posttoday

เอาจริง! ปฏิรูปตำรวจ ปรับสวัสดิการ "ประทวน-สัญญาบัตร"

16 กรกฎาคม 2560

"การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้จะไม่เน้นแต่เฉพาะตำรวจสัญญาบัตรเท่านั้น แต่จะต้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในส่วนของตำรวจชั้นประทวน เพราะมีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน"

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

เป็นเวลาร่วม 3 เดือนแล้วที่ประเทศไทยได้ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยมาถึงเวลานี้เมล็ดพันธุ์ที่รัฐธรรมนูญได้หว่านเอาไว้ เริ่มออกดอกออกผลให้เป็นระยะแล้ว เช่น การเดินหน้าจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนของการปฏิรูปประเทศ ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจจำนวน 36 คน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดเอาไว้ให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ

ในจังหวะนี้โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสสนทนากับ “เสรี สุวรรณภานนท์” ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หนึ่งในกรรมการปฏิรูปตำรวจ เพื่ออธิบายถึงแนวทางการปฏิรูปตำรวจในระยะยาว โดยก่อนอื่นได้รับการยืนยันว่าการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้เป็นของจริง และมีความแตกต่างจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สปท.ได้เคยเสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจมาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้

“เอาจริงสิ ครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเลย ครั้งนั้นเป็นเรื่องการเสนอแนวคิด ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้จะต้องมีผลออกมา เพราะถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว ไม่ใช่แค่การเสนอความคิดเห็นหรือการนำเสนอทางวิชาการ ไม่ใช่ข้อศึกษา แต่ต้องทำให้เกิดผลที่นำไปสู่การปฏิบัติ

“เมื่อเสนอไปแล้วรัฐบาลก็ต้องดำเนินการตามนั้น เพราะคณะกรรมการชุดนี้มาจากรัฐธรรมนูญและรัฐบาลก็เป็นคนตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยที่รัฐบาลต้องเสนอกฎหมายมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เสรี ยืนยันด้วยความมั่นใจ

จากนั้น เสรีเริ่มอธิบายและนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจให้เกิดเป็นรูปธรรมไว้อย่างน่าสนใจ

“ทิศทางการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 258 ง. (4) ที่ระบุว่า ดําเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อํานาจ และภารกิจของตํารวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจให้เกิดประสิทธิภาพ การพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคํานึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตํารวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน”

ประเด็นการปฏิรูปตำรวจที่เสรีเสนอเป็นความคิดเห็นส่วนตัวนั้นจะต้องดำเนินการในสองเรื่องหลัก คือ การแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของตำรวจ และการกำหนดภารกิจของตำรวจให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะการจัดวางอำนาจการสืบสวนสอบสวนของตำรวจให้เกิดความเหมาะสม

“แนวทางการปฏิรูปจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายและการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการทำงานรวมถึงอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม นอกจากนี้จะต้องกำหนดภารกิจของตำรวจให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันตำรวจภารกิจที่ไม่ใช่งานของตำรวจโดยตรง เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น ภารกิจพวกนี้ต้องมาจัดแบ่งสรรอำนาจ แบ่งหน่วยงานให้เหมาะสมแก่ภารกิจที่ทำ

“เช่นเดียวกับเรื่องการสืบสวนสอบสวน ซึ่งจะต้องร่วมกันคิดว่าควรจะใช้รูปแบบไหนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการพิสูจน์ความผิดได้อย่างถูกต้องโดยไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งนั่นก็คือการสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับตำรวจ”

เสรี อธิบายว่า ที่ผ่านมาภารกิจของตำรวจสับสนอลหม่านไปหมด พอถึงเวลาโยกย้ายตำแหน่งปรากฏว่าก็ไม่ได้เอาภารกิจเป็นหลักในการพิจารณา เพราะไปเอาตำแหน่งและเวลาการทำงานเป็นหลัก คนที่ถนัดเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำงานที่ตัวเองถนัด ทำให้ต้องมาเรียนรู้กันใหม่ กว่าจะเรียนรู้ได้ ก็ถูกย้ายอีกแล้ว ส่งผลให้ขาดความเป็นมืออาชีพ ดังนั้นตรงนี้ก็ต้องแก้ไขกันหมด เพื่อตำรวจที่มีความถนัดด้านใดก็ควรเจริญเติบโตในด้านนั้น

“ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้อยู่ที่การแก้ไขปัญหาแต่งตั้งโยกย้าย โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องยึดหลักอาวุโสและความรู้ความสามารถ ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ต้องมาตั้งหลักว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้หลักอาวุโสและหลักความรู้ความสามารถเกิดความสมดุลกัน

“เพราะหากยึดแต่หลักอาวุโส ก็จะทำให้คนที่อาวุโสไม่ทำงาน เพราะมองว่าถึงเวลาก็ได้เลื่อนตำแหน่งตามอาวุโส จึงอาจต้องมาพิจารณาถึงความสามารถและผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ด้วย ไม่ใช่แค่ใกล้ชิดเจ้านายก็เอาเหตุนี้มาอ้างเพื่อเลื่อนตำแหน่ง และการทำให้ตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ คณะกรรมการฯ ก็ต้องหาวิธีการเพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจถูกแทรกแซงและไม่อยู่ภายใต้อำนาจทางการเมือง”

ความเป็นอิสระของตำรวจในความหมายนี้หมายถึงความเป็นอิสระแบบเดียวกับองค์กรอิสระ?

เสรี เสนอความคิดว่า “ความเป็นอิสระหมายถึงความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่อยู่ใต้อิทธิพลนักการเมือง ซึ่งคณะกรรมการฯ กำลังมองว่าความเป็นอิสระของตำรวจในที่นี้จะอยู่ในระดับไหน เพราะต้องไม่ลืมว่าตำรวจเป็นข้าราชการที่เป็นกลไกของรัฐ การบริหารราชการแผ่นดินก็ต้องพึ่งราชการ แต่ไม่ใช่ให้ราชการอิสระจนกระทั่งกลายเป็นองค์กรพิเศษ

“รูปแบบอาจจะมีได้หลายรูปแบบ อย่างส่วนตัวเท่าที่คิดออก คือ สมมติว่าการแต่งตั้งโยกย้ายให้เป็นรูปแบบของคณะกรรมการ โดยไม่ให้มีฝ่ายการเมืองเข้ามา ถ้าเป็นไปได้การแต่งตั้งโยกย้ายก็อาจให้มีคณะกรรมการที่มาจากตำรวจเอง ส่วนการบริหารงานก็ยังคงต้องให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคงต้องมีอำนาจไว้ เช่น การลงโทษ การปลดจากตำแหน่ง เพราะเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

“แบบนี้คิดว่าน่าจะไปได้และเป็นที่ยอมรับ เพราะตำรวจจะยังคงมีความเป็นอิสระ ทำให้ไม่ต้องวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ตำแหน่งกัน”

การปฏิรูปตำรวจครั้งนี้จะทำให้โครงสร้างตำรวจใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง? เสรี ตอบว่า “เล็กลงอยู่แล้ว เพราะต้องแยกหน่วยงานออกมา ทุกวันนี้โครงสร้างตำรวจใหญ่มากและมีศูนย์รวมอยู่จุดเดียว ส่วนตัวคิดว่าอาจมีการแบ่งออกเป็นภาคเพื่อให้บริหารงานกันเอง หรือการปรับเปลี่ยนระบบงานสืบสวนสอบสวน มีหลายคนเสนอว่าต้องเอางานสืบสวนสอบสวนออกมาจากตำรวจ แต่มุมมองตัวเองคิดว่ายังควรให้ตำรวจมีอำนาจนี้ไว้

“ถามว่าทำไมตำรวจถึงปัญหาเยอะ เพราะตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนและเป็นคนใช้อำนาจรัฐในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายสามารถให้คุณหรือให้โทษได้ แบบนี้โอกาสของการแสวงหาประโยชน์จากการใช้อำนาจจึงมีสูง ถ้ามีช่องทางจะหาประโยชน์ได้ก็ทำกัน โดยเฉพาะการไปหาผลประโยชน์จากธุรกิจสีเทา ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจในการทำหน้าที่ของตำรวจ ทั้งๆ ที่การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมีความจำเป็น”

นอกจากนี้ เสรี ย้ำว่าการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้จะไม่เน้นแต่เฉพาะตำรวจสัญญาบัตรเท่านั้น แต่จะต้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในส่วนของตำรวจชั้นประทวน เพราะมีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

“ที่ผ่านมาการปฏิรูปตำรวจเน้นแต่ในส่วนของตำรวจชั้นสัญญาบัตร แต่ไม่ค่อยพูดถึงนายตำรวจชั้นประทวน ซึ่งชั้นประทวนโดยหลักแล้วเมื่ออยู่โรงพักไหนไม่ค่อยถูกโยกย้าย อยู่ในพื้นที่อย่างยาวนาน ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งคิดว่าจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

“โดยการปฏิรูปตำรวจนั้นจะปฏิรูปเฉพาะตำรวจสัญญาบัตรแต่ต้องมาคุยเรื่องชั้นประทวนด้วย เช่น การให้สวัสดิการ การทำให้มีรายได้เพียงพอเพื่อไม่ให้ไปทำทุจริต ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ต้องหาวิธีการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง”เสรี ระบุ

ท้ายสุด เสรี สรุปว่า “อย่าไปรังเกียจตำรวจถึงขนาดต้องให้ตำรวจไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวน แบบนั้นก็เกินเหตุไป ถ้าให้ตำรวจมีอำนาจแค่จับกุมอย่างเดียว ตำรวจก็มีอำนาจมากกว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนิดหน่อย ถูกไหม มันไม่ใช่แล้วนะ เพียงแต่ว่าเราต้องทำอย่างไรที่จะมาจัดสรรงานหรืออำนาจในการทำงานของตำรวจให้ลงตัว”