posttoday

เขตปลอดภาษีอีกครั้ง

25 ธันวาคม 2564

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

เผลอแพลบเดียว ก็เข้าสู่อาทิตย์สุดท้ายของปีแล้วครับ วันนี้เป็นวันสำคัญทางคริสต์ศาสนา เป็นวันคริสต์มาส ผมก็ขออนุญาตอวยพรวันคริสต์มาส ขอให้ทุกท่านที่เป็นแฟนคลับ มีความสุขมากๆนะครับ

ในระหว่างนี้ ผมเดินสายไปดูด่านชายแดนต่างๆ โดยได้พาท่านฑูตพาณิชย์เมียนมาประจำประเทศไทยไปด้วยทุกด่านฯ ในวันศุกร์ที่24 ที่ผ่านมา ผมตื่นแต่ตั้งแต่ตี 4 ก็เริ่มออกเดินทางไปที่สนามบิน เพื่อบินไปยังสนามบินแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย แล้วเดินทางต่อไปที่ด่านแม่สาย ด่านเชียงแสน และด่านเชียงของ ภายในวันเดียวสามด่าน

กว่าจะกลับถึงที่พัก ก็เป็นเวลา 22 นาฬิกาเข้าไปแล้ว เหนื่อยแต่ก็มีความสุข ที่ได้ช่วยกันหาช่องทางในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าให้ได้มากขึ้นครับ

วันนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาการส่งออกทางเรือ ยังคงเป็นปัญหาหลักอันเนื่องมาจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งก็ได้คลี่คลายไปบ้างในระดับหนึ่ง แต่ที่เป็นพระเอกในตัวเลขการส่งออก ก็คือการค้าชายแดนที่มีตัวเลขกระโดดจากปีที่ผ่านมา เราจึงควรจะหันมาดูว่าจะทำอย่างไรให้การค้าชายแดน ได้มีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่ หลังจากไปเยี่ยมชมด่านต่างๆมาบ้างแล้ว แม้จะยังไม่หมด แต่สิ่งที่ผมคิดได้ก็คือ

เราควรนำเอาเขตปลอดภาษี หรือที่เรียกว่า Free Zone นี่แหละครับ มาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดการค้าเพิ่มมากขึ้น คนหลายคนยังคงสับสนระหว่างคำว่าเขตปลอดภาษี (Free Zone) กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีบทบาทหน้าที่และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันนะครับ

เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษ หมายถึงเขตพื้นที่ที่กว้างและทำให้เกิดการค้า-การลงทุนในเขตนั้น โดยอาศัยกฎหมายพิเศษในการส่งเสริม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การลงทุนทางตรงเป็นหลัก ในขณะที่เขตปลอดภาษีหรือ Free Zone หมายถึงเขตที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จัดทำเป็นเขตที่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่สามารถเข้าออกโดยไม่จำเป็นได้

ในเขตนั้นสินค้าที่นำเข้าไปสู่เขตปลอดภาษีนี้ จะยังไม่มีการจ่ายภาษีเลย หรือไม่มีภาษีใดๆทุกประเภทเลย รวมทั้งให้สิ่งของนั้นยังได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในภายใต้บังคับของกฎหมาย ในส่วนของการควบคุมมาตรฐานคุณภาพ การประทับตราเครื่องหมายใดๆแก่สิ่งของนั้น และจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ซึ่งในเขตปลอดภาษีหรือ Free Zone สามารถใช้กับกรณีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร หรือนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาเพื่อเข้าไปผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับสิ่งของนั้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งออกเช่นกัน ก็สามารถใช้สถานที่ของเขตปลอดภาษีดังกล่าว ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี จนกระทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศต่อไป

ถ้าหากว่าสินค้าที่นำเข้ามาแล้วอาศัยเขตปลอดภาษีดังกล่าวนี้ แล้วทำการผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับสินค้านั้น แล้วนำออกมาวางขายในประเทศ ก็จึงจะเริ่มเก็บภาษีทันทีที่ออกนอกเขตนั่นเอง แต่ระยะเวลาการวางสินค้าไว้ในเขตปลอดภาษี เพื่อรอการนำออกมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือการพาณิชย์อื่นๆ ก็จะต้องชำระภาษีก่อนเสมอ

นอกเสียจากว่าจะส่งออกเท่านั้นที่ไม่ต้องเสียภาษีใดๆเลย และทางด้านกฎหมายยังยกเว้นให้การวางจัดเก็บสินค้าได้นานถึงสองปี หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าว ยังสามารถขอต่ออายุได้เพิ่มอีกหนึ่งปีเป็นสามปี อีกทั้งยังสามารถทะยอยนำออกนอกเขตได้ แต่ต้องชำระภาษีในส่วนที่นำออกไปเท่านั้น โดยได้รับการจดแจ้งกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้เช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่ง คือผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในประเทศ แล้วต้องการจะส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นส่งออกด้วยตนเองหรือผ่านตัวแทนนายหน้า ก็ยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับนี้ได้ เพียงแต่แตกต่างกันนิดหน่อย คือ ถ้าเป็นโรงงานส่งออกเอง การขอคืนภาษีแม้จะไม่ได้ส่งเงินเข้าไปให้รัฐบาลก่อน แล้วค่อยขอคืนทีหลัง

โดยเพียงแค่ส่งสินค้าที่ไม่มีภาษีแฝงอยู่ แต่ต้องนำเอกสารการส่งออกไปให้แก่หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง จดแจ้งให้เรียบร้อยภายหลังการส่งออก ก็สามารถทำได้ แต่มีข้อแม้ว่าเอกสารทุกอย่างต้องเรียบร้อย มิเช่นนั้นก็ต้องจ่ายภาษีย้อนหลัง

ในขณะที่ส่งออกผ่านตัวแทนนายหน้าจัดจำหน่าย โรงงานก็จะต้องมีหน้าที่ส่งภาษีขายไปให้แก่หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง จากนั้นตัวแทนนายหน้าที่ช่วยจำหน่ายส่งออก ก็ต้องนำเอาเอกสารที่ส่งออกไปแสดงเพื่อขอคืนภาษีภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต(ถ้ามี) ภาษีบำรุงท้องที่(ถ้ามี) ภาษีอื่นๆอีกมากมาย แต่ถ้าดำเนินการส่งออก

โดยใช้เขตปลอดภาษีเป็นเครื่องมือในการส่งออก ภาษีทุกอย่างจะถูกยกเว้นไม่ต้องเรียกเก็บก่อน หรือไม่ต้องไปตระเตรียมเอกสารไปจดแจ้งให้แก่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเลยครับ

ถ้าหากว่าท่านเป็นผู้ประกอบการเป็นตัวแทนนายหน้าหรือที่เรียกว่า “เทรดเดอร์” ก็จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มๆ ส่วนถ้าเป็นโรงงานผู้ผลิต ก็ได้ประโยชน์ในการลดความเสี่ยงในการส่งเอกสารหรือข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น แล้วไม่สามารถขอคืนภาษีหรือถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังครับ ส่วนค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียให้แก่ผู้ดำเนินการเขตปลอดภาษี ผมคิดว่าน้อยมาก

แต่ถ้าดูจากกำไรที่ผู้ประกอบการได้จากการขาย บางครั้งก็มีแค่ไม่ถึงสองเปอร์เซนต์ แต่ถ้าเทียบค่าใช้จ่ายกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าคุ้มเกินคุ้ม ถือว่าภาครัฐได้จัดทำเขตปลอดภาษีมาช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ

หากเราใช้ให้เป็นประโยชน์จะช่วยส่งเสริมให้ตัวเลขการส่งออกมากขึ้นดังนั้นนี่คือคำตอบในการช่วยเหลือผู้ประกอบการนั่นเองครับ

หากผู้ประกอบการหรือโรงงานมีข้อสงสัยประการใด ก็สามารถสอบถามมาที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมาได้ตลอดเวลานะครับ