posttoday

"ปฏิรูปสงฆ์ไม่ได้ก็อย่าคิดไปปฏิรูปประเทศ" พระไพศาล วิสาโล

26 กุมภาพันธ์ 2558

สัมภาษณ์พิเศษ "พระไพศาล วิสาโล" ว่าด้วยกรณีวัดพระธรรมกาย มหาเถรสมาคม และการปฏิรูปคณะสงฆ์

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

อาจกล่าวได้ว่า เวลานี้พุทธศาสนาในเมืองไทยกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตถึงขีดสุด

ไม่ว่าจะเป็นความประพฤติไม่เหมาะสมตามพระธรรมวินัย อาศัยผ้าเหลืองเข้ามาหากิน ย่อหย่อนในการศึกษาและปฏิบัติภาวนา แก่งแย่งชิงยศถาสมณศักดิ์ ตั้งลัทธิบิดเบือนคำสอนขององค์สัมมาพระพุทธเจ้า สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่วงการพุทธศาสนา จนทำให้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยพากันเสื่อมศรัทธา

พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก่งคร้อ จ.ชัยภูมิ เจ้าของผลงานศึกษาวิจัยเรื่อง "พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต" เมื่อปี 2546 เชื่อว่า การที่จะนำพาพระพุทธศาสนาให้พ้นจากวิกฤตไปได้ต้องมีความเข้าใจในภาวะอันซับซ้อนที่ห่อหุ้มพุทธศาสนาในเมืองไทยเสียก่อน และถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปโครงสร้างของคณะสงฆ์อย่างจริงจัง

มิเช่นนั้น เราอาจได้เห็นความล่มสลายของพุทธศาสนาเกิดขึ้นในยุคสมัยของเราเป็นได้

ถาม : วิกฤตที่เกิดขึ้นกับพุทธศาสนาในบ้านเราเวลานี้ เรื่องใดน่าเป็นห่วงที่สุด?

เรื่องแรกที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ วิกฤตการณ์ในคณะสงฆ์ไทย พระสงฆ์มีคุณภาพตกต่ำลงเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่ความรู้ในทางพุทธธรรมมีน้อย แต่ที่หนักกว่านั้นเป็นเรื่องอาจาระ หมายถึงความประพฤติดีงาม เรื่องธรรมวินัย มันย่ำแย่ถดถอยจนทำให้มีพระนอกรีตนอกรอยมากขึ้น มีพระอย่างธัมมชโย เณรคำ ยันตระ และอีกมากมายสารพัดตกเป็นข่าวคาวอื้อฉาวและพบเห็นได้ตามท้องถนนทั่วไป มันไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในหมู่ประชาชน แต่ยังทำให้เกิดลัทธิพิธีต่างๆขึ้นมากมาย ทั้งไสยศาสตร์ พุทธพาณิชย์ ความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากหลักธรรมของพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนาโดยรวมตกต่ำลงไป คนมองพระพุทธศาสนาว่าเต็มไปด้วยพิธีกรรม มีความเชื่อที่งมงาย พระสงฆ์ก็ประพฤติตัวไม่น่านับถือ

เรื่องที่สอง การประพฤติปฏิบัติที่เสื่อมโทรมลงไปของชาวพุทธโดยรวม เราจะพบว่าปัญหาคอร์รัปชั่น อาชญากรรม ยาเสพติด ทำแท้ง ทั้งหมดเป็นเรื่องผิดศีลทั้งนั้น แต่จะเกิดขึ้นได้น้อย หากพุทธศาสนามีความเจริญมั่นคง ซึมซาบอยู่ในเนื้อตัวของประชาชน ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะคนไม่มีความเข้าใจในเรื่องหลักธรรมและไม่สามารถนำเอาคำสอน ไปปฏิบัติได้ มันสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการเผยแผ่ธรรมะในหมู่ประชาชน รวมถึงพุทธศาสนาไม่มีแรงต้านทานต่อกระแสบริโภคนิยมและวัตถุนิยม อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคมมากมายดังที่เห็นในทุกวันนี้

เรื่องที่สาม ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน นอกจากประชาชนเสื่อมศรัทธาพระสงฆ์ ยังมีความเหินห่างแตกแยก พระสงฆ์จะทำตัวอย่างไร ชาวพุทธก็ไม่สนใจไม่เอาใจใส่ ตรงนี้ทำให้พระมีพฤติกรรมย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ และทำให้วิกฤตในคณะสงฆ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อพระเหินห่างจากชาวบ้าน ทำให้รัฐเข้ามาครอบงำกำกับคณะสงฆ์ รวมทั้งผู้มีอำนาจในทางเศรษฐานะ เช่น นายทุน พากันเข้ามา ทำให้พระสงฆ์มีความเหินห่างประชาชนในสังคมมากขึ้น ไม่สามารถตอบสนองกับปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นได้

ถาม : จากงานวิจัยเรื่อง "พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต" ที่ระบุว่า ปัญหาสำคัญด้านองค์กรสงฆ์ไทย มี 4 ประการคือ โครงสร้างที่รวมศูนย์และไร้ประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์กับรัฐที่ใกล้ชิดจนเกินไป ความเหินห่างจากสังคม และกระบวนการคัดกรอง กำกับ กล่อมเกลาคุณภาพของผู้ที่จะมาบวชเป็นพระ ช่วยอธิบายให้ฟังอีกครั้งได้ไหม?

ทุกวันนี้ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ และแย่ลงเรื่อยๆ

ประการแรก โครงสร้างที่รวมศูนย์และไร้ประสิทธิภาพ ระบบการปกครองของสงฆ์ไทยในปัจจุบันเป็นการปกครองแบบรวมศูนย์ อยู่ในมือของคนเพียงแค่ 20 คน ที่มันแย่ก็คือ 20 คนนี้ตามความจริงแล้วไม่ใช่ผู้บริหารหรือผู้ปกครอง เพราะไม่ได้ทำการบริหารเลย มหาเถรสมาคมจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อมีการประชุมกัน ออกจากการประชุมก็ไม่มีความรับผิดชอบติดตัวไปเลย ลองนึกภาพรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ถึงแม้จะออกจากที่ประชุมครม.ไปแล้วก็ยังมีหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ แต่มหาเถรสมาคมพอออกจากการประชุมมติก็เป็นอันจบกัน กรรมการมหาเถรสมาคมไม่มีหน้าที่ติดตัวไปด้วย เพราะฉะนั้นมหาเถรสมาคมมีหน้าที่แค่ออกคำสั่งและลงมติเท่านั้นเอง แต่ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารให้เป็นไปตามมตินั้น

นอกจากนี้ยังไม่มีกระบวนการตรวจสอบใดๆทั้งสิ้น ยกตัวอย่างคณะรัฐมนตรีต้องขึ้นตรงต่อสภา มีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระอย่างปปช. ปปง. สตง. แต่คณะสงฆ์ไม่มีเลย คุณทำผิดพลาดอย่างไรก็ยังเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมไปตลอดชีวิต จะหมดวาระก็ต่อเมื่อลาสิกขา มรณภาพ และมีพระบรมราชโองการถอดยศเท่านั้น ซึ่งการรวมศูนย์มันรวมทุกระดับตั้งแต่ประเทศก็อยู่ในอำนาจของมหาเถรสมาคม จังหวัดก็อยู่ที่เจ้าคณะจังหวัดรูปเดียว เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลก็เหมือนกัน

ลองนึกภาพตามว่าคณะสงฆ์ควบคุมเครือข่ายทั่วประเทศ แต่การปกครองอยู่แค่กับคน 20 คน แถมอายุรวมกันกว่า 2,000 ปีในการดูแลพระสงฆ์ทั่วประเทศ มันไม่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว โอกาสที่จะมีการวิ่งเต้น ใช้เส้นสาย หรือล็อบบี้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนกัน เพื่อให้มหาเถรสมาคมมีมติในทางที่เป็นคุณเป็นโทษต่อใครนั้นก็ง่ายมาก ระบบแบบนี้ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการปกครอง ทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการฉ้อฉลขึ้นด้วย เราจึงเห็นว่าเวลามีเรื่องใหญ่ขึ้น มติของมหาเถรสมาคมมักไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของประชาชน อาจจะเชื่องช้าในกรณีของเณรคำ ยันตระ หรือขัดสายตาประชาชนอย่างกรณีธัมมชโยซึ่งเป็นแบบนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากการปกครองที่รวมศูนย์

ในมุมมองของอาตมา การปกครองคณะสงฆ์จะเรียกว่าปฏิรูปอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อมีการกระจายอำนาจให้มากขึ้น แทนที่จะใช้วิธีการปกครองแบบเดิมคือ สั่งการจากบนลงล่าง หรือปกครองแบบรวมศูนย์ทำนองเดียวกับมหาเถรสมาคม แต่ควรแบ่งแยกหน้าที่บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการออกจากกันอย่างชัดเจน โดยคณะผู้บริหารอาจเรียกว่า สังฆมนตรี รับผิดชอบในการบริหารคณะสงฆ์ โดยมีอำนาจหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่มีอำนาจในการออกมติหรือคำสั่งเฉพาะเวลามาประชุมกันเท่านั้น ส่วน มหาสังฆสภา ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบของคณะสงฆ์ ตลอดจนให้ความเห็นชอบต่อนโยบายและแผนงานของคณะสังฆมนตรี สำหรับการพิจารณาวินิจฉัยลงโทษพระสงฆ์ที่ปฏิบัติผิดธรรมวินัยให้เป็นหน้าที่ของ คณะวินัยธร ซึ่งมีตั้่งแต่ชั้นต้นไปจนถึงชั้นฎีกา

ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องเปิดช่องให้ความเห็นจากระดับล่างมีผลต่อการทำงานในระดับนโยบายด้วย นโยบายต่างๆ เช่น นโยบายหรือแผนการศึกษาของคณะสงฆ์ ไม่ควรจะคิดและตัดสินในที่ประชุมมหาคณิสสรที่มีอำนาจเท่านั้น แต่ควรให้พระสงฆ์ทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและกำหนดด้วย ด้านการบริหารก็ควรจะกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางให้มากขึ้น กระจายเป็นลำดับจากจังหวัด อำเภอ ลงไปถึงตำบล เพื่อให้คณะสงฆ์ในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นทำงานได้คล่องตัวและตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะท้องที่ได้ดีขึ้น

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดจนเกินไปกับรัฐ ต้องเข้าใจว่าประเพณีของคณะสงฆ์ไทยจะมีความสัมพันธ์กับสองกลุ่มใหญ่คือ รัฐกับประชาชน ในอดีตจะเป็นความสัมพันธ์แบบพอดีๆ แต่หลังการปฏิรูปคณะสงฆ์สมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้คณะสงฆ์ใกล้ชิดกับรัฐมากขึ้น และรัฐก็เข้ามาควบคุมคณะสงฆ์อย่างใกล้ชิด สมัยรัชกาลที่ 5 มหาเถรสมาคมเป็นแค่ที่ปรึกษา ผู้ปกครองสูงสุดคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั่งหัวโต๊ะเลย กรรมการมหาเถรสมาคมมีหน้าที่เพียงแค่รับสนองพระราชโองการและให้คำปรึกษา ถือว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐมาก จะเห็นได้ว่าคณะสงฆ์จะตอบสนองนโยบายรัฐบาลตลอด เช่น นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ แม้ระยะหลังจะห่างออกมาบ้าง แต่รัฐก็ยังเข้ามาควบคุม อย่างเช่น เลขาธิการมหาเถรสมาคมคือใคร ผอ.สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ การแต่งตั้งพระราชาคณะ การแต่งตั้งกรรมการกรรมการมหาเถรสมาคม แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ก็เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี

นี่คือการที่คณะสงฆ์มีความสัมพันธ์กับรัฐใกล้ชิดเกินไปจนเหินห่างจากสังคม ทำให้คณะสงฆ์ไม่เป็นตัวของตัวเอง ได้แต่โอนเอียงตามอำนาจขอบบ้านเมือง ไม่ค่อยตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมไม่สนใจความทุกข์ยากเดือดร้อนของพุทธศาสนิกชนเท่าที่ควร

แตกต่างจากพระในชนบทที่เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้าน สมัยก่อน พระสงฆ์กล้าทวงติงพระราชา ผู้ปกครอง เหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)ที่ท้วงติงรัชกาลที่ 4 ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะไม่ได้มีผลประโยชน์ผูกพัน ไม่ได้รับการอุปถัมภ์ คุณรู้ไหม สมณศักดิ์ มีหลากหลายประเภทและมาจากการแต่งตั้งของชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ ภายหลังรัชกาลที่ 5 ทำให้สมณศักดิ์มีแค่อย่างเดียวคือ สมณศักดิ์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระราชา

ความเหินห่างจากสังคม เมื่อคณะสงฆ์ไม่ค่อยแคร์ชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่สนใจพระ ไม่สนใจวัด ยกตัวอย่างง่ายๆ หลายวัดรวยมหาศาลแต่ชาวบ้านรอบวัดมีฐานะยากจน บางครั้งก็ไล่รื้อที่ชาวบ้านเพื่อทำที่ดินไปสร้างศูนย์การค้า เช่น วัดยานนาวาที่มีการสร้างคอนโดมิเนียมสูงติดกับวัด ต่างจากสมัยก่อนที่พระกับชาวบ้านใกล้ชิดกันมาก ชาวบ้านบริจาคที่ดินให้วัด รอบวัดก็มีปลูกบ้านเต็มไปหมดจนเป็นสลัม เพราะวัดให้เช่าในราคาถูกๆ สภาพการณ์เช่นทุกวันนี้จึงทำให้ชาวบ้านไม่ศรัทธาพระ รู้สึกว่าวัดกลายเป็นของคนรวย ชาวบ้านจึงปล่อยไม่สนใจแล้ว เพราะไม่รู้สึกว่าวัดเป็นของชาวบ้าน อย่างวัดป่าสุคะโตที่อาตมาอยู่ พอออกพรรษา ชาวบ้านต้องนิมนต์ให้อยู่ต่อ อาตมาเป็นเพียงผู้มาอาศัย เวลาอาตมาจะทำอะไรก็ต้องปรึกษาชาวบ้าน เพราะวัดเป็นของชาวบ้าน

กระบวนการกลั่นกรอง กำกับ กล่อมเกลาผู้ที่จะมาบวช สมัยก่อนวัดเปิดกว้างให้ใครมาบวชก็ได้ พระอุปัชฌาย์จะคอยกล่อมเกลาให้เป็นคนดี การกลั่นกรองจะเกิดขึ้นแบบหยาบๆ เพราะคนที่มาบวชพระก็เป็นชาวบ้านในหมู่บ้าน สืบถามได้หมดว่าใครเป็นลูกเต้าเหล่าใคร นิสัยยังไง จะเป็นติดยา อันธพาล เกฬวราก เจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌาย์ก็ดูแลได้ทั่วถึง สามารถกล่อมเกลาให้เป็นคนดีขึ้นได้จริงๆ แต่สมัยนี้พระอุปัชฌาย์ตำบลหนึ่งมีได้รูปเดียวและต้องดูแลพระปีนึงๆเป็นร้อย เขาเรียกว่าพระอุปัชฌาย์เป็ด ฟักไข่ออกมาแต่ไม่ได้เลี้ยง ไม่มีเวลาดูแลสั่งสอน เจ้าอาวาสก็ไม่มีความรู้ และก็ไม่สนใจที่จะดูแลด้วย คนที่บวชมาเมื่อไม่ได้รับการกล่อมเกลาก็กลายเป็นว่าอยู่สบายกินสบาย นั่งๆนอนๆ เอาแต่เงิน ทำให้คุณภาพพระยุคนี้ตกต่ำ

สุดท้ายคือ การศึกษาของสงฆ์ จริงๆการมาบวชเป็นพระในวัดมันควรจะต้องมีการศึกษา จะเป็นการศึกษาในรูปแบบหรือนอกรูปแบบก็แล้วแต่ สมัยก่อนจะสอนกันนอกรูปแบบ สอนเวลาทำวัตรสวดมนต์ เวลาฉันก็สอนไป สอนอย่างไม่เป็นทางการ ปัจจุบันการสอนในรูปแบบก็มีบ้างไม่มีบ้างตามยถากรรม ขณะที่การสอนนอกรูปแบบก็ละเลย ที่มันแย่คือ แม้จะมีการศึกษาในวัดแต่พระก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียน เพราะน่าเบื่อมาก เป็นระบบท่องจำ พระก็เครียด ไม่รู้จะเรียนไปทำไม เรียนไปก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เวลาสอบก็จะโกง ลอกข้อสอบ แอบใช้โทรศัพท์มือถือโจ๋งครึ๋มยิ่งกว่าฆราวาส ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาของสงฆ์นั้นล้มเหลว ทั้งในแง่ของการเรียนรู้ ในแง่ของการกล่อมเกลาให้เป็นคนดีมีคุณธรรม การฝึกสมาธิภาวนา ส่งผลให้พระไม่มีคุณภาพ วินัยก็ย่อหย่อน ปฏิบัติผิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ

ถาม : ทุกวันนี้ สังคมมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งอาชีพ ชนชั้น การศึกษา ความสนใจ ทำให้พุทธศาสนาต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงจนแตกแขนงออกเป็นหลายลัทธิ เพื่อให้เข้ากับรสนิยมของชาวพุทธแต่ละคน จนอาจทำให้ไม่มีความเป็นเอกภาพ ประเด็นนี้น่าวิตกกังวลมากแค่ไหน?

ต้องยอมรับความจริงว่าในปัจจุบันมันเป็นเอกภาพไม่ได้แล้วล่ะ มันต้องมีความหลากหลาย แต่ควรเป็นความหลากหลายที่มีแกนกลางร่วมกัน เช่น พระป่า พระเมือง พระนักเทศน์ พระนักอนุรักษ์ อันนี้ก็คือความหลากหลาย แต่มีแกนกลางนั่นคือธรรมวินัย ไม่ว่าจะพระป่าหรือพระเมืองต้องปฏิบัติตามธรรมวินัยที่ใกล้เคียงกัน ตรงนี้อาตมาคิดว่าไม่เสียหาย

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ มันเป็นความหลากหลายแบบที่เรียกว่ากลายเป็นอนาธิปไตยเลยก็ว่าได้ ต่างคนต่างทำ ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ใดใดทั้งสิ้น ถ้าเป็นนิกายอื่นไปเลยก็ไม่มีใครว่า เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ายังอ้างว่าเป็นเถรวาท มันต้องมีกรอบต้องมีหลักที่ร่วมกัน แต่ตอนนี้มันหลากหลายและห่างไกลจากพระธรรมวินัยมาก โดยที่ยังอ้างว่าเป็นเถรวาท นี่จึงเป็นปัญหา

ถาม : คิดอย่างไรต่อกรณีวัดพระธรรมกายที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการดึงคนเข้าวัด แต่ขณะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าบิดเบือนหลักธรรมคำสอนจนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย

ถ้าวัดพระธรรมกายเป็นลัทธินิกายอื่นคงไม่มีปัญหา อาตมาก็อาจจะไม่ค่อยมาสนใจเท่าไหร่ แต่พอเป็นเถรวาท และสอนคำสอนของเถรวาทขั้นพื้นฐานเช่น เรื่องบุญ หรือขั้นสูงอย่างเรื่องอนัตตา ก็ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ปัญหาอย่างหนึ่งของวัดพระธรรมกายที่ยอมรับได้ยากคือ วิธีที่ไม่ค่อยถูกกฎหมาย เข้าขั้นหลอกลวงเอาเงินจากผู้คน เช่น กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนียน มันส่อให้เห็นว่ามีการสมคบกันในการที่จะเอาเงินจากสหกรณ์เป็นพันๆล้าน  ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ผิดทั้งนั้น หรือเรื่องบุญที่สอนว่าบริจาคมากเท่าไหร่ก็ได้บุญมากเท่านั้น ต้องปิดบัญชีทางโลกถึงจะเปิดบัญชีทางธรรมได้ พระรุ่นดูดทรัพย์ สอนว่าโคตรรวย โคตรรวย โคตรรวย อันนี้ไม่ใช่คำสอนทางพุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่ได้เอาความร่ำรวยเป็นสรณะ เมื่อเขาอ้างว่าทำในนามของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาเถรวาทและผิดพลาด ก็เกิดความเสียหายต่อพุทธศาสนา อาตมาคิดว่าชาวพุทธจึงจำเป็นต้องใส่ใจและไม่ควรนิ่งเฉย

ถาม : ผ่านมาเป็นสิบปีแต่ปัญหายังไม่ได้รับการสะสาง มุมมองของท่านควรทำอย่างไร

ต้องทำความถูกต้องให้เกิดขึ้น ถ้าเป็นเรื่องธรรมวินัยนี่ถึงขั้นปาราชิกแล้วนะ มันเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะเกิดขึ้น 10 ปีหรือ 20 ปีที่แล้ว ถ้าขาดจากความเป็นพระแล้ว สิ่งที่ทำมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าเป็นโมฆะหมด เรื่องระยะเวลาจะผ่านไปกี่ปีไม่สำคัญหรอก แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าไอ้ที่ผ่านมามันถูกต้องไหม ถ้าไม่ถูกต้องก็ทำให้มันถูกต้องเสีย ไม่งั้นจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย บางคนบอกว่าทำไมต้องมารื้อฟื้น เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยก อาตมามองว่าถ้าเราไม่ทำให้ปัญหายุติอย่างถูกต้องชอบธรรมมันก็จะไม่ยุติอย่างแท้จริง มันก็จะสงบชั่วคราว แล้วจะปะทุ ลุกลามขึ้นใหม่

ดูอย่างกรณีธัมชโยเมื่อปี 2542 ที่จบลงแบบไม่กระจ่าง ไม่ขาวสะอาด ผ่านมา 16 ปีพอคนจุดประเด็นขึ้นมามันก็กลับมาเป็นเรื่องราวใหญ่อีก เพราะ 16 ปีที่แล้วมันยุติลงแบบกลบเกลื่อนทั้งทางโลกและทางธรรม ทางธรรมก็คือ มหาเถรสมาคมมีมติที่ขัดกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชและขัดกับหลักธรรมวินัย ทางโลกก็มีความเคลือบแคลงเพราะจู่ๆอัยการสูงสุดก็ถอนฟ้องทั้งที่คดีใกล้จะพิพากษาแล้ว เป็นธรรมดาที่สังคมจะเรียกร้องให้กลับมาเริ่มกันใหม่ ถ้าเราอยากให้เรื่องมันจบเร็วๆก็ต้องทำให้เรื่องมันยุติลงอย่างถูกต้องใสสะอาด จะได้ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก

ถาม : ที่ผ่านมา การปฏิรูปสงฆ์โดยคณะสงฆ์เองเกิดขึ้นได้ยาก แล้วในยุคแห่งการ"ปฏิรูป"ภายใต้รัฐบาลคสช.แบบนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

อาตมาไม่ค่อยเชื่อเรื่องการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร มันได้ผลแค่ชั่วคราว สมมติว่ารัฐบาลเสนอพรบ.การปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่มีอยู่ ซึ่งอาจมีผลทำให้ยุบมหาเถรสมาคม หรือทำให้มหาเถรสมาคมเป็นแค่ที่ปรึกษา แล้วมีองค์กรบริหารใหม่ที่กระฉับกระเฉงฉับไวมาแทนที่ อาตมาก็ไม่คิดว่ามันจะสำเร็จ เพราะจะมีพระสงฆ์ออกมาประท้วงกันมากมาย ถ้าคุณจำได้เมื่อปี 2544 เมื่อกรณีวัดธรรมกายตกเป็นข่าวโด่งดังข้ามปี รัฐบาลก็ออกร่างพรบ.ฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อปฏิรูปการปกครองของคณะสงฆ์ โดยให้มหาเถรสมาคมเป็นแค่องค์กรที่ปรึกษา เรียกว่ามหาเถรสภา และมีการตั้งองค์กรปกครองบริหารคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ชื่อ มหาคณิสสร ผ่านครม.มาแล้วนะ แต่เข้าสภาไม่ได้ เพราะถูกประท้วงจากพระสงฆ์ สุดท้ายเรื่องนี้ก็เลยถูกเก็บเข้าลิ้นชัก

ถ้ารัฐบาลคสช.ออกกฎหมายอะไรมาก็ตาม อาตมาไม่คิดว่ามันจะผ่านได้ง่ายๆ ถึงผ่านมาได้แต่คงไม่มีการปฏิบัติ อาตมาจึงไม่เชื่อเรื่องการปฏิรูปโดยใช้อำนาจจากเบื้องบน อำนาจที่ใช้ได้อย่างเดียวคืออำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ในตอนนี้ เพราะมันมีสิทธิ์โดยชอบธรรม เช่น บังคับใช้กฎหมายกำจัดพระอลัชชีทั้งประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถทำได้ทันที หรือส่งเสริมการศึกษาคณะสงฆ์ ก็ทำได้เลย เรื่องนี้อาตมาว่าน่าทำมาก คงมีเสียงค้านน้อย แต่คนทำต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการศึกษาคณะสงฆ์ รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคณะสงฆ์เป็นอย่างดี การปฏิรูปสงฆ์ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย แต่ต้องใช้ความรู้สติปัญญา ความเห็นพ้องต้องกันเป็นสำคัญ แม้จะมีผู้เสียประโยชน์บ้างก็เป็นส่วนน้อย อาจจะจัดองค์กรขึ้นมาเพื่อให้มันได้เสียงที่เป็นข้อสรุปร่วมกันของภาคประชาสังคม

ถาม : เรื่องการปฏิรูปสงฆ์ในเมืองไทยถือเป็น Mission Impossible ไหม

มันต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ สิ่งที่เราไม่อยากเห็นก็จะเกิดขึ้นนั่นคือ ความเสื่อมสลายของพุทธศาสนา พุทธศาสนาจะเหลือแต่รูปแบบ ไม่มีแก่นเนื้อหาสาระ หากคิดจะปฏิรูปประเทศอย่างที่กำลังทำกันอยู่ในตอนนี้ ถ้าคุณปฏิรูปคณะสงฆ์ไม่ได้ ก็อย่าปฏิรูปประเทศเลย พระสงฆ์มีแค่ 2 แสนรูปแต่คนไทยมีตั้ง 73 ล้านคน ถ้าคิดว่าการปฏิรูปสงฆ์เป็น Mission Impossible ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศแล้ว เพราะนั่นมันใหญ่กว่าเยอะ