posttoday

"เสียใจที่บางคนไม่รู้ว่ามูลนิธิคืออะไร" โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง

27 มีนาคม 2560

"ถ้าถามว่ามูลนิธิติดลบตั้ง 11 ปี อยู่มาได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่าอยู่มาได้เพราะบัญชีเงินฝากประจำออกมาใช้ ไม่ต้องการรบกวนประชาชนถ้าไม่จำเป็น"

โดย...พรพิรุณ ทองอินทร์

เป็นที่ตื่นตัวและตกใจของคนรักช้างเมื่อ "โซไรดา ซาลวาลา" ผู้ก่อตั้งเเละเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยประกาศขอยุติมูลนิธิเพื่อนช้าง หลังประสบปัญหาต่างๆ ทั้งสุขภาพร่างกายของตนเอง ขาดแคลนบุคลากรและเงินทุนมากเพียงพอในการดำเนินการต่อ

อย่างไรก็ตามหลังเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป คนรักช้างจำนวนมากทั่วฟ้าเมืองไทยไม่ปล่อยให้เธอและมูลนิธิยอมแพ้ พากันร่วมบริจาคเงินรวมกว่า 45 ล้านบาทเพื่อให้องค์กรแห่งนี้เดินหน้าต่อไปอย่างไม่เดียวดาย 

เงินและบุคลากร 2 ปัจจัยเดินหน้ามูลนิธิ

มูลนิธิเพื่อนช้าง เกิดขึ้นจากวิกฤตของการสูญเสียช้าง ซึ่งถือเป็นสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เป็นเอกลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของชาติรวมทั้งเป็นตัวสร้างระบบนิเวศน์ที่สำคัญของป่าและธรรมชาติ  โซไรดา เฝ้าจับตาการสูญเสียเเละปริมาณที่ลดลงเรื่อยๆ ของช้าง ก่อนตัดสินก่อตั้ง มูลนิธิเพื่อนช้าง หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Friends of the Asian Elephant” ขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2536 โดยได้รับความร่วมมือจาก นายสัตวแพทย์ปรีชา พวงคำ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้าง ในป่าบ้านปางหละ จังหวัดลำปาง

จากวันนั้นถึงวันนี้เกือบ 25 ปีที่ผ่านมา โซไรดา บอกว่า ข้อผิดพลาดในการทำงานนั้นแทบไม่มี อุปสรรคและปัญหาใหญ่เกิดจากการขาดแคลนบุคลากรและทุนทรัพย์เท่านั้น ที่ผ่านมาเคยประกาศรับสมัครคนทำงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากสู้ค่าจ้างในระดับสูงไม่ไหว จึงมักถูกปฎิเสธ ขณะที่ตนเองเคยประกาศลาออกจากตำเเหน่งหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ถูกคณะกรรมการห้ามปราบไว้เสมอ

“บางคนเรียนมาสูงก็ต้องอยากได้เงินเดือนสูงเป็นธรรมดา แต่มูลนิธิเราจ่ายไม่ไหว ส่วนตัวเราเองเคยขอลาออกหลายครั้งแล้ว เพราะอยากเปิดโอกาสและเห็นว่าน่าจะมีผู้ทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่า แต่คณะกรรมการบอกว่า เป็นผู้ก่อตั้งจะมาลาออกได้อย่างไร และเข้าใจว่าต่อให้ตนลาออกก็ไม่ได้ทำให้มูลนิธิดีขึ้น ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การขาดแคลนบุคลากรและเม็ดเงินต่างหาก”

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง บอกว่า ที่ผ่านมามูลนิธิได้รับเงินบริจาคไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยติดลบอย่างต่อเนื่องหลายปีตั้งแต่เริ่มต้นเปิดมูลนิธิ เพียงแต่ประชาชนไม่เคยทราบ โดยในปีพ.ศ.2537 หลังการก่อตั้งเพียงแค่ 1 ปี ตัวเลขบัญชีของมูลนิธิก็ติดลบแล้ว

“เราติดลบมาตลอด ไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่ไม่มีคนรู้ อย่างปีที่ 9 ติดลบกว่าสี่แสนบาท ปีที่ 10 รายรับเจ็ดแสน แต่ค่าใช้จ่ายสูงถึงแปดแสนบาท คือโดยเฉลี่ยมูลนิธิมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละเจ็ดถึงแปดแสนบาท เท่ากับ 1 ปี ต้องมีเงินอย่างน้อยสิบถึงสิบสองล้านบาท หากมีภัยธรรมชาติ อย่างพายุฤดูร้อน สถานที่เกิดความเสียหายก็ต้องใช้เงินดูแลซ่อมแซมอีกว่าสองล้านบาท” โซไรดาบอกถึงรายจ่ายที่ไม่สัมพันธ์กับรายรับ

“มีคนถามว่าทำไมไม่ส่งช้างให้หน่วยงานอื่นดูแล เราคิดว่ายังไม่ถึงเวลา และอาจไม่มีวันโอนช้างให้หน่วยไหน ไม่เชื่อว่าหน่วยงานไหนจะดูแลช้างพิการได้ดีเท่าที่เราทำ เพราะต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างมาก ตอนนี้ประชาชนอยากให้เราดำเนินการต่อ ก็ทำต่อ สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ขอความกรุณาอย่าซ้ำเติม เพราะเราเหนื่อยกันมากพอแล้ว เวลานี้คือการทำงานเพื่อพัฒนาวงการช้างไทย"

 

"เสียใจที่บางคนไม่รู้ว่ามูลนิธิคืออะไร" โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง

 

 

"เสียใจที่บางคนไม่รู้ว่ามูลนิธิคืออะไร" โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง

ภาระหนักทั้งคนและช้าง

โซไรดา บอกถึงการทำงานในมูลนิธิว่า ปัจจุบันดูแลช้างอยู่ 5 เชือกไม่นับรวมช้างจากพื้นที่อื่นๆ ที่ส่งมารักษาตัวแล้วส่งกลับ โดยมีบุคลากรเพียงแค่ 15 คนเท่านั้น จึงทำงานลำบากและเกิดความล่าช้าในช่วงเวลาที่ผ่านมา

“ช้างที่อยู่กับมูลนิธิเมื่อก่อนมี 9 เชือก แต่ล้มตายไปตามอายุขัย ปัจจุบันเหลืออยู่ 5 เชือก เเบ่งเป็นช้างพิการต้องใส่ขาเทียม 2 เชือก อีกหนึ่งเชือกได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิด โชคดียังไม่ต้องตัดขา แต่พื้นเท้ายังมีลักษณะนิ่ม ต้องปูยางพิเศษให้กับมันเพื่อให้สามารถเดินได้อย่างปลอดภัย อีกตัวมีอาการทางประสาทและปัญหาเรื่องตาเล็กน้อย มีเพียงตัวสุดท้ายที่สมบูรณ์

สำหรับช้างที่เข้ามารักษาในมูลนิธิและกลับไปหาเจ้าของแล้วล่าสุดมี 2 เชือก อยู่ระหว่างรักษาอีก 6 เชือก ซึ่งถือว่าน้อยเพราะบางครั้งมีช้างเจ็บป่วยเข้ามารักษาถึง 20 เชือก ซึ่งแน่นอนว่ามูลนิธิดูแลไม่ไหว หน่วยรักษาไม่เพียงพอ แต่ปฎิเสธไม่ได้ เบื้องต้นทำได้เพียงให้น้ำเกลือไปก่อน บุคลากรเพียงแค่ 14-15 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ดูแล 11 คน แพทย์ 2 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน และตัวเอง นอกจากนั้นเป็นแม่บ้าน 2 คน ซึ่งเราจ้างเป็นรายวัน”

โซไรดา เล่าว่า สมัยก่อนเจ้าหน้าบางรายที่ต้องนอนกับดิน เพราะไม่มีที่พักเพียงพอ น้ำไฟก็ไม่มี ปัจจุบันยังมีเรือนพักให้เจ้าหน้าที่ มีน้ำอุ่นให้อาบ ทุกคนที่ทำงานตรงนี้ดูแลกันเหมือนญาติพี่น้อง คนที่พาช้างมารักษา ก็กินอยู่กับเรา ช่วยเหลืออาหารและที่พักให้อย่างเต็มที่

“ดูแลช้างแล้วต้องดูแลคน เพราะถ้าควาญช้างเครียด ช้างก็เครียดตาม รักษาแผลแล้วรักษาจิตใจของช้างด้วย นั่นคือสิ่งที่เราทำมาตลอด และมองไม่เห็นว่าใครเป็นภาระหรือความบกพร่อง” 

"เสียใจที่บางคนไม่รู้ว่ามูลนิธิคืออะไร" โซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนช้าง สภาพช้างขาพิการ ภาพจากเฟซบุ๊ก Soraida Salwala โซไรดา ซาลวาลา

มูลนิธิอยู่ได้เพราะเงินบริจาคประชาชน

โซไรดา บอกว่า 25 ปีที่ผ่านมามูลนิธิอยู่ได้เพราะเงินบริจาคจากประชาชน ตามระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิไม่มีสิทธิทำการค้าได้ โดยเงินสนับสนุนนับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นเงินจากชาวไทย 80% และชาวต่างชาติอีก 20%

“เสียใจที่บางคนไม่ได้อ่านและรู้ว่ามูลนิธิคืออะไร เรื่องเงินที่บริจาคเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว ถ้าถามว่ามูลนิธิติดลบตั้ง 11 ปี อยู่มาได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่าอยู่มาได้เพราะบัญชีเงินฝากประจำออกมาใช้ ไม่ต้องการรบกวนประชาชนถ้าไม่จำเป็น สำหรับยอดเงินบริจาคในปัจจุบันกว่า 45 ล้านบาท ถือว่าเกินคาด และไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้รับความเมตตาขนาดนี้ ขอบคุณประชาชนมากที่ทำให้เราสามารถดำเนินการต่อไปได้”

โซไรดา บอกว่า จำนวนเงินดังกล่าวคาดกว่าจะสามารถดูแลการดำเนินการภายในมูลนิธิได้ยาวนานถึง 4 ปี โดยระหว่างนี้ทีมงานจะผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาช้างในระดับชาติ ผ่านแผนแม่บทที่ประชุมระดับ 4 ภาค เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.เชียงใหม่ จ.สุรินทร์ และ จ.กระบี่ เมื่อประชุมครบกำหนดทุกภาคทีมงานและคณะกรรมการจะสรุปออกมาเป็นแผนเพื่อกราบเรียนคณะรัฐมนตรีต่อไป