posttoday

ชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่ไต้หวัน

28 สิงหาคม 2564

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

ในช่วงปีพ.ศ. 2516-2519 ผมได้ไปเรียนหนังสือระดับมัธยมปลายอยู่ที่ไต้หวัน ในช่วงนั้นต้องพูดว่าเป็นยุคต้นๆของการอพยพของชาวเมียนมาโพ้นทะเลเชื้อสายจีนเลยก็ว่าได้ เพราะในยุคปฎิวัติ ค.ศ. 1962 พ.ศ.2505 นั่นเอง เรียกว่าเพิ่งจะผ่านประมาณสิบกว่าปี 

ดังนั้นผมจะพบเจอเพื่อนๆที่มาจากประเทศเมียนมา เพื่อมาเรียนหนังสือในไต้หวันเยอะมาก บางคนติดตามพ่อ-แม่ลี้ภัยทางการเมืองมา บางคนก็ขออนุญาตตามมาภายหลังก็เยอะ 

ดังนั้นผมจะมีเพื่อนๆที่เป็นชาวเมียนมา-จีนโพ้นทะเลที่ทางการเรียกว่า “เมี่ยนเตี่ยนเฉียวเซิน” ค่อนข้างจะเยอะทีเดียวครับ

ในโรงเรียนที่ผมเรียนอยู่จะมีเพื่อนชาวจีนโพ้นทะเลไม่มากนัก แต่ก็มีมาจากหลากหลายประเทศ เช่นทางฝั่งเอเชียมีทุกประเทศ ฝั่งอเมริกาทั้งเหนือและใต้ ก็มีเกือบทุกประเทศ ทวีปแอฟริกาเช่นที่ประเทศดามากัสก้าก็มีมาเช่นกัน

ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนชาวจีนโพ้นทะเลมากที่สุด ในระดับมัธยมก็มีโรงเรียนหัวเฉียวจงเซียะ ซึ่งมีมาจากทุกประเทศทั่วโลกเช่นกัน ศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้มีอยู่มากมายครับ ที่เด่นๆดังๆก็มีเยอะครับ คงขออนุญาตไม่อ้างถึงท่านนะครับ 

ทุกๆคนจะถูกเรียกว่า “เฉียวเซิน”หมดครับ ในขณะที่ในมหาวิทยาลัยก็มีเฉียวเซินอยู่ทุกแห่งเลยละครับ แต่ก็มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ชื่อว่า “หัวเฉียวต้าเซียะ” ซึ่งจะคล้ายๆกับระดับมัธยมนั่นแหละครับ ที่จะรับเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเลเท่านั้น 

ทุกที่ที่กล่าวมานี้ นักเรียนทางแถบอาเชียนทุกประเทศอยู่หมด ไม่ได้จะมีแค่นักเรียนไทยเท่านั้นครับ 

นักเรียนที่มาจากประเทศพม่า (ชื่อในยุคนั้น) ส่วนใหญ่จะไม่ได้อาศัยอยู่ที่หอพักนักเรียน เพราะเขามีพ่อ-แม่อาศัยอยู่ที่ไต้หวันอยู่แล้ว ส่วนพวกเพื่อนๆคนอื่นๆที่มาจากต่างประเทศ ก็มักจะพักที่หอพักของโรงเรียน 

ในส่วนตัวผม เนื่องจากโรงเรียนที่ผมเรียนอยู่ ไม่มีหอพักนักเรียน จึงต้องไปเช่าห้องพักอยู่คนเดียวข้างนอก ต่อมาไม่นานก็มีหัวหน้าครูผู้ปกครอง ท่านมีบุตรชายอยู่คนหนึ่งที่เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนกับผม สงสัยว่าท่านคงจะได้เห็นผมน่ารักมั้ง(ค่อนข้างจะหลงตัวเอง) ท่านเลยพาผมไปอาศัยอยู่ที่บ้านท่าน 

โดยให้ผมนอนในห้องเดียวกับบุตรชายของท่าน ซึ่งในเวลาต่อมาท่านก็ได้รับผมเป็นบุตรบุญธรรมของท่าน 

ย้อนมาดูเนื้อหาของเรื่อง ชาวเมียนมาโพ้นทะเลในใต้หวันต่อดีกว่านะครับ เท่าที่ผมเห็นในไทเป ชาวเมียนมาโพ้นทะเลเกือบร้อยเปอร์เซนต์เป็นคนเชื้อสายจีนทั้งหมดก็ว่าได้ 

ส่วนใหญ่จะรวมกลุ่มกันอยู่ที่เขตจงเหอและเขตหย่งเหอ ทั้งสองเขตนี้จะมีเนื้อที่เขตติดต่อกัน และอยู่ห่างไปจากดาวน์ทาวน์มาก ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯให้เห็นภาพ ก็เหมือนเขตมีนบุรีกับเขตหนองจอกนั่นแหละครับ 

ในยุคนั้นการเดินทางไปเขตจงเหอและเขตหย่งเหอค่อนข้างจะใช้เวลามาก อย่างเร็วก็ต้องเป็นชั่วโมง แต่กลุ่มนี้ก็ชอบที่จะอยู่รวมกัน อาจจะเป็นเพราะว่าราคาบ้านที่อยู่สองเขตนี้ในยุคนั้นยังถูกมากๆ 

ผมจำได้ว่าในยุคนั้น บ้านของชาวบ้านทั่วไปที่ไทเป จะเป็นอาคารพานิชย์สูง 3-5 ชั้น จะมีบันไดทางขึ้นไปชั้นบน จะอยู่ตรงด้านหน้าตรงกลางระหว่างห้องแถวสองห้อง (ถ้าเคยดูภาพยนต์จีนจะเข้าใจง่าย) แต่ละชั้นจะแบ่งออกเป็นซ้ายขวาแต่ละบ้านๆไป ซึ่งก็อาศัยอยู่ในลักษณะของแฟลต 

โดยแฟลตแต่ละบ้านจะมีขนาด 3 ห้องนอนกับ 1 ห้องรับแขก ราคาก็ตกประมาณสามสี่แสนดอลล่าร์ใต้หวัน(NT$) แค่นั้นเอง อัตราแลกเปลี่ยนในยุคนั้นหนึ่งบาทต่อสองดอลล่าร์ใต้หวัน (NT$) เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ พอรวมตัวกันอยู่มากๆ อาหารการกินต่างๆที่เป็นอาหารพม่าจริงๆ เช่น ชาพม่า โมฮินงา(ขนมจีนหยวกกล้วยพม่า) แกงกระหรี่เมียนมา ฯลฯ ก็สามารถซื้อหากินกันได้ เวลาพวกเราคิดถึงบ้าน 

นึกหิวอยากทานอาหารไทย ซึ่งในยุคนั้นจะไม่มีร้านอาหารไทยมากเหมือนปัจจุบันนี้ พวกเราก็จะอาศัยร้านอาหารพม่ากับร้านอาหารอินโดนีเซียนี่แหละครับเป็นที่ฝากท้องพอหายอยากได้ 

ที่ชุมชนจงเหอและหย่งเหอที่เป็นที่อยู่ของชาวเมียนมาโพ้นทะเลนี้ นอกจากอาหารการกินที่เป็นพม่าแท้ๆแล้ว ยังมีเสื้อผ้าและของใช้ประจำวันที่ชาวพม่าชอบใช้ วางขายอยู่หลากหลายมาก เรียกว่าเป็น “เมียนมาทาวน์”เลยละครับ 

และที่น่าสนใจคือ ทุกๆปีจะมีงานรื่นเริ่งต่างๆที่นี่มากมายหลายครั้ง เพราะชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่นี่มีเชื้อสายจีน เขาก็จะนำเอาวัฒนธรรมเมียนมา-จีนยูนนานมาละเล่นกันครับ เช่นการรำวงต่าเกอ หรือการล้อมเป็นวงกลมแล้วร้องรำทำเพลง ประกอบกับการเดินและเต้นตามจังหวะของดนตรี สาวๆก็จะแต่งชุดประจำเผ่าต่างๆออกมาต่าเกอกัน เรียกเสียงปรบมือของชาวไต้หวันที่เป็นผู้มาร่วมชมกัน เพราะไม่เคยเห็นนั่นเอง 

ส่วนอีกเทศกาลหนึ่งที่มีการแสดงกันเป็นประจำ คือการละเล่นสงกรานต์หรือเต็งจั่น ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ใกล้วันที่ 13 เมษายนมากที่สุด ที่เขาไม่ได้เล่นสาดน้ำกันในวันที่ตรงกับวันเต็งจั่น 

เพราะทุกคนต่างต้องดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงครอบครัวกันทุกคน จึงต้องใช้เวลาวันหยุดในวันเสาร์-อาทิตย์เพียงแค่สองวันเท่านั้น ไม่เหมือนที่เมียนมา ที่เล่นกัน 9วัน- 14วันเรียกว่าเล่นกันจนเพลียไปเลยครับ 

ส่วนวันสำคัญอื่นๆ เช่นการบวชพระ-เณร ผมไม่เคยได้เห็น อาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีวัดนิกายหินยาน มีแต่พระนิกายมหายานเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีการบวชพระให้เห็นครับ อย่างไรก็ตามชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่ใต้หวัน 

โดยเฉพาะที่ไทเป เขตจงเหอและเขตหย่งเหอ ถือว่าเป็นชุมชนชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่ได้รักษาขนบธรรเนียมประเพณีเมียนมาไว้ได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาเลยครับ