posttoday

"ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปตัวเอง" จิรชัย มูลทองโร่ย

14 มกราคม 2561

"ที่ผ่านมาสื่อขาดความตระหนักรู้ในการที่จะเร่งรัดการส่งเสริมวัฒนธรรมผ่านทางสื่อ แต่กลับส่งเสริมวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมการปฏิรูปสื่อได้จัดให้การรับฟังความคิดเห็นทั้งจากภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรสื่อ และประชาชน ผ่านมาจนถึงขณะนี้ พิมพ์เขียวการปฏิรูปสื่อได้เสนอไปถึง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป

กระนั้น จิรชัย มูลทองโร่ย ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ฉายภาพการทำงาน เสียงสะท้อนต่อการก่อร่างปฏิรูปสื่อต่อทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ไว้อย่างน่าสนใจ

"การปฏิรูปสื่อต้องเริ่มต้นที่ปฏิรูปตนเองก่อนครับ" จิรชัย เปิดหัวข้อสำคัญระหว่างการสนทนา เขาบอกว่า คณะกรรมการฯ มีความเห็นร่วมกันว่าสื่อต้องเป็นโรงเรียนของประชาชนในการดำเนินการ 3 เรื่องด้วยกัน

กล่าวคือ 1.สื่อต้องให้ความรู้ ให้ความถูกต้องและความชัดเจนในเรื่องข่าวสารและข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ 2.สื่อต้องเป็นส่วนช่วยสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติหรือเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อเผยแพร่ไปสู่สังคมภายในและภายนอกประเทศอย่างเหมาะสมและถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาสื่อขาดความตระหนักรู้ในการที่จะเร่งรัดการส่งเสริมวัฒนธรรมผ่านทางสื่อ แต่กลับส่งเสริมวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นต่อไปควรลดการนำเสนอสิ่งที่ไม่ส่งเสริมวัฒนธรรมให้น้อยถอยลงไป เช่น วัฒนธรรม แย่งชิง วัฒนธรรมแนวละครน้ำเน่า ผัวแย่งเมียหรือเมียแย่งผัว ควรจะลดน้อยลง แต่ควรส่งเสริม วัฒนธรรมที่ดีให้มากขึ้น หรือควรกลับมาทบทวนตัวเองให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น"

ในส่วนที่ 3.สื่อต้องส่งเสริมทัศนคติที่ดีของทั้งบุคคลหรือองค์กรต่างๆ เช่น ใครทำดีก็ต้องเอามาส่งเสริม สนับสนุนให้เห็นภาพความต่อเนื่องของการดำเนินการตาม ดังนั้นสื่อควรจะทำให้ตัวเองเป็นโรงเรียนของประชาชนใน 3 ด้านที่ว่ามา โดยเฉพาะสื่อรัฐ ทั้งไทยพีบีเอสและเอ็นบีที ส่วนสื่อไหนจะทำแบบไหนก็ควรเป็นการดำเนินการของแต่ละสื่อ

ประธานปฏิรูปสื่อ บอกว่า การปฏิรูปสื่อได้ทำมาระยะหนึ่งแล้ว ยังเห็นความไม่สมบูรณ์ในมิติต่างๆ มากมาย "ความไม่สมบูรณ์ที่ว่านั้นเกิดจากมุมมองที่ต่างกันกับข้อเสนอและเป้าหมายของคณะกรรมการฯ ที่อยากให้หน่วยงานต่างๆ รับไปดำเนินการ บางหน่วยงานขับเคลื่อนไปบ้างแล้ว แต่บางหน่วยงานก็ยังไม่ได้ขับเคลื่อนเลย ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปสื่อจะติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรอบการทำงานในการเดินหน้าปฏิรูปต้องอยู่ภายใต้ 6 กรอบ"

อาทิ การปฏิรูประบบการกำกับดูแลสื่อสารมวลชน ด้วยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การกำกับจริยธรรมสื่อมวลชนเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน พ.ศ....ในเรื่องนี้ ได้ร่างไว้แล้วให้มีคู่มือจริยธรรมกลางมีข้อเสนอไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อน โดยร่างจริยธรรมดังกล่าวยังมีเพียงเฉพาะโทรทัศน์กับวิทยุ เพราะฉะนั้นจริยธรรมกลางจะเป็นเหมือนร่มใบใหญ่ แต่ภายในจะมีร่มใบย่อยๆ เช่น วิทยุ หนังสือพิมพ์ ทีวี ออนไลน์ ฯลฯ จะต้องมีจริยธรรมอย่างไร

สำหรับการปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์และการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ ทีวีดิจิทัล ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เอ็นบีที และไทยพีบีเอส ต้องปฏิรูปตัวเอง ส่วนที่ชัดเจนแล้ว คือ เอ็นบีที มีข้อเสนอที่ว่าจะให้ปรับผังรายการใหม่ทั้งหมด ใช้งานของตัวเอง 60% ที่เหลือ 40% ให้ภาครัฐและประชาชนได้เข้ามาใช้ด้วย หรือต้องเป็นแหล่งให้ข้อมูลข่าวสารภาคราชการมากขึ้น ทั้งหมดอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนปฏิรูปตัวเองอยู่

ส่วนไทยพีบีเอสยังไม่ใช่เป้าหมายที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้ทำอะไร แต่ส่วนตัวเห็นว่าไทยพีบีเอส ต้องคิดและพิจารณาตัวเองด้วยว่าจะปฏิรูปตัวเองอย่างไร เป็นการเปิดกว้าง แม้ที่ผ่านมาได้มานำเสนอแผนว่าจะเปิดกว้าง ให้ประชาชนมาใช้สื่อสาธารณะมากขึ้น เป็น กระบอกเสียงประชาชนสะท้อนสังคม เป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปปฏิรูปไทยพีบีเอส แต่ไทยพีบีเอสต้องปฏิรูปตนเอง สิ่งสำคัญต้องตกผนึกให้เรียบร้อยแล้วเสนอเข้ามา เพราะไทย พีบีเอสรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ก็ต้องมีส่วนสำคัญที่จะตอบสนองอะไรบ้างต่อสังคมและประชาชนด้วย โดยการที่ตัวเองจะปฏิรูปตัวเองอย่างไร

จิรชัย ยอมรับว่า ปัญหาการปฏิรูปสื่อที่เห็นภาพชัดเจน คือ การประสานงานยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในการประสานความร่วมมือกันระหว่างรัฐกับรัฐ หรือสื่อกับรัฐ หรือภาครัฐกับประชาชน ยังไม่มีความชัดเจนในรูปแบบบูรณาการแบบประชารัฐ

เช่น ภาครัฐที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อก็ยังต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด และต่างคนต่างใช้เงิน แต่ในความเป็นจริงควรจะมี การบูรณาการร่วมกันในแผนงานการรู้เท่าทันสื่อในมิติต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะกองทุนสื่อที่มีหลากหลายกองทุน อย่างทาง กสทช.มีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็มีกองทุนของตัวเองที่ให้เงิน แต่ก็ใช้เงินในมิติต่างๆ เช่น วิจัยหรือพัฒนา หรือการสร้างความรู้ผ่านทางกองทุนสื่อต่างๆ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เงิน แต่ยังมีส่วนอื่นของภาครัฐที่ใช้เงินเพื่อตอบสนองการให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อด้วย แต่ก็ยังมุ่งแต่การใช้เงินแบบต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างใช้เงิน

"ทุกหน่วยงานที่ได้รับเงินอุดหนุนต้องมีการ บูรณาการแผนงานการใช้เงินเข้าด้วยกัน เพราะเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ไว้ชัดเจนว่าในปี 2561 ต้องมีการบูรณาการการใช้เงินของภาครัฐต้องรวมเข้าด้วยกัน ส่วนสื่อสาธารณะ ทั้งไทยพีบีเอส หรือเอ็นบีทีต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าตัวเองจะปฏิรูปตัวเองอย่างไร ที่จะส่งผลให้สังคมและประชาชนได้รับการคุ้มครองด้านข้อมูลข่าวสาร จะมาบอกว่าอย่ามาแตะต้องกันเลย คงไม่ใช่ แล้วมาพูดว่าขอให้ตัวเองดูแลตัวเองกันไปก่อนคงไม่ได้ แต่ต้องมาคิดว่าตัวเองจะปฏิรูปตัวเองอย่างไร" จิรชัย กล่าว

"คณะกรรมการปฏิรูปสื่อจึงมีความเห็นว่าทุกสื่อจะต้องมีการดำเนินการปฏิรูปตัวเอง ส่วนกรอบเวลาการปฏิรูปคงไม่ไปกำหนด แต่ภาคราชการได้เตรียมการไว้ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยในแต่ละปีมีการขับเคลื่อนอย่างไร ในปีไหน ในแนวทางของคณะกรรมการฯ ไม่ได้มุ่งไปในการใช้ข้อบังคับที่จะร่างกฎหมายเท่านั้น เพราะเราต้องการให้มี 2 มิติ คือ กฎหมาย และจริยธรรม เพราะเป็นเรื่องสำคัญควรที่จะทำโดยเคร่งครัด เพราะจริยธรรมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมกันได้ง่ายไม่เหมือนกฎหมาย ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขและขั้นตอนเยอะแยะมากมาย"

แม้ขณะนี้ทางภาคสื่อจะบอกว่าจะมุ่งแก้กฎหมายที่จะให้มีกฎหมายที่มุ่งกำกับกันเองหรือดูแลกันเองก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งจะให้ดูแลกันเองและกำกับกันเองในเชิงจริยธรรมด้วย โดยภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญที่จะต้อง ส่งเสริมสนับสนุนเป็นสำคัญ กล่าวคือ การประสานความร่วมมือกับสื่อด้วยกัน ภาครัฐกับสื่อ หรือภาครัฐกับประชาชน เพราะภาครัฐเป็นตัวกลาง การที่จะมาปฏิเสธภาครัฐ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นภาครัฐจะมีหน้าที่ ส่งเสริมสนับสนุน ไม่ใช่การกำกับแต่อย่างใด เพราะการกำกับ คือ หากพบว่าละเมิดหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมทางภาครัฐก็ต้องติดตามได้อยู่แล้ว

ขณะที่สื่อโซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์นับเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ แต่การกำกับติดตามยากมากเพราะมีผู้ใช้จำนวนมากและมีสื่อจำนวนมากด้วยเช่นกัน ปัญหาก็ตามมามากมาย ในประเด็นตรงนี้มีข้อเสนอมา คือ ต้องให้หน่วยงานที่กำกับต้องติดตามตั้งแต่ต้นทาง คือ กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ

โดยมีข้อเสนอว่าควรจะกำกับติดตามหรือทำกันตั้งแต่ต้นทาง ว่าการกำกับติดตามต้อง บูรณาการกันในทุกกระทรวงหรือหน่วยงาน ขณะที่บรรดากองทุนสื่อต่างๆ เป็นเรื่องของปลายทางไปแล้ว แต่ก็จะต้องให้ความรู้กับชาวบ้านว่าจะทำอย่างไรให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ได้อย่างไร ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนที่ต้องทำร่วมกันอย่างบูรณาการแบบประชารัฐ

สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรทัศน์ หรือทีวีดิจิทัล จิรชัยให้แง่มุมไว้ว่า แม้ที่ผ่านมามีปัญหาในการบริหารจัดการ ที่จะเอาเครือข่ายมาดำเนินการให้เป็นประโยชน์ ดังนั้นการปรับปรุงโครงสร้างทีวีดิจิทัลเป็นปัญหาเร่งด่วน เพราะกำลังประสบปัญหาอยู่ ทาง กสทช.เองก็กำลังเร่งทำอยู่ เช่น ลดใบอนุญาต ลดค่าสัมปทานต่างๆ ส่วนเครือข่ายไหนที่ยังไม่ได้ใช้ เป็นเรื่องที่ทาง กสทช.จะต้องไปดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละหน่วยงานยังมี ข้อจำกัดของตัวเองอยู่ อาทิ กสทช. จะดูเฉพาะสื่อที่ผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุ เพราะกฎหมายกำหนดไว้แค่นั้น แต่ควรบูรณาการกัน ตัวอย่างเช่น สื่อที่เป็นภาพยนตร์ มี 3 หน่วยดูแล ทับซ้อนกันอยู่ คือ กระทรวงวัฒนธรรม ดูเรื่องการฉายในโรงภาพยนตร์ ส่วนภาพยนตร์ที่ฉายผ่านมือถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ ส่วน กสทช.ดูแลภาพยนตร์ที่ฉายในโทรทัศน์

"ปัญหาทั้งหมดที่ว่ามานั้นคือปัญหาระบบราชการไทยที่ต่างคนต่างทำมานานแล้ว ควรที่จะต้องมาบูรณาการกันเสียที ด้วยการสร้างการรับรู้และการตรวจสอบให้มากขึ้น" จิรชัย กล่าวทิ้งท้าย