posttoday

ติดเขี้ยวเล็บ กกต. ปราบโกงการเลือกตั้ง

16 ธันวาคม 2559

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แถลงสรุปเนื้อหาสาระเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แถลงสรุปเนื้อหาสาระเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ... ร่างเบื้องต้น ณ ห้องรับรอง 1 อาคารรัฐสภา 1

ประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ชี้แจงว่า ภาพรวมต้องยอมรับว่า กกต.เป็นองค์ประกอบหนึ่งทำให้การเลือกตั้งสุจริต ยุติธรรม และเที่ยงธรรม ส่วนที่ 2 พรรคการเมืองและผู้สมัคร และส่วนที่ 3 ประชาชน ซึ่ง กรธ.ได้ยกร่างกฎหมายนี้เพื่อให้ กกต.ทำงานมีประสิทธิภาพเที่ยงธรรม และการเลือกตั้งเรียบร้อย รวมทั้งได้ตัวแทนที่ดีมาบริหารบ้านเมือง

อย่างไรก็ดี ร่างเดิมให้อำนาจหน้าที่ กกต.ไว้ในจุดหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีการบังคับใช้ กกต.ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะจับใครไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง เห็นทำผิดซึ่งหน้าก็ทำได้เพียงถ่ายรูปแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น กฎหมายใหม่ปรับปรุงส่วนนี้ให้ กกต.ทำงานเชิงรุกมากขึ้นไม่ต้องรอให้คนมาร้อง

ทั้งนี้ มาตรา 38 กำหนดให้ กกต.ต้องรีบดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยพลัน เพียงคนเดียวก็สามารถตรวจการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมได้และมาตรา 24  หาก กกต.พบว่าหน่วยเลือกตั้งไม่ถูกต้องก็แจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการได้ทันที หรือสงสัยว่าจะเกิดการทุจริต กกต.คนเดียวสามารถสั่งระงับได้เลย

สำหรับอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งชั่วคราว กกต.ยังจำเป็นต้องเอาเข้าที่ประชุมใหญ่ และร่างกฎหมายนี้ยังเพิ่มเครื่องมือให้ กกต.ปฏิบัติมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่มาตรา 33 กกต.สามารถขอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ หากสงสัยมีการโอนเงินซื้อเสียง

นอกจากนี้ กกต.ยังสามารถขอให้หน่วยข่าวกรองหรือหน่วยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ให้ข้อมูล กกต.เพื่อตรวจสอบการซื้อเสียงและใครเป็นหัวคะแนน โดยข้อมูลทั้งหมดเป็นความลับ และมาตรา 39 ให้ กกต.ตั้งพนักงานของ กกต.เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่สืบสวนไต่สวน ออกหมายเรียก หรือยึดอายัด เพื่อปราบปรามการทุจริตเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนปัญหาเรื่องพยานมาให้ข้อมูล มาตรา 42 มีกฎหมายให้การคุ้มครองพยานซึ่งของเดิมไม่มี กกต.เคยขอให้ทางกระทรวงยุติธรรม รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำหน้าที่คุ้มครองพยานคดีเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายคุ้มครองพยานเฉพาะคดีอาญา

การซื้อสิทธิขายเสียง คนซื้อผิดหนัก แต่ชาวบ้านมีโทษด้วย จำคุกทั้งคู่ มาตรา 43 ไม่ดำเนินคดีกับพยานที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ อีกทั้งยังให้เงินรางวัลผู้ชี้เบาะแส จะทำให้งานด้านการข่าวมีมากขึ้น ส่วนประชาชนมีความสำคัญมากในการสังเกต รายงานการเลือกตั้ง

“หากประชาชนช่วยก็ทำให้เลือกตั้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ กกต.ควรให้ความรู้ประชาชนในเรื่องดังกล่าวมากขึ้นเหมือนตอนทำประชามติ ในการส่งครู ก ข ค ลงทุกหมู่บ้าน ถึงการซื้อสิทธิขายเสียงไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ กรธ.พยายามปรับปรุง”

ด้าน ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ. อธิบายว่า กฎหมายนี้มีทั้งหมด 72 มาตรา 4 หมวด และ 1 บทเฉพาะ แม้ภาพรวมกฎหมายนี้อาจไม่แตกต่างจากฉบับเก่า แต่ กรธ.ได้คำนึงถึงประสบการณ์ กกต.จากปี 40 จนถึง 50 ซึ่งสิ่งที่ได้มาจากการเลือกตั้ง และ 3 ส่วนสำคัญอย่างยิ่ง คือ ประชาชนในฐานะผู้ใช้สิทธิ พรรคการเมือง คนจัดให้มีการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ทำอย่างไรให้ดำเนินการไปตามเป้าหมายเพื่อได้คนดีปกครองบ้านเมือง ป้องกันการทุจริตต่างๆ กรธ.พบว่าการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาของ กกต.เหมือนตำรวจจับขโมย และทำอย่างไรให้มีการช่วยสอดส่องดูแล โดยสิ่งที่ กกต.ยุคใหม่ต้องทำ คือ ทำงานเชิงรุก

อย่างไรก็ดี กกต.มีหน้าที่สืบสวน สอบสวน หาข่าวตลอดเวลา ป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นโครงสร้าง กกต.ใหม่ ส่วนแผน Active Role มาตรา 20 วรรคสอง กกต.แต่ละคนมีอำนาจควบคุมกำกับดูแลการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม และต้องสอดส่องสืบสวนเพื่อป้องกันการกระทำที่จะเกิดความไม่สุจริต หากพบปัญหาสามารถระงับยับยั้งได้

กรธ.คาดหวังว่าให้กกต.มีเขี้ยวเล็บ จึงให้อำนาจขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ระหว่างเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบว่าการทุจริต และมุ่งหวังว่าประชาชนจะช่วย กกต.ดูแลแจ้งเบาะแส โดยเปิดช่องให้ กกต.สนับสนุนคณะบุคคล หรือนักสังเกตการณ์อาสาในการเลือกตั้งได้ กกต.ต้องใช้กลไกนี้ให้มากกว่าการใช้เจ้าหน้าที่ กกต. รวมถึงสื่อสามารถแจ้งไปยัง กกต.ได้ หากพบเห็น

สำหรับ กกต.จังหวัด กรธ.ได้เปลี่ยนวิธีคิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบ ถ้าใช้คนพื้นที่อย่างเดียวมีปัญหา จึงออกแบบคณะผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยแต่ละจังหวัดขึ้นบัญชีไว้ 5-8 คน และให้ กกต.แต่งตั้งคนจากพื้นที่ 2 คน และส่วนที่เหลืออีก 3-5 คน จับสลากเอาคนนอกพื้นที่เข้ามาช่วยดูแลการเลือกตั้ง ซึ่งทำงานร่วมกับผู้สังเกตการณ์อาสา โดยระบบนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและมีความเป็นกลางมากขึ้น

ส่วนการดำเนินคดีต่างๆ กฎหมายใหม่กำหนดให้เป็นหน้าที่ กกต.ต้องสืบสวนสอบสวนโดยพลัน หากไม่ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และการดำเนินคดีอาญาก็ส่งไปอัยการ แต่ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งเรื่องต่ออัยการสูงสุด(อสส.) เป็นคนสั่ง และหาก อสส.สั่งไม่ฟ้องอีกต้องเปิดเผยคำสั่งว่าเหตุใดถึงไม่ฟ้องเพื่อไม่ให้เกิดข้อกังขา ส่วนกรณีเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งชั่วคราว กกต.ต้องร้องไปยังศาลฎีกา หรือศาลอุทธรณ์

นอกจากนี้ บทเฉพาะกาล กกต.ยังคงทำหน้าที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติ โดยส่วนนี้จะมีคณะกรรมการสรรหาพิจารณา โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชังเพราะคุณสมบัติเขียนตามรัฐธรรมนูที่ผ่านการลงประชามติ ส่วนพนักงานลูกจ้าง กกต.จะกลับมาเป็นข้าราชการนั้นเบื้องต้นเห็นว่าถ้ากลับมาเป็นข้าราชการจะมีปัญหาเรื่องความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ กรธ.จึงยังไม่ใส่เรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องพิจารณาระยะยาวในเชิงโครงสร้างทั้งหมด