posttoday

มือประสานสิบทิศ ปลัดฯจิรชัยนำทัพปฏิรูปสื่อยุคเปลี่ยนผ่าน

11 กันยายน 2560

"เรื่องใดที่เคยเป็นข้อขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกับสื่อ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ หรือกฎหมายตีทะเบียนสื่อ ต้องมาแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน"

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ใครจะเชื่อจากหัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มาวันนี้สามารถก้าวขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปสื่อในยุค “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบความไว้วางใจแต่งตั้ง “จิรชัย มูลทองโร่ย” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นแม่ทัพปฏิรูปสื่อ ด้วยบุคลิกไม่ถือเนื้อถือตัวจึงเป็นมิตรกับสื่อมวลชนสามารถประสานและให้ข่าวได้ตรงประเด็นที่สื่อต้องการ

ยิ่งในช่วงที่ “บิ๊กแอ๊ว” ชื่อเล่นที่พี่ๆ น้องๆ สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลเรียกขาน เพราะเข้ามาทำงานรับเผือกร้อนทางการเมือง โดยเฉพาะกล้าแอ่นอกรับเป็นประธานสอบข้อเท็จจริงโครงการทุจริตรับจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สร้างผลงานอันโดดเด่นเข้าตารัฐบาล จนชื่อเสียงกระฉ่อนเลื่องลือให้เป็น “มือสอบเผือกร้อน” รัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี หลายคนเรียกใช้บริการเพราะเห็นว่าเป็นมือประสานสิบทิศ

“บิ๊กแอ๊ว” เปิดใจให้ฟังว่า ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนเลยว่าจะมาทำงานเป็นประธานปฏิรูปสื่อ เพราะไม่เคยมีใครมาทาบทามมาก่อนเลย เพิ่งจะรู้ตัวเมื่อวันที่มีคำสั่งประกาศแต่งตั้ง ยังคิดอยู่ในใจเหมือนกันว่า เพราะเหตุใดจึงได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี และท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้โอกาสมาทำงานตรงนี้  

“ผมก็ยังงงเหมือนกัน นึกอย่างไรแต่งตั้งผม แต่เท่าที่ผมทราบคงเห็นว่าผมเป็นคนอะลุ่มอล่วยประสานงานได้ดี เป็นมิตรกับสื่อ สามารถคุยได้หมดกับคนทุกระดับ มอบหมายงานอะไรมาก็ประสานงานได้หมด ซึ่งจริงๆ แล้วผมมีประสบการณ์งานสื่อและประชา สัมพันธ์มานานแล้ว เพราะเคยทำงานประสานสื่อมาตั้งแต่อยู่ สคบ. ออกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ จึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อเรื่อยมา”

จิรชัย กล่าวว่า ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งได้รับมอบนโยบายสำคัญจากนายกรัฐมนตรี คือ คณะกรรมการชุดนี้ต้องไม่ใช่ไปก่อสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ เพราะข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสื่อมีอยู่มากมายหลายมิติอยู่แล้ว โดยให้นำข้อเสนอที่มีอยู่แล้วพร้อมกับต้องยึดโยงซึ่งกันและกันตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงข้อเสนอแนะด้านปฏิรูปสื่อของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จากนั้นนำวิเคราะห์สังเคราะห์แล้วนำมาขยายผลต่อเพื่อกำหนดเป็นแผนงานว่าปีไหนควรจะดำเนินการอะไรอย่างไรบ้าง 

สำหรับกรอบการทำงาน รองนายกรัฐมนตรีวิษณุ กำชับไว้ชัดเจนว่า ภายใน 3 เดือน ต้องได้ข้อสรุปจากข้อเสนอที่มีการศึกษากันมาอยู่แล้ว ก็ให้ทางคณะทำงานปฏิรูปสื่อจัดทำเป็นข้อเสนอ อาทิ จะแก้กฎหมาย หรือทำอะไรบ้างให้ไปคิดกันมาให้ตกผลึก แต่สิ่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ คือ ต้องไม่ไปสร้างใหม่ ขอให้นำข้อเสนอที่มีการศึกษามาแล้วไม่ว่า สปช. สปท. หรือข้อเสนอแนะจากองค์กรสื่อนำมาประมวล จากนั้นจะให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เพราะสื่อมีมิติในการทำงานหลากหลาย อาทิ สื่อภาครัฐ สื่อที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือสื่อภาคเอกชน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย มารวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูปสื่อจะมีการหารือถึงการกำกับติดตาม หรือกำหนดกรอบกติกาและจรรยาบรรณสื่อด้วยว่าควรจะเป็นอย่างไร พร้อมกับจะนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาประกอบการหารือด้วย เช่น ในต่างประเทศบางประเทศแม้จะเป็นสื่อภาคธุรกิจที่มีโฆษณา แต่ก็มีมิติการดูแลสังคมนำเสนอต่อสาธารณะ โดยไม่มีการนำเสนอข่าวสารที่ประเด็นหยุมหยิมไม่มีสาระ หรือนำเสนอเรื่องส่วนบุคคลออกมาเผยแพร่ ถือเป็นการเคารพสิทธิส่วนบุคคล

จิรชัย กล่าวย้ำอย่างมั่นใจว่า ประเด็นสำคัญในการทำงานครั้งนี้ให้สำเร็จ คือ การนำความรู้ความสามารถจากการทำงานประสานสื่อมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์จนรู้จักมักคุ้นกับผู้สื่อข่าวในทุกระดับและเกือบทุกสำนัก เพราะสิ่งสำคัญในการทำงานประสานสื่อ คือ การให้ความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน

ในอดีตเมื่อครั้งประสานผู้สื่อข่าว โดยธรรมชาติของนักข่าวย่อมอยากทราบข้อมูลเชิงลึกภายในหน่วยงานภาครัฐ แต่ข้อมูลบางอย่างไม่อาจบอกได้ เพราะบางเรื่องต้องรอให้มีมติก่อน หรือบางเรื่องต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่บางเรื่องที่พอจะเปิดเผยได้ก็ต้องยอมให้ข้อมูลไปบ้าง เพราะเห็นว่าเป็นพี่ๆ น้องๆ กัน ด้วยการขอความร่วมมือว่า เมื่อเรื่องใดไม่มีความชัดเจนขอให้ไม่นำเสนอข่าว แต่สามารถให้ข้อมูลบางส่วนเพื่อเป็นข่าวได้ เพราะทราบดีว่าการทำงานข่าว คือ การหาข่าว ดังนั้น จากนั้นเป็นต้นมาด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันแบบนี้ ทำให้จึงเกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับสื่อมวลชน ดังนั้นจะนำประสบการณ์ตรงนี้มาใช้ทำงานในคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ 

มือประสานสิบทิศ ปลัดฯจิรชัยนำทัพปฏิรูปสื่อยุคเปลี่ยนผ่าน

สิ่งสำคัญในการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปสื่อครั้งนี้ คือ การเปิดรับฟังความคิดเห็น สำหรับรูปแบบการทำงานเบื้องต้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็น 6 ภาค โดยจะเน้นเชิญกลุ่มอาชีพสื่อทุกแขนง เช่น วิทยุ ทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไป ขณะที่สื่อโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ นั่นคือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 โดยข้อสังเกตที่สำคัญ คือ การดูแลคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ผ่านสังคมออนไลน์ อาทิ การโพสต์ หรือแชร์ข้อมูล ซึ่งมีความจำเป็นมากที่จะต้องตระหนัก ดังนั้น ในการเปิดรับฟังความเห็นจะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาพูดคุยกัน

“เรื่องใดที่เคยเป็นข้อขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลกับสื่อ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ หรือกฎหมายตีทะเบียนสื่อ ต้องมาแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จากนั้นค่อยมาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียร่วมกัน โดยต้องเป็นประเด็นที่สังคมรับได้ เพราะการจะทำเพื่อตอบสนองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียวในทุกๆ เรื่องที่นำเสนอคงทำไม่ได้ เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกๆ คน หรือทุกๆ ฝ่ายได้ทั้งหมด 100%” จิรชัย กล่าว

ยังไม่ทันเริ่มต้นทำงานได้ไปสักเท่าไร จิรชัย ยอมรับว่า โดนหลายฝ่ายปรามาสฝีมือพอสมควรว่าปฏิรูปสื่อสำเร็จยาก เพราะผมไม่ได้จบการศึกษาและไม่เคยมีประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนโดยตรง ไม่มีศักยภาพพอนำการปฏิรูปสื่อครั้งนี้ได้ แต่ด้วยประสบการณ์ตรงจากการทำงานและด้วยบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน เหล่านี้คือข้อดีของตนเองที่ทำให้ผู้สื่อข่าวตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่ล้วนรู้จักปลัด สปน.คนนี้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการประสานงานภายในคณะกรรมการปฏิรูปสื่อจะราบรื่น และประสบความสำเร็จ

“หลายคนในกรรมการผมก็รู้จักท่าน อาทิ ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด หรือคุณแดง ผู้บริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ผมเคารพและนับถือท่านมากๆ เคยไปกราบท่านตอนผมเป็นผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ที่ สคบ. ซึ่งท่านเป็นคนมีความเมตตามากๆ หรือ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง

ท่านเป็นคนเก่งมากๆ เป็นทั้งนักทฤษฎีและนักปฏิบัติด้านสื่อสารมวลชนตัวจริงที่น่านับถือ หรือ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมก็เคยรู้จักกันมาก่อน เพราะท่านปาริชาตกับผมเป็นกรรมการ อสมท ด้วยกันมา ผมชื่นชมการทำงานของท่านมาโดยตลอดเพราะท่านเก่งทั้งงานวิชาชีพสื่อสารมวลชนและภาคปฏิบัติ

...หรือแม้แต่ สุทธิชัย หยุ่น นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง กับ สมหมาย ปาริจฉัตต์ อดีตกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แห่งหนังสือพิมพ์มติชน ต้องยอมรับว่าบุคคลทั้งสองนี้ในสังคมให้การยอมรับในความรู้ความสามารถ ทั้งในตัวบุคคลและองค์กรสื่อที่บุคคลเหล่านี้สังกัดอยู่ว่าเป็นสื่อที่มีคุณภาพ ส่วนกรรมการท่านอื่นๆ อาจจะไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวมากนัก แต่นับแต่วันแรกที่ผมได้รับมอบหมายให้เป็นประธานปฏิรูปสื่อ ผมได้ส่งข้อความทางโทรศัพท์ถึงกรรมการทุกคน เพื่อขอฝากเนื้อฝากตัวเหมือนกับนักเรียนคนหนึ่งที่ขอรายงานตัว เพื่อให้ท่านทุกคนเมตตากรุณาต่อผม และขอให้ร่วมมือกันทำงานปฏิรูปสื่อครั้งนี้ให้สำเร็จ”

ปลัดฯ จิรชัย ทิ้งท้ายว่า การจะรับงานอะไรมา คิดตลอดเวลาว่างานจะสำเร็จได้อย่างไร ก่อนอื่นต้องเริ่มจากที่ตัวเองก่อน นั่นคือ ขอความกรุณาให้ทุกฝ่ายหรือทุกส่วนมาร่วมกันทำงาน โดยยึดประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก สิ่งสำคัญต้องให้ความเชื่อมั่นเชื่อถือซึ่งกันและกัน นี่คือหัวใจในการทำงาน