posttoday

ไทยหนีไม่พ้นอเมริกา พันธมิตรในสงคราม

07 พฤษภาคม 2560

"ดีที่สุดของไทย คือ การดูสถานการณ์เป็นหลักว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็พอเห็นแนวโน้มว่าไทยต้องเข้าข้างอเมริกาอยู่แล้ว"

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ต้องยอมรับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศค่อนข้างระอุพอสมควร ภายหลัง“โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งสัญญาณออกมาค่อนข้างแรงเพื่อเปิดสงครามกับคู่รักคู่แค้นอย่างเกาหลีเหนือ ยิ่งไปกว่านั้นได้พยายามส่งเทียบเชิญผู้นำหลายประเทศเข้าร่วมเป็นมหามิตรสำหรับสร้างความชอบธรรมในการทำสงครามในอนาคตอันใกล้

ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยกำลังเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญของผู้นำสหรัฐที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวออกมาว่าผู้นำสหรัฐโทรศัพท์ข้ามทวีปตรงมายัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเป็นการส่วนตัว

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายมองว่าประเทศไทยจะมีทิศทางอย่างไร ท่ามกลางเวทีการเมืองโลกที่รอวันปะทุ ในโอกาสนี้ “โพสต์ทูเดย์” ได้มีเวลาสนทนากับ “รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดสงครามระหว่างสหรัฐ-เกาหลีเหนือขึ้นมา ประเทศไทยจะอยู่จุดไหนในแผนที่การเมืองระหว่างประเทศ

อาจารย์อรรถกฤต เริ่มต้นถึงการมองความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามว่า “ก็มีแนวโน้มอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะว่ามีการเรียกคุยกันแล้วว่าใครจะเป็นพันธมิตรกับประเทศไหน โดยทรัมป์มีการเชิญประธานาธิบดีไปคุย ซึ่งจริงๆ แล้ว ส่วนตัวคิดว่าเมื่อทรัมป์เป็นนักธุรกิจ ย่อมต้องสนใจเรื่องผลประโยชน์เป็นหลักของประเทศเขา และผลประโยชน์ที่ได้มาจากเกาหลีเหนือด้วย เพราะอย่าลืมว่าพวกกลุ่มธุรกิจก็มองทรัพยากรในเกาหลีเหนือเป็นธุรกิจเหมือนกัน

“ถ้าถามว่าทรัมป์อยากได้ไหม แน่นอนว่าอยากได้ เพราะสามารถเอาทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในอนาคตเกาหลีเหนืออาจเปลี่ยนระบบการปกครอง ถ้าสามารถจัดการกลุ่มผู้นำของเกาหลีเหนือได้ ทุกอย่างก็จบ การปกครองก็เปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์ที่ไม่เคยมองทุนนิยม มาเป็นการมองทุนนิยมมากขึ้น

“อย่าลืมว่าเกาหลีเหนือมีทรัพยากรค่อนข้างมาก เพราะอย่าลืมว่าเกาหลีเหนือยังมีเทคโนโลยีในการจัดการทรัพยากรน้อยอยู่ดังนั้นถ้าสหรัฐอเมริกาเข้าไป ย่อมสามารถทำอะไรได้มาก จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นขุมทรัพย์”

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์วิเคราะห์อีกว่า “เชื่อว่าสงคราม ถ้าเกิด ก็จะเกิดระยะสั้น โดยปกติสหรัฐอเมริกาจะดำเนินการรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่ตัวเองมี โดยเฉพาะการติดตั้ง THAAD (Terminal High Altitude Area Defense System) หรือระบบป้องกันขีปนาวุธในประเทศเกาหลีใต้แล้ว แม้ว่าประชาชนในเกาหลีใต้จะไม่ยอม แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ยอมให้ตั้งระบบดังกล่าวได้

“ทีมของทรัมป์เป็นกลุ่มทุนธุรกิจหมดเลย ไม่ได้เหมือนกับทีมของโอบามา ที่มองในเชิงอนุรักษนิยมมากกว่า อย่างเช่น นโยบายการเก็บภาษีธุรกิจของพรรครีพับลิกันของทรัมป์จะต่ำกว่าของพรรคเดโมแครตค่อนข้างมากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเมื่อกลุ่มธุรกิจเข้ามาบริหารอเมริกา ย่อมต้องมองเกาหลีเหนือในเรื่องทรัพยากรเป็นหลัก”

สำหรับการที่ทรัมป์คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์นั้น อาจารย์อรรถกฤต คิดว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยากให้เกิดสงครามอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยด้วยสถานะทำไม่ได้อยู่แล้ว อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีก็น้อยมาก ดังนั้น ดีที่สุดของไทย คือ การดูสถานการณ์เป็นหลักว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็พอเห็นแนวโน้มว่าไทยต้องเข้าข้างอเมริกาอยู่แล้ว

“เพราะถึงอย่างไร ถ้าเกิดสงครามขึ้นมาจริง อย่างไรเสียอเมริกาก็ชนะเกาหลีเหนือ 100% เพราะอเมริกามีอาวุธและเทคโนโลยีดีกว่า ขณะที่เกาหลีเหนือยังมีเทคโนโลยีที่ยังน้อยอยู่ เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายครั้งที่การทดลองอาวุธก็ล้มเหลวเยอะ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เกาหลีเหนือจะมาต่อรองกับอเมริกา”

อย่างไรก็ตาม แม้ท่าทีของไทยอาจจะผูกมิตรกับสหรัฐ แต่ในความคิดของนักวิชาการรายนี้ เห็นว่าจะไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนมากนัก เนื่องจากเวลานี้จีนเองก็พยายามไม่ต้องการมีปัญหากับสหรัฐเหมือนกัน เพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจของตัวเอง

“ถามว่าประเทศจีนก่อนหน้านี้ก็ดูเหมือนจะเข้าข้างเกาหลีเหนือ เช่น การขายอาวุธให้เกาหลีเหนือ แต่ตอนนี้จีนก็เริ่มกังวลแล้ว เพราะว่าอเมริกาใช้นโยบายเศรษฐกิจจะล้มจีน เพราะพรรครีพับลิกันต้องการให้อุตสาหกรรมโยกไปที่อเมริกา และดำเนินการลดภาษีในการลงทุน เพื่อลดการขาดดุล จีนกังวลเหมือนกันว่าถ้าย้ายไปหมด จะทำให้แรงงานในจีนอยู่กันอย่างไร

ไทยหนีไม่พ้นอเมริกา พันธมิตรในสงคราม

“ผู้นำของจีนมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงเหมือนกัน แต่จีนก็มองเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ย่อมจะนำมาสู่การจลาจลในจีน ที่อาจมีความรุนแรงมาก ย่อมทำให้กลุ่มผู้คุมอำนาจในจีนก็ต้องมาคิดว่าจะปกครองได้ไหม หากเกิดปัญหาความรุนแรงในประเทศขึ้นมา ดังนั้นจีนย่อมต้องกังวลกับปัญหาในประเทศเป็นสำคัญ สรุป คือ จีนก็ต้องเอาตัวรอดเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าจีนก็เริ่มถอยห่างจากเกาหลีเหนือเหมือนกัน

“การที่ไทยซื้อเรือดำน้ำจากจีนนั้น จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงประมาณ 7-8% มาตลอด ไทยก็ยังต้องมีเศรษฐกิจในระดับหนึ่งเหมือนกัน อย่างเรื่องการส่งออก ขณะเดียวกันไทยก็ยังต้องพึ่งอเมริกา จึงคิดว่าไทยก็พยายามเข้าหาทั้งคู่เช่นกัน ไทยพยายามเป็นมิตรกับทั้งคู่ เพราะการเป็นมิตรกับทั้งสองประเทศมันก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพื่อให้ไทยสามารถรักษาเสถียรภาพได้ในอนาคต

“กลุ่มประเทศทวีปยุโรปน่าจะอยู่กับอเมริกาเหมือนกัน เนื่องจากที่ผ่านมาอเมริกาคอยสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายให้ประเทศแถบยุโรปพอสมควร ประกอบกับที่ผ่านมาก็ต่างเป็นพันธมิตรกันอยู่แล้ว เพราะมีการร่วมปฏิบัติการในการที่จะกำจัดกลุ่มก่อการร้ายมาตลอด และสนธิสัญญาต่างๆ ที่อเมริการ่วมกับยุโรปก็มีลักษณะต่อต้านเกาหลีเหนืออยู่แล้ว

“เช่นเดียวกับรัสเซีย ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะไปเข้ากับเกาหลีเหนือ เพราะถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศมีอยู่บ้าง เช่น การซื้อขายอาวุธ แต่ไม่มีความสัมพันธ์ในลักษณะสนธิสัญญาเพื่อการสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจมีอยู่น้อย

“สถานการณ์ของเกาหลีเหนือก็ถือว่าขาดพันธมิตรพอสมควรเหมือนกัน เนื่องจากทุกประเทศก็มองเศรษฐกิจของตัวเองเป็นหลัก เพราะหากเศรษฐกิจพังเมื่อไหร่ ความขัดแย้งภายในประเทศเกิดขึ้นแน่นอน และจะตามมาด้วยการล้มของผู้นำ ดังนั้นแต่ละประเทศต้องการสร้างสมดุลทางอำนาจภายในประเทศของตัวเองเป็นสำคัญ

“ทุกอย่างมันลิงค์ (เชื่อมต่อ) กันหมดเลย เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองหมด ทุกคนในฐานะเพลเยอร์ (ผู้เล่น) ตามทฤษฎีเกม ทุกคนต้องการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง ทุกคนใช้นโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นกลยุทธ์ในการเล่นเกมเพื่อให้ผลประโยชน์เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ละประเทศมองผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักเพื่อให้อยู่ในตำแหน่งให้นานที่สุด” อาจารย์อรรถกฤต ระบุ

อาจารย์อรรถกฤต สรุปว่า “ประเทศไทยตอนนี้ ถ้ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ไม่รอดก็คือเรื่องเศรษฐกิจ ตอนนี้จึงมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งเป็นนโยบายการตลาดให้กับรัฐบาลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศ ถ้าถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะทำอย่างไรกับสถานการณ์อย่างนี้ คือ คงต้องเล่นตามเกมไป หมายความว่าถ้าประเทศผู้นำอย่างอเมริกาต้องการอะไร ก็ต้องเสนอตามที่ต้องการไป เพราะต้องยอมรับความเป็นมหาอำนาจของอเมริกา

“ประเทศไทยมีความสำคัญกับอเมริกาค่อนข้างมาก เพราะถ้าอเมริกาสามารถจับกลุ่มจำนวนประเทศในอาเซียนเกินครึ่งหนึ่ง อเมริกาก็จะสามารถมีฐานอำนาจในการทำอะไรได้อีกมาก โดยอเมริกาสามารถอ้างอิงจากประเทศในอาเซียนได้ ถึงแม้ไทยจะทำธุรกิจกับจีนมาก แต่เมื่อถึงเวลาเกิดสงครามจริง ไทยคงต้องเลือกอเมริกา”