posttoday

นิรโทษกรรม เกมยาวเรียกคะแนน คสช.

08 มกราคม 2559

“ปรองดอง” เริ่มขยับอีกรอบหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

“ปรองดอง” เริ่มขยับอีกรอบหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมารับลูก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือช่องทางอื่นแต่งตั้งคณะทำงานสร้างความปรองดอง โดยไม่ต้องไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมมอบหมายให้ วิษณุ เครืองาม ไปพิจารณารายละเอียด

ความชัดเจนน่าจะอยู่ที่ท่าทีส่วนตัวของวิษณุที่เห็นว่าควรออกเป็นกฎหมายชั้นธรรมดา เช่น ร่าง พ.ร.บ. หรือกลไกอื่นที่ไม่ใช่การออกกฏหมายจะง่ายกว่า เพราะหากออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.มันไม่ยั่งยืน เพราะเราไม่รู้ว่าสุดท้ายต่อไปจะมีการรื้อหรือไม่ เพราะการสร้างความปรองดองไม่สามารถทำให้เสร็จภายใน 1 ปี หรือ 2 ปี

“เรื่องการปรองดองเป็นเรื่องของจิตใจ ใส่ไว้ในกฎหมายไม่ได้ เหมือนกับการบังคับให้ทำเรื่องโน้น เรื่องนี้ สุดท้ายก็ทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่หย่อนยาน ไม่ปฏิบัติตาม และการไม่ทำตามกฎหมาย สุดท้ายก็ไปจบที่ศาล ซึ่งก็คือการไม่ปรองดองอีกอย่างหนึ่ง เป็นการใช้วิธีการที่ไม่ปรองดองเพื่อบังคับให้เกิดการปรองดองมันยาก ...แต่ผมว่าใช้หลักอื่นที่ไม่ต้องเขียนเป็นกฎหมายจะดีกว่า แต่บางเรื่องที่ต้องออกเป็นกฎหมาย เช่น อภัยโทษ นิรโทษกรรม ก็จำเป็นต้องออก”

ตรงกับที่ทุกฝ่ายประเมินว่า เส้นทางของการสลายความขัดแย้ง และเร่งสร้างความปรองดอง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างหลักการเบื้องต้นที่ทุกฝ่ายยอมรับและเชื่อว่าจะเป็นกุญแจไปสู่ความปรองดองได้ ก็คือ การนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่แกนนำและไม่เกี่ยวข้องกับความผิดอาญา หรือความผิดร้ายแรงที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย

ต้องยอมรับว่า เรื่องนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ แถมยังเป็นข้อเสนอที่หลายฝ่ายตกผลึกกันมาหลายชุด เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ของ คณิต ณ นคร, คณะกรรมาธิการในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์, กรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ ดิเรก ถึงฝั่ง

แตกต่างกันแค่รายละเอียดปลีกย่อย แต่หลักการส่วนใหญ่ยังเห็นตรงกันเรื่องต้องนิรโทษให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่แกนนำ และไม่เกี่ยวกับความผิดร้ายแรง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศปรองดองในอนาคตง่ายขึ้น

คล้ายกับสูตรของเอนกที่มองว่า การปรองดองกันต้องเริ่มจากการ “แบ่งอำนาจ” เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาสีใดสีหนึ่งออกไปจากสมการอำนาจ หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาทหารออกไปจากสมการอำนาจเพื่อให้เหลือแค่สองสี ดังนั้นต้องออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ 3 ฝ่ายอยู่ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ทหาร+พรรคการเมืองอื่นๆ 2.สีแดง พรรคเพื่อไทย 3.กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่ฝ่ายบริหารจัดการจะเป็นฝ่ายที่ไม่ใช่ 2 สี ที่จะเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างความปรองดอง

ไม่ต่างจาก ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เห็นว่าการนิรโทษกรรมจำเป็น เพราะท้ายสุดเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำเรื่องนี้ เพื่อให้คนกลับมา คนยังติดคดีต้องขึ้นศาล ไม่มีทางที่จะทำให้กลับมาเกิดความปรองดองได้ แต่การนิรโทษกรรมต้องไม่สุดซอย ต้องนิรโทษกรรมเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุม ยกเว้นแกนนำก็ว่าไปตามคดี และถ้าถามว่ามาทำตอนนี้มันช้าไปควรจะดำเนินการให้เร็วกว่านี้

แม้แต่สัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นว่ามีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนเกี่ยวกับเรื่องปรองดอง รวมถึงการนิรโทษกรรมที่จะเริ่มต้นจากการทำให้ทุกคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและต้องการให้เสร็จภายในปี 2559 จากนั้นปี 2560 จะได้เริ่มต้นพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมต่อไป

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแค่พูดเรื่องนิรโทษกรรมในวันที่ความขัดแย้งยังมีอยู่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะหากจะไปถึงขั้นนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง หรือแตะรวมไปถึงบรรดาแกนนำของแต่ละฝ่าย สุดท้ายจะกลายเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่มากกว่าการสร้างความปรองดอง ดังนั้นหลายสูตรที่ออกมาจึงมีความเห็นตรงกันที่จะเริ่มจากนิรโทษกรรมประชาชนทั่วไปก่อน

นอกจากจะไม่มีเสียงต้านเสียงค้าน อีกด้านหนึ่งยังเป็นการปูทางสร้างบรรยากาศปรองดอง ที่จะไปสอดรับกับแผนการสร้างความปรองดองของ คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาในอนาคต

รวมทั้งยังจะเป็นการสร้างบรรยากาศบ้านเมืองให้เอื้อต่อการเลือกตั้ง อันจะทำให้ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญการนิรโทษกรรมรอบนี้ยังจะถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาล คสช.ก่อนพ้นจากตำแหน่ง อันจะช่วยกู้ภาพลักษณ์ เรียกคะแนนนิยม และฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา เพราะหากประเมินแล้วในช่วงต้นปี 2560  รัฐบาล คสช.ย่อมต้องเผชิญหน้ากับทั้งปัญหาหนักหน่วง

นี่จึงเป็นการสร้างผลงานทิ้งทวนก่อนลงจากอำนาจ และตอกย้ำคำพูดที่ว่าจะทำให้การรัฐประหารครั้งนี้ไม่เสียของ