posttoday

ถอดรหัส ม.44 สารพัดกฎหมายวินัยจราจร

26 มีนาคม 2560

"ต่อไปต้องมีแผนกำหนดชัดเจนว่า ต้องขีดเส้นตั้งเป้าให้จำนวนอุบัติเหตุและเสียชีวิตอยู่ที่เท่าไหร่จนไปถึงศูนย์"

เรื่อง...เอกชัย จั่นทอง / ภาพ...มินตรา ฤทธิ์ธาอภินันท์

อีกไม่ถึง 1 เดือนจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ประชาชนทั่วทุกสารทิศจะเดินทางกลับภูมิลำเนากันหลายล้านคน เรื่องที่ตามมาคืออุบัติเหตุการเสียชีวิต ทำให้รัฐบาลงัดไม้เด็ดใช้กฎหมายพิเศษมาตรา 44 กวดขันเรื่องความปลอดภัยและกฎระเบียบบนท้องถนนเพื่อลดความสูญเสีย

อย่างมาตรการจัดระเบียบรถตู้โดยสารให้ปรับมาใช้ “รถไมโครบัส” และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ใช้มาตรา 44 สั่งให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกคนภายในรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ถ้าไม่ดำเนินการจะมีความผิดทางกฎหมาย รวมถึงมาตรการเสียค่าปรับหรือใบสั่ง หากประชาชนไม่ยอมชำระค่าปรับ ต่อภาษีไม่ได้และถูกฟ้องศาล มาตรการทั้งหมดมีทั้งผู้เห็นต่างและเห็นด้วยกับภาครัฐ

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นิกร จำนง ประธานชมรมไทยปลอดภัย และอดีตประธาน กมธ.วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ถอดรหัสกฎหมายจราจรกับโพสต์ทูเดย์ว่า จากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในหลายมิติแก้ปัญหาเพียงชั่วข้ามคืนไม่ได้

“เรื่องนี้ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ออกมาตรการบังคับใช้กฎหมายทางถนน หลังจากทุกองคาพยพขยับเคลื่อน จึงคาดว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ยอดผู้เสียชีวิตและอุบัติเหตุจะลดลง ต่อไปต้องมีแผนกำหนดชัดเจนว่า ต้องขีดเส้นตั้งเป้าให้จำนวนอุบัติเหตุและเสียชีวิตอยู่ที่เท่าไหร่จนไปถึงศูนย์ เพราะไม่มีใครสามารถทำให้ยอดผู้เสียชีวิตและอุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้ทันที แม้แต่ประเทศเล็กๆ ก็ยังเกิดอุบัติเหตุ”

กระนั้นก็ตาม ประธานชมรมไทยปลอดภัย อธิบายต่ออีกว่า ในต่างประเทศเองใช้ระบบ Towards Zero กันเยอะ เพื่อมุ่งไปสู่ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตให้เป็น “ศูนย์” ไม่ใช่การทำให้เป็นศูนย์ทันที ซึ่งเป็นนโยบายที่ใครก็ทำไม่ได้ แต่การไปสู่ตัวเลข “ศูนย์” สามารถทำได้ โดยมีเป้าหมายคือ “ศูนย์” หรือน้อยที่สุด เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เหมือนกับการวิ่งมาราธอนมีเป้าหมาย ถ้าไม่มีเป้าหมายไม่ได้ ทั้งหมดเป็นกรอบแผนที่เสนอให้รัฐบาลนำไปดำเนินการในตามกรอบระยะเวลา 5 ปี

อย่างประกาศฉบับที่ 14 และ 15 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยจราจร ตัวหลักของกฎหมายคือเน้น

การจัดการเรื่องรถในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่พบสาเหตุหลักการเสียชีวิตเกิดจากความเร็วของการตัดหน้ากระชั้นชิด เมาแล้วขับ ง่วง ไม่ใช่อุปกรณ์ความปลอดภัยขณะขับรถ อย่างหมวกกันน็อก อุปกรณ์ความปลอดภัยที่เห็นภาพชัดเจนคือต้องสวมหมวกกันน็อก ถ้าไม่ใส่คือผิดกฎหมาย

และที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ร้องขอ คือเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารทุกคนในรถ ซึ่งในระบบของโลกให้คาดเข็มขัดทุกที่นั่งเวลาเกิดอุบัติเหตุจะสามารถลดการสูญเสียได้ โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัด เพราะเราไม่รู้จะเกิดอุบัติเหตุเมื่อใด และเป็นเรื่องดีนำมาใช้ในช่วงเทศกาลที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5เม.ย.นี้

จากมาตรการคาดเข็มนิรภัย นิกร ยังยกเหตุผลข้อกังวลที่อาจเป็นปัญหาพร้อมเสนอแนะว่า เสียงของประชาชนบางส่วนบอกว่า “รถของเขาเป็นรถรุ่นเก่า” ไม่มีที่คาดเข็มขัดนิรภัยติดมากับรถส่วนใหญ่เป็นรถรุ่นเก่า รายได้น้อย คนเหล่านั้นจึงเดือดร้อน แต่ถ้ามีแล้วเสียหายเจ้าของรถต้องซ่อมแซมปรับปรุง

“ในเมื่อปีและรุ่นรถไม่ได้มีการติดตั้งที่คาดเข็มขัดนิรภัยมาก่อน ควรจะยกเว้นให้กับคนกลุ่มนี้ อย่าให้ประชาชนลำบากกลายเป็นภาระเพิ่มขึ้นรัฐควรอนุโลมให้ ซึ่งการบังคับทางกฎหมายควรบังคับไปข้างหน้า ดังนั้นรัฐบาลช่วยผ่อนคลายตรงจุดนี้ได้หรือไม่ และควรรีบดำเนินการ ไม่งั้นอาจมีแรงต่อต้านเมื่อตำรวจบังคับใช้กฎหมาย”

 

ถอดรหัส ม.44 สารพัดกฎหมายวินัยจราจร

ประธานชมรมไทยปลอดภัย ยังกล่าวถึงกรณีรถตู้โดยสารสาธารณะว่า ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากรถตู้นั้นความจริงแล้วไม่เหมาะกับการวิ่งระยะทางไกล ใช้ก๊าซเผาไหม้อันตราย วิ่งไกลเกิน 200 กิโลเมตรก็อันตราย แย่งอากาศกันหายใจในรถ เวลาเกิดอุบัติเหตุหนีออกจากรถค่อนข้างลำบาก ถ้ามีญาติไม่ให้ขึ้นแน่นอน ที่สุดรัฐจึงมีการยกเลิกการใช้รถตู้ พร้อมกับเสนอให้รัฐบาลค่อยๆ แก้ไขไป เพราะเราต้องมีเมตตากับผู้ประกอบการและผู้ใช้ด้วย

สิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ไม่ห้ามรถตู้หยุดวิ่งเด็ดขาดทันที แต่จะไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนหากหมดอายุ รวมถึงมาตรการที่ให้รับผู้โดยสารเพียง 13 คน ห้ามเกินจากนี้ถือว่าดี ตรงจุดนี้หากผู้ประกอบการไม่ควบคุมก็ให้ถอนใบอนุญาตทันที หลักการทั้งหมดถือว่าเท่าเทียมและอยู่ร่วมกันได้ทั้งสองฝ่ายในระยะช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “รถไมโครบัส” หลังจากที่มีการสูญเสียกันไปเยอะ ที่สุดเมื่อมีการปรับปรุงแล้วหวังอย่าให้ “รถตู้เถื่อน” กลับมาวิ่งอีกเด็ดขาดเพราะจะกลับสู่วงจรเดิม

ส่วนเรื่องบังคับใช้กฎหมายกรณีประชาชนถูกใบสั่งให้เสียค่าปรับหากไม่ดำเนินจ่ายจะต่อภาษีไม่ได้นั้น นิกร ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า เรื่องใบสั่งเป็นปัญหามายาวนาน ถึงเวลาต้องสะสางจัดการเสียที เพราะคนไม่เคารพกฎจราจรออกใบสั่งไปก็เท่านั้น เวลาตำรวจออกใบสั่งไปแล้วมีอายุ 1 ปี ถ้า

ไม่ไปจ่ายก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย พอหมดอายุความก็เหมือนกระดาษแผ่นเดียว พวกคนที่โดนยึดใบขับขี่ก็หัวหมอไปแจ้งหายแล้วทำใบขับขี่ใหม่ได้ ดังนั้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายสำคัญที่สุฉะนั้นต้องให้ผู้ถูกใบสั่งจ่ายภาษีได้ เพราะการจ่ายภาษีเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญถ้าห้ามถือว่าผิดกฎหมาย แต่ออกใบภาษีให้ไม่ได้ กรณียังค้างชำระค่าใบสั่งอยู่ แต่ให้ออกใบแทนให้กำหนดนัดให้มาชำระค่าปรับ และข้อมูลใบสั่งจะต้องเชื่อมต่อกันระหว่างตำรวจกับกรมการขนส่งฯ ด้วย แต่ไม่รู้ว่าข้อมูลนี้จะเชื่อมต่อกันขนาดไหนอกจากนี้ นิกร ยังตั้งคำถามอีกว่า เวลาเขียนใบสั่งข้อมูลมีการซิงก์หรือเชื่อมต่อกันแล้วหรือไม่ ระหว่างตำรวจกับกรมการขนส่งทางบก อย่างต่างประเทศเองเวลาตำรวจเขียนใบสั่งจะลิงก์ข้อมูลเข้าไปทันที ส่วนประเทศไทยคิดว่าข้อมูลจะลิงก์กันบางส่วนแต่อาจยังไม่ครบถ้วน ถือว่าวิธีการแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้เรากำลังเดินมาถูกทางแล้ว

“อย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ โอเค แต่ถ้าเป็นตำรวจภูธร ตำบล เขียนใบสั่งข้อมูลมันจะลิงก์กันไหมล่ะ ตรงนี้เป็นรอยแยกการจัดการ ซึ่งเป็นการไม่เชื่อมต่อกันทางระบบดิจิทัล หากทำไม่ได้จะกลายเป็นคนไม่เคารพกฎจราจร”

เช่นเดียวกับถนนหลวงประเทศไทย ถือว่าดีกว่าทุกประเทศในแถบอาเซียน แต่ปัญหาคือว่า “ถนนเราดีเกินไป” เพราะมีถนนสายรองสามารถทำความเร็วได้เยอะมาก มีถนนหลายเลน  บางทีการก่อสร้างไปทำลายระบบความเป็นอยู่ของคนละแวกนั้น จากเดิมจะเดินข้ามได้ปกติ พอมีถนนทำให้เกิดอุบัติเหตุมีคนเสียชีวิต แล้วอะไรคือสิ่งแปลกปลอม? เท่านั้นไม่พอถนนสายรองส่วนใหญ่เป็นของกรมโยธาฯ ของจังหวัด มีสภาพถนนดี แต่ไม่มีตำรวจทางหลวงมาดูแล  เพราะตำรวจทางหลวงดูแลเฉพาะถนนของกรมทางหลวงเพียงอย่างเดียว ระยะทางประมาณ 6 หมื่นกิโลเมตร นั่นจึงเป็นปัญหาในถนนสายรอง

ประธานชมรมไทยปลอดภัย กล่าวอีกว่า ถนนในประเทศไม่มีระบบเซฟตี้เรื่องความปลอดภัย เลยกลายเป็นว่าถนนในประเทศไทยดีเกินไปจนเกิดอันตราย และยังเป็นสุสานของนักปั่นทั่วโลกที่ต้องมาเสียชีวิตด้วย เพราะถนนในบ้านเราเป็นการใช้แบบร่วมกันทั้งมอเตอร์ไซค์ สามล้อ อีแต๋น ฯลฯ มีทุกอย่าง และวิ่งด้วยความเร็ว

“มอเตอร์ไซค์ 80% เป็นสาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด นั่นจึงมีความจำเป็นว่ารัฐต้องหาหนทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องมอเตอร์ไซค์ สวนทางกับจำนวนซื้อรถจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น”

ทั้งนี้ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของคนไทย อยู่ที่ 2.4 หมื่นคน/ปี/ประชากรแสนคน ในอนาคต 5 ปีข้างหน้า คาดว่าอาจจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 1.2 แสนคน ในจำนวนประชากร 67 ล้านคน ส่วนทั่วโลกเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,000 คน/วัน ทว่าหากในอนาคตยังไม่มีมาตรการใหม่ๆ เข้ามาปรับปรุงแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุตัวเลขก็อาจพุ่งเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม นิกร แสดงความเห็นทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า ทุกวันนี้เรายังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่เก็บข้อมูลการเสียชีวิตที่เป็นระบบจริงจัง จึงทำให้ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร