posttoday

ชีวิตนักเรียน-นักศึกษาเมียนมา

02 เมษายน 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเรียนมัธยมปลายของประเทศเมียนมา ต้องสอบไล่เพื่อจบการศึกษา แต่นับจากสถานการณ์โรคระบาดร้าย COVID-19 เข้าสู่ประเทศเมียนมา

อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา การเรียนมาการสอนในประเทศเมียนมา ก็สะดุดลงไปมาก นักเรียนหลายๆแห่งไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ ในความคิดเห็นของผม ผมคิดว่านี่จะเป็นการย้อนรอยถอยหลังไปสู่ยุคปี 1988 อีกแล้วหรือนี่?

ในยุคนั้นแม้จะมีสถานการณ์ที่ไม่รุนแรงเหมือนยุคนี้ เพราะมีเพียงการปฎิวัติรัฐประหาร แต่ผู้มีอำนาจในยุคนั้น ก็ไม่ยอมให้เปิดมหาวิทยาลัย  ให้นักศึกษาเข้ามาเรียนในสถานการศึกษาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรวมตัวของนักศึกษา ที่มีการประท้วงรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น  

วิธีการแก้ไขปัญหาก็คิดแบบเมียนมาง่ายๆ โดยให้นักศึกษาเรียนหนังสือที่บ้าน ในช่วงเปิดเทอมก็ให้นักศึกษามาปฐมนิเทศ จากนั้นก็รับการบ้านกลับไป พอใกล้จะปิดเทอมก็นำการบ้านมาส่งให้อาจารย์เพื่อประเมินผลการเรียน ซึ่งการเรียนลักษณะนี้เป็นมาตั้งแต่ปี 1988-2000

พอเรียนไปครบ 4 ปี ก็สำเร็จการศึกษารับปริญญาไป จึงทำให้คุณภาพของนักศึกษาตกต่ำลงไปอย่างมาก เรียกได้ว่าการศึกษายุคนั้นเป็นยุคที่หายไปหนึ่งชั่วอายุคนเลย ในส่วนของระดับมัธยมศึกษาลงมา ก็ยังสามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้อยู่ปกติ

แต่ในยุคปัจจุบันนี้ แตกต่างจากยุคนั้นเป็นอย่างมาก เพราะผลพวงของโรคระบาด COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้นักเรียน-นักศึกษาทุกระดับชั้น ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ก็ได้แต่เห็นใจเด็กที่กำลังอยู่ในวัยเรียน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป เพราะกลุ่มที่ต่ำลงมากว่าปริญญาตรี ก็คงจะยังไม่ประสีประสาเท่าไหร่ ก็คล้ายๆกับเราในยามที่ยังเป็นเด็กนั่นแหละครับ วันไหนโรงเรียนหยุดเรียน เราก็ดีใจเป็นธรรมดา เด็กเมียนมาก็คงไม่ต่างกันครับ ในขณะที่นักศึกษานั้น พอจะรู้อนาคตของการไม่ได้รับการเรียนรู้แล้วละครับ

ดังนั้นเราจะเห็นมีนักศึกษาเมียนมาที่ทางบ้านพอมีฐานะบางคน พยายามดิ้นรนที่จะเดินทางออกไปนอกประเทศ เพื่อหาโอกาสทางการศึกษาที่ดีครับ

อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่มีโอกาสเดินทางออกไปนอกประเทศ ด้วยปัจจัยหลายๆประการ ก็ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมกันไป ผมมีเพื่อนๆน้องๆที่เป็นวัยรุ่นในเมียนมา ที่เขารู้จักผมมานาน ก็ได้มีการโทรศัพพ์มาพูดคุยกันหลายคน สิ่งที่เขาสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการการเรียนรู้ของเขา คือเขาเริ่มไม่อยากจะเรียนขั้นมหาวิทยาลัยกันบ้างแล้ว

หรือบางคนก็บอกว่าโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะเปิดอีกครั้งนั้น ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ ? ทำให้เขาเริ่มมองอนาคตของตัวเองบ้างแล้วว่า แม้จะจบปริญญาตรีออกมา ก็ยังไม่รู้ว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างไร?

เขาจึงคิดว่าสิ่งที่น่าจะเรียนรู้ คือระดับอาชีวะศึกษา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดในขณะนี้ครับ

ส่วนวิชาที่เขาอยากจะเรียนนั้น ควรจะเป็นวิชาที่มีเวลาเล่าเรียนสั้นๆ ไม่เกิน 2 ปีจะเหมาะสมที่สุด เพราะเขาไม่มั่นใจในสถานการณ์ว่าจะจบลงเมื่อใด? ซึ่งผมก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับเขานะครับ ผมคิดว่าวิชาที่จะสามารถสร้างฐานะของเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ มีอยู่มากมาย เช่นกลุ่มวิชาคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีทั้งวิชาการตลาดไอที วิชาซ่อมคอมพิวเตอร์ วิชาการใช้โซเชียลมีเดียในการค้า-การขาย เป็นต้น

และยังมีวิชาที่เกี่ยวกับการทำอาหาร วิชาทำขนมของหวาน วิชาทำเบเกอรี่ หรือแม้กระทั่งวิชาสารพัดช่าง ที่หลากหลายมาก วิชาเสริมสวยและเสริมความงาม วิชาทำผมตัดเล็บ วิชาที่ระดับอาชีวะศึกษาอีกมากมาย ที่ใช้เวลาไม่นานในการเรียน พอเรียนจบมีวิชาติดตัว จะอยู่บ้านไหนเมืองไหน ก็สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ไม่ยาก นี่คือคำตอบที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันนี้ของคนรุ่นใหม่ในเมียนมาเลยครับ

ส่วนสถานที่เรียน ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีทางเลือก เพราะสถานการศึกษาหรือโรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ ดังนั้นหากมีประเทศเพื่อนบ้าน ที่พอจะมีทางช่วยเขาได้ ก็น่าจะช่วยนะครับ ในปัจจุบันนี้แม้ในประเทศเมียนมาเอง ไม่สามารถเปิดเรียนได้ หากจะเปิดโรงเรียนโปลีเทคนิคตามตระเข็บชายแดน เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของเขา

โดยอนุญาตให้เขาเข้ามาเรียนแบบเช้ามาเย็นกลับ เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆไม่เกินสอง-สามปี ผมว่าน่าจะเป็นการช่วยเหลือที่น่าสนใจทีเดียว เพราะนี่เป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ดีที่สุดเลยครับ

ผมคิดว่าน่าจะวิธีที่ดีที่สุดนะครับ ดีกว่าเราช่วยเหลือเขาด้วยการให้ข้าวให้ปลาเขา แต่เป็นการสอนให้เขารู้จักวิธีทำนาจับปูจับปลากิน เป็นการช่วยเหลือเขาในระยะยาวมากกว่าจะช่วยเขาระยะสั้นครับ

อีกทั้งปัจจุบันนี้ วิทยาลัยเทคนิคหรือโรงเรียนโปลีเทคนิค ในบ้านเราเอง ก็ลดความนิยมลงไปเยอะแล้ว อาจจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เด็กๆบ้านเราในทางอ้อม ให้ได้เห็นความสำคัญของการเรียนวิชาชีพผ่านการเห็นเด็กเมียนมาเดินทางเข้ามาเรียนที่บ้านเราก็ได้ครับ