posttoday

"ถ่านหินไม่จำเป็น ไฟฟ้าใต้เพียงพอ" เดชรัตน์ สุขกำเนิด

26 กุมภาพันธ์ 2560

"พลังงานหมุนเวียนเป็นทรัพยากรเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้ารองรับกับความต้องการจริงๆ ของคนภาคใต้ โดยส่งผลกระทบน้อยกว่าถ่านหิน"

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ  

ท้องทะเลที่ขึ้นชื่อว่าสวยงาม และติดอันดับความสวย 1 ใน 10 ของโลก จ.กระบี่ เป็นเจ้าของท้องทะเลแห่งนั้น

แต่ในชั่วยามนี้ อนาคตของกระบี่กำลังถูกสั่นคลอน เมื่อรัฐบาลระบุถึงความจำเป็นจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินให้ได้ เพื่อรองรับแผนการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ที่อ้างว่าจะต้องพุ่งทะยานขึ้นอย่างมาก

แม้ชาวบ้านในท้องที่จะผนึกกำลังต้านเพราะหวั่นเกรงเรื่องปัญหามลพิษ และแน่นอนว่าจะกระทบการท่องเที่ยว เมื่อมองถึงความคุ้มค่าทั้งด้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.กระบี่ คนที่ให้คำตอบที่ชัดเจน อย่าง เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ มองในทุกมิติเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน่าสนใจ

เดชรัตน์ ฉายภาพว่า รัฐบาลคงไม่คิดมาก่อนว่า จะเกิดกระแสต่อต้านมากขนาดนี้ สังเกตได้จากผู้ชุมนุมปักหลักเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นครั้งแรกและเป็นการท้าทายอำนาจของคสช.ครั้งใหญ่ ทำให้รัฐบาลต้องคิดหนักและปรับเปลี่ยนท่าทีเกี่ยวกับโครงการ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะต้องการสิ่งใดกันแน่ เพราะต่างคนต่างพูดไม่ตรงกัน ผู้แทนประชาชนพูดว่า กระบวนการ EIA และ EHIA เดิมนั้นจะต้องถอนออกไป และไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ขณะที่ภาครัฐจะใช้คำว่าทบทวน โดยเพิ่มเติมประเด็นเข้าไป ซึ่งเป็นสิ่งที่อึมครึมมาโดยตลอด

เดชรัตน์ เสริมเรื่องความสับสนของรัฐบาลว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงต่อสาธารณะหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีความชัดเจนอีก และยังสับสนเหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็มีความชัดเจนอยู่อย่างหนึ่ง คือเป็นแผน เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความสับสน รัฐบาลตั้งใจที่จะไม่พูดคำว่าถอน EIA ออกมา เพราะนั่นหมายถึงการตั้งต้นใหม่ ดังนั้น ทิศทางที่เป็นไปได้คือจะไม่ใช่การเซตซีโร่อย่างที่หลายคนเข้าใจ

“คงเป็นการเติม หรือทบทวนในประเด็นต่างๆ แต่จะเติมประเด็นใด หรือมากขนาดไหน ก็ต้องตีความสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดเอาไว้ คือ ต้องมีคณะกรรมการเข้ามาทำงาน 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ หรือที่เรียกว่าไตรภาคี ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้คณะกรรมการไตรภาคีชุดเดิมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งท้ายเอาไว้แค่ว่า หากรายงาน EIA ไม่ผ่าน โรงไฟฟ้าก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมีความจำเป็นสำหรับการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้”

เดชรัตน์ สรุปว่า รัฐบาลยังคงสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ เพียงแต่ให้ไปปรับรายงาน EIA และ EHIA ให้สมบูรณ์และมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น และค่อนข้างมั่นใจแล้วว่า รัฐบาลไม่ได้ทำใหม่ทั้งหมด น่าจะเป็นการเพิ่มประเด็นและทบทวนมากกว่า แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเข้ามามีส่วนร่วมได้บ้าง

กระนั้น เดชรัตน์ ยอมรับว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการทำงานไตรภาคี ในช่วงแรกก็เริ่มต้นและดำเนินการด้วยดีมาโดยตลอด กระทั่งเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ได้สั่งการให้ยุติการทำงานทุกอย่างลง โดยที่ยังไม่มีมติใดๆ และยังไม่มีผลของการทำงาน จากนั้นก็ทราบว่ามีการเขียนสรุปผลการทำงานส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคณะทำงานทั้งหมดไม่ทราบได้ว่าเขียนอะไรลงไปบ้างในสรุปรายงานนั้น

“ผมยืนยันกับ พล.อ.สกนธ์ ไปแล้วว่า สิ่งที่ท่านได้ยื่นให้กับนายกฯ นั้น ถือว่าไม่ใช่มติของคณะทำงานไตรภาคี ส่วนท่านจะไปสรุปอย่างไรก็สุดแท้แต่ และเป็นความคิดเห็นของท่านเพียงคนเดียว”

"ถ่านหินไม่จำเป็น ไฟฟ้าใต้เพียงพอ" เดชรัตน์ สุขกำเนิด

พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ เพียงพอ ไม่ต้องเพิ่ม

เดชรัตน์ กล่าวอีกว่า ความต้องการพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย และกำลังการผลิตของการไฟฟ้านั้น ภาพรวมของการใช้ไฟฟ้า และกำลังผลิตสำรองที่เรามีมากถึง 31% เกินจากกำหนดเอาไว้ที่ 15% โดยทั้งประเทศใช้กำลังไฟฟ้ารวมประมาณ 2.9 หมื่นเมกะวัตต์ และเรามีกำลังผลิตอยู่ที่ 4 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งมันมากเกินคำว่าเพียงพอไปแล้ว

“แต่รัฐบาลพยายามพูดถึงภาคใต้ว่าไฟไม่พอใช้ แต่จริงๆ แล้ว ในภาวะปกติภาคใต้จะใช้ไฟฟ้ารวมแล้วประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ ขณะที่ช่วงที่คนมีความต้องการไฟฟ้าสูงก็จะพุ่งไปที่ 2,500 เมกะวัตต์ และในช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด ซึ่งจะมีช่วงเดียวของปีนั้น อัตราการใช้ไฟฟ้าก็จะพุ่งไปที่ 2,800 เมกะวัตต์ ถือว่าสูงสุดไม่เกินจากนี้อีกแล้ว”

เดชรัตน์ เสริมว่า เมื่อไปมองที่กำลังการผลิตไฟฟ้าจากภาคใต้ พบว่าโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตหลักสามารถผลิตไฟฟ้าได้อยู่ที่ 2,400 เมกะวัตต์ ซึ่งครอบคลุมอัตราปกติของการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ที่ใช้กันอยู่ 1,800 เมกะวัตต์ แต่หากไม่พอ ก็จะมีกำลังผลิตเสริมที่เข้ามาช่วยอีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ และนอกจากนี้ ยังมีพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่เข้ามาช่วยได้อีก แม้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มองว่าพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนมันไม่แน่นอน แต่จริงๆ แล้วมันวางแผนได้ สั่งการให้ผลิตล่วงหน้าได้ เพราะพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนมาจากพลังงานของก๊าซชีวมวล หรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมันสามารถกักเก็บไว้ได้ และมีกำลังผลิตเพิ่มให้ได้อีก 400 เมกะวัตต์

“รวมถึงยังมีสายส่งจากภาคกลางที่จะเข้ามาช่วยเสริมอีกหากไฟขาดรวม 700 เมกะวัตต์ และท้ายสุดหากยังไม่พออีก ก็จะมีสายส่งจากประเทศมาเลเซียที่ส่งกระแสไฟฟ้าเข้ามาช่วยเพิ่มเติมอีก 300 เมกะวัตต์ รวมแล้วภาคใต้กำลังผลิตไฟฟ้า และสำรองไฟฟ้าทั้งหมดรวม 4,300 เมกะวัตต์ มากกว่าอัตราการใช้สูงสุดที่ 2,800 เมกะวัตต์ ดังนั้น ผมคิดว่ายังไงก็พอ” เดชรัตน์ ให้ความเห็น 

แต่สิ่งที่รัฐบาลอยากจะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นให้ได้นั้น ก็น่าจะมาจากความกังวลว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เริ่มลดน้อยลง และคิดว่าถ้ามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และสามารถสั่งการได้ ก็จะมีความมั่นคงด้านพลังงานมากกว่าเดิม ดังนั้น จึงนำไปสู่แนวคิดโครงการสร้างโรงไฟฟ้าทั้งที่ จ.กระบี่ และที่ สงขลาด้วย

พลังงานหมุนเวียน ทางออกที่น่าจะดีที่สุด

เดชรัตน์ มองว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมีข้อเสียอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถ่านหินเป็นปัญหาอันดับหนึ่งและเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุด ดังนั้น หากหลีกเลี่ยงถ่านหินได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

ประกอบกับภาคใต้ มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นมามาก โดยเฉพาะจากเชื้อเพลิงชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ศักยภาพของภาคใต้ที่มีทรัพยากรที่สามารถทดแทนถ่านหิน ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

เดชรัตน์ บอกอีกว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้จะเพิ่มขึ้นปีละราว 100 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เราจะสร้างคือรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้ามากถึง 800-2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมันเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันกับความต้องการไฟฟ้า

“พลังงานหมุนเวียนเป็นทรัพยากรเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้ารองรับกับความต้องการจริงๆ ของคนภาคใต้ โดยส่งผลกระทบน้อยกว่าถ่านหินอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการคำนวณแล้วก็พบว่า หากเราใช้พลังงานจากก๊าซชีวมวล ผลพวงส่วนหนึ่งก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา ซึ่งเป็นผลผลิตที่สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนได้ และเกษตรกรก็มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยกิโลกรัมละ 1 บาทจากพลังงาน และตรงนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”  

เดชรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวใน จ.กระบี่ ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าต้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทำทิศทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากยิ่งกว่านี้ ทุกวันนี้กระบี่ไม่มีบานาน่าโบ๊ต หรือเจ็ตสกี เพราะเกิดจากการพยายามควบคุมและสร้างยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า กระบี่สีเขียว หรือ Krabi Go Green จะเน้นคุณภาพเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจสิ่งแวดล้อมเข้ามามากยิ่งขึ้น และผู้ประกอบการเองก็เห็นด้วยโดยเริ่มลงมืออนุรักษ์กัน ทั้งโครงการ Zero Carbon Resort ที่เจ้าของรีสอร์ทกว่า 10 รายเข้ามาร่วมโครงการที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก โดยวางแผนที่จะลดการใช้พลังงานของตนเองลง