posttoday

ม.44 ปล่อยผีสิทธิบัตรยา รวบรัดระวังประเทศเสียหาย

12 มีนาคม 2560

"ขอเตือนว่าการจดสิทธิบัตรจะต้องดูให้ครบวงจรอย่างละเอียด ไม่ควรเร่งรีบว่าต้องเอาเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรอย่างเดียว"

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาสังคมเกิดกระแสแสดงความเป็นกังวลอย่างมาก หลังจากรัฐบาลประกาศว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เร่งรัดการจดสิทธิบัตรที่คงค้างมากกว่า 1 หมื่นรายการให้เสร็จภายใน 3 เดือน หลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 10-20 ปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและการแข่งขันในต่างประเทศ

ทว่า สิทธิบัตรจำนวนหนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ทำให้หลังจากคำประกาศของรัฐบาล ภาคสังคมได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าการปล่อยผีจดสิทธิบัตรในครั้งนี้ อาจส่งผลทำให้ยาบางชนิดมีราคาสูงขึ้นในอนาคต

ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนต่อประเด็นนี้ว่า การจดสิทธิบัตรนั้นมีประโยชน์ แต่ถ้าจะใช้มาตรา 44 มาเร่งรัดการจดสิทธิบัตรยาไม่ใช่ทางออกเพียงทางเดียว เพราะการจดสิทธิบัตรทำได้หลายแบบ เช่น ยินยอมให้สาธารณะนำไปใช้ได้ตราบที่ไม่นำไปทำธุรกิจการค้า และไม่สามารถยึดครองภายหลังได้ หรือแบบอนุสิทธิบัตร ซึ่งเป็นแบบที่ให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์คิดค้นเช่นเดียวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่แตกต่างตรงที่การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยแต่มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่าเหตุผลหลักที่รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 เร่งรัดจดสิทธิบัตรเพื่อต้องการอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ แม้รัฐบาลจะชี้แจงว่าการออกสิทธิบัตรครั้งนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับยาโดยตรง แต่สิ่งที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลอยู่ครอบคลุมอุปกรณ์ผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพทั้งหมด

ดังนั้น หากทำสำเร็จสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผลกระทบที่จะทำให้ราคายาในประเทศไม่มีกลไกควบคุม และการพัฒนาเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศจะไม่เติบโตและจะถูกควบคุม แม้รัฐบาลเชื่อว่าสามารถต่อรองกับต่างชาติได้หากราคายาปรับตัวสูงขึ้น

เนื่องจากจำนวนภาคธุรกิจผู้มายื่นขอสิทธิบัตรล้วนเป็นต่างชาติ 80-90% เท่ากับว่ารัฐบาลกำลังให้อำนาจการครอบครองนี้แก่ต่างประเทศ ดังนั้นถ้าเร่งรัดดำเนินการแม้จะอ้างว่าไม่มีเรื่องยา แต่ความเป็นจริงการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรแม้ไม่ได้ขึ้นที่ตัวยาสำเร็จรูป แต่การขึ้นทะเบียนสารตั้งต้นและส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องก็อาจทำให้สถานการณ์ยาและระบบสาธารณสุขในประเทศได้รับผลกระทบ

ภญ.นิยดา กล่าวว่า การที่รัฐอ้างว่าสามารถต่อรองราคายากับบริษัทผู้ผลิตได้ แต่ความเป็นจริงช่วงที่ผ่านมาไม่เคยเห็นกลไกของรัฐที่สามารถทำได้ เพราะบริษัทผู้ผลิตยามีสิทธิยืนกรานไม่ยอมลดราคาได้ ดั่งที่เห็นตัวอย่างว่า ยาภายในโรงพยาบาลเอกชนหน่วยงานรัฐแทบจะไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ แม้ยาเหล่านั้นจะถูกนำเข้าบัญชียาหลัก เนื่องจากการต่อรองราคาเป็นเพียงกลไกปลายทางเท่านั้น

นักวิชาการด้านพัฒนาระบบยา ระบุอีกว่า สาเหตุที่ทำให้การจดทะเบียนสิทธิบัตรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่คืบหน้ามี 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เกิดจากบริษัทผู้ยื่นล่าช้า และไม่พร้อมในการนำส่งข้อมูลตั้งแต่ครั้งแรก เพราะมักชอบยื่นเพื่อกันสิทธิไว้ก่อนและคิดว่าค่อยนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาติดตามภายหลังได้ 2.กรมทรัพย์สินทางปัญญาบริหารไม่เป็น 3.ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องประเมินไม่ยอมตัดสินใจเด็ดขาดในการประเมิน จึงทำให้เห็นว่าเมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่พร้อม ผู้ยื่นมีปัญหา ผู้ประเมินล่าช้า และการทำงานไม่มีกรอบชัดเจน จึงทำให้ที่ผ่านมาการจดสิทธิบัตรต้องใช้เวลานานมาก

ดังนั้น ขอเสนอว่า เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้การแก้ควรเริ่มที่ต้นน้ำคือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง และมีกฎหมายควบคุมราคายาควรเข้ามาทำเรื่องนี้ พร้อมทบทวนว่าสาเหตุที่ทำให้การทำงานล่าช้าเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากเรื่องฐานข้อมูลกระบวนการพัฒนาคุณภาพการทำงานให้รองรับ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่เกิดขึ้นทั้งใน อย.และกรมทรัพย์สินทางปัญญา

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานนี้ไม่ยอมทำ ถึงแม้จะมีอำนาจสามารถควบคุมราคาสินค้าอื่นได้เกือบทุกชนิด รวมถึงบัญชีราคายาที่มีประกาศรายชื่อยาควบคุม แต่การทำงานจริงไม่เคยมีรายละเอียดบัญชีที่ชัดเจน ดังนั้น มาตรา 44 ควรบังคับให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหานี้

จากนั้นกระบวนการทำงานต้องแยกว่าจะใช้หลักเกณฑ์มาตรฐานการขึ้นทะเบียนอย่างไร ซึ่งต้องวิเคราะห์ให้ครอบคลุมทั้งด้านจำนวนของผู้ยื่นว่ามีบริษัทต่างชาติเท่าไหร่ รวมถึงต้องตรวจสอบดูว่าซ้ำซ้อนกับการขึ้นทะเบียนในระบบสิทธิบัตรการประดิษฐ์ระหว่างประเทศที่สามารถยื่นคำขอได้ในต่างประเทศและมีผลครอบคลุมในประเทศสมาชิก หรือพีซีที อยู่เท่าไหร่ด้วย

ขณะที่การทำงานของผู้ประเมินสิทธิบัตร ต้องมีมาตรฐานในการพิจารณาอย่างรอบคอบตั้งแต่ 1.สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 2.เป็นนวัตกรรมใหม่จริงๆ 3.อนาคตสามารถต่อยอดใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมอื่นได้ แต่ไม่ใช่ยาใหม่ทุกตัวต้องขึ้นสิทธิบัตร เพราะที่ผ่านมาพบว่าแม้ยาจะใหม่ แต่หากสารที่นำมาผลิตไม่มีความใหม่ก็ไม่ควรมีขึ้น

ภญ.นิยดา แนะนำว่า ช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ นักวิชาการและภาคธุรกิจได้เคยร่วมกันผลักดันให้มีการออกคู่มือการตรวจสอบการรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรจนสามารถประกาศใช้ ซึ่งเป็นข้อกำหนดวิธีการพิจารณาที่ถูกต้องว่าควรจะทำอย่างไร เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจนำคู่มือดังกล่าวมาช่วยในการทำงานให้เร็วขึ้นก็ได้

จากนั้นเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นเสร็จ ควรประกาศให้สังคมรับทราบว่าจะมีการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาชนิดนี้ เพื่อสอบถามว่าจะมีผู้ใดขัดข้องทักท้วงเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ เช่น ไม่มีความใหม่ มีผู้คิดค้นอยู่แล้ว ในระยะเวลา 3 เดือนจากนั้นนำเข้าสู่ขั้นตอนระบบต่อไป โดยขั้นตอนนี้จะเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นว่าการขึ้นสิทธิทะเบียนนั้นจะดีหรือไม่ เพราะหากไม่ตรวจสอบให้ละเอียดและปล่อยให้กระบวนการผ่านล่วงเลยไป จะทำให้อำนาจผูกขาดเป็นของผู้ครอบครองที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติในระยะยาว โดยที่ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์อะไร ซึ่งตัวเลขมูลค่าการผลิตในระบบนี้ปีหนึ่งมีมูลค่าสูงกว่าแสนล้านบาท

“เรื่องนี้หากทำไม่ดี อาจทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศไม่มีความเข้มแข็งและไม่ก้าวหน้า เพราะปัญหาของสิทธิบัตรจะทำให้การพัฒนาผลิตยาในประเทศถูกควบคุมอย่างชัดเจน และเมื่อมีสภาวะเชื้อดื้อยาหรือโรคระบาดที่เกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถผลิตยาได้ทันที”ภญ.นิยดา กล่าว

ภญ.นิยดา กล่าวว่า การที่รัฐบาลบอกให้ขึ้นทะเบียนไปก่อนและค่อยปรับแก้ไขภายหลังหากมีปัญหา คิดว่าเมื่อขึ้นทะเบียนไปแล้วการนำกลับมาแก้ไขใหม่คงเป็นเรื่องยาก หรือหากจำเป็นก็ต้องฟ้องร้องก็อาจใช้ระยะเวลานานหลายปี จึงมองว่าไม่คุ้มหากรัฐบาลปล่อยไปก่อนและแก้ไขภายหลังหากมีปัญหา ถ้าเป็นเช่นนั้นจะสะท้อนความไม่เอาไหนของหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียน เพราะสิทธิบัตรไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องยาเพียงอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงถึงเรื่องพันธุ์พืช สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย

ภญ.นิยดา กล่าวว่า การที่รัฐบาลบังคับให้เสร็จภายใน 3 เดือน คงเป็นไปไม่ได้ เพราะจากมาตรฐานการประเมินสิทธิบัตรแต่ละชนิดตามหลักสากลที่หลายประเทศทำอยู่ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย สหภาพยุโรป (อียู) ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะหากเร่งรัดการทำงานพิจารณาแบบไม่ละเอียดจะเกิดผลเสียต่อประเทศตามมาภายหลัง

ทั้งนี้ ขอเตือนว่าการจดสิทธิบัตรจะต้องดูให้ครบวงจรอย่างละเอียด ไม่ควรเร่งรีบว่าต้องเอาเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรอย่างเดียว เพราะหากใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ควรพิจารณาให้ดีว่าจะใช้อย่างไรเพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์และสามารถนำไปพัฒนาในอนาคตได้ เพราะการที่พูดแต่เพียงว่าต้องการให้จดสิทธิบัตรหมื่นกว่ารายการให้เสร็จภายใน 3 เดือน เป็นการแสดงว่าผู้ที่จะดำเนินการไม่รู้ข้อเท็จจริง ฉะนั้นควรกลับไปวิเคราะห์สาเหตุว่าที่ช้าเพราะเหตุใด และค่อยตัดสินใจดำเนินการจะเป็นการดีกว่า

ภญ.นิยดา ย้ำว่าการที่จะให้ออกสิทธิบัตรให้เร็วภายใน 3 เดือน คิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะการทำเรื่องนี้ต้องรอบคอบ มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การจดสิทธิบัตรนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ให้มากขึ้น ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อธุรกิจ เพราะสิทธิบัตรถือเป็นสิ่งที่จะยึดครองไปตลอด เพราะหากดำเนินการไม่รอบคอบ ไม่ใช่เพียงจะทำให้อุตสาหกรรมยาตายเท่านั้น แต่จะทำให้ประเทศไทยล้มละลายตายด้วยซ้ำ เพราะเงินส่วนใหญ่เป็นภาษีที่ต้องนำเข้าสู่ระบบ