posttoday

สร้างคุณภาพใหม่ บนรากเหง้าที่ยิ่งใหญ่

05 พฤศจิกายน 2560

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ถ่ายทอดแง่คิดเหตุการณ์คนไทยเข้าร่วมพระราชพิธีสำคัญ

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เป็นประเด็นได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมืองได้ออกโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึง “คุณภาพของคนไทย เป็นยังไงแน่ : แง่คิดจากงานพระบรมศพ”

เอนก เล่าผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ถึงเหตุผลที่เขียนเรื่องดังกล่าว หลังจากตลอดระยะเวลา 1 ปี จนสิ้นสุดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เห็นประชาชนไปอีกมุมหนึ่งเป็นมุมที่มีคุณภาพ

“ถ้าเราใช้มุมอื่นๆ มาดู เราจะเห็นว่าประชาชนไทย ส่วนที่พร้อมยังไม่มากนัก ส่วนที่มีการศึกษายังไม่พอ ส่วนที่เอาใจใส่เรื่องส่วนรวมยังไม่พอ ส่วนที่เป็นจิตอาสายังไม่พอ แต่ถ้าดู 1 ปีกว่า เราเห็นคนไทยอีกแบบหนึ่ง เป็นคนไทยจิตอาสาหลายล้านคน และคนไทยที่มาถวายดอกไม้จันทน์ร่วม 20 ล้านคน

คนไทยที่มากราบพระบรมศพหนาแน่นทุกวันติดต่อกันปีกว่า แม้กระทั่งในวันท้ายๆ จนต้องมีการขยายเวลา เพื่อให้ประชาชนเข้ากราบพระบรมศพเป็นภาพที่ต่างชาติพิศวง ชื่นชม มีทั้งที่ไม่เข้าใจ ว่าทำไมประชาชนไทยถึงรักพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศมากมาย”

เอนก ฉายภาพว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแค่วันสองวัน อาทิตย์สองอาทิตย์ หรือเดือนสองเดือน ยังสรุปได้ไม่ชัดว่าประชาชนไทยเป็นคนที่มีคุณภาพเช่นไร ทว่าผ่านมาเป็นปีและมีความเข้มข้นหนาแน่น ปริมาณและคุณภาพมากมาย ส่วนตัวเมื่อได้คิด ประกอบกับพระราชพิธีทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการ รวมทั้งริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ การร่วมกันถวายพระเพลิงพระบรมศพทั่วประเทศ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “เราเป็นใคร”

“ความทุกข์ ความโศก ความอาลัย ความกตัญญู ประกอบกับพระราชพิธีที่มีเหง้า มีราก มีประวัติศาสตร์ มีประเพณีที่ชาติไหนๆ ในโลกก็เหลือน้อยเต็มที ทำให้เราได้คุณภาพใหม่ ทำให้รู้ว่าเราเป็นใคร มีความภูมิใจ มีพื้นฐาน รากเหง้าที่ยิ่งใหญ่ โอกาสเช่นนี้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่ายๆ”

อย่างไรก็ดี ไม่มีใครไปจัดการให้มันได้แบบนี้ ถ้าไม่เกิดจากภายในใจ เมื่อเห็นแบบนี้ ความคิดที่มีต่อเรื่องการพัฒนา การปฏิรูป การรู้รักสามัคคี ก็ต้องคิดจากของดี พื้นฐานเดิมที่มีอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของสถาบันดั้งเดิมจำนวนมาก ถ้าคิดเรื่องพัฒนา การปฏิรูป การรู้รักสามัคคี โดยคิดจากมุมของโลกสมัยใหม่ องค์กรสมัยใหม่ หลักความคิดสมัยใหม่ อาจจะไม่เวิร์กเท่าที่ควร

“ถ้าคิดแบบดั้งเดิมของเราให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ข้อกฎหมาย ไม่ใช่เป็นแค่แรงจูงใจ ไม่ใช่เป็นแค่รางวัล ไม่ใช่เป็นแค่การลงโทษ แต่มันต้องเกิดจากจิตสำนึกข้างใน หรือถ้าพูดแบบธรรมะต้องเกิดจากธรรมะภายใน เกิดจากจิตใจภายในที่มันดีงาม ต้องบริสุทธิ์ ต้องสำรวม และต้องถ่อมตัว เข้มงวดตัวเอง ผ่อนปรนผู้อื่น และให้อภัยผู้อื่น มันต้องเริ่มจากตัวเรา ที่มาของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เปลี่ยนแปลง ปฏิรูป พัฒนา โดยที่ภายในไม่ได้เปลี่ยนอะไร”

เอนก ย้ำว่า ของใหม่นั้นไม่ใช่ไม่ดี แต่คนไทยเรียนแบบตะวันตกตั้งแต่ชั้นประถมเรื่อยมาเป็นศาสตร์ของนานาอารยประเทศ เป็นศาสตร์ของแม่แบบประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างประชาธิปไตย ทำให้มีแนวโน้มว่าการแก้ปัญหาอยู่ที่ เช่น การเจรจา การกดดัน การใช้กฎหมาย การอิงแต่รัฐธรรมนูญ หรือว่าต้องให้ราชการ หรือรัฐทำ แต่การปฏิรูป การพัฒนา การรู้รักสามัคคี จะไปหวังให้รัฐทำไม่ใช่

“ผมคิดว่าเรามีอะไรดีกว่านั้นเยอะในสถาบันดั้งเดิมของเรา คือ ท่านมีประสบการณ์ ท่านมีสิ่งที่สืบทอดกันมาในตระกูลของท่าน ในการปกครองบ้านเมือง หรือทรงครองราชย์มาร่วม 200 ปี มีอะไรเยอะมาก ดังนั้น เวลาเราพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ยังหมายถึงเจ้าฟ้า เจ้านาย ที่สำคัญๆ อีกหลายพระองค์ ผมคิดว่าถ้าเราสามารถทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปัญหาอะไรก็แก้ได้ ในสิ่งที่เราแก้ไม่ตก ไม่ว่าจะเป็นปฏิรูป การพัฒนา การรู้รักสามัคคี ได้อาศัยบุญบารมีของพระองค์ท่าน น้อมตัวที่จะไปขอพระราชทานคำแนะนำ ขอพระราชทานพระปรีชาญาณของท่านมาช่วยเรา อาจจะเป็นอีกทางหนึ่ง ถ้าเราอยู่ในระบบ ระบอบ ระเบียบของแบบสมัยใหม่ ก็ไม่แน่ใจว่าจะดีงามเช่นนี้หรือไม่ แต่ถ้าอยู่ในระบอบ ระเบียบ ระบบ วิธีคิด วัฒนธรรม แบบดั้งเดิม ผมว่าเห็นพลัง”

อย่างไรก็ตาม การเห็นคนรักสถาบันพระมหากษัตริย์ รักองค์พระมหากษัตริย์ รักพระมหากษัตริย์ที่สวรรคต และชื่นชมพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่อยู่ในขนบประเพณีตลอดเวลากว่า 1 ปี โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 13-26 ต.ค. การที่ได้เห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินบนถนนที่ร้อน เสด็จพระราชดำเนินเวียนรอบสนามหลวง รอบพระเมรุมาศ ซึ่งร้อนมาก แต่พระองค์ท่านอยู่ในขบวนพระราชพิธีทั้งหมดอย่างสง่างาม

“ทำให้เราเกิดความรู้สึกปลื้มปีติ และเราเองที่มาไม่ใช่ใครไปร้องขอ ไม่ใช่ใครให้เงินเป็นค่าเดินทางมา ทุกคนมาด้วยใจ หลายคนก็มานอนรอ และคนมานอนรอใช่ว่าจะเป็นคนยากจนเสียทั้งหมด คนมีฐานะก็จำนวนมากมานอนรอกลางดิน กินกลางทราย เหล่านี้ออกมาจากใจ ฉะนั้น ถ้าเราจะพัฒนา เราจะปฏิรูป เราจะรักสามัคคี ต้องออกมาจากใจของเราให้มากขึ้น คิดว่าอย่างนั้น เพราะดูจากงานพระบรมศพและทำให้ได้สติคิดอะไรขึ้นมา”

ส่วนการจะทำให้คนส่วนใหญ่มุ่งเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะการปฏิรูปสามัคคีกันนั้น เอนก บอกว่า ทำได้หลายๆ อย่าง เท่าที่มีสติปัญญาคิดออก เช่น ทุกฝ่ายเข้ากราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราโชบาย ถ้าจะให้พระองค์ท่านมาทำอะไรเองคงไม่เหมาะสม นอกจากเราน้อมตัวเพื่อขอพระราชทาน และต้องร่วมแรงร่วมใจกันว่า ถ้าท่านมีรับสั่ง ตรัสอะไร หรือสอนอย่างไร เอามาเป็นข้อยุติ

“มันจะเป็นคนอีกคุณภาพหนึ่งที่พร้อมใจ ต่อไปนี้ไม่ถือเป็นคนขัดแย้งกัน เป็นพสกนิกรร่วมพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวกัน จะทำให้การเริ่มรัชกาลที่ 10 ซึ่งกำลังจะมีพิธีพระบรมราชาภิเษก จะสง่างามสวยงามที่สุด ไม่อยากให้งานพระบรมศพจบลง แล้วเราก็กลับไปเป็นคนแบบเดิม การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่ง แล้วตามด้วยพระบรมศพยิ่งใหญ่มาก ได้สอนอะไรเราบ้าง เก็บรับเอามา คิดถึงปัญหาที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งรัฐบาลก็คงพยายามคิด แต่เราต้องมาช่วยกันเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่ง ซึ่งมันเหมาะสมมาก และจะสอดคล้องกับคุณสมบัติคนไทย”

สร้างคุณภาพใหม่ บนรากเหง้าที่ยิ่งใหญ่

เอนก ยอมรับว่า ถ้าเรื่องนี้สามารถทำกันเองได้ยิ่งดี แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ได้ ก็จะยิ่งประเสริฐต้องคิดกันว่า ทำอะไรเพื่อเฉลิมฉลองรัชกาลใหม่ มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับรัชกาลใหม่ เพราะรัชกาลใหม่สำคัญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์

 

“เราต้องเสริมความเข้มแข็งมั่นคงยืนยงให้กับสถาบัน รัชกาลแล้วรัชกาลเล่าก็จะเป็นเช่นนั้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ถ้าเราคิดกันได้ประเสริฐที่สุด ถ้าเรามอง 70 ปี พระองค์ท่าน ประเทศไทยก้าวหน้ามาเยอะมาก แต่ถ้ามองรัฐบาลเป็นชุดๆ ก็จะไม่เห็น จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ดูนายกฯ ดูรัฐมนตรีเป็นคนคนจะไม่มีอะไรชื่นชมจะเห็นแต่ปัญหา เมื่อมีเหตุการณ์สวรรคตทำให้กลับไปทบทวน 70 ปีของพระองค์ท่าน ว่าประเทศไทยยั่งยืน มั่นคง สืบต่อมา ความขัดแย้งมันจิ๊บจ๊อย

เพราะมันมีอะไรยิ่งใหญ่เหลือเกินที่มันเกิดขึ้นตลอด 70 ปี เราเปลี่ยนจากประเทศที่จนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน จากประเทศไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นประเทศที่มีคนมาเที่ยวมากอันดับ 4-5 ของโลก กรุงเทพฯ ที่ไม่มีใครรู้จัก ยกเว้นคนสนใจเอเชียอาคเนย์กลายเป็นเมืองที่คนมาเที่ยว เดินทางมารักษาตัวกันมากที่สุดในโลก ก็เกิดขึ้นภายใน 70 ปี ทำให้เราได้มาทบทวนตัวเอง และเราได้พบว่าคุณภาพใหม่ของเรา คือ ประเทศมาไกลมาก”