posttoday

ตำรวจมีไว้เพื่อ...ปฏิรูปหรือปฏิลวง

19 กุมภาพันธ์ 2560

"เมื่อประชาชนถามมาขนาดนี้ ต้องนำไปสู่การทบทวนของ สตช.ว่า มีตำรวจไว้ทำไม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบทั้งผู้นำตำรวจ และรัฐบาล ต้องมาทบทวนว่าทำไมประชาชนถึงตั้งคำถามแบบนี้"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถือเป็นหัวใจสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อการปฏิรูปองค์กรตำรวจให้ทำงานสนองตอบประชาชน หลังเกิดเสียงครหาอย่างหนักหน่วงสำหรับคำว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร หรือที่สื่อมวลชนให้ฉายา “ผกก.กระดูกเหล็ก” อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. กับ 11 ปี ต่อการผลักดันเรื่องดังกล่าวจนถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังได้รับเชิญไปแสดงทัศนะผ่านเวทีเสวนาปฏิรูปตำรวจ “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร” จัดโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)

ดูจะมึนๆ งงๆ กันไม่น้อย มีถ้อยคำใดไปทิ่มแทงใจผู้บัญชาการระดับสูง ถึงกับมีการแจ้งความผู้เสวนาทางวิชาการข้อหาหมิ่นศักดิ์ศรีตำรวจ

หนึ่งในสองรายที่ถูกแจ้งความถือเป็นบุคคลที่เคยเป็นตำรวจเสียด้วย?!? ซึ่งเรื่องนี้ดูยังไม่จบเมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เตรียมแถลงถึงวัตถุประสงค์การเสวนามิได้มีเจตนาหมิ่นศักดิ์ศรีตำรวจในเร็วๆ นี้

กระนั้น พ.ต.อ.วิรุตม์ เล่าผ่าน “โพสต์ทูเดย์” โดยยอมรับว่า ตั้งแต่ทำเรื่องกฎหมายมา นี่เป็นครั้งแรกที่ถูกตำรวจด้วยกันแจ้งความกล่าวหา ซึ่งส่วนตัวตั้งคำถามว่าพนักงานสอบสวนจะทำไปจากที่ผู้บังคับบัญชาสั่งมาได้หรือไม่ คงอาจหามุมจนกว่าจะมีความผิดให้ได้ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็คงลำบากใจ

“ถามว่าเรื่องนี้เป็นธรรมหรือไม่ เพราะเจตนาที่ทำเพื่อต้องการไม่ให้ใครกล้าพูดวิจารณ์ตำรวจอีก ซึ่งคือปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย ถูกแจ้งข้อกล่าวหากันง่ายๆ และเมื่อศาลยกฟ้องผู้ที่กล่าวหาก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจำเลยจะเป็นแพะหรือไม่”

ตำรวจมีไว้เพื่อ...ปฏิรูปหรือปฏิลวง

“ผกก.กระดูกเหล็ก” เล่าเบื้องหลังจากการที่ได้เข้าร่วมวงปฏิรูปตำรวจในช่วงที่เป็นอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งได้มีการจัดทำพิมพ์เขียว ตั้งแต่การโอน 9 หน่วยงานตำรวจไปสังกัดกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงการแยกอำนาจพนักงานสอบสวนออกจาก สตช.

แต่ทว่า เมื่อ สปช.ยุบไปกลายร่างเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการจัดทัพใหม่ ด้วยการนำข้าราชการตำรวจเข้ามากองอยู่ในอนุปฏิรูปตำรวจ และไม่มีความคืบหน้าสักเท่าไหร่ ซึ่งแทนที่จะนำร่างของ สปช.ไปขับเคลื่อนต่อ แต่ไม่ไปถึงไหน ก็เหมือนเป็นการ “ปฏิลวง”

“สปท.ควรทำตามมติที่ สปช.เคยมีไว้ ไม่ใช่คิดใหม่เพราะเหมือนเป็นการซื้อเวลาทำให้หลงทาง” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว 

“ตำรวจไม่ใช่ตำรวจแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมอุทยาน ศุลกากร กรมสรรพสามิต ก็ไล่จับผู้รายทั้งนั้น ผู้ร้ายในความรับผิดชอบตามกฎหมายของเขา ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ ทุกคนเข้าใจว่าตำรวจต้องสีกากี โล่เขนหน้าหมวก คุณก็เป็นตำรวจในเรื่องกฎหมายอาญา แต่ตำรวจตามกฎหมายอื่นมีเยอะแยะ ฉะนั้น คำว่าปฏิรูปตำรวจต้องทำทุกกระทรวง ไม่ใช่แค่ผูกขาดอยู่ที่ สตช.”

ทั้งนี้ ยอมรับถ้าจะให้เข้าใจกับการปรับโครงสร้างดังกล่าวคงเป็นเรื่องยาก เพราะจะขัดกับความคิดตำรวจผู้ใหญ่ เว้นแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะเข้าใจมุมแบบนี้ จำเป็นต้องทำให้ยศคลายตัวลง และให้ตำรวจทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับเม็ดเลือดขาวของมนุษย์ คอยดักจับแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย

ส่วนเรื่องการแยกอำนาจการสอบสวน ถือว่าจำเป็นเพื่อให้เกิดความอิสระ เนื่องด้วยเกี่ยวข้องกับกฎหมาย เพราะระบบในปัจจุบันเหมือนแบบกองทัพบก มันไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของงานในกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญควรให้พนักงานอัยการเข้ามาตรวจสอบควบคุมการสอบสวนตั้งแต่เริ่มคดี

พ.ต.อ.วิรุตม์ ชี้ให้เห็นว่า ศาลที่ผิดพลาดก็มาจากสอบสวน เช่น คดีครูจอมทรัพย์ สอบมาอย่างไรศาลไม่รับทราบ จึงสำคัญมากที่สุด 80% เพราะอัยการก็ตามตำรวจ เมื่อตำรวจฟ้องอัยการจะไม่ฟ้องได้อย่างไร หลักฐานเท็จหรือไม่ก็ไปว่ากันอีกที นี่คือจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศ

“ความจริง สปท. หรือรัฐบาลเองต้องทำให้งานสอบสวนมีหลักประกันในเรื่องสุจริต ถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริง สิ่งที่ควรทำตามอำนาจของรัฐบาล คือ ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ให้การสอบสวนถูกบันทึกด้วยภาพและเสียงในทุกคดี เมื่อก่อนไม่สามารถทำได้เพราะมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี

“ทว่า ปัจจุบันนี้ราคาถูกและง่ายแต่ไม่ทำ คิดว่าถ้ากำหนดให้การสอบสวนคดีอาญาทำด้วยวิธีนี้ จะแก้ปัญหาในประเทศนี้ได้ทุกๆ เรื่อง 70-80% ไม่ว่าการทุจริตประพฤติมิชอบในเรื่องราชการ ความยุติธรรม เพราะความจริงจะเป็นความจริง”   

พ.ต.อ.วิรุตม์ ยอมรับว่า หากจับอารมณ์ตำรวจขณะนี้ก็คงไม่พร้อมให้แยกงานสอบสวนออกไป แม้จะมีบางฝ่ายให้การสนับสนุน ทว่า สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปประชาชนให้มีอำนาจ เพราะถ้าประชาชนไม่มีอำนาจก็จะเสนอแบบปฏิลวงมา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จก็หวังอะไรไม่ได้ แม้มีมาตรา 44 และต้องตั้งคำถามอยากปฏิรูปจริงหรือเปล่า เห็นปัญหาไหม ที่สำคัญคือไม่เห็นปัญหาความเดือดร้อนประชาชน เนื่องจากตำรวจไม่รักษากฎหมาย เช่น ฝ่ายปกครองไปจับบ่อนการพนันทำแทนตำรวจ หลอกสังคมว่าลงโทษ แต่ทุกคนก็ได้ดิบได้ดีกันหมด เหมือนกับคนไม่เห็นว่าตัวป่วย ก็ไม่รักษา

นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญของตำรวจ 2 เรื่อง คือ การไม่รักษากฎหมายในการควบคุมปัจจัยอาชญากรรม แหล่งอบายมุข กับการไม่รับแจ้งความประชาชนลงเพียงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน การจับคดีส่วนใหญ่ อยู่ก็ที่อำนาจความรวยจน คนรวยก็จับได้เพราะความเอาใจใส่

ทั้งนี้ โลกในยุคปัจจุบันมีไอทีสามารถหาพยานหลักฐานจับผู้กระทำผิดได้เกือบ 100% ถ้าทุ่มเทจริงๆ แต่ปัญหา คือ จะทุ่มเทให้กับคนยากจนหรือไม่ คนจนแทบไม่มีสิทธิได้รับความยุติธรรมจากรัฐ เพราะตำรวจต้องไปทำสิ่งที่กระทบกับตัวเอง แต่ความผิดอาญาไม่มีเรื่องของมูลค่า เป็นความอุกอาจ โดยเฉพาะการลักทรัพย์ในเคหสถาน ซึ่งต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่

“ผมเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นรอง ผกก.มา 8 ปี ผมพูดได้เลยว่าตำรวจไม่ได้อยู่ในภาวะขาดแคลน ตำรวจกลับเป็นองค์กรที่มีทรัพยากรปัจจัยในการทำงานสูง เพียงแต่ระบบบริหารจัดการถูกข้างบนดูดซับไว้ ตำรวจที่มีประโยชน์ไม่ใช่นายพลหรือนายพัน แต่เป็นตำรวจผู้น้อยที่คอยส่องมองระงับเหตุ”

หากถามว่าตำรวจมีไว้ทำไม คำถามนี้ถ้าจะตอบต้องเปิดกฎหมายดูว่ามีไว้ทำไม แต่เมื่อประชาชนถามมาขนาดนี้ ต้องนำไปสู่การทบทวนของ สตช.ว่า มีตำรวจไว้ทำไม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบทั้งผู้นำตำรวจ และรัฐบาล ต้องมาทบทวนว่าทำไมประชาชนถึงตั้งคำถามแบบนี้ และคนที่ถามก็ไม่ใช่ประชาชนแบบบ้านๆ แต่เป็นองค์กรต่อต้านคอรัปชันซึ่งมีบุคลากรที่มีความน่าเชื่อถืออยู่

อย่างไรก็ดี เรื่องเหล่านี้เป็นการสะท้อนความรู้สึกประชาชนที่มีต่อตำรวจ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่เป็นจริง แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นสิทธิตั้งคำถาม เพราะถ้าคำถามนี้ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ ประชาชนก็จะด่าคนตั้งคำถามเอง แต่เมื่อมีประชาชนบางกลุ่มรู้สึกสะใจมันเป็นการตั้งคำถามแทน ก็สะท้อนว่าดีเรื่องนี้มันเป็นสิทธิของประชาชน

ตำรวจมีไว้เพื่อ...ปฏิรูปหรือปฏิลวง

โอน 9 หน่วย ตร.ขึ้นตรงตามสังกัด

สำหรับการปฏิรูปตำรวจจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุว่า ขึ้นอยู่ว่าจะระดับไหน แต่คิดว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่ง เช่น เรื่องการโอนหน่วยตำรวจออกไปโดยนายกฯ ไม่ได้ขัดข้อง แต่อาจไม่มีทีมงานติดตามจนต้องมอบหมายให้ตำรวจไปดำเนินการ หรือตั้งทีมขึ้นมาติดตามมติ สปช. อาจให้ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นผู้ดูแล

เรื่องนี้ หรืออะไรก็ได้ไม่ให้ตำรวจทำตามลำพังเรื่องนี้มันง่ายสามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ไม่จำเป็นต้องไปจัดตั้งระบบใหม่เพียงออกพระราชกฤษฎีกาโอนหน่วยงานไปสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบประมาณ 8-9 หน่วย เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจน้ำ ตำรวจทางหลวง เพื่อทำให้หน่วยงานเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายหน่วยงานดังกล่าวใช้งบประมาณของกระทรวง ทบวง กรมอาทิ ตำรวจทางหลวง ใช้งบประมาณของกรมทางหลวงเพื่อจัดซื้อรถ ส่วนตำรวจคุ้มครองผู้บริโภคอยู่กับ สคบ. ซึ่ง สปช.มีมติและให้แนวไว้กว้างๆ ส่วนหนึ่ง แล้วลงรายละเอียดไปถึงชื่อหน่วยเป็นตัวอย่าง ส่งให้กับนายกฯ ก็รับทราบ แต่ปัญหาคือทำให้มติสปช.เป็นผลก็คือ สปท.แต่กลับไม่ได้ทำอะไร

“ตำรวจผู้ใหญ่ใน สตช.ต้องทำใจว่ามันอาจไม่ทำให้ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม เพราะถ้าเอาออกไป ความอลังการของ สตช. จะลดน้อยลงไป เช่น เมื่อตำรวจผู้ใหญ่ไปสนามบิน อาจไม่มีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาคอยช่วยถือของ ตรงนี้เขาอาจไม่สนใจแล้ว และทั่วโลกตำรวจ ตม.เขาก็เป็นพลเรือน เราจะไปฝึกตำรวจแบบห้าวหาญและให้ไปทำงานง่ายๆ ก็เป็นเรื่องที่สิ้นเปลือง หากโอนหน่วยงานพวกนี้ออกไปก็จะทำให้การปฏิรูปตำรวจดีขึ้นในระดับหนึ่ง”นายตำรวจนักปฏิรูป กล่าวทิ้งท้าย