posttoday

"สู้เพื่อศักดิ์ศรีเด็กบ้านบ้าน"บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังมหาลัยวัวชน

29 มีนาคม 2560

เล่าเรื่องชีวิตนักดนตรีบ้านๆ ผ่านหนังบ้านๆ โดยผู้กำกับบ้านๆ "สืบ-บุญส่ง นาคภู่"

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล /ภาพ...วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี และเฟซบุ๊ก ภาพยนตร์ มหาลัยวัวชน Song from Phatthalung

"เราเด็กบ้าน บ้าน เราเด็กเลี้ยงวัว

สากลัวเธอไม่สนใจ เราเด็กบ้าน บ้าน คงไม่สาไหร่

ไม่ถูกใจเหมือนเด็กหาดใหญ่ในหลาด"

นาทีนี้ใครบ้างไม่เคยฟังเพลง "มหาลัยวัวชน"ของวงพัทลุง เดินไปไหนท่อนฮุกโดนใจและท่วงทำนองเร้าอารมณ์ก็ดังกระหึ่มมาจากทางโน้นทางนี้ ตั้งแต่ผับเพื่อชีวิต ร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ ร้านขายซีดี แผงค้าหน้าราม ยันหอพักนักศึกษาหลังมหาวิทยาลัย

จากเด็กบ้านบ้านสุมหัวเล่นดนตรีกันในสวนยางพารา สู่เจ้าของบทเพลงฮิตที่มียอดผู้ชมมากกว่า 180 ล้านวิวบนเว็บไซต์ยูทูบ วันนี้วงพัทลุงเปลี่ยนสถานะนักดนตรีโนเนมเป็นซูเปอร์สตาร์ดวงใหม่ของวงการเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิต คิวคอนเสิร์ตแน่นจนต้องจองข้ามปี

ที่ไปไกลกว่าใครจะคาดคิดคือ เรื่องราวชีวิตและผลงานของพวกเขากำลังจะกลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง "มหาลัยวัวชน (Song from Phatthalung)" ฉาย 30 มีนาคมนี้ทั่วประเทศ

"สู้เพื่อศักดิ์ศรีเด็กบ้านบ้าน"บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังมหาลัยวัวชน

ผู้กำกับบ้านบ้านFeat.นักดนตรีบ้านบ้าน

ไม่ใช่แค่วัยรุ่น ไม่ใช่แค่คนปักษ์ใต้ แต่ต้องยอมรับว่าทุกเพศทุกวัยทั่วทั้งประเทศต่างชื่นชอบเพลงมหาลัยวัวชน หลายคนผิวปากเป็นทำนองครึกครื้น บางคนร้องตามได้ไม่เคอะเขิน ถึงขั้นคัฟเวอร์เพลงออกมาโชว์กันเป็นล่ำเป็นสัน

สืบ-บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ดูจะหนักกว่าเพื่อน --- เขาทำหนังเลย

"ฟังครั้งแรกมันติดหู เนื้อร้อง เมโลดี้มันกินใจ 'เราเด็กบ้านๆ เราเด็กเลี้ยงวัว สากลัวเธอไม่สนใจ' เหมือนมันพูดแทนใจเรา ผมเป็นคนบ้านนอกนะ แก่แล้วด้วย ยังโดนเลย ประสาอะไรกับวัยรุ่น โดยเฉพาะคนบ้านๆ คนชนบททั่วประเทศ ไม่ใช่แค่คนใต้ ลองไปดูยอดคนฟังในยูทูบสิ ทะลุไป 200 ล้านแล้ว บางคนฟังซ้ำไม่ต่ำกว่าสิบรอบเวลาเหงา เครียด เจ็บปวด โดนดูถูก ผมนั่งฟังเนื้อเพลงชัดๆ แล้วมันสะเทือนใจ เด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจ แอบรักสาว สาวก็ไม่สนใจ แต่สุดท้ายแฮปปี้เอนดิ้ง เพลงมันให้ความหวังด้วย"สืบหัวเราะเสียงดัง

ด้วยความเป็นคนทำหนัง เป็นนักเล่าเรื่อง ประกอบกับมิตรสหายกวีชื่อดัง อภิชาติ จันทร์แดง (ผู้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์) แนะนำให้รู้จักกับทิวากร แก้วบุญส่ง หรือโอ พารา เจ้าของค่ายเพลงพาราฮัท มิวสิค ผู้แต่งเพลงมหาลัยวัวชน จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์

"ผมไปเมากับโอ พารา คุยกันถูกคอเลย (หัวเราะ) เขาอยากทำค่ายเพลง อยากสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อเด็กบ้านนอกคอกนา เด็กไม่มีที่ไป เด็กไร้คุณค่าในชีวิต ไม่เห็นความหมายของตัวเอง เพราะเขาเคยเป็นแบบนั้นมาก่อน เพื่อให้เด็กๆไปเล่นดนตรีแทนที่จะไปติดยาเสพติด ผมก็ทำค่ายหนังปลาเป็นว่ายทวนน้ำสตูดิโอ เพื่อคนปีกหักทั้งหมด วางแผนจะไปตั้งกลางทุ่ง เอาเด็กมาฝึกทำหนัง เขียนบทหนัง หนังของผมจะเป็นหนังพิเศษที่ชาวบ้านเล่น ทำเองขายเองแบบ Act local thing global คือทำแบบบ้านๆแต่ขายทั่วโลก อุดมการณ์เราสองคนเหมือนกันมันก็เลยคลิ๊ก พอถามว่า "เฮ้ย จะทำหนังแล้วมีตังค์มั้ย" โอบอก "ไม่มีครับพี่" (หัวเราะ) อ้าว ไม่มีตังค์แล้วจะทำหนังยังไงวะ โอเลยบอกว่างั้นแชร์กันได้มั้ย ต่างคนต่างไม่มีตังค์ ผมก็ไม่เคยได้ตังค์จากการทำหนัง ไม่มีค่าตัวด้วย สรุปเลยลงขันกัน ผมไปยืมแม่ยาย โอกับพงศ์ (เทอดพงศ์ เภอบาล นักร้องนำวงพัทลุงและพระเอกของเรื่อง) ก็ไปยืมญาติ กู้ธกส. เอาเงินมารวมกันจนเปิดกล้องได้"

แล้วฝันใหญ่ของคนบ้านบ้านสองคนก็เริ่มต้นขึ้นกลางสวนยางพารา

"สู้เพื่อศักดิ์ศรีเด็กบ้านบ้าน"บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังมหาลัยวัวชน ทิวากร แก้วบุญส่ง หรือโอ พารา ผู้แต่งเพลงมหาลัยวัวชน

"มหาลัยวัวชน" ชีวิตต้องสู้ของเด็กเลี้ยงวัว

ไม่ต้องเดากันให้วุ่นวาย ภาพยนตร์เรื่องมหาลัยวัวชนมาจากเพลง เนื้อเรื่องก็คงไม่พ้นเรื่องราวของวงพัทลุง แต่ระดับผู้กำกับหนังอย่างสืบ บุญส่งคงต้องมีอะไรที่ลึกล้ำกว่าแค่จะทำหนังชีวประวัติวงดนตรีธรรมดาๆแน่

"วันที่โอพาผมเที่ยวป่าบอน เดินเล่นในสวนยาง ฟังเสียงนกเสียงกา สูบยาเส้น นั่งฟังเพลงบนขนำ ฟังประวัติความเป็นมา อุดมการณ์ สัมผัสวิถีชีวิตจริงๆของเด็กเลี้ยงวัว มันมีเสน่ห์ ผมเป็นนักเล่าเรื่องที่ถนัดมากๆในการเดินทางหยิบฉวยเรื่องที่พบเห็นมาเล่า ฟังเสร็จปุ๊บคิดเรื่องออกปั๊บเลย เรื่องจริงผสมกับเรื่องแต่ง ไม่ต้องรีเสิร์ชตำรา ยิ่งทำยิ่งรู้สึก Touching อะไรบางอย่าง คำว่ามหาลัยวัวชน พูดถึงชีวิตเด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนหนังสือยิ่งใหญ่อะไร เด็กบ้านๆกรีดยาง เลี้ยงวัว วัวก็ไม่ใช่ของตัวเองด้วยซ้ำ เด็กจนๆเลี้ยงวัวชนซึ่งไม่ได้พูดเรื่องความรักความอกหักเท่านั้น แต่ยังพูดถึงความฝัน การผจญภัย ความเป็นหนุ่มนักต่อสู้ มหาลัยวัวชนก็คือมหาลัยชีวิตนั่นเอง"

หนังเรื่องนี้มีศักยภาพ ---- เป็นคำที่สืบย้ำแล้วย้ำอีกอย่างมั่นใจ

"ในประวัติศาสตร์หนังไทย หนังอีสานอาจมีขึ้นจอเยอะแล้ว แต่หนังใต้จริงๆยังไม่มี มหาลัยวัวชนมันเป็นเรียลลิสติก จับต้องได้ มีเลือดมีเนื้อ และแน่นอนมันสัมผัสหัวใจคนบ้านๆ โดยเฉพาะคนที่หลบเร้นในที่ต่างๆจะต้องมาดูหนังเรื่องนี้ เรื่องราวไม่ใช่แค่ภาคใต้ มันแค่เล่าเรื่องผ่านเด็กหนุ่มที่อยู่ป่าบอน พัทลุง แต่เป็นเรื่องเดียวกับคนบ้านๆทั่วประเทศที่มีชีวิตการต่อสู้ ความรัก ความหวัง ความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ การยอมรับ การมีตัวตน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษยชาติที่ต้องข้องแวะกับเรื่องพวกนี้อยู่ตลอดเวลา ผมจะเล่าเรื่องมนุษย์ มนุษย์ที่เป็นเด็กบ้านๆในชนบท ในสวนยาง กินอาหารใต้ ฟังเพลงใต้ พูดภาษาใต้ ถึงขนาดต้องใส่ซับไตเติ้ลลงไปเพราะกลัวคนฟังไม่รู้ ผมจำเป็นต้องใส่รายละเอียดทุกอย่างลงไป เพราะเราจะเล่าเรื่องคนใต้โดยไม่พูดถึงวัฒนธรรมของเขาไม่ได้ ลมหายใจของคนภาคใต้คือวัวชน แต่เราไม่ได้จะพูดถึงการแข่งขันวัวชน  วัวชนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา เป็นลมหายใจ เป็นความหวังด้วยซ้ำ ไม่ต่างจากความหวังที่จะเป็นนักร้องของพงษ์ พระเอกของเรื่อง"

สืบบอกว่าหนังเรื่องนี้ทุนสร้างน้อยมาก แต่คุณภาพระดับ 20 ล้าน เรียกว่าเทหมดหน้าตัก เอาของบ้านๆขึ้นห้างฉายทั่วประเทศโดยไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น

"สู้เพื่อศักดิ์ศรีเด็กบ้านบ้าน"บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังมหาลัยวัวชน พงศ์ วงพัทลุง พระเอกหนังเรื่องมหาลัยวัวชน

Act local think Global เคล็ดลับทำหนังสไตล์สืบ

ในสายตาคนทำหนังไทย ชื่อชั้น ฝีไม้ลายมือ ประสบการณ์ และนิสัยใจคอของบุญส่ง นาคภู่ เป็นอย่างไร คงไม่ต้องสาธยายกันอีก

ผู้กำกับที่มีลายเซ็นเฉพาะตัว หยิบเอาเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยมาบอกเล่าด้วยวิธีที่ธรรมดาที่สุด เรียบง่ายที่สุด ด้วยทีมงานที่น้อยที่สุด อุปกรณ์ที่น้อยที่สุด และเงินที่น้อยที่สุด ...สไตล์การทำหนังของสืบเป็นอย่างไร ฟังเจ้าตัวอธิบายเองดีกว่า

"เรื่องคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ช่วงนั้นอยากทำหนังแต่ไม่มีตังค์ ตังค์กินข้าวยังไม่มี เลยขอยืมตังค์เมียแสนห้า เพราะมันเป็นเรื่องในใจที่อยากเล่ามา 30 ปีแล้ว พอกลับบ้านก็ลุยเลย เอาพ่อแม่พี่น้องมาเล่น เรื่องที่สอง สถานี 4 ภาค ผมชอบอ่านงานวรรณกรรม ก็เลยคัดเรื่องสั้นของนักเขียนไทยชั้นครู 4 คน โดยมีท้องเรื่องมาจาก 4 ภาค ได้แก่ กลาง เหนือ อีสาน ใต้ เรื่องที่สาม วังพิกุล นี่ก็ตังค์น้อยอีกแล้ว ยิ่งตังค์น้อยยิ่งต้องทำให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ผมตั้งกติกาว่าทุกครั้งที่ทำหนังใหม่มันต้องดีขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นการพัฒนาตัวเอง แต่สวนทางกับเงิน เงินทุนในเมืองไทยหายาก คนส่งเสริมก็ไม่มี โชคดีกระทรวงวัฒนธรรมให้เงินมาก้อนหนึ่ง

เรื่องต่อมาธุดงควัตร ผมเปิดกล้องแค่สองแสน แถมไปยืมตังค์เขาด้วย กว่าจะจ่ายหนี้หมดเบ็ดเสร็จรวมแล้วหกแสนกว่า แต่คุณภาพไม่ธรรมดา ทุกคนพูดแซ่ซ้องกันไปอย่างนั้นอย่างนี้ เงินแค่นี้ทำได้ยังไง มันต้องกรีดเลือดและจิตวิญญาณทำ สำหรับเรื่องมหาลัยวัวชนนี่ยิ่งท้าทาย ผมจะไร้ตัวตน ตัวตนคือบุญส่งต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ผมจะปล่อยให้ทุกอย่างลื่นไหลไปตามธรรมชาติ กำกับเหมือนไม่กำกับ ผมจะเป็นพ่อครัวที่ปล่อยให้วัตถุดิบในการทำอาหารแสดงศักยภาพตัวเองออกมา มหาลัยวัวชน หนังเล่าเรื่องสนุกมาก เร็วมาก พริ้วไหว เป็นธรรมชาติสุดๆ นักแสดงเป็นชาวบ้านหมด ไม่เคยเล่นหนัง แต่เล่นไม่แข็ง ไหลลื่นมาก ไปดูเองแล้วจะรู้ว่าเล่นได้ไง (หัวเราะ) อย่างพงศ์ นักร้องนำวงพัทลุง พระเอกของเรื่อง ในเรื่องก็ชื่อพงษ์ บางคนอาจบอกว่าเล่นเป็นตัวเองนี่หว่า แต่มันไม่ใช่ มันมีกลวิธีในการกำกับ เขาชื่อพงษ์เพราะจะได้รู้สึกสนุกในการเล่น ไม่ต้องพยายามเป็นคนอื่น เป็นตัวของตัวเอง แต่จริงๆแล้วเล่นตามบททุกอย่าง ผมกำกับหมด วางหมากโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย กลวิธี acting coach ของผม เป็นการกำกับคนเล่นโดยไม่ต้องทำอะไรเลย หนังของผมเป็นแบบนี้ทุกเรื่อง"

ทุนน้อย นักแสดงไม่ดัง แถมเล่าเรื่องชีวิตบ้านๆ หนีไม่พ้นต้องเจอกับความเสี่ยงสารพัดที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า แต่สืบมั่นใจว่าทุกอย่างจะต้องออกมาดี

"เราสู้เพื่อศักดิ์ศรีของคนบ้านบ้าน การตัดสินใจฉายทั่วประเทศ ผมต้องแบกรับความเสี่ยงเยอะมาก ค่าโรงหนัง ค่าโน่นนั่นนี่ ไม่มีคนดูจะทำอย่างไร แต่เราสู้เพื่ออะไร... โอ พาราบอกว่าสู้เพื่อศักดิ์ศรี เป็นศักดิ์ศรีของคนใต้ คนบ้านบ้านอย่างเราก็ทำได้ หนังเข้าโรงเราก็มีความสุขแล้ว เราจริงใจและหวังว่าคนดูจะสัมผัสความจริงใจของเราได้ เราพยายามสื่อสารไปถึงคนดูตลอดเวลาทั้งเพลง ทั้งหนัง ทั้งโปสเตอร์"

"สู้เพื่อศักดิ์ศรีเด็กบ้านบ้าน"บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังมหาลัยวัวชน

หนังฟอร์มเล็กปักหลักสู้วิกฤตหนังไทย

ในวันที่คนส่วนใหญ่มองว่าหนังไทยไร้ความหลากหลาย เต็มไปด้วยแนวตลก ผี รัก วัยรุ่น แถมพื้นที่ฉายยังโดนเบียดบังจากหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มยักษ์ สุดท้ายทำให้คนทำหนังจำนวนไม่น้อยพากันท้อแท้หมดกำลังใจ

แล้วหนังฟอร์มเล็กอย่างมหาลัยวัวชนล่ะจะฟันฝ่าไปได้แค่ไหน?

ในฐานะผู้กำกับที่ทำหนังมานานกว่า 20 ปี โดนมาเยอะ เจ็บมาเยอะ สืบยอมรับว่าอุตสาหกรรมหนังไทยกำลังเผชิญวิกฤต

"วัฒนธรรมการทำหนังการดูหนังของไทยยังไม่มั่นคง ทุกวงการของสังคมมันไม่แชร์กัน ต่างคนต่างมือยาวสาวได้สาวเอา นายทุนก็ลงทุน เอาเงินอย่างเดียว คนทำหนังก็เป็นหมาล่าเนื้อ หิว โจทย์ไหนมาทำหมดเพื่อให้อยู่ได้ โรงหนังก็เปิดรับแต่หนังฝรั่งเพราะว่าทำเงิน ลงทุนซื้อหนังฝรั่งมาฉายมันปลอดภัยกว่า โรงหนังเขาไม่ได้เกลียดหนังไทยนะ แต่เขาทำธุรกิจไง ก็ต้องทำเงินให้มากที่สุด แล้วรัฐบาลก็ไม่สนใจ กระทรวงหลักๆก็ไม่ได้สนใจ ทุกคนต่างดิ้นไปคนละทาง ปล่อยให้คนเล็กคนน้อยดิ้นรนเอาเอง ผมเปรียบตัวเองเป็นธุลี เป็นคนทำหนังเล็กๆในวงการคนทำหนังอันกว้างใหญ่ ในประเทศอันยิ่งใหญ่ ปรากฎว่าผมก็ดิ้นรนด้วยลำแข้งตัวเอง เรารักหนัง อยากตายไปกับหนัง แต่ว่าทำหนังไปแล้วไม่มีใครดู ไม่มีที่ให้ฉาย รัฐบาลไม่โอบอุ้ม ไม่มีใครสนใจ แล้วยังไงล่ะ ผมก็ต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงทีมงาน ไม่มีความมั่นคงไม่มีความหวังอะไรทั้งสิ้น นี่คือสภาวะที่เป็นอยู่ในสังคมไทย ปัญหาคือทุกคนไม่เคยสนใจภาพรวม ไม่เคยสนใจกันและกัน ไม่เคยสนใจความยั่งยืน ลูกศิษย์เคยผมถามว่า 'อาจารย์ผมอยากเข้าวงการหนัง เข้าที่ไหนครับ' ผมสะเทือนใจมาก ตอบลูกศิษย์ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีวงการจะให้เข้า วงการมันไม่มี

ผมพูดเสมอว่าอย่าเข้าวงการเลย อยากทำหนังอะไรก็ทำ ตอนนี้กล้องก็ซื้อได้ง่ายๆแล้ว โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว วิธีทำหนังมันง่ายมาก มีแนวโน้มว่าจะเกิดหนังเฉพาะกลุ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกหนังเล็กหนังน้อย ถูกใจคนกลุ่มนั้นคนกลุ่มนี้ ผู้กำกับคนนั้นคนนี้มีแฟนเป็นหมื่นเป็นพันก็อยู่ได้ ทำหนังตามอัตภาพไม่เล็กไม่ใหญ่เพื่อตอบสนองคน แฮปปี้ วินวิน ผมฝันว่าทุกคนจะเห็นพลังของหนัง หนังมันชนะจิตวิญญาณคน เปลี่ยนแปลงคนระดับจิตวิญญาณเลย นึกภาพการซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังในความมืด แสงสว่างบนจอสองชั่วโมง เสียงและภาพซึมซับลงไปที่ตา กาย ใจ จิตวิญญาณก็เปลี่ยน พลังหนังทำให้เกิดปัญญา ทำให้คนละเอียดอ่อนมากขึ้น

ผมฝันอีกว่าโรงหนังจะให้พื้นที่ที่ชัดเจนกับคนทำหนัง ปัญหาตอนนี้คือ หนังไม่มีความหลากหลาย มันผิดกฎธรรมชาติ ป่าที่ไม่มีความหลากหลายมันตายหมด อยู่ไม่ได้ ไม่มีสิงสาราสัตว์เกิด มีแต่ต้นยูคาลิปตัส นกยังไม่กล้าจับเลยเพราะมันร้อน มันจะตายกันหมด  วิธีใส่ความหลากหลายง่ายๆคือ ให้ทุกคนทำหนังที่อยากทำอย่างเต็มที่และก็ให้พื้นที่ที่ชัดเจนแก่พวกเขา หมายถึงโรงและเวลาที่ฉาย สมมติผมเป็นคนเล็กๆในอุบลราชธานี อยากทำเรื่องของตาที่เป็นนักเป่าแคนที่ไพเราะมาก แต่ไม่มีใครมองเห็น ผมอยากทำหนังเรื่องนี้สุดหัวใจ แต่ปรากฎว่าโรงฉายไม่มีกติกาใดๆทั้งสิ้นว่าหนังของผมจะฉายได้หรือไม่ ฉายกี่วัน กี่รอบ ไม่มีวันรู้เลย สุดท้ายก็ทำมาแล้วก็เอามาเสี่ยงดวงดู ผมไม่ได้ลงทุนเพื่อให้ฉายวันเดียวแล้วโดนถอด แต่ถ้ามีกติกาชัดเจนว่า หนังทุกเรื่องจะได้ฉายอย่างน้อย 7 วัน วันละ 5 รอบ ในฐานะคนทำหนัง ผมจะรู้แล้วว่าทำหนังไปจะได้ฉายแน่ๆ 7 วัน วันละ 5 รอบ ผมต้องพัฒนาตัวเอง ผมต้องบิวท์ให้สุดๆไปเลย มันก่อเกิดพลังสร้างสรรค์ เพราะมันมีความชัดเจน แต่ตอนนี้ไม่มีความชัดเจนอะไรเลย คนทำหนังก็ไม่กล้าเสี่ยง คนลงทุนก็ไม่กล้าเสี่ยง"

"สู้เพื่อศักดิ์ศรีเด็กบ้านบ้าน"บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังมหาลัยวัวชน

ผู้กำกับหนังวัย 49 บอกว่า วันนี้เขาปลดแอกเป็นอิสระแล้ว ได้ทำหนังที่ตัวเองอยากทำ เล่าเรื่องที่อยากเล่า ไม่ต้องทำหนังตามการชี้นิ้วสั่งของใคร 

"ตอนนี้ผมอินดี้โดยสปิริต ผมเป็นกบฎที่คิดไม่เหมือนใครตั้งแต่แรก เขาไปขวาผมจะไปซ้าย เขาเดินหน้าผมถอยหลัง ผมปฏิวัติกระบวนการทำหนังทั้งหมด วิธีการทำงานคือ คนเยอะลดคน ของเยอะลดของ ไม่มีไฟก็ไม่เอา ไม่เอาดาราดัง ปักโลเคชั่นที่ไหนหานักแสดงที่นั่น ขับรถเอง เอาหัวใจไปสัมผัส เรื่องมหาลัยวัวชนผมก็ไปลงพื้นที่เดือนนึงที่ป่าบอน พัทลุง ศึกษาจิตวิญญาณของคนใต้ ทำด้วยใจ โคตรมีความสุขเลย ทุกคนอิจฉาผมเพราะว่าผมได้ทำสิ่งที่อยากทำ เพราะว่าผมบ้าและกล้า ถามว่าคนอื่นทำอย่างผมได้ไหม สบาย ถ้าคุณกล้าพอ ถ้าคุณยอมเสี่ยง และคุณชัดเจนว่าคุณจะตายไปกับหนัง ถ้าคุณรักหนังที่เงินก็จบ แต่ถ้าคุณรักหนังที่เรื่องราว ทุกครั้งที่หยิบเรื่องมาทำหนังเราก็ความสุขแล้ว ไม่ต้องสนใจอะไรแล้ว อันนี้คือจิตวิญญาณ"

ทางออกของวิกฤตหนังไทย สำหรับบุญส่ง นาคภู่ เขาวิเคราะห์ไว้อย่างคมคายว่า

"ตอนนี้เราเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม่ได้โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการ เราเปลี่ยนให้คนไม่มีสำนึกมามีสำนึกไม่ได้ เราเปลี่ยนรัฐที่ไม่เห็นค่าศิลปะให้มาเห็นค่าศิลปะไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนได้ที่ตัวเอง ตอนนี้ผมมีความหวังที่ตัวเอง คนทำหนัง หรือศิลปินใครก็ได้ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ทำสิ่งที่ Touching และ Moving เราต้องพิสูจน์คุณภาพตัวเองสิ โรงหนังก็จะโน้มเอียงมาหาเรา รัฐบาลก็จะโน้มเอียงมาหาเรา สังคมก็จะเออ...เบื่อเหลือเกินรสชาติแบบเดิมๆ เบื่ออาหารขึ้นห้าง อยากจะกินผัดสะตอ เราก็ทำรสชาติเด็ดๆของเราให้ชิมแล้วโลกจะโน้มเอียงมาหาเรา นี่คือความเปลี่ยนแปลง ตอนนี้อาจจะยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่มันเริ่มมาแล้ว หนังไทยบ้านเดอะซีรีส์เริ่มได้ตังค์ มีกระแสปากต่อปาก local กำลังขึ้นมาเหนือน้ำ แล้วสักวันทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลง ไม่นานหรอก ผมอยู่ทันและผมก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ยืนด้วยขาของตัวเอง"