posttoday

ชำแหละสารพัดสูตร สู่... วิกฤตตั้งรัฐบาลไม่ได้

03 ธันวาคม 2560

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. มองข้ามช็อตต่อปรากฏการณ์นับจากนี้เมื่อรัฐบาลประกาศเลือกตั้งเมื่อใด วิกฤตใหม่กำลังจะตามมา

โดย...ธนพล บางยี่ขัน 

แรงกระเพื่อมก่อตัวทันทีหลังแกนนำ “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ออกมาจุดประเด็นการจับมือของพรรคการเมืองเพื่อสกัด “นายกรัฐมนตรีคนนอก”​ จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ​

กระแสตอบรับจาก “กองเชียร์” เป็น “ก้อนหิน” มากกว่า “ดอกไม้”

ผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองพรรครีบออกมา “ตัดตอน” โยนให้เป็นเรื่องของความคิดความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้อง​กับการตัดสินใจ หรือจุดยืนของพรรค​ ในวันที่ยังต้องสงบนิ่งตามคำสั่ง คสช.

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ ชี้แจงถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้ว่า หนึ่ง ไม่ใช่เรื่องความเห็นของพรรค และสอง ในวันนั้นไม่มีใครพูดถึงเรื่องการจับมือกันตั้งรัฐบาล ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย เป็นเพียงแค่การพูดถึงสูตรเรื่องตัวเลขทางการเมือง

“ในเวทีเสวนาที่สมาคมนักข่าวฯ วันนั้นผมยังบอกว่าเป็นเรื่องยากมาก ​​เพราะความขัดแย้งมีรวม 10 ปี ตกผลึกฝังราก ดังนั้นโอกาสจับมือนี่ยากมาก พรรคเพื่อไทยก็บอกยาก ถ้าเริ่มต้นบอกยากก็ไม่มีนัยส่อไปถึงว่าต่อไปจะจับมือกันเลย”

เพียงแต่วันนั้นเป็นการอธิบายสูตรการเมือง ​คือ คนไม่สนใจ ไม่อ่าน หรืออ่านรัฐธรรมนูญแล้วไม่สนใจ ว่าการที่จะได้นายกรัฐมนตรี ต้องมีเสียง 375 เสียง จะมาจากพรรคไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้บอกว่าจะต้องมาจากไหน ​ส่วนจะมาจากประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทย ภูมิใจไทย ​ก็ว่ากันไป

ประเด็นคือหากจะไม่เอานายกฯ คนนอก ก็ต้องรวมเสียงให้ได้ 375 เสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ​แต่การจะให้พรรคการเมืองจับมือกัน 375 เสียง ก็เป็นเรื่องยากมาก ให้ สส. 375 เสียง จาก 500 เสียง คิดเห็นไปในทางเดียวกัน

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายว่า หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้งในอดีต ใช้ระบบเลือกตั้งแบบเดิม โอกาสที่จะรวมเสียง สส. 375 เสียง ก็พอเป็นไปได้ แต่ปัจจุบันระบบเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าระบบเลือกตั้งโอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เสียงข้างมากเป็นไปได้ยาก

“เดิมระบบเลือกตั้งมีสองบัตร ​เลือกพรรค เลือกตั้งบุคคล ไม่พอใจบุคคลก็ยังเลือกพรรคได้ เดียวนี้มีบัตรเดียว สส.เขต ระบบนี้ไม่น่าจะมีใครได้คะแนนโด่งเกิน 250 เสียง ดังนั้น ​เมื่อพรรคการเมืองจับมือกันจะได้ 375 เสียงไหม เมื่อไม่ได้ โอกาสนายกฯ คนนอกก็สูง แต่ไม่กล้าพูดเพราะพูดไปเดี๋ยวชาวบ้านมาด่าผมอีก

ในกรณีที่ ​สมมติเพื่อไทยได้ 260 เสียง ถือว่าเกินกึ่งหนึ่ง 250 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร เดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 สามารถตั้งรัฐบาลได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งไม่ได้เพราะต้องใช้ 375 เสียง เพราะใช้เสียง 250 เสียง สว.มาร่วมเลือกด้วย

ทั้งนี้ หากเพื่อไทยได้ 260 เสียง แต่ไม่มีใครจับมือเขา และ 240 เสียงที่เหลือไปจับมือกับ 250 สว.ได้ 490 เกินครึ่งตั้งรัฐบาลได้แต่ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพื่อไทย​ 260 เสียง ก็เป็นฝ่ายค้านเสียงข้างมาก ส่วน 240 เสียงที่เหลือตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ แต่ทำงานไม่รู้ถึง 4 เดือน​หรือเปล่า เพราะกฎหมายฉบับแรกคืองบประมาณที่วาระแรกถ้าถูกคว่ำต้องยุบสภาหรือลาออก

ที่สำคัญยุบสภาแล้ว 250 สว.ก็ยังอยู่ ปัญหาไม่ได้หมดไป ​ทุกอย่างต้องวนกลับมาที่เดิม ​นี่คือสิ่งที่ผมต้องการสะท้อนในวงเสวนา ว่าไม่เห็นทางออกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ไม่กล้าปรามาสเขา แต่เชื่อว่า 250 สว.ที่เข้ามาสู่ในระบบนั้นโดยหลักควรคำนึงถึงคนที่เลือกเขามา หากโบกมือไปทางไหนน่าจะไปทางนั้น แต่พูดลำบากเดี๋ยวถูกด่าอีก ​ความจริงเราควรมานั่งคุยกันแบบเป็นเหตุเป็นผล

ดูแล้วไม่มีทางออก สมมติให้ประชาธิปัตย์จับมือ สว. เลือกนายกฯ คนนอกต้องดูก่อนว่า เพื่อไทยได้กี่เสียง หากเขาได้ 260 เสียง ประชาธิปัตย์จะกล้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือ เพราะรู้อยู่แล้วว่าอยู่ได้ไม่เกิน 4 เดือน เป็นรัฐบาลไปก็ทำอะไรไม่ได้

อีกกรณี สมมติประชาธิปัตย์ได้ 260 เสียง แล้วไปรวมเสียง 250 สว. เลือกนายกฯ คนนอก วันดีคืนดี นายกฯ คนนอกไปหงุดหงิดอะไรมาแล้วยุบสภา ประชาธิปัตย์เจ๊งพอดี เลือกตั้งใหม่กลับมาไม่รู้จะถึงร้อยหรือเปล่า ​เกิดนายกฯ คนนอกซึ่งไม่แน่จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือเปล่า อาจเป็นคนอื่นแล้วไปด่าชาวบ้าน เขาจะมาบอกว่าไม่เลือกคุณแล้วเพราะคุณไปเลือกนายกฯ ที่ไม่เห็นหัวชาวบ้าน อย่างนี้แย่เลยนะ

ถามย้ำว่า “ยาก” แต่หากถึงเวลาจะมีความเป็นไปได้ไหมในการจับมือกันของพรรคใหญ่ นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ยาก เพราะความขัดแย้งมันตกผลึก ประการสำคัญ กองเชียร์ของแต่ละฝ่ายเขาไม่ยอมหรอก ต้องการให้สู้กันไปอย่างนี้ ต้องสู้กันไปไม่มีทางเป็นอื่น

“โอกาสที่จะเป็นนายกฯ คนนอก นายกฯ คนนอกที่มาจากทหาร​มีแนวโน้มเป็นยาวอีก 8 ปีคนบอกว่า 4 ปี แต่เอาเข้าจริง 4 ปี เมื่อไหร่ เพราะกำหนดให้ สว.เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี สองสมัย ดังนั้นอาจได้นายกฯ เป็นทหารไปอีก 8 ปี”

นิพิฏฐ์ กล่าวว่า เราไม่พูดความจริงกับประชาชน ที่ผ่านมา คสช.ไม่ได้ทำเรื่องปรองดอง ตั้งแต่ยึดอำนาจ คนเกลียดกันยังไงก็ยังเกลียดกันอยู่อย่างนั้น เผลอๆ ตอนนี้อาจเกลียดกันมากขึ้นกว่าเดิมเพราะโลกโซเชียลนั่งอ่าน นั่งด่ากันอยู่ในบ้านได้ ไม่ต้องออกไปกลางถนนแล้ว

ถามว่าตอนนี้แต่ละพรรคมีท่าทีเดียวกันคือไม่เอานายกฯ คนนอกจากทหาร จะเป็น “จุดร่วม” ให้เกิดการผนึกกำลังของพรรคการเมืองได้ไหม นิพิฏฐ์ มองว่า ต้องไปบอกกองเชียร์ก่อน ชาวบ้านต้องเข้าใจตัวเลข 250 เสียง 375 เสียง ก่อนว่าคืออะไรเวลานี้ชาวบ้านไม่เข้าใจ

สถานการณ์เวลานี้เปลี่ยนไป เดิมมีกลุ่มที่ไม่พอใจเพื่อไทย ไม่พอใจประชาธิปัตย์ เวลานี้เริ่มมีกลุ่มไม่พอใจทหารอีก จากสองกลุ่มใหญ่เวลานี้กำลังจะกลายเป็น 3 กลุ่ม การที่ทหารจะอยู่ต่อจึงทำให้คู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น ​ต่อไปก็จะมีคู่ขัดแย้งฝ่ายที่ 4 คือ พรรคใหม่ที่ประกาศ ไม่เอาประชาธิปัตย์ ไม่เอาเพื่อไทย ไม่เอาทหาร ที่คงจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

“ผมถึงบอกว่าประชาชนต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไง จะให้มันขัดแย้งต่อไปก็ไม่มีปัญหา แต่ตัวเลขหนึ่งที่ไม่ได้พูดถึงคือขณะที่ประชาชนขัดแย้ง กลุ่มทุนใหญ่อันดับที่ 1-10 ของประเทศ ปีที่แล้วเขารวยขึ้น 17% ประชาชนกำลังตกเป็นเหยื่อท่ามกลางที่เราทะเลาะกัน คนรวยยิ่งรวย เรามีความสุขกับการทะเลาะกันแล้วทนได้กับความจนก็ไม่เป็นไร ทะเลาะกันไปไม่มีปัญหา ชาวบ้านต้องตัดสินใจเอง ว่าเราจะเอาประเทศไปแนวไหน”​

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์​ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ตรงที่เราไม่ได้คุยกันเรื่องปรองดองตั้งแต่แรก ถ้าวินาทีแรกยึดอำนาจ วินาทีที่สองทำปรองดอง อย่าไปทำอะไรที่เพิ่มความเกลียดทุกอย่างก็จะดีขึ้น แต่ที่ผ่านมา ความเกลียด ความไม่พอใจของแต่ละฝ่ายยังอยู่เหมือนเดิมไม่ลดลง

“ถึงบอกว่าวิกฤตหลังเลือกตั้งคือวิกฤตที่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ สูตรนั้นก็จับไม่ได้  รวมเสียงไม่ได้ ก็น่าจะเป็นวิกฤต และก็จะกลายเป็นความชอบธรรมของคนที่จะหาเหตุผลอยู่ต่อ บอกว่าเมื่อให้เลือกตั้ง แล้วคุณเลือกนายกฯ ไม่ได้นายกฯ คนนอกก็ไม่เอา เหตุผลนี้ชอบธรรมเลยนะ”

นิพิฏฐ์ ออกตัวว่า ด้วยระบบเลือกตั้งใหม่ยังประเมินไม่ออกว่าพรรคจะได้คะแนนมากน้อยกว่าเดิม แต่หากดูตัวเลขแล้ว อาจเกิดปรากฏการณ์พรรคใหญ่แตกไปเป็นพรรคลูกลงสมัคร เช่น ภาคอีสาน เขาแตกไปลง 10 จังหวัด พรรคแม่ก็ไม่ลงแข่ง จะทำให้คะแนนเพิ่มถล่มทลาย

เนื่องจากคิดระบบสัดส่วนผสม พรรคใหญ่ที่ได้ สส.เขตเยอะไปแล้ว สส.ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อต้องลุ้นว่าตัวเองจะได้ไหม เพราะ สส.เขตได้ไปเยอะเกือบเต็มสัดส่วนแล้ว แต่หากไปลงพรรคใหม่จะทำให้ได้คะแนนทั้งเขตและบัญชีรายชื่อมากขึ้นเมื่อรวมพรรคแม่พรรคลูกจะชนะถล่มทลาย

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนประชาธิปัตย์คงไม่ใช่สูตรนี้เพราะทำอะไรตรงไปตรงมา ไม่ทำให้คนสับสน ดีไม่ดีไปทำแบบนี้คนด่าตาย เผลอๆ สอบตกหมด พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีแรงจูงใจที่จะต้องใช้สูตรนี้ แต่พรรคอื่นไม่แน่​

ส่วนคำถามที่คนสงสัยว่าจะมีพรรค กปปส.เกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตนั้น นิพิฏฐ์ ​กล่าวว่า หากเขาคิดจะตั้งจริงคงจะหา สส.เขตยาก และในพื้นที่ภาคใต้คงจะเอาชนะประชาธิปัตย์ยาก อาจจะได้เป็นที่สอง สมมติ ประชาธิปัตย์ 7 หมื่น เขาอาจจะได้ 4-5 หมื่น รวมแล้วก็อาจจะได้ สส.บัญชีรายชื่อแทน

“ตรงนี้ไม่มีผลต่อเพื่อไทย แต่จะมีผลต่อประชาธิปัตย์ ดังนั้นสูตรที่มองกันว่าจะแยกกันไปตีเพื่อไทย คงไม่ได้เป็นอย่างนั้น”นิพิฏฐ์ กล่าว