posttoday

"ประธาน กสม." เปิดเบื้องลึกค้านเซตซีโร่

10 กรกฎาคม 2560

เกิดแรงกระเพื่อมขย่มคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันอย่างหนัก เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมเซตซีโร่ กรรมการชุดเก่ายกกระบิ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เกิดแรงกระเพื่อมขย่มคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดปัจจุบันอย่างหนัก เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมล้างบาง หรือเซตซีโร่ กรรมการชุดเก่ายกกระบิ

ภายหลังกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จึงเกิดแรงต้านนำโดย “วัส ติงสมิตร” ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกโรงประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย พร้อมให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ผ่านมาต้องต่อสู้อย่างหนักในการยกร่างและทำความเข้าใจกับ กรธ. เพราะ กรธ.ไม่เข้าใจหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน

นับตั้งแต่ยกร่างแรกที่ กรธ.ได้ตัดคำว่า “แห่งชาติ” ออกไป นั่นหมายความว่าต้องการให้กรรมการสิทธิ หรือ กสม. จะต้องไปอยู่ในสังกัดของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ไม่ได้เป็นอิสระตามหลักสากล ซึ่งในที่สุดกว่าจะชี้แจงทำความเข้าใจจนได้คำว่า “แห่งชาติ” คืนมาบัญญัติไว้ในร่างกฎหมาย

พร้อมไปกับความพยายามผลักดันให้ร่างกฎหมายกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พรป. เพราะที่ผ่านมากฎหมายที่กรรมการสิทธิฯ ใช้อยู่เป็น พ.ร.บ.ปี 2542 ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้จะยอมรับว่าหากมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดการยกเลิกรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิมนุษยชนจะต้องหลุดตำแหน่งไปทันที ย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่รับได้ เพราะกรรมการสิทธิฯ เป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด

“อยากบอกว่า กรธ.จริงๆ ไม่ได้ออกร่างกฎหมายของตัวเอง แต่จะนำร่างของต้นสังกัด กสม.แล้วให้ใครต่อใครวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกระสอบทราย จนต่อมาได้มีร่างฉบับของ กรธ.เองขึ้นมา ซึ่งในร่าง กสม.ฉบับแรกๆ มีส่วนสำคัญ 2 เรื่อง คือ ความคุ้มครองต่อการปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งหรืออาญา ถือเป็นหลักสากลโลกที่ใช้กันอยู่ และไม่เซตซีโร่ จะมีเพียงกรรมการสิทธิฯ บางคนเท่านั้นที่อาจหลุดจากตำแหน่ง เพราะขาดคุณสมบัติบางประการ เช่น การเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ ต้องไม่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองอย่างน้อย 10 ปี ตามกฎหมายลูกฉบับใหม่กำหนด เป็นต้น”

พอต่อมาในการยกร่างกฎหมาย กสม.ฉบับที่สอง หรือฉบับปัจจุบันที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นว่า กรธ.ตัด 2 เรื่องสำคัญนี้ออกไปดื้อๆ นั่นคือไม่มีความคุ้มกันในการทำงานของกรรมการสิทธิฯ และเซตซีโร่ กสม.ทั้งคณะเพื่อนำไปสู่การสรรหาใหม่จำนวน 7 คน สิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือ กรธ.ไม่มีคำอธิบายใดๆ มาชี้แจง

แม้ต่อมาจะทราบจากคำพูดของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวผ่านสื่อเสมอว่ากรรมการสิทธิฯ ทะเลาะกันเอง กรรมการชุดนี้ผลงานก็ไม่มี ที่มาก็ไม่ถูกต้อง และไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส หรือหลักการสากล ที่ว่าด้วยสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และมีชัย อ้างว่าหากเซตซีโร่แล้วได้กรรมการสิทธิชุดใหม่จะสามารถยกระดับสถานะสิทธิมนุษยชนไทยจากสถานะบี เป็นสถานะเอได้

ประธาน กสม. ชี้แจงประเด็นนี้ว่า เหตุผลที่กรรมการสิทธิฯ ไทยถูกลดเกรดจากสถานะเอ เป็นสถานะบี เกิดจากผลของการทำงานของกรรมการสิทธิฯ ชุดที่ 2 เมื่อปลายปี 2557 ทางคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions หรือไอซีซี จะเสนอลดระดับความน่าเชื่อถือของคณะกรรรมการสิทธิมนุษยชนไทยจากระดับเอเป็นบี เพราะก่อนหน้านั้นมีหนังสือถึงกรรมการสิทธิฯ ชุดที่ 2 ให้ดำเนินการแก้ไข 3 เรื่อง แต่กลับไม่ดำเนินการใดๆ คือ

1.แก้กฎหมายการสรรหาให้มีกรรมการสิทธิฯ สัดส่วนภาคประชาสังคมเพิ่มขึ้น 2.แก้กฎหมายให้มีความคุ้มกันหรือคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่ต่อกรรมการสิทธิฯ โดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่งหรืออาญา และ 3.ต้องรวดเร็วในการประกาศท่าทีต่อเหตุการณ์คุกคามสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องเกิดคำถามจากไอซีซี ว่าเหตุใดกรรรมการสิทธิฯ ในช่วงนั้นไม่ออกรายงานในปี 2553 ทำไมปล่อยให้เวลายืดนานออกไป เพิ่งมาออกรายงานในปี 2556 เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางไอซีซีให้เวลาในการดำเนินการแก้ไข 3 เรื่องเป็นเวลา 1 ปี ดังนั้นเมื่อครบ 1 ปี ในช่วงปลายปี 2558 กรรมการสิทธิฯ ชุดที่ 3 ซึ่งมีตนเป็นประธานเข้ามาทำงานพอดี แต่กลับมีเวลาเหลือเพียงเดือนเศษเท่านั้น จึงไม่สามารถจะดำเนินการใดๆ กับประเด็นที่ 1 และ 2 ตามที่ไอซีซีต้องการได้

“ในตอนนั้นเคยนำเรื่องนี้ไปหารือกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีต รมว.ยุติธรรม สมัยนั้น พล.อ.ไพบูลย์ ยังบอกว่าสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ภายในเดือนเดียวคงมีวิธีเดียวคือออก พ.ร.ก. เพราะต้องแก้กฎหมาย หรือต้องใช้วิธีอื่นที่ต้องใช้อำนาจพิเศษ ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้ทันที แต่ในความเป็นจริงทำไม่ได้และไม่ทัน”

 

"ประธาน กสม." เปิดเบื้องลึกค้านเซตซีโร่

ดังนั้น จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่าการที่สถานะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยถูกลดเกรด ไม่ได้เป็นความผิดของกรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบันที่สำคัญหลักการปารีสไม่ได้กำหนดว่าที่มากรรมการสิทธิฯ จะมาจากระบบเลือกตั้ง สรรหา หรือแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี จะด้วยวิธีใดไม่ขัดหลักสากลทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องให้ได้ที่มาของกรรมการสิทธิฯ ที่มีความหลากหลาย อาทิ องค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ด้านปรัชญาหรือศาสนา ตัวแทนมหาวิทยาลัย เป็นต้น

รวมทั้งต้องมีตัวแทนกลุ่มต่างๆ เพราะกรรมการสิทธิฯ ต้องทำงานกับภาคีเครือข่าย เพราะกรรมการสิทธิฯ ไม่ใช่หน่วยงานรัฐและไม่ใช่ฝ่ายประชาชน แต่เป็นเหมือน “กรรมการห้ามมวย” ระหว่างรัฐกับประชาชน และเป็นเหมือน “สะพานเชื่อม” ดังนั้นการทำงานต้องกะทัดรัด เพราะบางกระทรวงไม่มีกฎหมายของตัวเองยังมีเจ้าหน้าที่นับพันคน แต่กรรมการสิทธิฯ มีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่ร้อยคน แต่ทำงานดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนพร้อมกับตรวจสอบและเสนอแนะ รวมถึงคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแก่สังคม

วัส กล่าวย้ำว่า ได้จัดทำข้อเสนอแนะที่ส่งให้ สนช.พิจารณาในชั้นตั้งกรรมาธิการร่วม อาทิ องค์ประกอบของการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนระดับ “มหาเทพ” เกินไป หรือไม่ได้สอดคล้องในความเป็นจริงในทางปฏิบัติจะทำได้หรือไม่ ซึ่งมาตรฐานสูงกว่าระดับสากลเสียด้วยซ้ำ และเมื่อคัดสรรตัวแทนมาแล้วจะทำงานได้หรือไม่

ดังนั้น จึงอยากเสนอแนะว่าไม่ควรไปกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตัวบุคคลพิเศษละเอียดเกินไป แต่ควรให้คณะกรรมการสรรหาได้ใช้ดุลพินิจเลือกมากขึ้น เพราะบางสาขาในแต่ละบุคคลอาจมีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะได้หลายสาขา หรือการกำหนดจำนวนปีของประสบการณ์การทำงานว่าในกรรมการสิทธิฯ แต่ละคนหรือแต่ละด้านจะต้องมีประสบการณ์ด้านนั้นๆ มาไม่น้อยกว่ากี่ปี

ประธาน กสม. เสนอว่าควรให้เพิ่มกลไกการทำหน้าที่ กสม. คือให้มีอำนาจหน้าที่ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลยุติธรรมหรือศาลทหารในคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี หากพบมีปัญหาสิทธิมนุษยชนขัดหรือแย้งความชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ทาง กสม.มีสิทธิไปยื่นคำร้องคัดค้านได้

อีกทั้งควรให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษซึ่งเป็นองค์กรเดี่ยวมาทำหน้าที่ในการเขียนรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ เพราะหากใช้การเขียนรายงานแบบกลุ่มหรือคณะจะเกิดปัญหาการประนีประนอมต่อรอง จนทำให้รายงานชิ้นนั้นทื่อทู่ไม่แหลมคมในการนำเสนอต่อสาธารณะ