posttoday

9เดือนปฏิรูปตำรวจ ต้องเปลี่ยนแปลงดีกว่าเสียของ

13 สิงหาคม 2560

"เรื่องยศเรื่องตำแหน่งให้เขาไปเถอะ เน้นเรื่องที่มีประโยชน์กับประชาชนเป็นหลักดีกว่า งานตำรวจแท้จริง คือ งานในโรงพักและตระเวนดูแลความปลอดภัยประชาชนเป็นหลักเท่านั้น ตำรวจจะได้อภิสิทธิ์อะไรก็แล้วแต่ไม่เป็นไร แต่ขอให้ประชาชนได้ประโยชน์ ผมถือว่าเพียงพอแล้ว"

โดย...เอกชัย จั่นทอง

นับถอยหลังกรอบระยะเวลาเพียง 9 เดือน สู่การปฏิรูปตำรวจ ที่ไม่รู้จะคลอดออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร จะน่ารักหรือน่าชังคงต้องมาลุ้นกัน แต่ระหว่างนี้ทางเดินคงไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน ก้อนหินและดอกไม้ คือ รางวัลของคณะกรรมการชุดนี้ ถ้าโชคดีก็ได้ดอกไม้ หากโชคร้ายคือก้อนหิน ไม่ว่าทิศทางปฏิรูปจะออกมาอย่างไร ประชาชนต้องได้ประโยชน์ เริ่มต้นไม่ทันไรก็มีเสียงมากมายว่าจะปฏิรูปได้จริงหรือ เพราะระยะเวลาไม่ถึงปี

สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาทำวิจัยเกี่ยวกับระบบตำรวจเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะในปี 2550 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนี้ มีความพยายามผลักดันการปฏิรูปตำรวจ แต่การปฏิรูปตำรวจก็ไม่เกิดขึ้น เพราะมีแรงต่อต้านของตำรวจรุนแรงมาก

นักวิชาการคนเดิม ย้อนเล่าหลักคิดการปฏิรูปตำรวจเมื่อ 10 ปีก่อนด้วยว่า 1.ควรมีการกระจายอำนาจของตำรวจออกไป จากระบบรวมศูนย์อำนาจในมือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.อยากให้คนที่เป็นตำรวจต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเท่านั้น 3.ให้ย้ายหน่วยงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจคืนไปให้กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจป่าไม้ ตำรวจทางหลวง ซึ่งมองว่าช่วงปี 2550 การปฏิรูปตำรวจถือว่าเด่นชัดที่สุด และควรนำมาปรับใช้ในปัจจุบัน

สังศิต แนะให้รีบทำเรื่องเร่งด่วนหลังจาก 10 ปีผ่านมา ว่า การปฏิรูปตำรวจปัจจุบันต้องทำ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.การกระจายอำนาจตำรวจถือว่าสำคัญ ให้ตำรวจเป็นตำรวจในจังหวัดและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเติบโตและเกษียณในจังหวัดตัวเอง และ 2.แยกงานสอบสวนออกจากงานสืบสวนเพื่อให้เกิดระบบการถ่วงดุลระหว่างกัน ระบบปัจจุบันอยู่ภายใต้ระบบบังคับบัญชาแบบทหาร ทั้งสองเรื่องคือเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำในขณะนี้

สำหรับ 36 อรหันต์ คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผบ.สส. เป็นประธานคณะกรรมการนั้น ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะดูจากประวัติ พล.อ.บุญสร้าง ถือว่าทำงานตรงไปตรงมา ที่สำคัญยังได้รับหลักประกันสนับสนุนในฐานะผู้มีความรู้ความสามารถจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะ คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

“ตอนนี้ท่านเพิ่งเริ่มต้นการทำงาน ท่านอาจยังไม่รู้ปัญหาตำรวจอย่างลึกซึ้ง แต่คิดว่าความซื่อสัตย์สุจริตในตัวท่านจะทำให้รับฟังความคิด ความต่างที่หลากหลายจากกลุ่มคนต่างๆ เพื่อนำข้อมูลไปวินิจฉัยว่า สิ่งใดเหมาะสมและควรนำสู่การปฏิรูป เพราะคนดีจะเป็นคนรับฟังความเห็นคน” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม กล่าวย้ำและให้ความเห็นต่อว่า

9เดือนปฏิรูปตำรวจ ต้องเปลี่ยนแปลงดีกว่าเสียของ

แม้การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดนี้ มีกรอบระยะเวลาเหลือเพียง 9 เดือน แต่ถือว่าเพียงพอกับการทำงานอย่างแน่นอน วิธีทำงานควรนำผลงานวิจัยของตำรวจที่เคยทำไว้ย้อนหลัง 15 ปี แล้วตั้งเจ้าหน้าที่มาถอดแนวทางข้อเสนอแนะการปฏิรูปตำรวจต้องทำอย่างไรบ้าง ในงานวิจัยต่างๆ สรุปชัดเจนแล้วว่า การปฏิรูปตำรวจควรทำเรื่องใดและไม่ควรทำเรื่องใด เชื่อว่าใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ สามารถทำข้อมูลส่วนนี้เสร็จ

สังศิต ให้แนวปฏิรูปตำรวจอีกว่า ควรประสานงานกับองค์การสหประชาชาติ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านตำรวจมาให้ข้อมูลว่า ตำรวจในประเทศใดที่ทำงานแล้วไม่ทุจริตซื้อขายตำแหน่งและไม่โกงประชาชน เพื่อนำโมเดลมาปรับใช้ว่าระบบโครงสร้างเป็นอย่างไร หรือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเห็นต่อการปฏิรูปตำรวจ เช่น กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ จรัญ ภักดีธนากุล พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ฯลฯ และเชิญภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อรับฟังความเห็นได้เช่นกัน

“เชื่อว่าระยะเวลาเพียง 2-3 เดือน การปฏิรูปตำรวจเสร็จแน่นอน เนื่องจากมีแนวความคิดชัดเจน แล้วนำมาสังเคราะห์ว่าจะใช้ข้อมูลส่วนใด และเขียนกฎหมายเท่านั้น”

ส่วนเรื่องยศตำรวจที่เคยมีการถกเถียงกันว่าจะต้องมียศหรือไม่มียศนั้น อาจารย์สังศิต ให้ทัศนะว่า “เรื่องยศเรื่องตำแหน่งให้เขาไปเถอะ” เน้นเรื่องที่มีประโยชน์กับประชาชนเป็นหลักดีกว่า งานตำรวจแท้จริง คือ งานในโรงพักและตระเวนดูแลความปลอดภัยประชาชนเป็นหลักเท่านั้น “ตำรวจจะได้อภิสิทธิ์อะไรก็แล้วแต่ไม่เป็นไร แต่ขอให้ประชาชนได้ประโยชน์ ผมถือว่าเพียงพอแล้ว”

กระนั้นก็ตาม ข้อกังวลเรื่องอำนาจรวมศูนย์จะยังคงมีอยู่อีกหรือไม่ แม้จะมีการปฏิรูปตำรวจ เรื่องนี้ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ผู้คร่ำหวอดเรื่องตำรวจ ถอดความคิดเห็นให้ฟังว่า ถ้าเรานำสิ่งที่นายกรัฐมนตรีเคยเสนอแนวคิดให้ตำรวจขึ้นกับจังหวัดนั้นมาใช้ ถือว่าแนวคิดนี้ถูกต้องเพราะจะทำให้กระบวนการยุติธรรมคล่องตัวมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น จังหวัด ก.เกิดเหตุขึ้น ไม่ต้องส่งเรื่องเข้ามายังส่วนกลาง ทำเรื่องทุกอย่างให้จบในจังหวัด เพราะแต่ละจังหวัดมีตำรวจ อัยการ ศาล ผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวแทนภาคประชาสังคมจังหวัด จะทำให้การทำงานทุกอย่างรวดเร็วขึ้น ดังนั้นตำรวจควรทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ศาล และอัยการจังหวัด

“ประชาชนต้องการตำรวจมาดูแลทุกข์สุข แต่วันนี้ประชาชนเอือมระอาตำรวจ เพราะแจ้งความอะไรก็ไม่ได้รับความสนใจเลย ไม่มีความหวังอะไรกับตำรวจ เนื่องจากกระแสความไม่พอใจต่อองค์กรตำรวจ ทำให้ต้องมีการบรรจุเรื่องปฏิรูปตำรวจไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงเชื่อว่ารัฐบาลคงมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ” สิงศิต เผยความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อตำรวจ

ไม่ต่างจากเรื่องการแทรกแซงตำรวจจากการเมืองและอำนาจมืด หากตำรวจอยู่ภายใต้การดูแลของจังหวัด ก็ยังมีการแทรกแซงการทำงานการแต่งตั้งโยกย้ายอยู่ แต่ทำได้ยากขึ้น เพราะกฎระเบียบใหม่ห้ามนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงเด็ดขาด ถ้าหากมีการซื้อขายตำแหน่งจริง ราคาก็จะถูกลงมาก และถูกจับง่ายกว่า เพราะการตรวจสอบง่ายกว่าเดิม

“เดิมอำนาจอยู่ที่ ผบ.ตร.อย่างเดียว ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ถ้าคุณพยายามเข้าไปแทรกแซงต้องทำทีละจังหวัด ดังนั้นการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจและตัวตำรวจเอง ต้องค่อยๆ ทำควบคู่กันไป เนื่องจากที่ผ่านมาตำรวจผูกขาดการใช้อำนาจมานาน ถ้าหากมีการเริ่มต้นทำต้องทำใจเพื่อให้ตำรวจปรับตัว” สังศิต มองอนาคตปฏิรูป

9เดือนปฏิรูปตำรวจ ต้องเปลี่ยนแปลงดีกว่าเสียของ

ย้อนถามเรื่องความเชื่อมั่นกับการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้มากน้อยเพียงใด สังศิต แจงขึ้นว่า การปฏิรูปตำรวจคราวนี้จะแตกต่างกับสิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.เคยนำเสนอไว้ เนื่องจากมีการตั้งคณะกรรมปฏิรูปขึ้นมาอย่างเป็นทางการ แล้วนายกรัฐมนตรีเข้ามาดูแลเรื่องนี้เองโดยตรง เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงตำรวจมีขึ้นแน่นอน เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น และประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ สังสิต ยังวาดหวังว่า หากการปฏิรูปตำรวจเป็นตำรวจในจังหวัดสำเร็จได้นั้น จะทำให้ตำรวจชั้นประทวนพึงพอใจมาก เพราะระบบปัจจุบันกดขี่พวกเขา เนื่องจากไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อย (นรต.) โอกาสเติบโตเหมือนตำรวจชั้นสัญญาบัตรยากลำบาก พวกชั้นประทวนได้แค่นายสิบ จ่า ดาบตำรวจ เท่านั้น

คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม แนะแนวทาง พร้อมข้อเสนอถึงคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจว่า ถือเป็นความหวังของประชาชนอย่างมาก จึงอยากเห็นคณะกรรมการชุดปัจจุบันรับฟังความเห็นอย่างหลากหลายจากประชาชน และรับฟังความเห็นของตำรวจชั้นประทวนให้มากๆ เนื่องจากเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อกระบวนการปฏิรูปตำรวจ

ภายภาคหน้าในอนาคตไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มกำลังตำรวจ แต่เราจะมีกำลังอาสาสมัครชาวบ้านคอยเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ คอยชี้เบาะแสอาชญากรรม และเสริมสร้างความใกล้ชิดกันระหว่างตำรวจกับประชาชน อย่างในปัจจุบันตำรวจกับประชาชนห่างเหินกันอย่างมาก ต้องวิ่งเต้นโยกย้ายไปมา ทั้งหมดจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เมื่อปฏิรูปตำรวจอยู่ในจังหวัด