posttoday

แรงงานในอนาคตของอาเชียน

07 พฤษภาคม 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

ปัจจัยสำคัญของการลงทุนตามหลักทางเศรษฐศาสตร์ มีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ เงินทุน แรงงานและที่ดิน ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้กันมาช้านาน ใน 3 ปัจจัยในปัจจุบันนี้ เงินทุนเป็นปัจจัยที่น่าจะสำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่มีเงินทุนก็ไม่สามารถนำมาซื้อหาที่ดินได้ อีกทั้งยังไม่มีปัญญาไปจ้างแรงงานมาช่วยทำงานให้ได้

แม้บางคนจะบอกว่า ก็ทำเองหรือเกณฑ์เอาลูกหลานมาช่วยกันทำก็ได้ แต่อย่าลืมนะครับว่า การทำเองหรือเกณฑ์เอาลูกหลานมาทำนั้น ก็มีต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Costs) รวมอยู่ในนั้นด้วย หมายความว่า ถ้าตัวเราเองหรือลูกหลานไม่ได้มาทำเอง แต่ออกไปหางานอื่นๆทำข้างนอกบ้าน ก็ยังสามารถมีรายได้จากการทำงานอื่นนั้น สิ่งที่เป็นรายได้เหล่านั้นต้องนำมาคิดคำนวนเป็นตัวเงินด้วย เพื่อเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาส ที่บางท่านอาจจะละเลยไปครับ

เรามาดูทางด้านแรงงาน ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยเรา แรงงานที่ทำงานให้กับเราอยู่ มีต้นทุนที่สูงมาก แม้กลุ่มแรงงานจะมีการออกมาพูดตลอดว่า ค่าแรงขึ้นไม่ทันค่าครองชีพ ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย เพราะว่าวันนี้ค่าแรงของแรงงานไทยเรา ค่าแรงขั้นต่ำก็ปาเข้าไป 300 กว่าบาทแล้ว แต่ค่าครองชีพที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า เราหาทานก๋วยเตี๋ยวชามละสาม 30-40 บาทนั้นหายากมาก หรืออาจจะหาทานได้ แต่ก็ต้องทานสองชามจึงจะอิ่ม เพราะร้านเขาใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวมาแค่หยิบมือ ถ้านำมาชั่งดูจะไม่ถึง 50  กรัมแน่นอน

ในขณะที่ท้องคนไทยทั่วไป ต้องทานอาหารแป้งอย่างน้อย มื้อละไม่ต่ำกว่า 80 กรัมถึงจะอิ่มท้อง นี่ไม่นับรวมคนที่ตัวโตผิดปกตินะครับ ดังนั้นแรงงานที่ได้ค่าแรงมา ทานอาหารสามมื้อ ถ้าจะทานแต่นอกบ้านแบบประหยัดที่สุด ก็ต้องมีสามร้อยบาทต่อวันจึงจะอิ่มท้อง

ไหนจะค่าเดินทาง ไหนจะค่าเช่าบ้าน (ห้องเล็กๆ) ไหนจะค่าใช้จ่ายสินค้าส่วนตัวประจำวัน ดังนั้นถ้าไม่ทำอาหารทานเองที่บ้าน  ยังไงก็ไม่สามารถที่จะเก็บออมเงิน เพื่อหาซื้อบ้านหรือคอนโดฯอยู่เองได้หรอกครับ

เมื่อมองทางด้านความต้องการ (Demand) ทางด้านแรงงานในประเทศ จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ผมเชื่อว่าจะทำให้ในอนาคตข้างหน้า จะค่อยๆไม่มีคนอยากจะเป็นกลุ่มแรงงาน เพราะดิ้นรนทำงานกันไปเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถลืมตาอ้าปากกันได้

ดังนั้นมนุษย์ที่ซึ่งมีความกระหายอยากได้ใคร่มีกันทุกคน ก็จะพยายามดิ้นรนเสาะแสวงหาธุรกิจเพื่อสร้างความมั่งคั่งของตนเอง จึงทำให้ส่งผลถึงตลาดแรงงาน ที่จะเกิดการขาดแคลนแรงงานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการที่จะต้องใช้แรงงานทั้งประเภทมีฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือ ก็จะต้องเสาะหาแหล่งที่มาของแรงงาน (Supply) ใหม่ๆจากต่างประเทศ เพื่อมาชดเชยแรงงานที่ขาดหายไป นี่คือสัจจธรรมที่เราไม่อาจจะปฎิเสธได้ครับ

เรามามองย้อนหลังดูทางด้านแหล่งผลิตแรงงาน เพื่อป้อนให้แก่ตลาดที่ต้องการ ในอดีตที่ผ่านมา ช่วงยุคเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา เขาใช้วิธีนำเข้าแรงงานจากการเกณฑ์เอาทาสจากทวีฟแอฟริกาหรือเอาแค่อดีตอันใกล้ๆนี้ ทางตะวันออกกลางก็นำเอาแรงงานจากแถบอาเชียน

ญี่ปุ่นก็นำเข้าแรงงานจากเกาหลีใต้และจีน แต่พอจีนและเกาหลีใต้พัฒนาแล้ว เขาก็หันมานำเข้าแรงงานจากอเมริกาใต้และอาเชียนต่อ หรือที่ใต้หวันก็นำเข้าแรงงานจากอาเชียนเป็นต้น ในขณะที่ในส่วนของอาเชียนเอง ประเทศที่พัฒนาแล้วที่อยู่แถบนี้ เช่นสิงคโปร์ ก็นำเข้าแรงงานจากอินเดีย มาเลเชีย เมียนมาและไทยเข้าไป

ดังนั้นผมจึงอยากให้เรามาช่วยกันคิดต่อไปอีกนิด ถ้าหากประเทศไทยที่กำลังพัฒนา เข้าสู่ยุคที่พัฒนาแล้ว เราจะนำเข้าแรงงานจากที่ไหนได้ละครับ

ถ้าเราดูจากตัวเลขทางกระทรวงแรงงานได้ทำไว้ แรงงานจากต่างประเทศ ที่เข้ามาหางานทำในประเทศไทยที่มากที่สุด คือแรงงานจากประเทศเมียนมาครับ รองลงมาก็มาจากประเทศกัมพูชาและอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศที่ด้อยพัฒนา ที่อยู่ในภูมิภาคอาเชียน 10 ประเทศนี้ ก็เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศแล้ว เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา เท่านั้น

ส่วนเวียดนาม มาเลเชีย ไทย อินโดเนเชีย หรือฟิลิปปินส์ ก็ได้เดินมาไกลแล้ว คงยากที่จะเดินถอยหลังลงไปอยู่ที่ประเทศด้อยพัฒนาไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นประเทศที่พัฒนาช้าที่สุด ก็จะเห็นมีแต่ประเทศเมียนมานี่แหละครับ เป็นเพราะปัจจัยที่คอยฉุดขาเขาไว้ ก็อย่างที่เราเห็นนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด COVID-19 การปฎิวัติรัฐประหาร ที่ถูกนานาประเทศแซงชั่นอยู่ หรือการสู้รบภายในประเทศของกลุ่มกองกำลังต่างๆ จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างงรุนแรง 

เมื่อการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ไม่กล้าหรือไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลประเทศเมียนมา การลงทุนจึงหายวับไปกับตา แรงงานภายในประเทศก็พากันเดินพาเลซตกงานกันเป็นทิวแถว เมื่อการจ้างงานไม่มี แรงงานก็ต้องดิ้นรนหาทางเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศกัน

คนที่มีคอนเน็คชั่นที่ดีก็ออกไปได้ คนที่ไม่มีก็ต้องรับชะตากรรมไป แต่ความต้องการแรงงาน ของประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นแดนสวรรค์ในการหางานทำ จึงเปรียบเสมือนการสมประโยชน์ด้วยกันทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการทั้งสองฝ่ายเลยครับ

นี่คืออนาคตของตลาดแรงงานของอาเชียนอย่างแน่นอนครับ