posttoday

ฟ้าหลังฝน "อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์" ความในใจของคนสวนกระแสครูจอมทรัพย์

28 พฤศจิกายน 2560

เปิดใจ “อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” กับบทเรียนที่เขาได้รับจากการสวนกระแสและอารมณ์สังคมในคดีครูจอมทรัพย์ อดทนจนกระทั่งความจริงปรากฎ

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

"อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์" ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมไม่เคยลืมช่วงเวลาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังสวนกระแสในคดีครูจอมทรัพย์ ผู้ต้องหาในคดีขับรถชนคนตาย โดยประกาศอย่างมั่นใจว่าอดีตข้าราชการครูไม่ใช่แพะเหมือนที่ทุกคนพากันดราม่า จนได้รับแรงกระเเทกจากเสียงด่าทอและโจมตีชนิดสาดเสียเทเสีย

เหมือนฟ้าหลังฝน ผ่านไป 10 เดือน ศาลตัดสินยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีของครูจอมทรัพย์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินหน้าฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างหนัก โดยผู้ต้องหารายสำคัญรับสภาพแล้วว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงการจัดฉาก ขณะที่ครูจอมทรัพย์เองอยู่ระหว่างถูกฝากขังและห้ามประกันตัว

"เหมือนได้ปลดปล่อย ก่อนหน้านี้เราตกเป็นจำเลยของศาลเฟซบุ๊ก หนักและบอบช้ำอย่างแสนสาหัส วันนี้เราได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่พูดเอาไว้เมื่อ 10 เดือนก่อนนั้นเป็นความจริง" ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมเล่าถึงวันที่ได้ยินศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา

10 เดือนแห่งความบอบช้ำ

กว่า 10 เดือนที่ชีวิตประจำวันของอัจฉริยะต้องเผชิญหน้ากับความกดดันทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง จากอดีตที่เคยโพสต์เฟซบุ๊กแล้วเต็มไปด้วยความคิดเห็นเชิงยกย่องชื่นชม กลับกลายเป็นถูกด่าทอด้วยข้อความหยาบคาย บ้างสาปแช่งให้ตกนรก บ้างสร้างเรื่องโกหกขึ้นมาดิสเครดิตโดยไร้หลักฐาน เมื่อออกไปในที่สาธารณะก็เจอแต่สายตาดูถูกเหยียดหยาม

“นักข่าวไร้จรรยาบรรณ เพจต่างๆ บางเพจโนเนมได้โอกาสเกาะกระแส กลุ่มมิจฉาชีพพากันรุมกระหน่ำ พยายามหาจุดอ่อนทุกรูปแบบมาโจมตีและดิสเครดิต ใส่ร้ายทั้งที่ไม่มีหลักฐานเพื่อทำให้เราหมดความน่าเชื่อถือ ไม่ให้กลับมามีที่ยืนในสังคม”

“เราคิดไม่ถึง มีทั้งด่าต่อหน้า ถ่มน้ำลายใส่ตอนที่เดินผ่าน เจอมาหมด บางทีเราไม่กล้าไปไหนเพราะอาย รู้สึกเป็นคนแปลก ตัวประหลาด ถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยาม จนเรารู้สึกได้ มันเหมือนเราเป็นคนเลวเลยจริงๆ นะ ผมบอกเลยว่าเจ็บปวดทรมานมาก”

ฟ้าหลังฝน "อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์" ความในใจของคนสวนกระแสครูจอมทรัพย์

 

สิ่งที่ทำให้อัจฉริยะรู้สึกเจ็บปวดมากที่สุดถึงขั้นเสียน้ำตา คือการด่าทอลูกสาวและคนในครอบครัว

“ผมรับไม่ได้กับการหยิบรูปลูกเราขึ้นมาด่า ทำให้ลูกเราอับอายไม่กล้าไปโรงเรียน สงสารลูกมาก ร้องไห้กับลูกอยู่หลายวัน ร้องเพราะลูกๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำไมต้องเอาลูกมาเล่น ถ้าทำลายผมคนเดียว ไม่ว่า แต่นี่ไม่ใช่ ลูกเป็นเด็กผู้หญิงด้วย ถูกเพื่อนล้อและรู้สึกอับอายมาก” อัจริยะเล่าถึงความบอบช้ำเมื่อครั้งอารมณ์ของผู้คนในสังคมอยู่เหนือเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งสุดท้ายเขาสามารถทำความเข้าใจกับลูกได้สำเร็จ

“สิ่งที่พ่อทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องและลูกต้องอดทน เพราะถ้าลูกอาย ต้องอายตลอดชีวิต จะหนีไม่ไปโรงเรียนก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต ผมเอาหลักฐานให้ลูกดูและอธิบายจนเข้าใจ”

ชายวัย 50 ปี  เล่าว่า ท่ามกลางกระแสโจมตีอย่างหนักสิ่งที่เขายึดมั่นคือ “ความจริง” ที่แม้จะช้าแต่จำเป็นต้องอดทน

“ที่ผ่านมาเหมือนตกนรกทั้งเป็น เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ศาลจะอ่านคำพิพากษาเสียที เราจะได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริง”

ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมบอกด้วยว่า ในอดีตมีทนายความรายหนึ่งโทรมาด่าและท้าว่า ถ้าครูจอมทรัพย์เป็นแพะ เขาต้องเอาหัวโขกกำแพงจนเลือดออกพร้อมกับถ่ายคลิปมาให้ดู แต่หากเป็นแกะจะขอลาออกจากการเป็นทนายความ ซึ่งสุดท้ายทนายความรายนั้นก็ไม่ได้รับผิดชอบคำพูดแต่อย่างใด

ฟ้าหลังฝน "อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์" ความในใจของคนสวนกระแสครูจอมทรัพย์

บทเรียนสังคมไทย เหตุผลเป็นสิ่งสำคัญ อย่าตัดสินจากกระแส

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กได้กลายเป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องบางเรื่องหลายครั้งมักถูกตัดสินจากกระแสสังคมในขณะนั้น แม้ที่ผ่านมาจะมีบทเรียนจากความผิดพลาดเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงด้วยอารมณ์และความรู้สึกยังเกิดขึ้นเสมอ

“สังคมไทยสมัยนี้มีศาลเฟซบุ๊กในการพิจารณาพิพากษา บทเรียนที่สังคมได้รับคือ ควรจะฟังหูไว้หูก่อน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตัดสินทั้งที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ก่อนหน้านี้มีน้องคนหนึ่งใส่รองเท้าขาดขึ้นรถไฟฟ้า จนถูกหญิงสาวกล่าวหาว่าติดกล้องแอบถ่ายเอาไว้ กว่าจะพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ก็แทบจะไม่มีแผ่นดินอยู่แล้ว”

“ผมว่าทุกอย่างต้องตรวจสอบก่อนไม่ใช่แค่คิด 30 วินาทีแล้วอยากจะโพสต์ สิ่งที่โพสต์ไปอาจกำลังทำลายชีวิตของคนๆ หนึ่งเลยก็ได้”

ผลของคดีนี้ไม่ใช่แค่คนที่เผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรงเท่านั้นที่ได้รับบทเรียน แต่ยังรวมไปถึงทุกคนในสังคมไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อและเจ้าหน้าที่รัฐ

ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมบอกว่า กระบวนการยุติธรรมนั้นถูกดำเนินการด้วยมนุษย์ จึงมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อผิดพลาดและตรวจสอบพบเจอ รัฐต้องเป็นฝ่ายเยียวยา หาเหตุผลมารองรับ ไม่ใช่เร่งชี้นำหรือสนับสนุนความเชื่อในลักษณะที่ว่า “คนนี้เป็นแพะอย่างแน่นอน” เช่นกันกับสื่อมวลชนที่ไม่ควรให้น้ำหนักกับความดราม่าเกินกว่าข้อเท็จจริง

“คดีนี้ดังเพราะเกิดจากสื่อแห่งหนึ่งต้องการเรตติ้งเพื่อให้ตัวเอง รายงานในลักษณะชี้นำ ครูจอมทรัพย์เลยสร้างดราม่าได้ต่อเนื่อง ทำให้สังคมเกิดความเชื่อ สุดท้ายกระทรวงยุติธรรรมดันมารับรองด้วยว่าเขาเป็นแพะ ทำทีเหมือนสนับสนุนจนกลายเป็นเครื่องมือของกระบวนการรับจ้างติดคุก”

อัจริยะบอกว่า คดีดังกล่าวเป็นบทเรียนชั้นดีของการใช้อำนาจรัฐ งบประมาณแผ่นดินไปช่วยเหลือคนกระทำผิดกฎหมาย โดยมองข้ามการทำงานของหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการหรือแม้กระทั่งศาล

เมื่อถามว่าครูจอมทรัพย์จะรื้อฟื้นคดีไปเพื่ออะไร อัจริยะตอบทันที

“หนึ่ง ล้างมลทิน สอง มุ่งหวังเงินเดือนย้อนหลัง ถ้าได้กลับไปรับราชการ รวมถึงยังได้เงินบำเหน็จ-บำนาญตลอดชีวิต สาม เงินจากมูลนิธิ-องค์กรต่างๆ ในการเยียวยา สี่ เงินจากกองทุนกระทรวงยุติธรรม และห้า เงินจากการฟ้องละเมิดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จอมทรัพย์มั่นใจว่าจะสำเร็จ พูดง่ายๆ ไม่คิดว่าจะมีวันนี้”

กระบวนการรับจ้างติดคุกแทนนั้นเขาบอกว่ามีมานานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะในคดีการพนัน ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐและจำนวนเงิน นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีเบาะแสเรื่องกระบวนการรับจ้างรื้อฟื้นคดีของหน่วยงานรัฐ โดยใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นตัวขับเคลื่อนอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตา

ฟ้าหลังฝน "อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์" ความในใจของคนสวนกระแสครูจอมทรัพย์

ช่วยเหลือเหยื่อ-แบ่งเบาภาระตำรวจ

ผลกระทบจากคดีสุดดราม่าครั้งนี้ทำให้อัจฉริยะในฐานะประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ตัดสินใจปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงาน เลือกให้น้ำหนักมากขึ้นกับการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการมิจฉาชีพ โดยจะช่วยแบ่งเบาภาระตามช่องทางและโอกาสที่ประชาชนสามารถทำได้

“เราได้เรียนรู้อะไรมหาศาล สิ่งที่ตั้งใจไว้ตอนแรกคือการช่วยเหลือประชาชนเรียกร้องความเป็นธรรมจากการโดนเอาเปรียบ ต้องทบทวนอย่างหนัก เพราะสังคมเปลี่ยนไปมาก คนที่มาร้องให้เราช่วยส่วนใหญ่เอาผลประโยชน์ของตนเองเป็นตัวตั้ง มีหลายครั้งไม่ใช่เรื่องจริง นโยบายใหม่ที่เราจะทำคือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามมิจฉาชีพ”

อย่างไรก็ตามชมรมฯ ยังยินดีช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ที่ถูกเอาเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่นกันกับการปราบปรามอำนาจทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นเดิม

อัจริยะเข้าใจดีว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะหรืออาจจะเนิ่นนานเพื่อให้คนกลับมาเชื่อมั่นในสิ่งที่ชมรมฯ ทำ

“วันนี้คนยังไม่ยอมรับเท่าไหร่หรอก อย่าลืมว่าการเอาชื่อเสียงกลับมานั้นไม่ง่ายต่างกับตอนที่เราถูกทำลาย แค่ 1 ชั่วโมงเราก็พังแล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดผมดีใจที่วันนี้ลูกเรามองหน้าคนอื่นได้อย่างภาคภูมิใจว่าสิ่งที่พ่อทำไม่ใช่เรื่องเท็จ” เขาทิ้งท้าย