posttoday

เปิดใจ "เพ็ญพร ไม่มีนามสกุล" สาวไร้สัญชาติบัณฑิตเกียรตินิยม ผู้ไร้อิสระในการเดินทาง

13 พฤศจิกายน 2560

เปิดชีวิตในกรอบของคนไร้สัญชาติวัย 24 ปี "เพียว เพ็ญพร" ลูกสาวชาวกะเหรี่ยงผู้ฝ่าอุปสรรคหาโอกาสและอิสระที่ควรได้รับ

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

หลังจากที่ เพียว เพ็ญพร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เธอรู้ดีอยู่แก่ใจว่า สัญชาตินั้นไม่สำคัญสำหรับเธออีกแล้ว ขอเพียงแค่ได้ทำงานที่รักและมีชีวิตอย่างมีความสุขในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อถึงคราวมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานที่หัวหิน ปัญหาเรื่องสัญชาติก็กลับมาบั่นทอนหัวใจอีกครั้ง

“เพียวไปขออนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อขอไปเที่ยวต่างจังหวัดกับพี่ๆ เพียวเพิ่งรู้ว่าขออนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อไปเที่ยวไม่ได้ นอกจากไปทำธุระ เยี่ยมญาติ หรืออบรม มันน่าน้อยใจไหมล่ะคะ” ข้อความจากหญิงสาวไร้สัญชาติวัย 24 ปีที่บอกผ่านเฟซบุ๊กด้วยความน้อยใจกับโอกาสในการเดินทางของชีวิตอีกครั้ง โดยมีผู้แชร์ต่อเป็นจำนวนมาก

จากลูกสาวชาวกะเหรี่ยง แต่ใฝ่ดีหาโอกาสทางการศึกษา เผชิญหน้ากับความยุ่งยากของระบบราชการ จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรีและเข้าทำงาน ชีวิตที่ไร้สัญชาติของเธอไม่ง่ายเลย

เรียนเก่งจนได้เกียรตินิยม

เพียว เพ็ญพร เกิดเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2536 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก พ่อแม่เป็นชาวกะเหรี่ยงเดินทางจากประเทศพม่าเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างที่เมืองไทย โดยทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์รถไถ ขณะที่คุณแม่เป็นแม่บ้าน

แม้จะไม่มีเอกสารประจำตัว แต่โชคยังดีเมื่อนายจ้างเป็นผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ทำให้เพ็ญพรได้รับโอกาสทางการศึกษามาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมตอนต้น ก่อนเข้าเรียนต่อในระดับ ม.ปลาย ที่โรงเรียนเทศบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“ตอนเป็นเด็กไม่ได้คิดอะไรมากจนอายุได้ 12 ปี มีโอกาสได้ไปแข่งขันทักษะวิชาการนอกโรงเรียน อาจารย์ที่อื่นเขาเริ่มถามว่า หนูไม่มีนามสกุลเหรอ ลืมเขียนหรือเปล่า ตอนนั้นเป็นเด็กตอบได้แค่หนูไม่มี จนช่วง ม.ปลาย คำตอบเริ่มมาพร้อมกับความน้อยใจ เพียวไม่มีนามสกุลเพราะไม่ใช่คนไทยค่ะ”

เด็กหญิงเพ็ญพรมีเอกสารแสดงตัวตนครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ปี คือ บัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0)ก่อนจะได้รับสูติบัตรเมื่ออายุ 18 ปี จากความช่วยเหลือของคุณครู เพื่อนๆ และนายกเทศมนตรีนครแม่สอดในขณะนั้น กระทั่งปัจจุบันถือบัตรในประเภทที่ 7 (บัตรเลข 7) ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นบุตรของผู้ที่ยังไม่ได้สัญชาติ  เพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย

เปิดใจ "เพ็ญพร ไม่มีนามสกุล" สาวไร้สัญชาติบัณฑิตเกียรตินิยม ผู้ไร้อิสระในการเดินทาง

ความซับซ้อนในการจัดการเปลี่ยนแปลงเอกสารจากบัตรเลข 0 เป็นเลข 7 ส่งผลต่ออนาคตทางการศึกษาไม่น้อย เมื่อต้องล้มเลิกความฝันที่จะเป็นแพทย์ ตัดสินใจไม่สมัครสอบรับตรง “กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย” หรือ กสพท.

“ด้วยความยุ่งยากวุ่นวายเรื่องบัตร ทำให้ตัดสินใจไม่สมัครสอบ กสพท. เพราะแค่สมัครสอบ gat pat ยังต้องรบกวนให้คุณครูโทรไปแจ้งแก้ไขเรื่องบัตรต่างๆ นานา ถ้าเพียวยังดื้อรั้นที่จะสอบหมอคงทำให้คุณครูปวดหัวน่าดู จริงๆ แล้วก็เสียดายนะ แต่ย้อนเวลากลับไปไม่ได้” เพ็ญพรเล่าถึงอดีต ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกสอบเข้าสาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร "อยากเรียนสายการแพทย์ เพราะแต่ก่อนเวลาพ่อกับแม่ไม่สบาย จะไป รพ.ทีก็ต้องเสียเงิน ไปคลินิกก็ยิ่งแพงไปใหญ่ สงสารพ่อกับแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเงิน แต่กลับไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและดีที่สุด

“เพียวเลยเลือกเรียนสายนี้ เพื่อที่จะช่วยดูแลพ่อกับแม่ได้บ้าง ถ้าได้เป็นหมอคงได้ดูแลรักษาพ่อกับแม่มากกว่านี้ แต่เป็นนักเทคนิคการแพทย์ก็ไม่ได้เสียหาย ถึงจะรักษาพ่อกับแม่เองไม่ได้ แต่ก็หาเงินมารักษาได้”

ชีวิตของคนไร้สัญชาติ โอกาสหลายอย่างนั้นน้อยกว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การเข้าถึงกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ. , การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ดีด้วยความเรียนเก่ง ประพฤติปฎิบัติตัวดีทำให้เธอได้รับเงินทุนจากแหล่งทุนอื่น ก่อนพัฒนาตัวเองจนเรียนจบในฐานะเด็กเกียรตินิยม

เปิดใจ "เพ็ญพร ไม่มีนามสกุล" สาวไร้สัญชาติบัณฑิตเกียรตินิยม ผู้ไร้อิสระในการเดินทาง

ไร้อิสระในการเดินทาง

เรื่องบั่นทอนหัวใจของคนไร้สัญชาติคือการเดินทาง สมัยเรียนผู้หญิงคนนี้ต้องขออนุญาตจากอำเภอเพื่อออกนอกพื้นที่ทุก 6 เดือน “ขนาดเรียนยังต้องมีใบอนุญาต” หญิงสาวหัวเราะให้กับเรื่องที่ผ่านมา “ไม่รู้ว่าเป็นความผิดของเพียวหรือเปล่าที่เลือกไปเรียนที่พิษณุโลก ช่วงปีหนึ่งต้องกลับไปขออนุญาตทุก 6 เดือน แต่หลังๆ โชคดีหน่อยเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตให้จนเรียนจบ” 

เพียว เล่าว่า ใบอนุญาตสำคัญมากเวลาผ่านด่านตรวจ ทุกครั้งที่นั่งรถตู้เพื่อกลับไปเรียนหรือไปไหนก็ตาม จะพยายามนั่งแถวหน้า เหตุผลหลักคือ ไม่อยากให้ตำรวจที่มาตรวจรู้สึกเหมือนตัวเองหลบซ่อนอยู่ท้ายรถ

“มีอยู่ครั้งหนึ่งได้นั่งรถตู้แถวหลังสุด พอถึงด่านตรวจ ทุกคนยื่นบัตรของตัวเองให้ตำรวจดู แต่เพียว ต้องยื่นเอกสารหนึ่งแผ่นพร้อมแนบบัตรประจำตัวที่มี เกิดอะไรขึ้นล่ะ ทุกคนในรถก็มองมาสิคะ ต้องคิดว่าเพียวเป็นต่างด้าวชัวร์ ความมั่นใจในตัวเองหายสาบสูญ หน้าซีดไม่กล้าสบตาใคร แล้วทันใดนั้นคุณตำรวจก็พูดขึ้นว่า 'นี่ดูไว้เป็นตัวอย่างนะเขาไม่มีสัญชาติแต่ตั้งใจเรียนถึงขั้นปริญญา ดูซิเด็กบางคนเป็นคนไทยแท้ๆ แต่ไม่เอาไหน' ขอบคุณค่ะ เทวดามาโปรดแท้ๆ เพียวยิ้มออกเลยล่ะ สิ่งที่คุณตำรวจพูดน่าจะเพียงพอที่จะทำให้ทุกคนในรถตู้เปลี่ยนความคิดแล้ว”

อีกหนึ่งปัญหาการเดินทางที่เพ็ญพรไม่มีวันลืมคือ การพลาดไปเยี่ยมเพื่อนที่บาดเจ็บอาการสาหัส “เขาถูกรถชน เพื่อนในกลุ่มก็ชวนเพียวไปเยี่ยมเพื่อนคนนี้ทันทีหลังจากทราบข่าว เพียวก็ไปขออนุญาตตามปกติ แต่ปัญหาคือต้องมีใบรับรองแพทย์ของเพื่อนคนนั้น ณ เวลานั้นเพื่อนที่อาการโคม่า ญาติๆ ต้องคอยดูแลไม่ห่าง คำถามคือ ใครจะส่งใบรับรองแพทย์มาให้เพียวได้ สรุปแล้วเพียวก็ไม่ได้ไปเยี่ยมเพื่อน”

ภายหลังเรียนจบความตั้งใจที่จะเข้าทำงานในโรงพยาบาลรัฐถูกปิดกั้นเพราะการไม่มีสัญชาติไทย ทำให้เธอเบนเข็มมาทำงานให้กับศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโกล องค์กรไม่แสวงหากำไรใน อ.แม่สอด ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการ

ชีวิตการทำงานของหญิงสาวมีความสุขดีและแทบไม่คิดว่าสัญชาติเป็นเรื่องสำคัญ จนกระทั่งเมื่อถึงคราวต้องไปพักผ่อนกับเพื่อนร่วมงานในต่างจังหวัด

“เราผ่านช่วงเวลาที่สัญชาติมีความสำคัญมากที่สุดในชีวิตมาแล้ว จนเคยรู้สึกว่าไม่มีมันก็ได้จนล่าสุดถูกปฏิเสธ ขออนุญาตไปเที่ยวไม่ได้ มันทำให้เข้าใจว่าสุดท้ายแล้ว เราก็ต้องการสัญชาติอยู่ดี

เปิดใจ "เพ็ญพร ไม่มีนามสกุล" สาวไร้สัญชาติบัณฑิตเกียรตินิยม ผู้ไร้อิสระในการเดินทาง

 

ชีวิตสอนให้เข้มแข็งและมีหวัง

กระบวนการขอสัญชาติของเพียวเดินทางมาถึงปีที่ 4  ผ่านขั้นตอนมากมายในระบบราชการ ไล่ตั้งแต่ระดับเทศบาล อำเภอ จังหวัด และกรมการปกครอง สิ่งที่กลายเป็นความคับข้องใจมาตลอดคือ มาตรฐานในการตรวจสอบและจัดการ

“หลังเรียนจบเราตามเรื่องแทบทุกเดือน ตอนนี้อยู่ที่กรมการปกครองแล้ว ที่แปลกใจไม่ใช่เรื่องระยะเวลาที่ยาวนาน แต่ปัญหาคือมาตรฐานในการจัดการ อะไรเป็นตัวกำหนด บางคนเร็ว บางคนช้า ทั้งๆ ที่เอกสารหลักฐานมีเท่ากัน สอบถามแล้วเจ้าหน้าที่ไม่สามารถบอกเราได้ว่าต้องรอนานเท่าไหร่ 2 เดือนหรือ 3 เดือน ในแต่ละขั้นตอน”

รสชาติแห่งความลำบากและผิดหวังเหมือนความโชคดีที่แฝงตัวมา เพราะส่งผลให้เธอกลายเป็นมนุษย์ที่อดทนและเข้มแข็ง เพียวบอกว่า "ไม่ใช่ความเข้มแข็งทางกาย แต่คือความเข้มแข็งทางใจที่ทำให้เราผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ถ้าเพียวไม่เข้มแข็งพอที่จะรอสัญชาติ เพียวอาจจะเลือกไปเป็นแค่ลูกจ้างธรรมดาๆ คนหนึ่ง ทุกช่วงเวลาเพียวคาดหวังเสมอว่าจะได้สัญชาติในเร็ววัน แต่ในเมื่อมันไม่เป็นอย่างที่หวัง ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราจะจบลง เรายังต้องดำเนินชีวิตต่อไป และคิดซะว่า "ถ้าวันนี้ไม่ได้พรุ่งนี้ก็ได้แหละหน่า"

เรื่องราวของ เพียว แสดงให้เห็นถึงความอดทนต่อสู้แสวงหาโอกาสในชีวิตอย่างมีความหวัง รวมถึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของความลำบากที่คนไร้สัญชาติต้องเผชิญ เธอบอกทิ้งท้ายว่า เมื่อได้สัญชาติไทย อยากเปลี่ยนชื่อใหม่และใช้ เพ็ญพร เป็นนามสกุลแทน

--------------------------------------

ปล.โชคดีของหญิงสาว เมื่อภายหลังเจ้าหน้าที่อีกรายอนุญาตให้เธอสามารถเดินทางไปหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ โดยให้เพื่อนรับรองการเดินทางครั้งนี้