posttoday

คำพิพากษาคดีสลายพันธมิตรฯ จุดเริ่มต้นสร้างความปรองดอง

06 สิงหาคม 2560

"กรณีนี้การวินิจฉัยของศาลต้องบอกว่าเป็นที่น่าพึงพอใจในระดับหนึ่งในส่วนใหญ่ แต่ไม่อยากให้ลืมกลุ่มผู้เสียหายและผู้บาดเจ็บล้มตาย คิดว่าต้องมีคนออกมารับผิดชอบ โดยรัฐบาลคุณสมชายต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชน"

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การเมืองไทยเดินทางถึงจุดเปลี่ยนสำคัญภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้อง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551

ผลของคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้อดีตนายกฯ สมชาย หลุดพ้นจากมลทินทั้งหมด แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้ฟ้องคดีจะสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ก็ตาม

แต่ถึงกระนั้น คำพิพากษาที่ออกมาไม่เพียงแต่จะเป็นการปลดล็อกให้กับสมชายแล้ว แต่ยังมีความหมายในทางการเมืองด้วย

ในจังหวะนี้เอง “อดุลย์ เขียวบริบูรณ์” ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และอดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้มุมมองผ่านโพสต์ทูเดย์ว่า เป็นโอกาสสำคัญของการเริ่มต้นสร้างความปรองดอง แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจของทุกฝ่าย

อดุลย์ มองว่า การพิพากษายกฟ้องคุณสมชาย ถ้ามองในความรู้สึกของประชาชนทั่วไปก็ทำได้เหมาะสมดีในระดับหนึ่ง แน่นอนว่าการวินิจฉัยเมื่อเกิดผลที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่ถูกใจแน่นอนเป็นเรื่องปกติ แต่สำคัญที่สุดว่าการวินิจฉัยครั้งนี้มีเหตุผลและเป็นที่ยอมรับได้

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ขณะนั้นรัฐบาลได้ทำตามมติของคณะรัฐมนตรีที่มีไว้ตั้งแต่ปี 2535 ที่ห้ามใช้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชนอย่างเด็ดขาด แต่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการฝึกฝนในการควบคุมฝูงชนเท่านั้น ซึ่งในอนาคตทุกรัฐบาลควรต้องระมัดระวังในการควบคุมฝูงชนที่ต้องใช้ตำรวจที่ผ่านการฝึกฝน เพื่อให้ความรุนแรงลดลง”

เหนืออื่นใด อดุลย์ เห็นว่า เมื่อมีคำพิพากษาออกมาแล้วทุกฝ่ายทั้งอดีตนายกฯ สมชาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือแม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องออกมาแสดงความรู้สึกต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อเป็นการเริ่มต้นการเยียวยาความรู้สึกต่อผู้ได้รับผลกระทบ

“กรณีนี้การวินิจฉัยของศาล ต้องบอกว่า เป็นที่น่าพึงพอใจในระดับหนึ่งในส่วนใหญ่ แต่ไม่อยากให้ลืมกลุ่มผู้เสียหายและผู้บาดเจ็บล้มตาย คิดว่าต้องมีคนออกมารับผิดชอบ โดยรัฐบาลคุณสมชายต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการออกมากล่าวคำขอโทษต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้เสียหายในเหตุการณ์นี้”

“หากคุณสมชายออกมาแสดงความขอโทษ จะทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวลดความรู้สึกที่ไม่ดีลงไปได้บ้าง ความเจ็บปวดไม่มีวันที่จะหายไปในทันทีทันใด แม้ความไม่พอใจก็ไม่สามารถจะจางไปได้ทันที แต่อย่างน้อยนี่คือการแสดงการเยียวยาและขอปรองดองโดยการยื่นมือของอีกฝ่ายหนึ่ง”

“นอกจากนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ก็ควรออกมาแสดงความรู้สึกกับเหตุการณ์ในอดีตเหมือนกัน แม้จะเป็นการกระทำของ ผบ.ตร.ในอดีตก็ตาม ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของ คสช.และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องแสดงออกเหมือนกัน”

 “นี่เป็นหน้าที่ของ คสช.นะครับ เหมือนกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) และ พล.อ.สุจินดา ออกไปแล้ว แต่รัฐบาลต่อมาก็ได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบไม่ต่างกัน ทุกอย่างมันมีมาตรฐานและบรรทัดฐานมาแล้ว จึงอยากให้ทุกคนปฏิบัติตาม”

ประธานญาติวีรชนฯ ย้ำหนักแน่นว่า การสร้างความปรองดองจะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและ คสช. จะใช้โอกาสนี้ลงมือปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ถ้าเริ่มลงมือ ทำให้โอกาสประสบความสำเร็จก็มีค่อนข้างสูง

“ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญ แต่ละท่านเป็นผู้นำทางการเมืองและอดีตนายกฯ ก็คงไม่ต้องให้มาบอกว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ที่พูดมานี้ก็รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย ในฐานะที่ท่านเรียกร้องการปรองดอง ทำไมท่านไม่ทำตัวให้เป็นตัวอย่างให้คนอื่นเดินตาม โอกาสของท่านมาแล้ว ท่านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใดเลย แต่ทำไมท่านไม่ทำ ก็แล้วแต่ท่านนะครับ”

“ต้องบอกไว้ก่อน ทุกอย่างจากนี้ไปมีผลได้ผลเสียต่อผู้นำ คสช.และรัฐบาล จะได้แต้มหรือไม่ได้คะแนน อยู่ที่การกระทำนับจากวันนี้ไป เป็นคำเตือนที่ผมอยากฝากไปถึงนายกฯ”

อดุลย์ ฝากเตือนว่า ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะต้องเริ่มต้นการสร้างความปรองดอง เพราะหลังจากมีคำพิพากษาออกมาแล้ว แต่กลับปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมจะส่งผลให้การเมืองเกิดความตึงเครียดโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“บอกได้เลยว่าจะตึงเครียดมากขึ้นแน่นอน เพราะทุกฝ่ายผลักภาระให้กับกระบวนการยุติธรรมหมดเลย ซึ่งในอดีตเคยมีการทำให้กระบวนการยุติธรรมเกือบเสียหายมาแล้ว ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นที่ยอมรับ จึงไม่ควรผลักภาระไปให้อีก กฎหมายมาบังคับให้คนมารักกันไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกัน”

คำพิพากษาคดีสลายพันธมิตรฯ จุดเริ่มต้นสร้างความปรองดอง

การปรองดองจะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำสัญญาประชาคม แต่อดุลย์คิดว่า รัฐบาลและ คสช.จะต้องยึดถือประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ ถึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ

“ณ วันนี้หากท่านอยากให้มีความปรองดองอย่างที่ท่านป่าวประกาศให้มาเซ็นสัญญาประชาคม 10 ข้อ มันไม่มีความหมายอะไร ไม่มีใครยอมรับด้วย เพราะไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น แต่การกระทำของ คสช.หลังจากมีคำพิพากษาออกมาแล้ว อะไรที่จะทำให้ทุกฝ่ายและภาคประชาชนรู้สึกว่ามีความหวัง ท่านต้องรีบทำนะครับ ท่านไม่ต้องกังวลว่าจะเสียศักดิ์ศรีอะไร”

“การมาเป็นรัฐบาล คือ การประกาศตัวว่าจะเข้ามาทำเพื่อสาธารณะและถือประชาชนเป็นหัวใจเหมือนกับที่ท่านร้องเพลงคืนความสุขและถือประชาชนเป็นหลัก ต้องถามว่าวินาทีนี้ท่านถือประชาชนเป็นหลักในหัวใจของท่านหรือไม่ ถ้าท่านเข้าใจท่านก็รู้ตัวว่าต้องทำอะไรต่อไป”

“การปรองดองนับจากนี้ไป ไม่จำเป็นต้องอาศัยสัญญาประชาคมฉบับนั้น ทำได้เลยครับ ด้วยการท่านก็ทำให้เป็นตัวอย่าง ทำตอนนี้ช้าก็ไปยังไม่สาย ที่ยังไม่ได้สายเพราะท่านยังไม่ได้ทำเลย มาเริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สาย ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”

“เป็นเฮือกสุดท้ายแล้ว แต่ถ้าเริ่มทำตอนนี้ก็ยังทันนะครับ เพราะถ้าเริ่มต้นทำ มันจะเป็นเหมือนเป็นโดมิโน ถ้าท่านล้มโดมิโนตัวแรกที่เป็นอุปสรรคได้ลง มันจะไหลไปตามทางด้วยความรวดเร็ว ทุกอย่างมันจะสามารถปรองดองได้ค่อนข้างดี ส่วนจะสามารถสมานแผลได้ทันทีหรือไม่คงต้องใช้เวลา”

“สิ่งที่ผมอยากเห็นรัฐบาล คสช.มีความตั้งใจลงมือสร้างความปรองดองและลงมือทำทันทีได้ ก็จะดีมาก ยืนยันว่าถ้าทำตอนนี้ทันทีจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งจะดีกว่าที่ท่านพยายามทำมาตลอด 3 ปี”

ช่วงท้าย อดุลย์ สรุปว่า การสร้างความปรองดองไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเดียวที่รัฐบาลและ คสช.ต้องลงมือทำ แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนด้วย รัฐบาลและ คสช.ควรใช้โอกาสนี้ลงมือแก้ปัญหา เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจเกิดม็อบเศรษฐกิจแทนม็อบการเมืองได้ในอนาคต

“ม็อบการเมืองคงเกิดขึ้นได้ยาก แต่เป็นห่วงว่าอาจจะเกิดม็อบทางเศรษฐกิจที่เรียกว่าการจลาจล ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผู้นำหรือผู้ชักจูง แต่จะเป็นไปตามธรรมชาติเลย อันนี้น่ากลัว เพราะมันเป็นการออกมาของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งผมเองไม่อยากให้ถึงจุดนั้น จึงอยากให้ คสช.และรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการบริหารประเทศ”