posttoday

"เยาวชนจะหยุดทุจริตชาติ" หวังระยะยาวของป.ป.ช.

01 พฤศจิกายน 2560

"ครอบครัวเป็นอย่างไรเขาก็จะเป็นอย่างนั้น ดังนั้น เราก็ต้องไปถึงครอบครัว ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเป็นตัวแบบของการซื่อสัตย์สุจริตเพื่อให้บุตรหลานเห็นเป็นตัวอย่างที่ดี"

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

การก้าวย่างของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะเดินทางมาครบ 18 ปีในวันที่ 18 พ.ย.นี้ และนับเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระที่ทำงานหนักภายใต้การปราบปราม ป้องกันการทุจริต และเสริมสร้างความซื่อสัตย์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

โดยเฉพาะแนวทางการเสริมสร้างให้สังคมตระหนักร่วมกันถึงปัญหาการทุจริตที่ทำลายชาติ และหยุดยั้งการพัฒนาประเทศอย่างที่ควรเป็น การมุ่งเน้นไปยังภาคสังคม ข้าราชการ เอกชนให้ร่วมเห็นความสำคัญจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ป.ป.ช.ให้ความสำคัญ

การสร้างตัวอย่างที่ดีให้สังคมเห็น พร้อมกับเชิดชูเกียรติยศให้กับบุคคล องค์กร ที่ร่วมดำรงการทำงานและการใช้ชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ป.ป.ช.เริ่มรุกคืบและหวังผล

6 รางวัลเชิดชูเกียรติที่จะมอบให้กับประชาชนและองค์กร เพื่อสร้างคุณค่าและมอบกำลังใจสำคัญ ที่พวกเขาเหล่านั้นได้เข้าร่วมสนับสนุนภารกิจด้านป้องกันปราบปรามการทุจริต

โต้โผใหญของรางวัลอย่าง สุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. สะท้อนเป้าประสงค์ของของทั้ง 6 รางวัลเชิดชูเกียรติไว้ว่า การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติเพื่อให้สังคมได้เห็นถึงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างสำคัญที่จะช่วยให้สังคมเห็นว่า "ทำดีก็มีคนเห็น และทำดีต้องได้รับการเชิดชู" พร้อมทั้งปลูกฝังความอายที่จะทำทุจริตต่อชาติบ้านเมือง ให้เห็นว่าการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญของชาติ ประชาชนต้องไม่ทนกับเรื่องทุจริตอีกต่อไป

รางวัลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเชิดชูของความดีที่บุคคลหรือองค์กรนั้นได้ก่อขึ้น แต่ในมิติของการทุจริตคอรัปชั่นสำหรับประเทศไทยแล้ว สุวณา ฉายภาพเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า สถานการณ์การทุจริตของประเทศไทยนั้น หากถูกมองในสายตาของโลกนานาชาติ จะถูกมองว่า “ดีน้อยลง” เพราะนานาชาติมีมิติที่วัดจากหลายปัจจัยที่รัฐบาลไทยไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การปกครอง เป็นต้น

แต่มิติภายในประเทศเอง บอกได้ว่าการทุจริตมีอัตราที่น้อยลง ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยหอการค้าที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตพบว่า การเรียกรับเงินสินบน หรือเงินใต้โต๊ะก็ลดลง แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ป.ป.ช.ต้องการ เพราะเราไม่ต้องการให้มีการเรียกรับหรือเสนอเงินสินบนเลยแม้แต่สตางค์เดียว

มาตรชี้วัดที่ทำให้ประเทศดีขึ้น สุวณา อธิบายว่า เกิดจากการตื่นตัวของภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทุจริต และเริ่มจะทนไม่ได้เพราะการทุจริตทำให้ชาติเสียหาย เมื่อผลจากประชาชนเป็นเช่นนั้น หน้าที่ของป.ป.ช.ก็ต้องเข้าไปรับลูกทันทีด้วยการสร้างเครื่องมือที่ทำให้ประชานตระหนักมากยิ่งขึ้นว่าการทุจริตกระทบในทุกมิติของสังคม เพื่อให้ประชาชนเป็นอีกส่วนสำคัญในการช่วยระงับและป้องกันการทุจริต และปกป้องผลประโยชน์ของชาติร่วมกัน

"วลีที่ว่า โกงก็ไม่เป็นไร ขอให้ประเทศชาติเจริญ วลีนี้มันไม่มีพลังแล้ว เพราะประชาชนไม่ทนและเห็นตรงกันว่าคนทำผิดจะต้องถูกประณาม ขณะเดียวกันประชาชนที่แจ้งเบาะแสและสร้างคุณประโยชน์ที่ช่วยปราบปรามก็ต้องได้รับการเชิดชูเกียรติผ่านรางวัลที่ทรงคุณค่า"สุวณา ย้ำ

1 ใน 5 เสือ ป.ป.ช.อย่างสุวณา เสริมอีกว่า เมื่อมาตรการช่วยเป็นหูเป็นตาจากภาคสังคมประชาชนเริ่มเห็นผลในการป้องกันการทุจริต ขณะที่การปราบปรามก็ทำอย่างรวดเร็วตามกระบวนการยุติธรรมแห่งกฎหมาย การวางรากฐานระยะยาวโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่จะขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติ ก็ต้องได้รับการส่งเสริมและปลูกฝังแนวคิดของความซื่อสัตย์สุจริตด้วยเช่นกัน

รูปแบบของรากฐานระยะยาวคือ ป.ป.ช.มียุทธศาสตร์เกี่ยวกับการปลูกจิตสำนึกของคนในชาติ มุ่งที่เด็กและเยาวชนที่จะต้องสร้างชาติในอนาคต เราใช้มิติทางการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และดึงการมีส่วนร่วมของเยาวชนมากขึ้น เพื่อให้เกิดหลักสูตรต่างๆ ที่สอดรับกับการศึกษา ป.ป.ช.คงไม่ไปอบรมว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ใช้แนวทางการปลูกฝังเรื่องการซื่อสัตย์ ที่จะต้องถูกกลืนเข้าไปกับการศึกษาของเด็กและเยาวชน

"ขณะเดียวกัน เรายังมองไปถึงสถาบันครอบครัวด้วย ที่พ่อแม่จะต้องช่วยปลูกฝังค่านิยมการไม่ทุจริตให้กับบุตรหลาน การจะมาปลูกฝังในห้องเรียนอาจจะเรียกได้ว่า สายเกินไป เพราะเด็กเหมือนผ้าขาว ครอบครัวเป็นอย่างไรเขาก็จะเป็นอย่างนั้น ดังนั้น เราก็ต้องไปถึงครอบครัว ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเป็นตัวแบบของการซื่อสัตย์สุจริตเพื่อให้บุตรหลานเห็นเป็นตัวอย่างที่ดี"สุวณา กล่าว

กระนั้นก็ตาม เมื่อมองไปที่สัดส่วนการกระทำความผิดแล้ว สุวณายอมรับว่าในหมู่ข้าราชการยังคงเกิดการทุจริตจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเรื่อง "ธรรมชาติ" ของรูปแบบการทุจริต เพราะเมื่อคนมาก ปัญหาก็ต้องมากตาม

"ข้าราชการที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นปกติที่จะมีปัญหามากตาม ไม่ใช่แค่ในหมู่ข้าราชการ แต่ยังพบถึงองค์กรอื่นๆ เพราะหากองค์กรใดมีความน่าเชื่อถือ มีความมั่นคง ก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีคนสนใจเข้ามาทำงานจำนวนมาก แต่คนที่เข้ามาอาจจะไม่ได้ซื่อสัตย์กันทุกคน ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา นั่นคือธรรมชาติของการทุจริต"

"แต่สิ่งที่ต้องทำให้เห็นคือป.ป.ช.ต้องมีภาพความคิดที่ให้สังคมได้ตระหนักว่าปัญหาการทุจริตคืออะไร สร้างความเสียหายอย่างไร เพราะทำผิดต้องติดคุกนะ เงินทองก็ไม่ได้ ครอบครัวเสียหาย สังคมก็พลอยเสียหายไปด้วย คือการทุจริตมันไม่มีใครได้อะไรเลย"กรรมการป.ป.ช.มองภาพการทุจริต

ส่วนความหวังที่เราจะได้เห็นประเทศไทย ขาวสะอาดทั่วทั้งแผ่นดินได้หรือไม่นั้น สุวณา ทิ้งท้ายกับคำถามนี้ไว้ว่า

"การตั้งความหวังว่าประเทศเราจะขาวสะอาดทั้งหมดนั้นคงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะประเทศพัฒนาแล้วก็ยังมีเรื่องพวกนี้อยู่เช่นกัน แต่ใน 5 ปีข้างหน้า เราหวังจะจำกัดการทุจริตให้น้อยที่สุด เรามาหวังเรื่องนี้ดีกว่า"