอร์รัปชั่นถือเป็นโจทย์ใหญ่และเร่งด่วนที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ความสำคัญกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ส่งสัญญาณเอาจริงกำจัดมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนสังคมมายาวนาน ​

ชัดเจนตามที่บรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลข้อที่ 10 จากทั้งหมด 11 ข้อ ซึ่งแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2557 ที่ระบุจะส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ​

แต่ทว่ากว่าสองปีที่ผ่านมาการดำเนินการในเรื่องนี้ยังล่าช้า จนแทบไม่เห็นความคืบหน้าเป็นรูปธรรมอย่างที่สังคมคาดหวัง มิหนำซ้ำ ระยะหลังบุคคลแวดล้อม คสช.ยังมีข่าวเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสหลายกรณีจนฉุดความเชื่อมั่นใน คสช.​

สอดรับกับผลสำรวจล่าสุดจาก “นิด้าโพล” เรื่องความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล คสช. ในการทำงานช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ซึ่งคะแนนนิยมตกลงเกือบทุกด้าน

ที่สำคัญความเชื่อมั่นเรื่อง “ความโปร่งใส”  ของรัฐบาล คสช. ล่าสุด  67.36% ระบุว่าการทำงานมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ขณะที่​​ 16.96% ระบุว่าการทำงานไม่มีความโปร่งใสตรวจสอบไม่ได้ ลดลงจากเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ซึ่งความเชื่อมั่นด้านความโปร่งใสสูงถึง 72.88% ​มีเพียง 10.40% ที่ระบุว่าไม่มีความโปร่งใส

หากจำได้ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ รัฐบาล คสช.มีข่าวเข้าไปพัวพันกับเรื่องฉาวหลายต่อหลายเรื่องตั้งแต่ การจัดซื้อไมโครโฟนที่ราคาสูงเป็นพิเศษ ต่อเนื่องเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในโครงการอุทยานราชภักดิ์

แน่นอนว่าผลสอบของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาสรุปว่าไม่มีความผิดนั้นสร้างความรู้สึกค้างคาขัดกับความรู้สึกของสังคมที่ติดตามรายละเอียดเรื่องนี้

สถานการณ์ดูอึมครึมมากขึ้นเมื่อเกิดกระแสข่า​ว พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือรายงานเท็จ แต่ต่อมาทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้เป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง

​ซ้ำเติมด้วยกรณี  ปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา ​ได้รับงานก่อสร้างในหน่วยงานต่างๆ ผ่านการประมูลที่ถูกยื่นให้ตรวจสอบว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่ของ พล.อ.ปรีชา เข้าไปเอื้อประโยชน์หรือไม่

ในแง่การทำงานของรัฐบาลจะเห็นว่านอกจากการจัดกิจกรรมเปิดงานเอาจริงเอาจังกับการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกภาคส่วนแล้ว รวมทั้งตั้งคณะทำงานที่บูรณาการหน่วยงานเข้ามาจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ยังไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรมอย่างที่คาดหวัง

ช่วงหนึ่งภาพลักษณ์การปราบปรามทุจริตของรัฐบาล คสช.ดูดีขึ้น เมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปพักงานหรือสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ในหลายระดับที่เข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องทุจริต เพื่อเปิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบได้อย่างเป็นอิสระและสกัดไม่ให้ความเสียหายรุนแรงเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่

แต่นานไปทุกอย่างกลับไม่มีความคืบหน้าอย่างที่สังคมคาดหวัง เพราะไม่สามารถสืบสวนสอบสวนและหาพยานหลักฐานมามัดตัวคนผิดติดตามตัวมาดำเนินคดีได้

ล่าสุด กับเรื่องฉาวระดับนานาชาติ ซึ่ง​ทางสหรัฐและอังกฤษออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ เคยให้สินบนกับทั้งทาง ปตท.และการบินไทย จนเป็นคดีความในต่างประเทศ

ต่อเนื่องกับข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ที่ออกมาเปิดเผยพบการจ่ายสินบนแก่บุคคลที่อ้างตัวเป็นที่ปรึกษาในโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ในรัฐสภาไทยช่วงปี 2549

ปัญหาอยู่ตรงนี้ข้อมูลหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนจากต่างประเทศระบุถึงขั้นมีการพบปะพูดคุยเจรจากันที่ไหนอย่างไร มีใครเกี่ยวข้องอย่างไร แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า​ในการไล่บี้เอาผิดคนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งที่ “ใบเสร็จ” ในเรื่องนี้ค่อนข้างจะชัดเจน แต่ก็ทำได้เพียงแค่รอประสานข้อมูลจากต่างประเทศ ที่เชื่อว่าสุดท้ายเรื่องนี้ก็คงเงียบหายไป พร้อมกับความเชื่อมั่นของ คสช.ที่กำลังถูกกัดกร่อนไปเรื่อยๆ

ก่อนที่ทุกอย่างจะย่ำแย่ไปกว่านี้ล่าสุด คสช.ส่งสัญญาณเอาจริงอีกรอบ ด้วยกา​รงัดมาตรา 44 เด้ง ​วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรรมการพ้นจากตำแหน่ง หลังได้รับข้อร้องเรียนจำนวนมากถึงปัญหาความไม่โปร่งใสในการประมูลงานและจัดซื้อจัดจ้างของการรถไฟ​ฯ

ตรงนี้ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะ รฟท.เกี่ยวพันกับโครงการขนาดใหญ่หลายต่อหลายเรื่องด้วยวงเงินมหาศาลหากปล่อยให้เกิดปัญหา ย่อมไม่เป็นผลดีแถมยังจะย้อนกลับมาสั่นคลอนเสถียรภาพของ คสช.ในอนาคต

นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเร่งรัด กำกับ และตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ วงเงินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป

สุดท้ายคงต้องรอดูว่าโค้งสุดท้ายจากนี้ รัฐบาล คสช.จะสามารถสร้างผลงานกู้ภาพ กู้ความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้มากน้อยแค่ไหน