posttoday

ปฏิรูปทุจริตจับปลาใหญ่ นักการเมืองโกงห้ามประกัน

19 พฤศจิกายน 2560

"คณะปฏิรูปกำลังศึกษาโมเดลการปราบปรามการทุจริตของประเทศเกาหลี ที่เห็นว่าหากนักการเมืองมีคดีทุจริต ควรถูกควบคุมตัว ไม่ควรให้ประกันตัว"

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ในช่วงเวลานี้ คณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน กำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางการปฏิรูปประเทศให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้ทันก่อนจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561 และหนึ่งในนั้นคือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือชุดปราบโกงที่มี ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน

ทั้งนี้ ผลงานแนวทางข้อเสนอของคณะกรรมการดังกล่าว พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ในฐานะกรรมการ ได้เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ถึงข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการปราบโกงต่อนักการเมืองและข้าราชการ โดยมีสาระที่น่าสนใจดังนี้

พล.อ.อ.วีรวิท บอกว่า ผลงานการทำงานด้านปราบทุจริตแบ่งได้ 2 ส่วน คือ กฎหมายที่ผลิตออกไปแล้ว 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ...  พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ได้มีการยกระดับวิธีการป้องกันและป้องปรามการทุจริตในภาครัฐให้เข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนี้ อีก 3 ฉบับกำลังดำเนินการ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ... อยู่ในชั้นกรรมาธิการกำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.มาตรการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปโดยมิชอบ อยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา และร่างปรับปรุงกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลสาร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ได้มีกำหนดมาตรการคุมเข้มแบบรอบด้าน เพื่อ “ป้องกัน-ป้องปราบ-ปราบปราม” โดยการป้องกัน จะเน้นการเฝ้าระวังโดยเป็นไปตามมาตรา 63 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ต้องการเห็นการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้มงวดขึ้น

ทั้งนี้ ต้องสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาชนเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังคอยสอดส่องดูแลช่วยงานภาครัฐกล่าวคือ 1.ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงกลโกง เพราะการจับคนโกงติดคุกเพียงอย่างเดียวไม่พอ ในการป้องกัน จำเป็นต้องให้ความรู้แก่ประชาชนว่าเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมือง มีวิธีโกงอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน

2.การรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ผ่านงานวิจัย หรืองานรณรงค์ เช่น พิพิธภัณฑ์ต้านโกง หรือโครงการโตไปไม่โกง เป็นต้น ที่จะขยายไปทั่วทุกพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนโดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ จากนี้ไปต้องไม่ทนต่อการทุจริต รวมถึงต้องรังเกียจที่จะนำไปสู่การใช้มาตรการทางสังคมกดดันคนที่ทุจริตให้อยู่ในสังคมไม่ได้

ประเด็นที่ 3 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 63 สนับสนุนให้ประชาชนได้แจ้งเบาะแสหากพบการทุจริต รวมถึงส่งเสริมการรวมกลุ่มตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป เพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง โดยที่ประชาชนไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะระบบใหม่จะดูแลคุ้มครองพยาน ปกปิดชื่อ ไม่ให้เกิดการฟ้องกลับหรือได้รับอันตรายจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล

ปฏิรูปทุจริตจับปลาใหญ่ นักการเมืองโกงห้ามประกัน

สำหรับมาตรการป้องปราม แนวทางปฏิบัติสำคัญ คือ หน่วยงานราชการต้องปฏิรูปตัวเองไม่ให้เกิดการทุจริตแนวคิดต่อยอดจากคำสั่ง คสช.69/2557 การสร้างกลไกบังคับให้ภาครัฐต้องเข้มงวดเรื่องการป้องปราบการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรตัวเอง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการต้องมีบทบาทสำคัญ ที่ต้องรับผิดชอบในการสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลภายในองค์กร

 

ทั้งนี้ รวมถึงมีบทบาทสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงถึงพฤติกรรมของลูกน้องและประเมินผลงานด้วยการนำระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ของ ป.ป.ช.มาใช้เป็นตัวชี้วัดประเมินผลการแต่งตั้งโยกย้าย หรือย้ายออกจากตำแหน่ง ที่ต้องได้รับการประเมินแบบเปอร์เซ็นต์ที่ต้องได้คะแนนเกิน 75-80% อาทิ ความโปร่งใสความรับผิดชอบ ปลอดทุจริต วัฒนธรรมองค์กร และคุณธรรม เบื้องต้นให้ทุกหน่วยงานจัดทำมาตรฐานกลางในการบริหารงานบุคคล สิ่งที่คาดหวัง คือ ต้องการให้คนดีคนเก่งเข้าสู่ระบบทำงานราชการมากขึ้น

นอกจากนี้ การดำเนินการทางวินัยต่อข้าราชการที่กระทำผิดต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ตั้งแต่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือ 60 วัน ก่อนจะส่งเรื่องต่อให้ ป.ป.ช.หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการต่อไป และส่วนราชการต้องมีการประชุมทุกเดือนเพื่อประเมินความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดการรับสินบนใต้โต๊ะ หรือจะมีการออกประกาศใหม่ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยง

อีกทั้งจะมีการนำระบบ COST (Construction Sector Transparency Initiative) หรือโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ และ 2.IP (Integrity Pact) หรือข้อตกลงคุณธรรม ทั้งสองมาตรการเน้นการเปิดเผยข้อมูลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่มูลค่าเกินพันล้านบาท เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาตรวจตราการใช้เงินภาษีได้ โดยเฉพาะโครงการในท้องถิ่น ตัวอย่างที่จะนำมาใช้ก่อนเลย คือ โครงการก่อสร้างถนน เพราะถ้าถนนดีถนนเรียบไม่ต้องซ่อมแซมบ่อยๆ แสดงว่างบประมาณในการก่อสร้างมีความโปร่งใสปราศจากการทุจริตในค่าหัวคิวหรือวัสดุก่อสร้าง

สำหรับมาตรการปราบปราม จะเน้นการกวดขันวินัยร้ายแรงด้วยการให้ข้าราชการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับราชการบรรจุไว้ในสมุดประวัติโดยจะเป็นความลับ แต่ทางหัวหน้าส่วนราชการสามารถเปิดดูได้ เว้นแต่มีเรื่องร้องเรียนว่าราชการคนนั้นร่ำรวยผิดปกติหรือประพฤติมิชอบ ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการสอบสวนของ ป.ป.ช.และ ป.ป.ท.ในการลงโทษทางวินัย ดังนั้นต่อไปข้าราชการต้องรายงานบัญชีทรัพย์สินเป็นระยะๆ หากรายการทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และเมื่อไรมีเรื่องราวร้องเรียนก็จะมีหลักฐานประกอบหรือพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ซึ่งแนวทางนี้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องดำเนินการ ย่อมจะส่งผลให้การทำคดีของทั้ง ป.ป.ช.และ ป.ป.ท.รวดเร็วขึ้น

พล.อ.อ.วีรวิท ระบุอีกว่า ต่อไปกระบวนการปราบปรามการทุจริตจะเน้นจับปลาใหญ่ไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อยเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยจะมีการจัดองค์กรศูนย์อำนวยการต่อต้านการุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่ประกอบด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ป.ป.ช. ป.ป.ท. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อบูรณาการในการทำงานโดยเฉพาะตำแหน่งประธาน ศอตช. ปัจจุบันตามคำสั่ง คสช. นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่ในอนาคตที่จะมีการเสนอให้เป็นประธานร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายตุลาการ คือ ประธานศาลฎีกา ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ประธานรัฐสภา และฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี เพื่อสามารถตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและได้หากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง

“ตอนนี้ทางคณะปฏิรูปกำลังศึกษาโมเดลการปราบปรามการทุจริตของประเทศเกาหลี ที่เห็นว่าหากนักการเมืองมีคดีทุจริต ควรถูกควบคุมตัว ไม่ควรให้ประกันตัว เพราะหากถูกปล่อยตัวออกไปแล้ว อาจจะไปยุ่งเกี่ยวทางคดีได้ โดยเฉพาะตำแหน่งนักการเมืองระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี”

ปฏิรูปทุจริตจับปลาใหญ่ นักการเมืองโกงห้ามประกัน

นอกจากนี้ จะนำระบบศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) ที่เป็นหน่วยงานย่อยของ ศอตช.ที่อยู่ประจำกระทรวงต่างๆ เช่น ศปก.กระทรวงพาณิชย์ ศปก.กระทรวงมหาดไทย จะต้องมีการทำงานเชื่อมโยงกันกับกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช.ที่กำลังจะออกมาบังคับใช้ โดยเฉพาะมาตรการให้ข้าราชการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้ในสมุดประวัติการทำงาน โดยจะมี 2 เล่ม คือ เล่มที่ 1 สมุดประวัติการทำงานหรือผลงาน และเล่มที่ 2 สมุดเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน สมุดสองเล่มนี้จะถูกเปิดเผยเมื่อมีเรื่องร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน หรือจ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายโดยชี้แจงไม่ได้ว่านำเงินมาจากไหน

 

“ต่อไปทั้งนักการเมืองหรือข้าราชการหากมีทรัพย์สินหรือหนี้สินเพิ่มเติม อาทิ อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ หรือเครื่องประดับมีค่าที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาท ต้องแจ้งต่อธนาคาร ถึงแหล่งรายได้ และใบกำกับภาษีว่าเอาเงินมาจากที่ไหนถึงได้ทรัพย์สินนั้นๆ มา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นมาตรการป้องปรามไม่ให้ข้าราชการหรือนักการเมืองออกนอกลู่นอกทาง และในอนาคตเมื่อมีระบบอี-เพย์เมนต์เต็มรูปแบบแล้ว การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ จะจ่ายเงินผ่านธนาคาร โดยกรมบัญชีกลางหรือสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สามารถตรวจสอบได้”

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวว่า มาตรการทั้งหมดที่กล่าวมาจะนำเสนอต่อที่ประธานร่วมคณะกรรมการปฏิรูป  11 คณะ ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือน ก.พ. 2561 และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก็สามารถนำมาเป็นแผนปฏิบัติการ หรือแอ็กชั่นแพลนได้ทันทีภายในเดือน เม.ย. 2561 เมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าภาพลักษณ์หรือปัญหาการทุจริตของไทยจะดีขึ้นอย่างแน่นอน