posttoday

ปฏิรูปนักการเมือง สกัดกั้นคอร์รัปชั่น

20 ธันวาคม 2559

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. จะมีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง เรื่อง “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ในวันที่ 20 ธ.ค.

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. จะมีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง เรื่อง “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ในวันที่ 20 ธ.ค. ตามที่อนุ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมี สมพงษ์ สระกวี เป็นประธาน ได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง

โดยแผนการปฏิรูปที่สำคัญมีจำนวน 6 ประเด็น คือ 1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.ระบบพรรคการเมือง 3.การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 4.การกำกับควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 5.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และ 6.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง

ทั้งนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือเป็นบุคคลสำคัญมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนในการใช้อำนาจรัฐตามระบอบประชาธิปไตย และถือเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้นำทางความคิดและความเชื่อในเรื่องการเมืองการปกครองให้กับประชาชน ดังนั้นกระบวนการได้มา ความรู้ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ และการใช้อำนาจ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสนใจ

ขณะเดียวกัน จากสภาพการเมืองไทยที่ผ่านมาได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นหลายครั้ง ประชาชนแตกแยกเป็นฝักฝ่าย ขาดความรักความสามัคคี และมีทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อกัน จนก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการเมืองและวงราชการอย่างกว้างขวาง กระทบต่อความมั่นคง การพัฒนาประเทศ และความสงบสุขของประชาชน

“ต้องยอมรับว่าปัญหาสำคัญซึ่งมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ของประเทศ คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรมมีการใช้อำนาจในตำแหน่งเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง จำเป็นต้องสร้างกระบวนการคัดกรองและตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ก่อนการรับสมัครเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง และชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีกระบวนการตรวจสอบผู้จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน

โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติในการควบคุมตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ

นอกจากนี้ การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะถือเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำงานอาสาให้กับประชาชน เป็นผู้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสื่อสารปัญหาให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มีหน้าที่ความรับผิดชอบในทางนิติบัญญัติ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ในทางบริหารกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ

“ด้วยอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ดังกล่าว นอกจากจะต้องมีมาตรการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเข้มข้นแล้ว ควรต้องมีมาตรการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ส่วนการพิจารณาค่าตอบแทนที่มีความเหมาะสมกับภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งภารกิจสำคัญของการทำงานและการปฏิบัติหน้าที่ มีความจำเป็นที่จะต้องมีค่าตอบแทนเป็นรายได้ที่จะต้องนำมาใช้จ่ายกลับคืนสู่ประชาชน ทว่าค่าตอบแทนที่กำหนดไว้เดิมนั้น ไม่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย

อย่างไรก็ดี จึงเสนอให้ใช้ในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า ถึงจะมีผลใช้บังคับ เพื่อมิให้ถูกข้อครหาว่าเป็นข้อเสนอของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเห็นควรให้จำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนปรับปรุงค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นอกจากนี้ พรรคการเมืองถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการคัดสรร คัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมให้เข้ารับการเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ อาทิ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจะต้องเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกับสมาชิกพรรคการเมืองและประชาชน

ขณะเดียวกัน มีบทบาทในการกำกับควบคุมคุณธรรมจริยธรรมของสมาชิกพรรค และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยผู้บริหารพรรคการเมืองจึงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อพรรคการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้กำหนดทิศทาง ควบคุมการบริหารของพรรคให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดำรงสถานะของพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ผู้บริหารพรรคการเมืองจึงควรได้รับค่าตอบแทนเหมาะสมจากพรรคการเมืองด้วย

อย่างไรก็ตาม แผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสร้างกลไกและวิธีการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

เมื่อบุคคลใดดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนประชาชน จักต้องมีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ คุณธรรม และจริยธรรมสูงกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป จึงจำเป็นต้องมีกลไกและวิธีการให้มีกระบวนการคัดกรองและตรวจสอบบุคคลที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ก่อนการรับสมัครดำรงตำแหน่ง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง และชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ