posttoday

"อย่าดูถูกปัญญาประชาชน..ได้เวลาบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย" มาริษ กรัณยวัฒน์

08 กันยายน 2560

ข้อมูลและมุมมองจาก มาริษ กรัณยวัฒน์ แกนนำกลุ่มลาขาดควันยาสูบ ผู้เรียกร้องให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในเมืองไทย

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

การผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในเมืองไทย ร้อนแรงขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากกลุ่มผู้สนับสนุนเกิดความไม่พอใจการนำเสนอข้อมูลจากนายแพทย์กลุ่มหนึ่ง ภายในงานเสวนาเรื่อง บุหรี่ไฟฟ้า...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด

นาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามขายและห้ามให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า แต่ปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อยก็เห็นว่า E-Cigarette เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า

“งานวิจัยทั่วโลกระบุตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ถึงเวลาที่เมืองไทยต้องยอมรับความจริง เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกความปลอดภัยที่มากกว่าเสียทีมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มลาขาดควันยาสูบ เปิดฉากด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ท่ามกลางประเด็นถกเถียงในหลากหลายแง่มุม มาริษ ต้องการเวทีแลกเปลี่ยนคำอธิบายและข้อมูลเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับแนวทางโลกและสะท้อนถึงผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน

มาริษ นั่งอยู่เคียงข้างเอกสารงานวิจัยปึกใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าจากทั่วโลก ทั้งหมดระบุตรงกันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษน้อยกว่าและปลอดภัยต่อผู้ใช้มากกว่าการสูบบุหรี่แบบธรรมดา ตัวอย่างเช่น

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Annals of Internal Medicine โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยด้านมะเร็งและได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสหราชอาณาจักรพบว่า ผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนจากการสูบบุหรี่แบบธรรมดามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือใช้วิธีการให้นิโคตินทดแทน (NRT) อย่างน้อย 6 เดือน มีปริมาณสารพิษและสารก่อมะเร็งในร่างกายต่ำกว่าผู้สูบบุหรี่แบบธรรมดาเป็นอย่างมาก เมื่อวัดระดับสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ตกค้างในร่างกายจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า พบว่ามีระดับสารเคมีตกค้างน้อยกว่าเมื่อเทียบกับงานวิจัยชิ้นก่อนๆ ที่ใช้การทดลองแบบวิธีจำลอง

ขณะที่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ปี 2017 ชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความเป็นไปได้ในการช่วยเลิกบุหรี่ โดยทำการทดลอง เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 15,500 คนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำ เป็นระยะเวลา 2 ปี พบว่า ส่วนใหญ่สามารถเลิกบุหรี่มวนได้มากกว่าคนที่ไม่เคยคิดจะทดลองใช้

มากกว่านั้นงานวิจัยอื่นๆ ที่มาริษยกอ้าง โดยเฉพาะจากประเทศอังกฤษ ทั้งจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร ระบบบริการสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (NHS) สถาบันวิจัยโรงมะเร็ง ยังแสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าบุหรี่แบบเดิม ทั้งในแง่ของอันตรายและการเสพติด รวมถึงการเลิกบุหรี่ด้วย

“งานวิจัยที่ผมอ้าง มีแหล่งที่มา เชื่อถือและตรวจสอบได้ทั้งสิ้น ผมพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานรัฐและนักวิชาการในเมืองไทย ขอเพียงเปิดพื้นที่อย่างแท้จริง” นักสูบบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวและเห็นว่าหมดเวลาที่ภาครัฐจะนำเสนอข้อมูลแค่เพียงด้านเดียว

"อย่าดูถูกปัญญาประชาชน..ได้เวลาบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย" มาริษ กรัณยวัฒน์

อย่าเอาเด็กมาเป็นโล่

สำหรับประเทศไทยบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าต้องห้ามตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ขายหรือผู้ให้บริการมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ฝ่าผืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง ผู้นำเข้าเพื่อการขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2557 ยังกำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าและบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้าเหล่านั้นด้วย

มาริษ บอกว่า ที่ผ่านมานักวิชาการและภาครัฐเมืองไทยมักชอบอ้างการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เนื่องจากสิงคโปร์ทำการแบนในลักษณะห้ามนำเข้าและขาย ไม่ได้ห้ามใช้ ห้ามผลิตและส่งออก ขณะที่ประเทศออสเตรเลีย มีข้อกำหนดการใช้นิโคตินของแต่ละเมือง ไม่ได้ห้ามใช้ทั้งประเทศ และหากมองไปทั่วโลกจะพบว่าปัจจุบันมีเพียง 15-16 ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่อนุมัติให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย

“การแบนบุหรี่ไฟฟ้าในอดีตมักอ้างว่า อันตรายมากกว่าบุหรี่มวน แต่พองานวิจัยทั่วโลกชี้ชัดแล้วว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า ฝ่ายค้านกลับไปตะแบงว่าเป็นเรื่องการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน หากถูกกฎหมายจะนำไปสู่การใช้บุหรี่มวนและสารเสพติดอื่นมากขึ้น สำหรับผมเป็นการดูถูกสติปัญญาเด็ก ที่สำคัญอีกเกือบ 170 ประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ต่างมีเด็กและเยาวชน แต่เขาตัดสินใจยอมรับความจริง ทำให้ถูกกฎหมายและหาวิธีควบคุมการใช้งาน”

มาริษยอมรับว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นที่น่าสนใจสำหรับเด็กที่อยากทดลอง แต่การห้ามชนิดปิดกั้นเป็นเสมือนการยุยงให้วัยรุ่นเกิดความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น คงเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากเปิดโอกาสให้คนได้เลือกและเลิกหากรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ดี นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีกฎหมายและองค์กรที่พร้อมดูแลการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ขอเพียงทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

“มีดเล่มหนึ่งวางอยู่ คุณจะหยิบไปเข้าครัวเพื่อหั่นผัก หรือจะหยิบเข้าไปในร้านทองเพื่อปาดคอคนอื่นล่ะ” ชายหนุ่มเปรียบเทียบหลังเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกกฎหมายสามารถเป็นเครื่องมือลดปัญหาได้ หากมีการควบคุมที่ดีจากรัฐ

“เมื่อเราปวดหัว พาราเซตามอล 4 เม็ดอาจทำให้เกิดอันตราย แต่ถ้าเรากิน 1 เม็ดทุก 6 ชั่วโมง มันก็เซฟและกลายเป็นประโยชน์ ไม่มีคนบ้ากินทีละ 4 เม็ด เพราะเขาได้รับความรู้และเข้าใจวิธีการใช้ ทุกอย่างอยู่ในการคอนโทรลที่ปลอดภัย”

"อย่าดูถูกปัญญาประชาชน..ได้เวลาบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย" มาริษ กรัณยวัฒน์

ประเด็นที่นักวิชาการบางส่วนในไทยชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้านำไปสู่การเสพติดบุหรี่มวนแบบเดิมมากขึ้น

มาริษ ตอบเรื่องนี้ทันควันว่า “ก็ใช่สิ เป็นแบบนั้นเพราะคุณบีบให้เขาต้องใช้ทั้งสองอย่าง พกบุหรี่ไฟฟ้าออกมาข้างนอกไม่ได้ก็ต้องใช้บุหรี่ปกติ สุดท้ายเลยต้องใช้มันทั้งสองอย่าง”
โดยสรุปการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนกลายเป็นเรื่องที่มาริษเห็นว่า ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปิดกั้นไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ที่สำคัญยังเห็นว่าราคาที่สูงกว่าบุหรี่มวนปกติ ยังส่งผลให้วัยรุ่นเข้าถึงได้ยากด้วย

“เด็กที่อยากลองจริงๆ มีเงิน 10 บาทก็หาซื้อบุหรี่ตามร้านโชว์ห่วยได้แล้ว เพราะงั้นอ้างไม่ขึ้น กฎหมายไม่จำเป็นต้องแรงหรือปิดกั้น แค่บังคับใช้อย่างจริงจัง คอนโทรลได้คือเรื่องสำคัญ”

ทั้งนี้เมื่อปี 2557 องค์การอนามัยโลก เคยระบุไว้ว่า ยอดการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังเปิดตัวในปี 2548 โดยแต่ละปีการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าสร้างรายได้ให้กับบริษัทผู้ผลิตมากถึง 2 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามดับเบิ้ลยูเอชโอเห็นว่า แม้บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และสามารถช่วยให้บุคคลที่ต้องการเลิกบุหรี่ ลดการสูบบุหรี่ธรรมดาด้วยการหันมาดูดบุหรี่ไฟฟ้าก่อนเลิกขาดได้ก็ตาม แต่รายงานของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ระบุว่า ปี 2554-2556 หนึ่งในสี่ของเยาวชนชาวอเมริกันหลายล้านคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ตัดสินใจสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วยการซื้อหาทางอินเตอร์เน็ต เพราะเห็นว่าไม่น่าจะมีอันตรายเหมือนบุหรี่ธรรมดา ขณะเดียวกัน วัยรุ่นในยุโรปที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 7

"อย่าดูถูกปัญญาประชาชน..ได้เวลาบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย" มาริษ กรัณยวัฒน์

ได้ประโยชน์ทั้งรัฐและประชาชน

การเข้าถึงที่ง่ายขึ้นผ่านทางอินเตอร์เน็ตและข้อมูลสนับสนุนจำนวนมาก ทำให้มาริษเชื่อว่า ยอดการเติบโตของผู้ใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าในไทยจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้อยู่ราว 3 แสนราย

“ถ้าไม่เดินตามโลก คุณไม่มีทางควบคุมได้อยู่แล้ว จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดก็จะเจอแต่ปัญหา ทั้งเรื่องอุปกรณ์ไม่ปลอดภัย น้ำยาด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมถึงปัญหาสินบนคอรัปชั่นด้วย”

เขาบอกว่าปัจจุบันเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายระบุชัดเจนถึงการครอบครองและใช้งาน เจ้าหน้าที่จึงมักอ้างเหตุผลในการจับกุมว่าเป็นเรื่องของการครอบครองสินค้าหนีภาษี อย่างไรก็ตามนักกฎหมายหลายคนยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สินค้าหนีภาษี เนื่องจากไม่มีฐานภาษี จึงเสียภาษีไม่ได้

ในมุมมองของมาริษ สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับหากเปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายคือ รายได้จากภาษี , อาชีพและรายได้ที่มากขึ้นของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบและผู้ผลิตอุปกรณ์ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข เนื่องจากมีผู้ป่วยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่มวนลดลง

“ผมคิดว่ามูลค่าการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเมืองไทยสูงถึง 6 พันล้านบาท ตัวเลขดูโอเวอร์นะ แต่ลองคิดดูจากจำนวนผู้ใช้ 3 แสนคน เฉลี่ยเสียเงินให้กับบุหรี่ไฟฟ้าปีละ 2 หมื่นบาทแบ่งเป็นค่าอุปกรณ์และน้ำยา 6 พันล้านนั้นเป็นไปได้

“เราเห็นแล้วว่าทุกอย่างมาในเชิงบวก อนาคตทุกฝ่ายล้วนแต่ต้องการสิ่งที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน เคยมีนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษ ประเมินไว้ว่า ปี 2035 บุหรี่มวนแบบเดิมจะขายแทบไม่ได้”

"อย่าดูถูกปัญญาประชาชน..ได้เวลาบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย" มาริษ กรัณยวัฒน์

ผู้ชายคนนี้ยืนยันว่า การเรียกร้องกลุ่มไม่ได้ทำไปในฐานะผู้ขายหรือมีผลประโยชน์กับบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ ทั้งหมดถูกผลักดันจากข้อเท็จจริงผ่านงานวิจัยและแนวทางที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่สำคัญยังต้องการสู้เพื่อสิทธิของตัวเองที่จะได้รับความปลอดภัยมากขึ้น

"นอกเหนือจากคนสูบ คนใกล้ชิดก็จะปลอดภัยมากขึ้นจากควันบุหรี่มือสอง เราไม่เคยบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าดีที่สุด ทุกคนควรหันมาใช้ เพียงแต่มันชัดเจนแล้วว่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน"

เขาทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เจ็บปวดในการเดินหน้าเรียกร้องคือการถูกโกหก บิดเบือนและไม่เปิดรับข้อมูลจากอีกฝ่าย  “คนไทยไม่โง่ ข้อมูลที่ถูกที่สุดไม่จำเป็นต้องออกมาจากปากภาครัฐอีกต่อไปแล้ว”

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลและความเห็นจากกลุ่มผู้สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย

******************************

หมายเหตุ - ตัวอย่างงานวิจัย 8 ชิ้นที่มาริษยกอ้าง โดยยืนยันว่า มีแหล่งที่มาและตรวจสอบได้ทั้งสิ้น

1. “บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้สร้างควันจากการเผาไหม้ งานวิจัยจึงสรุปได้ว่ามันปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน”
- มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

http://ash.org.uk/stopping-smoking/ash-briefing-on-electronic-cigarettes-2/

2. “ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าไอจากบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อคนรอบข้าง”
- สถาบันวิจัยโรงมะเร็ง

https://www.cancerresearchuk.org/sites/default/files/cruk_e-cig_qa_final.pdf

3. “บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินแต่ไม่ได้มีสารก่อมะเร็งเหมือนบุหรี่มวน”
- สถาบันวิจัยโรงมะเร็ง

http://scienceblog.cancerresearchuk.org/2017/02/06/new-study-comes-the-closest-yet-to-proving-that-e-cigarettes-arent-as-dangerous-as-smoking/

4. “บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีทาร์และคาร์บอนมอนอกไซต์ ซึ่งเป็นสารพิษหลักที่พบในบุหรี่มวน”

- ระบบบริการสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (NHS)

www.nhs.uk/Livewell/smoking/Pages/e-cigarettes.aspx

5. “นิโคตินอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง”

- The International Harm Reduction Association

http://www.prnewswire.com/news-releases/special-interest-deceptions-continue-to-rampant-about-electronic-cigarettes-79487857.html

6. “มากกว่าครึ่ง (52%) ของผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลิกบุหรี่ได้แล้ว”

- มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

http://ash.org.uk/information-and-resources/fact-sheets/use-of-electronic-cigarettes-vapourisers-among-adults-in-great-britain/

7. “ไม่มีหลักฐานชี้ถึงความเสี่ยงโดยตรงจากไอของบุหรี่ไฟฟ้า”

- กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ

http://www.nhs.uk/news/2015/08August/Pages/E-cigarettes-95-per-cent-less-harmful-than-smoking-says-report.aspx

8. “ผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ารายงานว่ารู้สึกติดน้อยกว่าบุหรี่มวน”

-ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร

https://www.rcplondon.ac.uk/projects/outputs/nicotine-without-smoke-tobacco-harm-reduction-0