posttoday

วิพากษ์ "ปรากฎการณ์โค่นธรรมกาย" สุรพศ ทวีศักดิ์

08 มิถุนายน 2559

วิเคราะห์ปรากฎการณ์โค่นล้มธรรมกาย ผ่านมุมมอง“สุรพศ ทวีศักดิ์” นักวิชาการด้านพุทธศาสนา

เรื่องและภาพ อินทรชัย พาณิชกุล

กว่า 2 เดือนแล้วที่ชื่อของ "วัดพระธรรมกาย" และ "พระธัมมชโย" ตกเป็นข่าวใหญ่รายวัน ท่ามกลางการจับตามองแทบไม่กะพริบของคนในสังคม

หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายจับพระธัมมชโยให้มารับทราบข้อกล่าวหาฟอกเงินและรับของโจรกรณีรับเช็คจากอดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ถึง 3 ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธมาตลอดโดยอ้างว่าอาพาธหนัก ไม่สามารถเดินทางออกนอกวัดได้ นำไปสู่การชิงไหวชิงพริบห้ำหั่นกันด้วยข้อมูลและลมปากผ่านสื่อต่างๆ ฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจตามกฎหมายไล่บี้อย่างไม่ลดละ อีกฝ่ายหนึ่งผนึกกำลังตั้งรับอย่างเต็มที่

“สุรพศ ทวีศักดิ์” นักวิชาการด้านพุทธศาสนา ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เฝ้ามองอย่างเกาะติดชนิดไม่คลาดสายตา

ท่ามกลางความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของปมขัดแย้ง ตั้งแต่เรื่องอาบัติปาราชิกของธัมชโยที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง คดีรถหรูสมเด็จช่วง ข้อกล่าวหาว่าธรรมกายสอนบิดเบือนพระไตรปิฏก ตลอดจนความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงทางการเมืองกับขั้วตรงข้ามรัฐบาล

วันนี้เขาจะมาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ "โค่นล้มธรรมกาย" ภายใต้หลักธรรมวินัย หลักการกฎหมาย และหลักการประชาธิปไตย

มองความพยายามที่จะโค่นล้มพระธัมมชโยรอบนี้อย่างไร

ฝ่ายที่พยายามจะโค่นล้มธรรมกายคาดหวังสูงมากว่าจะจัดการพระธัมมชโยทั้งทางกฎหมายและทางธรรมวินัยให้ได้ เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่มีสองอย่าง นั่นคือ เรื่องกฎหมาย พัวพันการทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเรื่องธรรมวินัย นั่นคือ อาบัติปาราชิก

ถามว่าเริ่มต้นมาจากไหน มันเป็นคู่ขนานมากับกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) พอคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)ยึดอำนาจ กปปส.ก็สนับสนุนคสช.โดยชูประเด็นเรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทีนี้ก็ผุดไอเดียปฏิรูปศาสนาขึ้นมา ซึ่งความคิดที่ไม่เอาธรรมกายอยู่ในคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว ดังนั้นการปฏิรูปศาสนาก้าวแรกที่เขาทำทันทีก็คือ รื้อฟื้นคดีธัมมชโย พอมหาเถรสมาคมไม่ตอบรับอ้างว่าจบไปแล้ว เขาก็เดินเกมต่อเรื่องรถหรูสมเด็จช่วงเพื่อสกัดไม่ให้ขึ้นเป็นสังฆราช ถ้าดูตัวละครอย่างไพบูลย์ นิติตะวัน (ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ) พระพุทธะอิสระ (เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม) นายแพทย์มโน เลาวณิช (อดีตพระที่มีบทบาทสูงในวัดพระธรรมกาย และอดีตกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ) ก็เป็นฝ่ายชงเรื่องเข้าสู่กลไกอำนาจของรัฐผ่านดีเอสไอ ชงเรื่องเข้าสู่กลไกอำนาจของมหาเถรสมาคมเพื่อจัดการกับธรรมกาย

เหตุผลที่เขาต้องการกำจัดธัมมชโยมันมีความซับซ้อน หนึ่ง กลุ่มคนชนชั้นกลางในเมือง ทั้งศิษย์พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ผู้เขียนหนังสือกรณีธรรมกายที่บอกว่าธรรมกายสอนบิดเบือนพระไตรปิฏก) ศิษย์สวนโมกข์ กลุ่มสันติอโศก กลุ่มพุทธะอิสระ รวมทั้งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่มองว่าธรรมกายเป็นสัทธรรมปฏิรูป ประกอบกับธัมมชโยถูกดำเนินคดีในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่มารอดในยุคทักษิณ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยโยงธรรมกายกับเพื่อไทย โยงกับทักษิณ ฉะนั้นในทางการเมืองมันเอาไว้ไม่ได้ เพราะการปฏิรูปครั้งนี้เป้าหมายหนึ่งคือขจัดขั้วของฝ่ายพรรคเพื่อไทย ขจัดขั้วทักษิณ เมื่อขจัดตรงนั้นแล้ว ผมคิดว่านายแพทย์มโนเป็นคนให้ข้อมูลกับทางฝ่ายรัฐว่า ธรรมกายเป็นภัยต่อความมั่นคง เลือกตั้งคราวหน้า ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะได้เป็นรัฐบาลก็จะยึดอาณาจักร ธรรมกายก็จะยึดศาสนจักร

เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ

ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว มีหลายประเด็นทับซ้อนกัน เรื่องพระธัมมชโยทำผิดกฎหมายก็ต้องนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ต้องตัดสินออกมาให้ชัดเจนว่าผิดถูกอย่างไร แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ากระบวนการยุติธรรมตรงนี้มันถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม ถูกมองว่าไม่เป็นกลาง ถ้ากระบวนการนี้เดินหน้าต่อไป สมมติว่าจับพระธัมมชโยสึก ฝ่ายธรรมกายก็จะมองว่าฝ่ายตนถูกทำลายในทางการเมือง  ฝ่ายคนที่แม้จะไม่เห็นด้วยกับธรรมกายแต่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยก็จะมองว่าเป็นการใช้อำนาจเผด็จการมาจัดการฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันถ้าไม่สามารถจับพระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ก็จะเป็นคำถามต่อไปว่าแล้วข้อกล่าวหานี้ตกลงมันผิดหรือไม่ ทำไมถึงเอาพระธัมชโยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำยังไงมันก็มีปัญหาทั้งนั้น

ผมกลัวว่ามันจะมีการล่าแม่มดเกิดขึ้น ถ้าเขาไม่สามารถใช้ช่วงที่คสช.อยู่ในอำนาจจับธัมมชโยสึกได้ เขาก็จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับคสช.มาตรา 67 ที่บอกไว้ว่า "รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทย ส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการ ป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน มีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย"

ซึ่งคุณไพบูลย์ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะเอามาตรานี้ไปจัดการพระนอกรีตที่สอนผิดจากพระไตรปิฏก เราก็รู้กันอยู่ว่าใครสอนผิด ประพฤติผิดธรรมวินัย คนอื่นสอนผิดกันเยอะแยะ แต่ธรรมกายถูกกล่าวหาอยู่ที่เดียว พอเห็นหน้าตาของรัฐธรรมนูญที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ก็จะมองเห็นภาพว่ากลุ่มไหนเป็นคนโกงที่ต้องปราบ พรรคการเมืองใด หรือใคร กระบวนการที่จะกำจัดธรรมกายมันถูกวางเอาไว้อย่างรัดกุม

ในระยะยาว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อจะไปกำจัดธัมชโยในอนาคต เป็นดาบต่อไป ถ้าไม่สามารถฟันได้ในตอนนี้

วิพากษ์ "ปรากฎการณ์โค่นธรรมกาย" สุรพศ ทวีศักดิ์ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา

บางคนมองว่าคสช.อยู่เบื้องหลัง

ในความรู้สึกผมมันไม่เชิงว่าคสช.อยู่เบื้องหลัง แต่เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่สนับสนุนคสช.เขาใช้กลไกคสช.มาจัดการกับธรรมกาย คนกลุ่มนี้จะมีข้อมูลหลักฐานต่างๆที่คสช.ฟังแล้วเชื่อว่ามีน้ำหนัก เหตุผลที่คสช.เห็นด้วยเพราะเชื่อว่าธรรมกายอยู่ฝ่ายเพื่อไทย อยู่ฝ่ายทักษิณ

ถ้ามองลึกกว่านั้น ศาสนาพุทธไทยสมัยใหม่สถาปนาขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 4 แยกนิกายเป็นธรรมยุตกับมหานิกาย ต่อมารัชกาลที่ 5 ตั้งองค์กรปกครองสงฆ์โดยรัฐที่เรียกว่ามหาเถรสมาคม มีอำนาจทางกฎหมาย รวบอำนาจปกครองสงฆ์ทั่วประเทศไว้ที่กรุงเทพฯ มีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าพระสงฆ์เทศแสดงธรรมให้คนรักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์ จะไม่ถือว่าองค์กรสงฆ์ยุ่งกับการเมือง หรืออย่างพระกิติวุฒโฑที่บอกว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป หรือพระรูปไหนหรือกลุ่มไหนออกมาต่อสู้ทางการเมือง เช่น กลุ่มสันติอโศก กลุ่มพุทธอิสระ ถ้าคุณเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยอ้างว่าเพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การเอาศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมืองลักษณะนี้ก็จะถือว่าเป็นการยุ่งการเมืองในทางที่ถูกที่ควร

แต่ถ้าคุณเอาศาสนามายุ่งกับการเมืองในการเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย หรือไปสนับสนุนพรรคการเมือง แบบนี้มันผิด เป็นการดึงศาสนามายุ่งกับการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ ฉะนั้นปรากฎการณ์ของธรรมกายจึงถูกตั้งคำถามว่า คุณเป็นองค์กรศาสนาขนาดใหญ่ มีมวลชนมหาศาล คุณจะไปสนับสนุนขั้วตรงข้ามอำนาจเก่าได้ยังไง อันนี้ผมมองว่าเป็นสิ่งที่คสช.ยอมไม่ได้

คำสอนธรรมกายเป็นพิษเป็นภัยถึงขนาดต้องโค่นล้ม กำจัดทิ้งเชียวหรือ

ธรรมกายมีส่วนที่เป็นปัญหาและไม่เป็นปัญหา เรื่องคำสอนไม่เป็นปัญหานะ แนวทางการสอนเรื่องธรรมกายก็เอามาจากหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ซึ่งสอนกันอยู่แล้ว ส่วนการที่ธรรมกายจัดตั้งองค์กรศาสนาขนาดใหญ่ เผยแผ่ออกไปในสาขาต่างๆโดยต้องการให้ตัวเองเป็นเหมือนวาติกัน หรือแนวคิดที่ว่าบริจาคมากๆแล้วจะรวย มันไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง แม้เราจะฟันธงว่าธรรมกายสอนผิดจากพระไตรปิฏก แต่ก็ไม่มีที่ไหนสอนถูกต้องตามพระไตรปิฏกร้อยเปอร์เซนต์อยู่แล้ว มีแต่ถูกมากถูกน้อยผิดมากผิดน้อยเหมือนกันทุกวัด ทีนี้ถ้าคำสอนผิด วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องต้องแก้ปัญหาภายในของคณะสงฆ์เอง จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ ตักเตือนกันแบบกัลยาณมิตร นำมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ไขปรับปรุงให้มันถูกต้อง ไม่ใช่การเอาอำนาจรัฐไปจัดการ

ตามหลักของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ รัฐไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการเรื่องสอนผิดสอนถูก พระจะประพฤติผิดหรือถูกธรรมวินัยจะใช้อำนาจรัฐไปจัดการไม่ได้ หน้าที่ของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่มีเพียงรักษาเสรีภาพความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น ใครจะสอนผิดสอนถูก ไบเบิ้ล อัลกุรอ่าน พระไตรปิฏก รัฐจะไม่ไปยุ่ง เป็นเรื่องของกลุ่มศาสนิกที่จะตกลงกันเอง แต่ทำไมชาวพุทธชนชั้นกลางในไทยที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้า รักษาธรรมวินัยที่ถูกต้อง ถึงไปเรียกร้องอำนาจรัฐให้มาจัดการ ซึ่งขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาในระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างสมณโพธิรักษ์ถึงขั้นเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 จัดการเรื่องข้อหาอาบัติปราชิก ผมนับถือสันติอโศกในเรื่องความเคร่งครัด แต่ทำไมถึงยอมรับการใช้อำนาจเผด็จการมาจัดการกับคนอื่น

สำหรับส่วนที่เป็นปัญหาของธรรมกายก็เหมือนปัญหาของกลุ่มชาวพุทธทุกกลุ่มคือ ธรรมกายยังใช้กลไกอำนาจรัฐผ่านมหาเถรสมาคมในการเผยแผ่ ทำกิจกรรมทางศาสนาใหญ่ๆ ตรงนี้ก็ขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่รัฐไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาส่งเสริมสนับสนุนศาสนา รัฐไม่ได้ support  แต่รัฐปล่อยให้เป็นอิสระคือให้องค์กรศาสนาเป็นเอกชนเลย เหมือนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ศาสนาจะไปสอนในโรงเรียนไม่ได้ ไม่มีการบังคับ ฝรั่งเศสนี่แยกได้เด็ดขาดเลย แต่บ้านเราเนื่องจากมันไม่แยกศาสนาออกจากรัฐ มีองค์กรสงฆ์ของรัฐมีอำนาจตามกฎหมาย แล้วยังมีรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาอีก ธรรมกายใช้อำนาจรัฐและใช้กลไกคณะสงฆ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนนี้่แหละที่ทำให้คนกลัว

มีคนบอกว่า ถ้าวัดพระธรรมกายเป็นลัทธินิกายอื่นคงไม่มีปัญหา แต่พอเป็นเถรวาท คำสอนประเภทที่ว่าบริจาคมากเท่าไหร่ก็ได้บุญมากเท่านั้น ต้องปิดบัญชีทางโลกถึงจะเปิดบัญชีทางธรรมได้ พระรุ่นดูดทรัพย์ สอนว่าโคตรรวย โคตรรวย โคตรรวย แบบนี้ไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่คำสอนทางพุทธศาสนา

คำถามผมคือ ถ้าธรรมกายสอนผิดพระไตรปิฏกของเถรวาท แล้วคุณจะจัดการกับเขายังไง ถ้าคุณจัดการกับเขาภายใต้กรอบของธรรมวินัยเพียวๆโดยไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ เช่น สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าใช้หลักธรรมวินัยในการแก้ปัญหาภายในคณะสงฆ์ เมื่อพระเทวทัตแยกกลุ่มออกไป พระพุทธเจ้าไม่เคยเอาอำนาจรัฐมาแก้ปัญหา วิธีการจัดการของพระพุทธเจ้าคือ ส่งพระสารีบุตรที่รู้หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องของพุทธศาสนาไปชี้แจงกับพระที่ถูกพระเทวทัตหลอก พอชี้แจงแล้วพระเหล่านั้นก็กลับใจ ส่วนคนที่ไม่เชื่อเขาก็อยู่กับพระเทวทัตต่อไป นี่คือวิธีการของพระพุทธเจ้า

ถ้าคุณเห็นว่าธรรมกายผิด สิ่งที่คุณต้องจัดการกับธรรมกายคือ วิพากษ์วิจารณ์ แสดงหลักฐานออกมาว่าพระไตรปิฏกที่ถูกต้องมันเป็นยังไง คำสอนธรรมกายที่ว่าผิดมันผิดตรงไหน ถ้าธรรมกายเขาเห็นด้วยกับคุณ เขาก็จะเปลี่ยน หรือถ้าธรรมกายยืนยันว่าเขาถูก เขาก็จะหาหลักฐานมาอ้างอิงว่าถูกยังไง ต้องสู้กันแบบนี้ ส่วนชาวพุทธทั่วไปก็ต้องรับฟังข้อมูลข่าวสารทั้งสองฝ่าย ถ้าเห็นด้วยเขามีเสรีภาพที่จะเลือกอยู่กับธรรมกายหรือเลิกนับถือก็ได้ ซึ่งตามตัวหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ รัฐจะเข้าไปยุ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ยกเว้นถ้าพระทำผิดกฎหมาย เช่น ทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐไปยุ่งได้ แต่เรื่องผิดถูกธรรมวินัย รัฐเข้าไปยุ่งไม่ได้ โดยหลักธรรมวินัยของพุทธศาสนาเองก็ไม่ได้มีข้อไหนบัญญัติไว้ว่าต้องให้รัฐเข้ามาจัดการ ถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐจะไม่มีปัญหาเลย

สมมติถ้าเมืองไทยแยกศาสนาออกจากรัฐ การแก้ไขปัญหาเรื่องธัมมชโยจะออกมารูปแบบไหน

ถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐ องค์กรศาสนาทุกศาสนาจะกลายเป็นเอกชนหมด และจะมีเสรีภาพในการศึกษาตีความ คำว่าสงฆ์หรือสังฆะ ก็จะไม่ใช่คณะสงฆ์แบบนี้ แต่จะหมายถึงสงฆ์ในสำนักต่างๆ ตามสายครูบาอาจารย์ต่างๆ ทีนี้ปัญหาที่ว่าธรรมกายสอนผิด ผู้ที่จะตัดสินก็อยู่ที่คณะสงฆ์ของสายวัดธรรมกาย รวมถึงญาติโยมที่เขาศรัทธาวัดธรรมกาย ถ้าเขาเห็นว่าสิ่งที่ธรรมกายสอนอยู่ไม่ได้ผิดจากพระไตรปิฏก เขาก็ยืนยันจะเชื่อแบบนั้น ส่วนกลุ่มอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่ไม่สามารถให้อำนาจรัฐ หรือองค์กรส่วนกลางไปจัดการกับเขาได้ คุณก็แค่ไม่ไปวัดธรรมกาย เลิกศรัทธา ต่างคนต่างอยู่ แค่นั้นเอง

ถามว่ารัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร รัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องในแง่ที่ว่าต้องตรวจสอบความโปร่งใสของทุกองค์กรศาสนา ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา องค์กรศาสนาจะส่งบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองมาแสดงให้หน่วยงานรัฐซึ่งคล้ายๆกับสตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ตรวจสอบความโปร่งใสทุก 6 เดือน ถ้ามีแบบนี้มันจะชัดเจน แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันมันไม่ใช่ สตง.ไม่ได้ไปตรวจสอบวัด วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่งอยู่เหมือนเดิม วัดธรรมกายที่มีปัญหาเพราะมีการบริหารจัดการเงินจำนวนมหาศาลยังไงไม่มีใครรู้ แต่ถ้าเป็นเอกชน องค์กรศาสนาก็ไม่ต่างกับบริษัทห้างร้านต่างๆที่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องชี้แจงรายรับรายจ่ายของตัวเองให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ

ส่วนการตีความคำสอนทางศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ ความเชื่อเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่มีเสรีภาพว่าจะเชื่อหรือไม่ เพราะฉะนั้นปัญหาของธรรมกายที่อ้างเรื่องสอนผิดสอนถูก มาเถียงกัน มากำจัดกันอย่างทุกวันนี้ก็จะจบไป แล้วรัฐก็จะไม่เป็นเวทีความขัดแย้งทางศาสนาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจ้องจะใช้เป็นเครื่องมือฟาดฟันอีกฝ่าย ประวัติศาสตร์บอกแล้วว่า เราผิดพลาดมาหลายครั้ง ตั้งแต่กรณีพระพิมลธรรม (สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช) ที่เกิดมาจากความอิจฉาในวงการสงฆ์ แล้วยืมมือเผด็จการไปจัดการกับศัตรูของตัวเอง ผมว่านี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า

หมายความว่าการแยกศาสนาออกจากรัฐจะควบคุมธรรมกายได้อยู่หมัดงั้นหรือ

มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปควบคุมธรรมกาย แต่เป็นเสรีภาพที่คนไทยเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะศรัทธาหรือไม่ศรัทธา

สมมติว่าถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐ ธรรมกายมีทุนเยอะ แต่อย่าลืมว่าที่ธรรมกายโตในเมืองไทยได้เขาไม่ได้ใช้ทุนอย่างเดียว แต่ใช้อำนาจรัฐเป็นตัวช่วย เช่น จัดปฏิบัติธรรมโดยใช้งบประมาณรัฐพันกว่าล้านสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตรงนี้เกี่ยวกับหน่วยงานราชการ เพราะต้องเกณฑ์คนมา ต้องส่งพระไปอยู่วัดต่างๆ ถ้าธรรมกายใช้อำนาจมหาเถรสมาคมไม่ได้ เขาจะทำได้ยังไง ต้องได้รับอนุมัติจากพระผู้ใหญ่เขาถึงส่งไปอยู่วัดต่างๆได้ และมีเงินด้วย แต่หากเป็นอิสระจากรัฐ ก็จะใช้อำนาจรัฐไม่ได้ เป็นเรื่องความสมัครใจของวัดต่างๆเองว่าจะเอาด้วยหรือปฏิเสธวัดธรรมกาย

ถ้าคุณกลัวธรรมกายจะโต คุณต้องเสนออะไรที่ดีกว่าธรรมกาย แข่งกับธรรมกาย เหมือนกับคุณกลัวทักษิณ คุณก็ต้องเอาชนะทักษิณด้วยการเสนอนโยบายที่เหนือกว่าเขา แต่ถ้าคุณเอาเผด็จการมาชนะทักษิณมันไม่ได้ชนะจริง ไม่ได้ทำให้คนศรัทธาทักษิณน้อยลง เช่นเดียวกันถ้าคุณเอาอำนาจเผด็จการมากำจัดธรรมกาย คิดเหรอว่าคนจะศรัทธาธรรมกายน้อยลง

แล้วตอนนี้ ทำไมมหาเถรสมาคมถึงไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาตามหลักธรรมวินัย

ผมเข้าใจว่า ชาวพุทธเราอาจจะเติบโตมากับพุทธศาสนาแบบไทย เหมือนกับคุณยอมรับศาสนาที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยร.4-ร.5จนถึงปัจจุบันว่ามันถูกต้องแล้ว ชนชั้นกลางไทยเสพพุทธศาสนาที่บอกว่าก้าวหน้า มีเหตุมีผล เป็นวิทยาศาสตร์ แต่คุณไม่ตั้งคำถามเลยกับศาสนาที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ร.4-ร.5  ซึ่งเป็นศาสนาสมัยใหม่ที่ยึดโยงอยู่กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีองค์กรสงฆ์ที่มีอำนาจทำหน้าที่สนับสนุนรัฐมาตลอด แล้วก็เสพความคิดของนักปราชญ์สองท่านคือ ท่านพุทธทาสภิกขุกับท่านพระพรหมคุณาภรณ์ ตัวท่านพุทธทาสภิกขุเองก็ตีความคำสอนพุทธศาสนามาสนับสนุนระบอบเผด็จการโดยธรรม และท่านก็ปฏิเสธเสรีประชาธิปไตยโดยอ้างว่าถ้าปล่อยให้มีเสรีภาพมาก คนมันก็ไปตามอำนาจกิเลส กลุ่มที่ต่อสู้ทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีนี้จะอ้างคำท่านพุทธทาสมากที่สุด อ้างคำสอนเรื่องเผด็จการโดยธรรมคือเผด็จการโดยคนดี ต้องเอาคนดีมาปกครอง จะเป็นคนดีคนเดียวหรือเป็นคณะก็ได้

ส่วนเจ้าคุณประยุทธ์ท่านก็ตีความพุทธศาสนาไปในทางก้าวหน้าเยอะแยะ แต่ท่านไม่เคยตั้งคำถามกับอำนาจคณะสงฆ์ว่ามันชอบธรรมตามพระธรรมวินัยหรือไม่ ท่านพยายามปกป้องธรรมวินัยบริสุทธิ์ตามพระไตรปิฏก แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าองค์กรมหาเถรสมาคมที่ตั้งขึ้นอาศัยความชอบธรรมของพระธรรมวินัยข้อไหน มันก็แค่รัฐตั้งขึ้นมา มียศมีตำแหน่ง มีสมณศักดิ์ มีอำนาจตามกฎหมายที่เป็นเผด็จการด้วย แต่กลับมาบอกว่ามีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัย มันคล้ายกับว่าจู่ๆมีคณะบุคคลหนึ่งยึดอำนาจเข้ามาแล้วบอกว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้ เราก็ยอมรับโดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าคณะบุคคลนั้นมาโดยชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่ เมื่อมาไม่ชอบธรรมแล้วจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ยังไง ก็เหมือนกับองค์กรสงฆ์ เราไม่ตั้งคำถามว่ามาโดยชอบธรรมหรือไม่ มีหลักพระธรรมวินัยมารองรับหรือเปล่า เราไม่เคยตั้งคำถาม คิดแต่ว่าคณะสงฆ์แบบนี้จะรักษาธรรมวินัยไว้ได้ สุดท้ายมันก็เลยเถิดมาถึงทุกวันนี้ ไม่สามารถรักษาพระธรรมวินัยบริสุทธิ์ได้ แถมยังเละเทะไปหมด

วิพากษ์ "ปรากฎการณ์โค่นธรรมกาย" สุรพศ ทวีศักดิ์

ที่ผ่านมาเคยมีข้อครหาว่ามหาเถรสมาคมถูกซื้อตัว

คำว่าถูกซื้อ คงมองในแง่ตัวบุคคล แต่ผมคิดว่าปัญหาอยู่ที่ตัวโครงสร้าง

ถ้าจะให้เห็นภาพ เราต้องเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ของยุโรป เพราะยุโรปเริ่มจากการปฏิรูปศาสนา แต่การปฏิรูปศาสนาของเขาเริ่มจากการท้าทายอำนาจของศาสนจักร ซึ่งอำนาจของคริสตจักรที่ผูกติดอยู่กับรัฐถูกตั้งคำถามว่ามีการฉ้อฉล ต่อมามีการแยกนิกายต่างๆออกไป ต่อสู้กันเนิ่นนานกระทั่งถึงที่สุดแล้วก็เข้าสู่สมัยใหม่โดยการแยกศาสนาออกจากรัฐ ปล่อยให้ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นเรื่องของเสรีภาพที่คนจะเลือกนับถือหรือไม่นับถือ การปฏิรูปของเขาเป็นแบบนี้

ทีนี้ในประวัติศาสตร์รัฐที่นับถือพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งไทย รัฐพยายามที่จะควบคุมศาสนาอยู่เรื่อยๆ ทั้งตั้งสังฆราช ให้สมณศักดิ์ ออกกฎหมายเอาผิด ร.1ออกกฎหมาย 10 ฉบับเพื่อเอาผิดกับพระที่ผิดธรรมวินัย แต่ตอนนั้นยังไม่มีคณะสงฆ์ที่มีอำนาจรัฐในการควบคุมพระสงฆ์ทั้งประเทศอย่างเป็นทางการ พอถึงสมัยร.5 ปฏิรูประบบราชการ รวมศูนย์อำนาจ มีการตั้งมหาเถรสมาคมขึ้น ฉะนั้นการปฏิรูปของบ้านเราจึงต่างจากตะวันตก ตะวันตกเริ่มจากการท้าทายอำนาจ แต่บ้านเราเริ่มจากอำนาจรัฐส่วนบนทำการปฏิรูป บ้านเขาปฏิรูปโดยการเอาศาสนาออกไปจากรัฐ องค์กรศาสนาเป็นเอกชน แต่เราปฏิรูปการตั้งศาสนจักรขึ้นมา คือ มหาเถรสมาคม ให้มีอำนาจในการคุมพระทั้งประเทศ มันสวนทางกันเลย (หัวเราะ)

ที่พูดกันนักหนาว่า สังคมไทยมีเสรีภาพทางศาสนา แต่เป็นเสรีภาพแบบไทยๆ เสรีภาพแบบไทยๆคือ ขอบเขตของเสรีภาพอยู่ที่ชนชั้นนำเป็นผู้กำหนด แต่เสรีภาพแบบสากล ขอบเขตของเสรีภาพอยู่ที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด เสรีภาพแบบไทยๆมาถึงจุดหนึ่งคุณพูดต่อไม่ได้ แต่เสรีภาพทางศาสนาแบบตะวันตก รัฐเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ บ้านเรารัฐแทรกแซงผ่านมหาเถรสมาคมตลอดเวลา บางทีผู้นำรัฐบาลพูดเองเลย อย่างเช่นสมัยจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ (อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ผู้มีส่วนสำคัญในการออกกฎหมายพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505) บอกว่าพระสอนเรื่องสันโดษไม่ได้ ประเทศไม่พัฒนา แล้วการที่รัฐใช้กลไกศาสนาในการทำอะไรต่างๆ ตั้งแต่นโยบายหมู่บ้านศีลห้า ห้ามบวชภิษุณี ก็ขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาแบบสากล  ฉะนั้นพอเดินมาถึงจุดนี้แล้วแทนที่เราจะค่อยๆคลายมันออก ปรากฎว่ามันกลับยิ่งเข้มขึ้น

ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่องค์กรมหาเถรสมาคมจะถูกซื้อ ก็ในเมื่อโครงสร้างมันถูกกำหนดไว้แบบนี้ แล้วมหาเถรสมาคมก็มีอำนาจมหาศาล คณะมหาเถรสมาคม 20 รูปมีอำนาจที่จะให้สมณศักดิ์ ให้ตำแหน่งพระทั่วประเทศ เป็นเรื่องการโยงใยอำนาจ มีการวิ่งเต้นเรื่องเงินอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะมากมาย โครงสร้างแบบนี้เลยทำให้ธรรมวินัยไม่เวิร์ค ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามธรรมวินัยได้จริง ตราบใดที่ไม่ยกเลิกโครงสร้างแบบนี้ ปัญหาที่เป็นอยู่ ความขัดแย้งอะไรต่างๆก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ

การปฏิรูปศาสนา ตามหลักการควรจะพุ่งเป้าไปที่การแยกศาสนาออกจากรัฐ แต่กลับรื้อฟื้นคดีธัมมชโยเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยเล่นงานสมเด็จช่วงเรื่องรถหรู แบบนี้ดูเหมือนปฏิรูปธรรมกายมากกว่าจะปฏิรูปศาสนา

(หัวเราะ) ที่คุณบอกว่าจะปฏิรูปศาสนามันไม่ใช่การปฏิรูป ความคิดปฏิรูปศาสนาของไทยเป็นความคิดแบบชนชั้นนำ คือปฏิรูปศาสนาโดยขจัดฝ่ายที่ตัวเองมองว่าผิด และใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการ ในประวัติศาสตร์ทำแบบนี้มาตลอด อย่าลืมว่าพุทธศาสนาไทยเกี่ยวข้องกับการเมืองมาตลอด สมัยร.4ก็เป็นเรื่องขึ้นครองราชย์ แทนที่ร.4จะได้ขึ้น แต่ร.3กลับได้ขึ้น ทำให้ท่านต้องบวชยาว ก็จำเป็นต้องตั้งนิกายที่จะสนับสนุนตัวเองขึ้นมา มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

การปฏิรูปศาสนายุคนี้ เป้าหมายต้องการกำจัดธรรมกาย ก็มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอีก มันไม่ใช่ปฏิรูปศาสนาในลักษณะที่จะแยกศาสนาออกไปจากรัฐ สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เสรีภาพทางศาสนามันเป็นไปได้ แต่สิ่งที่คุณกำลังปฏิรูปอยู่ขณะนี้ทำให้เสรีภาพทางศาสนามันเป็นไปไม่ได้ด้วยการปล่อยให้มีการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการขจัดความเชื่อต่างทางศาสนา ตรงนี้ทำให้ผมเศร้าใจกับชาวพุทธไทยที่บอกว่าตัวเองกำลังปกป้องความบริสุทธิ์ของพุทธศาสนา แต่คุณไม่อายที่จะใช้อำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการไปขจัดฝ่ายตรงข้าม การใช้อำนาจรัฐเผด็จการไปกำจัดคนอื่นไม่น่าไปด้วยกันได้กับธรรมวินัย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเราแบบนี้ พระพุทธเจ้าจะไม่เรียกร้องให้รัฐมาเอาผิดกับใครก็ตามที่มาหมิ่้นพุทธศาสนา

ในพระไตรปิฏกพระพุทธเจ้าบอกว่าใครกล่าวตำหนิ หรือจาบจ้วงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งแรกที่ชาวพุทธควรทำคือ ต้องไม่โกรธ และชี้แจงข้อเท็จจริงไปว่าเป็นอย่างไร เขาเห็นด้วยก็ดี ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเอาอำนาจรัฐเข้ามาจัดการ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าออกบิณฑบาตแล้วมีคนมายืนด่าท่าน พระอานนท์จึงทูลเชิญไปอยู่เมืองอื่น พระพุทธเจ้าถามว่าถ้าไปเมืองอื่นแล้วมีคนมาด่าอีกจะทำยังไง พระอานนท์ตอบว่าก็ย้ายไปอีกเมือง พระพุทธเจ้าเลยบอกว่าถ้าทำแบบนั้นก็หนีปัญหาไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นปล่อยให้เขาด่าไปเถอะ ถ้าเขาเหนื่อย เขาเบื่อ เดี๋ยวก็เลิกด่าไปเอง สุดท้ายแล้วความสงบสยบความเคลื่อนไหว สิ่งที่เขาด่าไม่จริง

ฉะนั้นไม่มีเหตุผลเลยที่จะออกกฎหมายลงโทษคนจาบจ้วงพุทธศาสนาอะไรต่างๆอย่างที่ชาวพุทธในยุคปัจจุบันทำกัน  การเอาคนที่คุณมองว่าเขาหมิ่นศาสนามาเข้าคุก คุณจะอธิบายคำสอนในพุทธศาสนาที่สอนให้เราไม่โกรธ สอนให้คุณมีเมตตา มีขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ได้ยังไง คำว่าเมตตา สันติธรรม ควรจะไปด้วยกันกับสังคมประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ เปิดให้คนวิพากษ์วิจารณ์กันได้เต็มที่ พอใครมาวิจารณ์ศาสนาเราแรงๆ วิจารณ์ตัวเราแรงๆ ก็มีโอกาสที่จะได้ฝึกความเมตตา ฝึกขันติธรรม แต่การที่คุณทนไม่ได้ และจะเอาเขาเข้าคุก โอ้โห มันยิ่งกว่าความโกรธอีกนะ

ฟังดูน่ากลัวมาก

ใช่ ความน่าเป็นห่วงของบ้านเราคือ ต้องการบรรลุเป้าหมายโดยไม่สนวิธีการ เป็นอย่างนี้ทุกกลุ่ม วัดธรรมกายก็ต้องการสร้างความยิ่งใหญ่ ดึงอำนาจรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแผ่คำสอนของตัวเอง เพื่อทำกิจกรรมทางศาสนา ทำให้อาณาจักรของตัวเองยิ่งใหญ่โดยไม่สนวิธีการ เพียงแต่ธรรมกายไม่ดึงอำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือทำลายคนอื่นเท่านั้นเอง นี่คือส่วนที่เป็นข้อดี

ปรากฎการณ์แบบนี้ทำให้กลุ่มอื่นกลัวธรรมกาย ยิ่งธรรมกายมาอยู่ขั้วอำนาจใหม่ ขั้วอำนาจเก่าก็ยิ่งกลัว เพราะที่ผ่านมาศาสนาอยู่กับขั้วอำนาจเก่ามาตลอด แบบนี้เป็นการแหกจารีต ทำให้ขั้วอำนาจเก่าหวาดระแวง กลุ่มที่ไม่ชอบคำสอนธรรมกาย กลุ่มที่ตัดสินว่าเจ้าอาวาสอาบัติปาราชิกก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อจัดการ

ความขัดแย้งตอนนี้ก็ไม่เห็นมีใครที่จะเดินตามธรรมวินัยจริงๆ หรือเดินตามหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่จริงๆแม้แต่กลุ่มเดียว
 
มองท่าทีนิ่งเฉยของมหาเถรสมาคมอย่างไร

ถ้าเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่โดนกล่าวหาว่าทุจริตก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้โดยตรง แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหเถรสมาคมคือเรื่องผิดธรรมวินัย เรื่องอาบัติปาราชิก ตอนนี้เห็นว่าคุณไพบูลย์กับนายแพทย์มโนได้ไปร้องเรียนกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชัยญาติการาม เจ้าคณะหนกลางแล้ว ผมมองว่ามหาเถรสมาคมอยู่ในฐานะลำบากใจว่าจะเอายังไง เพราะช่วงที่ผ่านมาธรรมกายทำอะไรในลักษณะที่ช่วยเหลือมหาเถรสมาคมเยอะ เช่น ตักบาตรหมื่นรูป จัดกิจกรรมศาสนาใหญ่ๆ บริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ เอางบประมาณลงไปช่วยเหลือพระภาคใต้

ผมคิดว่าในมุมมองของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมคงจะมองแง่บวกต่อธรรมกาย

คิดยังไงที่ธรรมกายตั้งรับเต็มที่ สร้างป้อมปราการ เรียกพระจากทุกสาขากลับวัด ระดมศิษยานุศิษย์เพื่อปกป้องเจ้าอาวาส

อย่างที่ผมบอก ธรรมกายเป็นเหมือนลัทธิ ความศรัทธาที่มีต่อเจ้าอาวาสมันอยู่เหนือเหตุผลไปแล้ว เขาประกาศตัวเองว่าเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของเจ้าอาวาส ทั้งที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์เลยด้วยซ้ำ ลักษณะปกป้องตัวเองแบบนี้เคยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโดนคดีครั้งแรกเมื่อปี 2541 แล้ว ตรงนี้ก็เป็นจุดอ่อนของวัดธรรมกายเหมือนกันว่า คุณไม่ยอมรับกระบวนการทางกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา คุณกำลังสร้างพลังต่อรอง พูดตรงๆก็เหมือนกับกำลังแสดงอภิสิทธิ์อะไรบางอย่าง

ยกตัวอย่างว่าถ้าคุณกล่าวหาว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทุจริต ถ้ามหาวิทยาลัยตั้งป้อมปราการแบบนี้ ก็จะถือว่าต่อต้านรัฐ ต่อต้านกฎหมาย ถ้าเป็นสถานการณ์ในรัฐบาลปกติ คุณไม่ควรทำแบบนั้น แต่ธรรมกายก็เคยทำมาแล้ว และสุดท้ายก็ใช้กลไกของพระผู้ใหญ่คือวัดชนะสงครามให้ธัมมชโยมารับทราบข้อกล่าวหา  ในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย การทำตรงนั้นธรรมกายไม่มีความชอบธรรม แต่ประเด็นคือ ตอนนี้กระบวนการที่ไปจัดการกับธรรมกายทำให้เขามีความชอบธรรมที่จะปกป้องตัวเอง ทำให้เขาอ้างได้ว่ามีความชอบธรรมที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม

อะไรคือบทเรียนที่ธัมมชโยได้รับจากคดีที่แล้ว

การรอดครั้งนั้นอัยการสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุผลว่าพระธัมมชโยคืนเงินให้ทางวัดแล้ว ถ้าดำเนินคดีต่อไปก็จะเกิดความวุ่นวายในหมู่ชาวพุทธ เพราะธรรมกายมีคนศรัทธาเป็นจำนวนมาก ผมมองว่าเหตุผลตรงนี้มันไม่เคลียร์

คนที่ตั้งข้อกังขาเรื่องธรรมวินัยก็จะบอกว่า ถ้าเอาเงินไปเป็นของส่วนตัว แม้บาทเดียวก็ต้องขาดจากความเป็นพระ แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า ในข้อเท็จจริงแล้วธัมมชโยซื้อที่ดินด้วยชื่อตัวเองก็จริง แต่ที่ดินนั้นเป็นชื่อของธัมมชโยจริงไหม พระธัมมชโยได้เอาไปเป็นสมบัติของตัวเองจริงหรือว่ายังเป็นของวัดอยู่ ทางคณะสงฆ์วัดธรรมกายและญาติโยมเขาก็ยอมรับในการบริหารจัดการแบบนี้คือยอมให้เจ้าอาวาสถือเงินและบริหารจัดการ โดยเชื่อว่ายังเป็นของวัดอยู่ ถ้าเขาเชื่อกันแบบนั้นมันก็เอาผิดทางธรรมวินัยไม่ได้ แต่ธรรมกายก็ไม่ได้พูดออกมาชัดเจนว่าระบบการบริหารจัดการเงินเป็นอย่างไร ตรงนี้ไงที่ผมบอกว่าการแยกศาสนาออกจากรัฐมันจะช่วยทำให้โปร่งใส

วิพากษ์ "ปรากฎการณ์โค่นธรรมกาย" สุรพศ ทวีศักดิ์

บทสรุปของธัมมชโยในคดีนี้จะเป็นอย่างไร

ตามกระบวนการที่กำลังทำอยู่ ในที่สุดก็จะมีการเจรจานำไปสู่ข้อสรุปที่พบกันครึ่งทาง นั่นคือ มอบตัว รับทราบข้อกล่าวหา และอนุญาตให้ประกันตัว หลังจากนั้นธรรมกายจะยื้อต่อไปให้นานที่สุด

ขณะเดียวกัน คสช.คงไม่กล้าเร่งรัดตามเสียงเรียกร้องของกองเชียร์ ผมคิดว่าเขาไม่กล้าแตกหักถึงขั้นนั้น และผมเชื่อว่าภายในคสช.เองก็ไม่ได้มีเอกภาพในเรื่องนี้ ถ้าคสช.กล้าทำแบบนั้นก็หมายความว่าเขาต้องเปิดศึกหลายด้าน ไหนจะเรื่องประชามติที่พรรคการเมืองต่างๆก็ไม่ค่อยจะสนับสนุนเต็มที่เท่าไหร่ นี่ก็ศึกหนัก ถ้ามาเปิดศึกกับธรรมกาย ซึ่งมีมวลชนเยอะทั้งในและต่างประเทศ ภาพลักษณ์คสช.จะเสียหาย ในประเทศ คนที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยแม้ไม่ได้สนับสนุนธรรมกาย แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแบบนี้ ส่วนในต่างประเทศคสช.อาจถูกมองว่าใช้อำนาจเผด็จการรังแกแม้กระทั่งพระ ละเมิดเสรีภาพทางการเมืองไม่พอ ยังละเมิดเสรีภาพทางศาสนาด้วย

แล้วทางออกที่เหมาะสมควรในทัศนะของอาจารย์คืออะไร

ผมขอเสนอว่าน่าจะพบกันครึ่งทาง พระธัมมชโยมอบตัว เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และให้ประกันตัว แต่ให้เรื่องคาไว้ก่อน ยังไม่ต้องเร่งรัดที่จะเอาเข้าคุก รอให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เป็นกลาง ไม่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายไหน แล้วค่อยตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยฝ่ายต่างๆมาร่วมกันดำเนินการซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่ามีความเป็นกลาง แบบนั้นน่าจะดีกว่า

ผมไม่ได้เลื่อมใสธรรมกาย แต่ผมยืนยันในหลักการประชาธิปไตย ถ้าเราใช้กระบวนการที่ถูกตั้งคำถามว่าไม่มีชอบธรรมให้เดินหน้าต่อไปมันจะไม่ช่วยแก้ปัญหา รังแต่จะเพิ่มปัญหามากขึ้นด้วยซ้ำ สมมติคุณจับพระธัมมชโยสึกได้ตามที่กองเชียร์เรียกร้อง คำถามต่อไปคือ แล้วคุณจะบริหารศรัทธาของคนจำนวนมากได้ยังไง ถ้าเขาลุกฮือ ไม่ยอมรับ หรือต่อต้านกระบวนการนี้

อาจารย์สมภาร พรมทา (อาจารย์ประจำคณะภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า ลักษณะของสำนักพุทธศาสนาแบบธรรมกาย หรือสันติอโศกมีความเป็นลัทธิ คำว่าลัทธิหมายถึงมีผู้นำที่มีบารมีสูง มีคนศรัทธาชนิดมอบกายถวายชีวิตให้ ซึ่งต่างจากวัดทั่วๆไป ฉะนั้นวิธีที่เราจะปฏิบัติต่อสำนักแบบนี้ต้องมีความละเอียดอ่อน คำว่าละเอียดอ่อนไม่ได้หมายความว่าไปให้อภิสิทธิ์ ทำอย่างเสมอภาคนั่นแหละ เพียงแต่เราต้องคำนึงถึงคนเป็นจำนวนมากด้วย ถ้าคุณใช้กระบวนการที่ถูกตั้งคำถามว่าไม่ชอบธรรมเข้าไปจัดการเด็ดขาดมันอาจสะใจฝ่ายหนึ่ง แต่ประวัติศาสตร์บอกเราแล้วว่า เมื่อตอนที่คุณกล่าวหาว่าธรรมกายสอนบิดเบือนธรรมวินัย กล่าวหาว่าธัมมชโยปราชิกตั้งแต่คดีก่อน จนถึงวันนี้ญาติโยมของธรรมกายไม่ได้ลดลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้น ธรรมกายไม่ได้เล็กลง มีแต่โตขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

เหมือนกับคุณคิดว่าจะกำจัดทักษิณไปจากการเมือง ปรากฎว่าคนที่รักทักษิณไม่ได้ลดลง แม้แต่คนที่เคยเกลียดทักษิณตอนนี้ก็เริ่มเห็นแล้วว่ากระบวนการที่เผด็จการมันสร้างปัญหามากกว่า เขาอาจไม่ได้เชียร์ทักษิณ แต่เขาเห็นปัญหาของกระบวนการที่ไม่ถูกต้องมันนำพาบ้านเมืองมาจนถึงวันนี้ โอเค คุณอาจชนะทักษิณได้ ทำให้ทักษิณกลับประเทศไม่ได้ ปิดปากคนได้ แต่คุณไม่สามารถเปลี่ยนให้คนมาเห็นด้วยและมาอยู่ฝ่ายคุณได้ มีแต่ฝ่ายเขาจะเพิ่มขึ้น แม้แต่ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณแต่ยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็จะเริ่้มไปเห็นอกเห็นใจฝ่ายนั้น เห็นอกเห็นใจธรรมกาย กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการจัดการกับธรรมกาย ไม่ได้หมายความว่าเขาเชื่อว่าพระธัมมชโยไม่โกง ไม่ได้เชื่อว่าบริสุทธิ์ คนละเรื่องกัน

ถ้าเรายืนยันหลักการประชาธิปไตย ถึงผู้ถูกกล่าวหาทำผิดจริง เราก็ต้องยืนยันกระบวนการที่จะดำเนินการกับเขาให้ถูกต้อง

วิพากษ์ "ปรากฎการณ์โค่นธรรมกาย" สุรพศ ทวีศักดิ์