posttoday

"ไพรมารีโหวต" ล้มนายทุน ปฏิรูปการเมืองสำเร็จ

03 กรกฎาคม 2560

"ต่อไปถ้ามีการทำไพรมารีโหวต อำนาจในการส่งผู้สมัครนั้นไม่ได้อยู่กับนายทุน"

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

นับเป็นวาทะการเมืองร้อนแรงมาหลายสัปดาห์ สำหรับ “ไพรมารีโหวต” หรือที่เรียกกันในภาษาทางการว่าการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อคัดเลือกผู้สมัคร สส.ของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ โดยตามขั้นตอนเวลานี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายต่อไป

สำหรับประเด็นที่เป็นปัญหาทำให้พรรคการเมืองต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายพรรคการเมืองคือ ขั้นตอนการทำไพรมารีโหวต

ฝ่ายพรรคการเมืองมองว่าควรกลับไปใช้กระบวนการทำไพรมารีโหวตตามที่ กรธ.เขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับแรก ซึ่งไม่ได้มีสภาพบังคับแก่พรรคการเมืองมากเกินไป เพราะร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ สนช.แก้ไขไปนั้น ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติแก่พรรคการเมือง โดยเฉพาะการนำไปสู่ความแตกแยกภายในพรรคจากการที่ผู้สมัคร สส.ของพรรคต่างแย่งชิงสมาชิกพรรคเพื่อให้มาสนับสนุนตัวเองเป็นผู้สมัคร สส.

ในจังหวะนี้เอง “โพสต์ทูเดย์” จึงได้มีโอกาสสนทนากับ “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” สมาชิก สนช. ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อสอบถามถึงที่มาที่ไปว่าเหตุใด สนช.ถึงได้กำหนดขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตไว้แบบเข้มงวด และที่ทำไปอย่างนั้นมีเจตนารมณ์อะไร

เบื้องต้น พล.อ.สมเจตน์ ระบุว่า การทำไพรมารีโหวตที สนช.กำหนดไว้ในร่างกฎหมายพรรคการเมืองมีที่มาที่ไปจากรัฐธรรมนูญปี 2560 และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

“เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปก่อนที่จะเกิดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมา ในช่วงนั้นพรรคการเมืองมีการดำเนินการในลักษณะที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีปัญหาว่าพรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองของนายทุน จนนำมาสู่การปฏิบัติหน้าที่ของ สส.เปรียบเหมือนกับพนักงานบริษัท มีหน้าที่มายกมือตามอำนาจสั่งการของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง จนกลายเป็นวิกฤตของสภา”

“เวลานั้นเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างมาก กระทั่งนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับภายหลังเกิดการรัฐประหาร ซึ่งมองถึงการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านการประชามติ ได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปการเมืองไว้ชัดเจนว่าต้องให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง ตั้งแต่การกำหนดนโยบายและการร่วมกิจกรรมทางการเมือง รวมไปถึงกระบวนการในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม”

“จากนั้นพบว่ามีรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของ สปท. ซึ่งมีนักการเมืองอาวุโส ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านร่วมเป็นกรรมาธิการและที่ปรึกษา ได้มีการเสนอให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผ่านการเลือกตั้งขั้นต้น ผมก็พิจารณาและเสนอต่อสมาชิก สนช. และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ”

ขณะเดียวกัน พล.อ.สมเจตน์ มองว่า แม้ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ กรธ.ส่งมาให้ สนช. ในตอนแรกจะมีการกำหนดการทำไพรมารีโหวตเอาไว้ แต่เห็นว่าเป็นการกำหนดที่ไม่ได้มีสภาพบังคับแก่พรรคการเมือง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ สนช.ต้องเพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปเพื่อให้เกิดสภาพบังคับแก่พรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เหมือนกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับกฎหมายพรรคการเมืองเมื่อปี 2550

“เราได้ดูกระบวนการทำไพรมารีโหวตที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามานั้นเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอ เราจึงเสนอกระบวนการทำไพรมารีโหวตในแบบของเราเข้าไป”

“ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 กำหนดให้ทำไพรมารีโหวตเอาไว้แล้ว แต่ไม่ได้กำหนดสภาพบังคับเอาไว้ จึงไม่มีพรรคการเมืองไหนทำไพรมารีโหวต พรรคการเมืองก็ไม่อยากทำ เพราะการทำไพรมารีโหวตคือการถ่ายโอนอำนาจจากนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรค ไปเป็นของสมาชิกพรรคการเมือง”

“การปฏิรูปใดๆ ก็แล้วแต่ที่มันจะไม่สำเร็จ ก็เพราะผู้เป็นเจ้าของอำนาจไม่ยินยอมที่จะสูญเสียอำนาจของตัวเอง ดังนั้นการที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้านต่างๆ นั้น คัดค้านโดยอ้างเหตุอื่นว่าปฏิบัติไม่ทันและมีปัญหายุ่งยาก แต่แท้ที่จริงแล้วคือการคัดค้านในการที่จะถ่ายโอนอำนาจของตัวเองไปให้สมาชิกพรรคการเมือง ทั้งที่วิธีการทำไพรมารีโหวตแบบนี้ เป็นวิธีการประชาธิปไตยโดยแท้”

พรรคการเมืองหลายพรรคการเมืองมองตรงกันในประเด็นหนึ่งคือ การทำไพรมารีโหวตแบบนี้อาจทำให้เกิดกระบวนการจัดตั้งและเกิดความขัดแย้งภายในพรรคการเมือง? พล.อ.สมเจตน์ ตอบว่า “การจัดตั้งนี้พรรคการเมืองยอมรับไหม ถ้าจัดตั้งโดยถูกต้องก็ทำได้ พรรคการเมืองต้องสนับสนุนการจัดตั้งที่ชอบ การจัดตั้งที่ชอบคืออะไร คือการไปชักชวนและไปเสนอแนวทางให้ประชาชนเพื่อเชิญมาเป็นสมาชิก พรรคการเมืองต้องจัดการสิ่งที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นภายในพรรคการเมือง พรรคการเมืองนั่นแหละจะเป็นคนสอนแนวทางประชาธิปไตย”

“เวลาคุณมามีอำนาจในการบริหาร คุณบอกว่าต้องสอนแนวทางประชาธิปไตย ไปสนับสนุนให้โรงเรียนเลือกสภานักเรียน สนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเลือกผู้แทนของตนเองมาแก้ไขปัญหาของตนเอง แล้วทำไมพรรคการเมืองถึงไม่พร้อมที่จะดำเนินการที่จะจัดการตัวเองให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี”

แม้จะมีการทำไพรมารีโหวตก็จริง แต่เมื่อเข้าไปทำงานในสภาแล้ว สส.ก็ย่อมตกอยู่ภายใต้มติของพรรคการเมือง แบบนี้ก็จะไม่มีทางทำให้ สส.มีอิสระได้ ทั้งที่ผ่านการทำไพรมารีโหวต? ในประเด็นนี้ พล.อ.สมเจตน์ เห็นในมุมกลับกันว่า “เดิมถ้า สส.ไม่ทำตามมติพรรคการเมืองแล้ว พรรคการเมืองจะไม่ส่งคนนั้นเป็นผู้สมัครในอนาคต อำนาจในการส่งผู้สมัครอยู่กับนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง แต่ต่อไปถ้ามีการทำไพรมารีโหวต อำนาจในการส่งผู้สมัครนั้นไม่ได้อยู่กับนายทุน”

“แท้ที่จริงแล้วไม่มีเจตนาจะทำลายพรรคการเมืองเลย เพราะมีเจตนาที่ต้องการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และให้พรรคการเมืองสรรหาเลือกคนดีๆ ที่เห็นประโยชน์ส่วนร่วมนั้นเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ถ้าพรรคการเมืองเสนอคนดีๆ เข้าไป แน่นอนที่สุดเขาจะต้องไปทำดีและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ”พล.อ.สมเจตน์ ทิ้งท้าย