posttoday

ใส่ไอเดียให้ "มะพร้าว" เปลี่ยนสินค้าเกษตรราคาหลักสิบสู่ธุรกิจรายได้หลักล้าน

08 มกราคม 2561

เทคนิคการพัฒนาสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถตีตลาดต่างประเทศจนนำมาสู่รายได้มหาศาล

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

“มะพร้าว” ลูกสีเขียวที่ดูภายนอกแสนจะธรรมด๊าธรรมดา! รู้หรือไม่ผลไม้ชนิดนี้สามารถสร้างรายได้ให้เด็กหนุ่มคนรุ่นใหม่มากถึงเดือนละ 2 ล้านบาท เพียงแค่ใส่ไอเดียจากเรื่องใกล้ตัว

นัฐพงษ์ ท้วมเกร็ด หรือ ต้อง วัย 31 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวแบรนด์ โคโค่ แคร็ก (CoCo Crack) จะมาเล่าถึงจุดเริ่มต้นและเคล็ดลับการพัฒนาผลไม้พืชเศรษฐกิจของไทยอย่างไร ให้เพิ่มมูลค่าจากราคาหลักหน่วยต่อลูก กลายเป็นหลักสิบ จนนำมาสู่รายได้หลักล้านต่อเดือน

"โคโค่ แคร็ก" ใช้ไอเดียเพิ่มมูลค่าให้มะพร้าวธรรมดา

นัฐพงษ์ เล่าว่า ตลอดชีวิตผูกพันและชื่นชอบการกินมะพร้าวมาก เพราะละแวกบ้านในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีแต่สวนมะพร้าวน้ำหอม แม้ตอนที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มักขนมะพร้าวจากสวนมากินประจำ รวมถึงตระเวนลองชิมน้ำมะพร้าวบรรจุขวดเกือบทุกยี่ห้อ

แต่รู้สึกว่าการหามะพร้าวน้ำหอมดีๆ สักลูกกินในกรุงเทพเป็นเรื่องยาก การจะขนจากสวนมาก็ลำบากและน้ำมะพร้าวบรรจุขวดหรือที่ใส่ถุงขาย รสชาติก็ไม่หอมหวานเหมือนมะพร้าวน้ำหอมสดจากธรรมชาติ เพราะการจะทำให้รสชาติน้ำมะพร้าวหลังการเจาะคงรสชาติตามเดิมเป็นเรื่องยาก

จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจนี้เกิดจากเมื่อ 2 ปีก่อน อยากลองทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรช่วงแรกพยายามคิดว่าจะทำอะไร จนนึกได้ว่าเมื่อคุ้นเคยและชอบกินมะพร้าว จึงอยากกลองทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรชนิดนี้ เพราะนอกจากเป็นอาชีพเสริมจากงานประจำ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรที่ราคาต้นทุนออกจากสวนเพียง 3-4 บาท ให้มีมูลค่าสูงขึ้น

ช่วงแรกเขาไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงจนวันหนึ่งด้วยความบังเอิญระหว่างเก็บของในบ้านทำขวดไวน์ของคุณพ่อแตก หลังทำความสะอาดเสร็จเหลือเพียงจุกคอร์กที่มีสีเหมือนกะลามะพร้าว จึงเกิดไอเดียหากนำไปพัฒนาต่อยอดอาจเข้ากันได้ จากนั้นเขาใช้เวลาเกือบ 2 ปี โดยใช้ความรู้เรื่องการประดิษฐ์มาทดลองต่อยอดตั้งแต่ขั้นตอนการทำที่เปิดมะพร้าวด้วยจุกคอร์ก การหาแหล่งมะพร้าวดีๆ การควบคุมคุณภาพ ซึ่งใช้มะพร้าวไปกว่าหมื่นลูก

นัฐพงษ์ เผยว่าหลังทดลองสำเร็จได้จดสิทธิบัตรการออกแบบ พร้อมกับเปิดตัวแบรด์โคโค่ แคร็ก เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยคำว่า “แคร็ก” นั้นมาจากจุดเริ่มต้นของขวดไวน์ที่แตกจนเหลือเพียงจุกคอร์กซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไอเดีย

 

ใส่ไอเดียให้ "มะพร้าว" เปลี่ยนสินค้าเกษตรราคาหลักสิบสู่ธุรกิจรายได้หลักล้าน

 

ธุรกิจจากมะพร้าวราคาถูกสู่ธุรกิจหลักล้าน

นัฐพงษ์ เผยว่าปัจจุบันกำลังการผลิตโคโค่ แคร็ก ทำตามออเดอร์วันละประมาณ 2 พันลูก แต่การผลิตรองรับได้ถึงวันละ 1 หมื่นลูก ส่วนการจำหน่ายราคาส่ง 35 บาทต่อลูก ปลีก 59 บาทต่อลูก สั่งมากกว่า 100 ลูกส่งฟรีในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดและต่างประเทศคิดค่าขนส่งตามอัตราทั่วไป ส่วนอายุน้ำมะพร้าวโคโค่ แคร็ก อยู่ได้ประมาณ 15 วันหลังการผลิต

เจ้าของแบรนด์โคโค่ แคร็ก เผยว่าการตลาดระยะเริ่มต้นขณะนี้ยังไม่มีหน้าร้าน มีเพียงออกบูธแนะนำผลิตภัณฑ์และขายผ่านทางเฟซบุ๊ก ตลอดระยะเวลาที่เริ่มธุรกิจมาเกือบ 3 เดือนได้รับผลตอบรับดีมากจากลูกค้าโดยเฉพาะชาวต่างชาติ อาทิ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเก๊า ส่วนในประเทศกำลังเริ่มเป็นที่รู้จัก

สำหรับการพัฒนาอนาคตขณะนี้กำลังทำเตรียมทำสินค้าเกษตรชนิดอื่น เช่น เห็ดหรือผักคอนโด ซึ่งสามารถปลูกได้บนอาคารสูงและใช้พื้นที่น้อย นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนาขยายไปสินค้าเกษตรกลุ่มสมุนไพร เนื่องจากมองว่าหากใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ทำให้สินค้าเกษตรน่าสนใจ การจะทำให้ที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าการปลูกผลผลิตการเกษตรก็ไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัวอีกต่อไป และเป็นโอกาสดีในการทำธุรกิจกลุ่มนี้

“เราอยากเป็นฮับเรื่องการผลิตสินค้าเกษตรที่ใช้ดีไซน์ด้วยนวัตกรรม เพราะทุกวันนี้พื้นที่เมืองขยายตัว ทำให้การปลูกต้นไม้เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราทำให้การปลูกต้นไม้เป็นเรื่องง่าย ดูสวยงามแม้อยู่ในห้องก็สามารถทำได้ ก็คงจะได้รับผลตอบรับดี”

ใส่ไอเดียให้ "มะพร้าว" เปลี่ยนสินค้าเกษตรราคาหลักสิบสู่ธุรกิจรายได้หลักล้าน 3 ขั้นตอนการเปิด "โคโค่ แคร็ก" กดจุกคอร์ก / เจาะหลอดและดูดน้ำ / กดเปิดฝาโดยรอบเพื่อกินเนื้อมะพร้าว

 

เคล็ดลับพัฒนาโอทอปไทย ไปไกลถึงตลาดโลก

การพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ สินค้าโอทอปของไทย นัฐพงษ์ มองว่า ผลิตภัณฑ์ของดีประจำท้องถิ่นทุกแห่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีน่าสนใจ เช่น ไข่เค็มไชยา ข้าวหลามหนองมน แต่รูปลักษณ์อาจยังไม่มีความทันสมัยหรือง่ายต่อการนำไปใช้ จึงคิดว่าเมื่อท้องถิ่นมีของดีควรพัฒนาสินค้าให้น่าสนใจเพื่อจะได้ส่งออกต่างประเทศ ซึ่งดีกว่าการจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเดียว

“การพัฒนาของพวกนี้ ไม่ต้องรอหน่วยงานรัฐสนับสนุน เราเริ่มได้หากรู้ว่าท้องถิ่นมีของดีอะไร จากนั้นพัฒนาสร้างสรรค์สินค้าออกมาให้น่าสนใจ เพื่อให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น”

เจ้าของแบรนด์โคโค่ แคร็ก แนะนำทิ้งท้ายว่า เทคนิคการพัฒนาของ 5 บาทให้กลายเป็น 500 ไม่ยาก แต่ต้องใส่ความคิดเพื่อทำให้ของดีที่ดูธรรมดา สามารถเพิ่มมูลค่าออกมาให้ได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแค่มองสิ่งรอบตัวอย่ามองแค่หนทางเดียว