posttoday

กูรูเจาะนโยบาย 'ทรัมป์' ดีต่อเศรษฐกิจไทย

11 พฤศจิกายน 2559

แม้ว่าตลาดการเงินของโลกตอบรับในเชิงลบต่อการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ แต่สำหรับไทยยังมีช่องทางที่จะรับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจ

แม้ว่าตลาดการเงินของโลกตอบรับในเชิงลบต่อการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ แต่สำหรับประเทศไทยยังมีช่องทางที่จะรับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดผยว่า สิ่งที่จะทำให้ไทยได้มุมมองบวกคือ การที่ทรัมป์มีนโยบายยกเลิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ทำให้การรวมกลุ่มที่จะได้ประโยชน์รองลงมาน่าจะเป็นการตกลงผู้ผลิตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (ACEP) หรือ อาเซียนบวก 6 ซึ่งส่งผลดีต่อการค้าไทยด้วย และเชื่อว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะไทยไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกกีดกันทางการค้า

สำหรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้ หากสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐนิ่ง ไม่มีการประท้วง ส่วนพื้นฐานของสหรัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น

เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ไทยได้มุมบวกที่ ACEP จะได้ประโยชน์มากขึ้น หลังจากที่สหรัฐจะยกเลิกทีพีพี ซึ่งไทยไม่ได้เป็นสมาชิก และมองว่าเฟดจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยเดือน ธ.ค.ไปก่อน เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง

อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า จะกระทบทำให้การส่งออกไทยปี 2560 เติบโตเหลือ 0-1% จากเดิมคาดว่าจะโต 2% ส่งผลให้จีดีพีไทยโตต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าจะโตถึง 3.5% แต่ทั้งหมดก็ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนหลังทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2560 ซึ่งอาจจะไม่ดำเนินนโยบายได้ทั้งหมดเหมือนช่วงที่หาเสียงเอาไว้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แนวทางการบริหารประเทศของทรัมป์ที่มุ่งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ และการที่สหรัฐน่าจะใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในปี 2560 ขยายตัวใกล้เคียง 2.2% ตามที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นการลงทุนแบบสุดขั้ว เช่น การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล อาจทำให้ปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะการขาดดุลงบประมาณที่จะเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้น กดดันให้เงินเหรียญสหรัฐมีทิศทางอ่อนค่าลง

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการเจรจาเงื่อนไขทางการค้าของสหรัฐกับประเทศต่างๆ ซึ่งน่าจะยังพอมีทางให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ และจะไม่นำไปสู่ข้อพิพาทและใช้ความรุนแรง เนื่องจากในระยะสั้นประเทศที่เป็นเป้าหมายของการกีดกัน/การตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐ เช่น จีน อาจจะยังไม่มีทางเลือกมากนักในการปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐ ต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ แต่ในระยะยาวจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นอีกปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางตลาดการเงินในระยะข้างหน้า จากการที่นโยบายการบริหารประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่คงจะมุ่งเป้าไปที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้คาดว่าเฟดจะยังคงส่งสัญญาณทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกของไทยนั้น สถานการณ์ที่ดีที่สุดต่อการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในปีหน้าจะเกิดขึ้น หากสหรัฐกับประเทศต่างๆ สามารถบรรลุการเจรจาเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นข้อตกลงร่วมกันได้ และไม่นำไปสู่ข้อพิพาทและใช้มาตรการตอบโต้ที่มีความรุนแรง