posttoday

การเปิดรับแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน

20 พฤศจิกายน 2564

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

อาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวลือว่าประเทศเมียนมาใกล้จะเปิดประเทศแล้ว โดยจะเปิดในเดือนธันวาคมหรือมกราคมที่จะถึงนี้ ซึ่งเห็นข่าวนี้เข้ามามากมายหลายช่องทาง

ตัวผมเองได้รับการส่งข่าวมาเช่นกัน บ้างก็บอกว่าจะเปิดวันที่นั้นวันที่นี้ แต่ผมไม่อยากจะเชื่อหรอกครับ ตราบใดที่ยังไม่เห็นประกาศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเมียนมา

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอข้อเท็จจริงต่อไปอีกนิดนะครับ

ที่เห็นว่าน่าจะเป็นความจริง ก็คือข่าวว่าจะมีการเปิดพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างเราในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดชายแดนเพื่อรับเอาแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย

เพราะเราเองจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ในยุคปัจจุบันนี้ แรงงานสำคัญที่ในหน่วยผลิตของประเทศไทยเรา ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ได้เกิดการระบาดของโรคร้าย COVID-19 เป็นต้นมา

ทำให้เราไม่มีทางเลือก จึงต้องปิดพรมแดนทั้งหมด รวมทั้งต่อมาเดือนเมษายน 2563 ท่าอากาศยานระหว่างประเทศก็ได้เริ่มปิดตัวลง ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานกลับบ้านเกิดของแรงงานต่างชาติ

จนกระทั่งเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน ดังนั้นหากจะให้เศรษฐกิจของเราจะเริ่มกลับมาสู่สภาวะเดิม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดประตูชายแดนให้แรงงานต่างชาติที่อยู่ติดกับประเทศเรา กลับเข้ามาสู่ฐานการผลิตเดิมนั่นเองครับ

ในส่วนที่หลายๆฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่น้องประชาชนชาวไทยที่อยู่ตามชายแดน ก็เกิดอาการไม่สบายใจ เพราะหวั่นเกรงว่าแรงงานต่างชาติเหล่านี้ เมื่อกลับมาสู่ประเทศไทยจะไม่ได้กลับมามือเปล่า แต่จะนำเอาเชื้อโรคร้าย COVID-19 ที่มีอยู่สารพัดสายพันธุ์ในขณะนี้ กลับมาเผยแพร่ที่ประเทศไทยอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองด่านหน้าที่อยู่ตามชายแดน ที่จะต้องเป็นที่กักกันแรงงานก่อนจะถูกส่งตัวเข้ามาในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสถานที่ตั้งโรงงาน ที่เป็นจุดหมายปลายทางของแรงงานเหล่านั้น

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ผมมีเพื่อนสนิทที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่แม่สอด ก็เดินทางมาเยี่ยมเยือนผมที่ออฟฟิต ก็เล่าให้ฟังว่า ที่ด่านชายแดนแม่สอด ได้เริ่มมีการเตรียมการรับแรงงานที่จะเดินทางมาจากประเทศเมียนมาแล้ว โดยทางประชาชนท้องถิ่นเชื่อว่า แรงงานต่างๆเหล่านี้ จะต้องมาถูกกักกันตัวที่ค่ายฯชายแดน 14 วัน เขากังวลใจกันมาก

ผมเองก็ได้แต่บอกว่า อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้เลย เพราะผมเชื่อว่าทางการไทยเราคงมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะปล่อยเข้ามาอยู่แล้ว เพียงแต่วิธีการอย่างไร?

เราต้องรอฟังจากคำประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เสียก่อน ว่าเขาจะปฎิบัติการอย่างไรต่อแรงงานที่จะเดินทางเข้ามา แล้วค่อยกังวลใจก็ยังไม่สาย

ในความคิดอันตื้นๆของผม ผมเชื่อว่าถ้าเราเปิดพรมแดนให้เขากลับเข้ามาเมื่อไหร่ แรงงานเหล่านี้จะต้องแห่แหนกันกลับเข้ามาอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันนี้ การงานในประเทศเมียนมาก็หายากมาก เพราะโรงงานต่างๆปิดตัวลงค่อนข้างจะเยอะ ประเทศไทยจึงเป็นทางเลือกให้แก่เขา

ดังนั้นผมจึงคิดว่าวิธีที่จะทำการจัดระเบียบการเข้ามาของแรงงานต่างชาติจากประเทศเมียนมา ที่จะได้ผลดีและมีประสิทธิภาพที่สุด ก็น่าจะเอาพื้นที่ข้างๆสะพานมิตรภาพแห่งที่สอง ที่ยังมีที่ว่างอยู่หลายร้อยไร่มาเป็นที่กักกันแรงงานที่จะทะลักเข้ามา ก่อนที่เราจะให้เขาผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง

จากนั้นก็ระดมกำลังคนเข้ามาตรวจหาเชื้อ COVID-19 ก่อนเลย หากใครที่มีเชื้อ หรือหากไม่ผ่านการตรวจ ก็จัดการส่งกลับไปฝั่งเมืองเมียวดีเลย ไม่ต้องอนุญาตให้เข้ามาเดินพิธีการตรวจคนเข้าเมืองให้เสียเวลาเจ้าหน้าที่

หากใครตรวจแล้วไม่มีเชื้อ ก็ให้สถานประกอบการหรือโรงงาน ที่เป็นนายจ้างรับตัวขึ้นรถบัสออกไปยังโรงานของตนเองเลย แล้วให้โรงงานหรือสถานประกอบการเหล่านั้น เตรียมสถานที่กักกันตัวเพิ่มอีก 14 วัน เพื่อรอดูอาการอีกครั้ง หากครบ 14 วัน ไม่ปรากฎอาการ ก็จึงอนุญาตให้ทำงานต่อไปได้

คำถามอาจจะมีว่า แล้วทางการไทยจะระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ไหนไปจัดการตรวจที่หน้าด่านนั้นได้ละ? คำตอบคือเจ้าหน้าที่ควรจะปล่อยให้เอกชนรับเหมาจัดการไปเลยครับ ท่านไม่ต้องไปทำเองหรอก เ

พราะปัจจุบันนี้โรงพยาบาลเอกชนเขาเก่งและมีความชำนาญในการตรวจหาเชื้ออยู่แล้ว อีกคำถามคือ แล้วงบประมาณจะเอาจากที่ไหน? ผมคิดแบบโง่ๆนะครับ ก็ให้ผู้ประกอบการหรือโรงงานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสิครับ

โรงงานไม่ต้องไปจ่ายค่าหัวคิวที่ต้องจ่ายให้ใครก็ไม่รู้ หากมารับแรงงานเอง ก็จ่ายเฉพาะค่าตรวจ คิดไปเลยคนละ 300 บาทต่อการตรวจหนึ่งครั้ง ผมเชื่อว่าใครๆก็อยากจ่ายครับ  เพราะได้แรงงานมาทำงานที่ถูกแสนถูก

อีกคำถามคือ แล้วคนที่ตรวจไม่ผ่านละทำอย่างไร? ก็ให้คิดไปเลยคนละ 500-1,000 บาท เพื่อเป็นแรงจูงใจให้หน่วยงานที่มารับเหมาตรวจอยากที่จะตรวจคัดกรองให้ละเอียด

เพราะถ้าไม่ผ่านก็ได้เงินมากกว่าตรวจผ่าน แล้วก็ให้เรียกเก็บกับแรงงานไปเลย เพราะถ้าเขารู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อ แล้วยังอยากมาลองเสี่ยงดู ก็ต้องชดใช้ค่าความเสี่ยงนี้เอาเองก็แล้วกันครับ

แฟร์ๆดีครับ