posttoday

เปิดการบ้าน ‘สนช.-สปท.’ ดันวาระซูเปอร์ปฏิรูป

04 กุมภาพันธ์ 2560

สำหรับปี พ.ศ. 2560 นี้ ผมถือว่าเป็นปีที่สำคัญ เป็นปีแห่งการเตรียมการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

“สำหรับปี พ.ศ. 2560 นี้ ผมถือว่าเป็นปีที่สำคัญ เป็นปีแห่งการเตรียมการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตามครรลองที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยที่มีลักษณะเฉพาะ ด้วยกระบวนการที่เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งเน้นสร้างความปรองดอง รู้รัก สามัคคี และยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง”

วรรคทองข้างต้นเป็นของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งได้กล่าวไว้ในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา อันเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาลว่าตลอดปี 2560 รัฐบาลมีเป้าหมายการทำงานในเรื่องการปฏิรูปเป็นสำคัญ

คล้อยหลังได้ไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อสานเจตนารมณ์ของรัฐบาลให้เป็นจริง และล่าสุดได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับแม่น้ำ 5 สายเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

ผลการประชุมในวันนั้นมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การเปลี่ยนรูปแบบการประสานงานของแม่น้ำทุกสาย และ 2.การแจกการบ้านให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

สำหรับเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการประสานงานนั้นจะมีลักษณะต่างจากเดิม คือ เมื่อก่อนจะเป็นการดำเนินการผ่านคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย หรือวิป 3 ฝ่าย (รัฐบาล สนช.และ สปท.) ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ประสิทธิผลสมกับความตั้งใจเท่าไหร่นัก เพราะต้องผ่านการพิจารณาของหลายฝ่ายทำให้การผลักดันร่างกฎหมายสำหรับการปฏิรูปจึงยังไม่ค่อยปรากฏออกมา

ดังนั้น ที่ประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนั้นจึงเห็นตรงกันว่าควรยกเลิกระบบวิป 3 ฝ่าย โดยวางท่อส่งงานกันใหม่ในลักษณะของการให้ทุกเรื่องเข้าสู่ ป.ย.ป.โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านคณะกรรมการชุดใดอีก เมื่อเรื่องมาถึง ป.ย.ป.จะเป็นฝ่ายดำเนินการว่าเรื่องไหนควรดำเนินการอย่างไรเพื่อความรวดเร็ว

เช่น ถ้าบางเรื่องสามารถดำเนินการได้ผ่านทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะส่งให้ ครม.ประชุมและมีมติออกมา หรือบางกรณีต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและจำเป็นต้องออกกฎหมาย ป.ย.ป.จะมอบให้รัฐบาลไปพิจารณาและเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ สนช.ทันที เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการทำงานให้สั้นลง

ขณะเดียวกัน การบ้านของ สปท.และ สนช.ที่ได้รับมาจากที่ประชุมเชิงปฏิบัติการก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

โฟกัสไปที่ สปท.ได้รับโจทย์มาว่าภายใน 1 เดือนนับจากนี้ ต้องไประดมสมองออกมาว่าภายใน 1 ปี ประเทศไทยควรได้รับการขับเคลื่อนการปฏิรูปในเรื่องใดบ้าง

ความคืบหน้าล่าสุด “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับประธานคณะกรรมาธิการของ สปท.จำนวน 12 คณะ เพื่อวางกรอบการทำงานที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเบื้องต้นจะมีด้วยกันไม่เกิน 30 เรื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาการทุจริต การสร้างความเท่าเทียม เป็นต้น แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก

ทั้งนี้ หาก สปท.ได้ข้อยุติแล้วทุกเรื่องจะส่งเข้าสู่ ป.ย.ป. ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเพื่อดูว่าเรื่องไหนที่ต้องใช้อำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมายหรือสามารถใช้อำนาจฝ่ายบริหารดำเนินการได้ทันที

“เสรี สุวรรณภานนท์” ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า เวลานี้ทุกคณะกรรมาธิการฯ ได้รับมอบหมายงานมาตรงกันว่าให้ไปกำหนดวาระการปฏิรูปประเทศว่าเรื่องใดควรดำเนินการก่อนหรือหลัง

เสรี ระบุว่า สำหรับคณะกรรมาธิการฯ จะผลักดันเรื่องการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจและการทุจริต เพราะเห็นว่าสองเรื่องนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนมากที่สุด เพื่อนำไปสู่การวางรากฐานการแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ขณะที่การบ้านของ สนช.จะมี ภารกิจสำคัญด้วยกัน ได้แก่ 1.การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2.ร่างกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 3.ร่างกฎหมายกำหนดขั้นตอนและแผนการปฏิรูปประเทศ และ 4.ร่างกฎหมายที่ต้องออกตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด

สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า การทำงานของ สนช.ในเรื่องดังกล่าวจะมีรูปแบบของการตั้งคณะกรรมการจำนวน 12 คณะ เพื่อดูแลเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป เพื่อพิจารณาจัดลำดับความสำคัญ

เลขานุการวิป สนช. สรุปว่า ที่สำคัญต้องประสานงานกับ สปท.อย่างใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งรวมไปถึง ป.ย.ป.ด้วย กล่าวคือ ต้องมาร่วมกันกำหนดว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วนในการปฏิรูปประเทศ เพราะ สนช.มีหน้าที่ต้องไปดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายออกมา แต่หากเรื่องใดเป็นการปฏิรูปประเทศที่ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย ป.ย.ป.จะรับไปดำเนินการประสานงานกับฝ่ายบริหารเพื่อใช้อำนาจตามหน้าที่ต่อไป

“ส่วนตัวเชื่อว่ารูปแบบการทำงานในลักษณะนี้จะช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มความรวดเร็วของการทำงานให้มากขึ้น และงานที่ออกมาจะมีประสิทธิภาพ” สมชาย สรุป