posttoday

ชาวเมียนมาโพ้นทะเล

14 สิงหาคม 2564

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

สืบเนื่องจากการที่ผมได้นำเรื่องของชาวเมียนมาโพ้นทะเลมาเล่าให้ผู้ฟังทางบ้าน ที่ติดตามรายการ Good Morning Asian รับฟังทางสถานณีวิทยุ อสมท.100.5 MH ซึ่งรายการที่ผมออกอากาศทุกเช้าวันพฤหัสบดี ได้มีแฟนคลับคืออาจารย์เปิ้ล ได้ไลน์มาขอให้ผมเขียนเล่าทางคอลัมน์นี้ เพราะท่านบอกว่ายังไม่จุใจ

และเชื่อว่าผมมีข้อมูลด้านนี้อีกมากที่ไม่สามารถเล่าออกอากาศได้หมด เพราะเวลาการออกอากาศมีแค่สิบห้านาที จึงอยากจะขอให้ผมช่วยอธิบายหรือเล่าเพิ่มเติมต่อเนื่องอีก ผมเองก็ไม่ขัดศัทธาครับ เลยต้องขออนุญาตแฟนคลับนำมาเล่าเพิ่มเติมต่อไปนะครับ

ต้องบอกว่าเราคนไทยทั่วๆไป มักจะเห็นชาวแรงงานเมียนมา ที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทยกันอย่างมากมาย มีทั้งที่เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย แรงงานที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย และแรงงานตามฤดูกาล ที่มีมากประมาณสองล้านกว่าคน อันที่จริงที่ถูกต้องกฎหมายกับแรงงานตามฤดูกาลก็มากกว่าสองล้านแล้ว ดังนั้นจึงมองไปว่า แรงงานเหล่านั้นก็คือชาวเมียนมาโพ้นทะเลทั้งหมด ซึ่งผมเองต้องบอกว่าไม่ใช่เลยครับ

เพราะด้วยความเป็นจริง ในวันนี้ชาวเมียนมาที่ออกไปอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศนั้น มีอยู่หลายประเทศมาก ผมจะนำมาเล่าให้ฟังต่อไปนะครับ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า นอกจากชาวจีนโพ้นทะเล ชาวอินเดียโพ้นทะเล ชาวเวียดนามโพ้นทะเล ชาวไทยโพ้นทะเล ชาวเกาหลีใต้โพ้นทะเล และยังมีชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่มีจำนวนอยู่ไม่น้อย และกระจัดกระจายไปตามประเทศต่างๆมากมาย

ต้องเข้าใจก่อนว่าคำว่า “โพ้นทะเล”นั้น ควรจะต้องหมายถึงบุคคลที่ไปอาศัยอยู่ต่างแดน ที่ไปลงหลักปักฐานอยู่อาศัยอย่างจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวนะครับ แค่ไปเรียนหนังสือ หรือไปทำงานปีสองปีแล้วกลับ อย่างนั้นเขาจะไม่เรียกว่าเป็นชาวโพ้นทะเลได้ เพราะเดี๋ยวพอเบื่อแล้ว หรือเรียนจบแล้ว ทำงานได้เงินมากพอแล้ว ก็กลับประเทศของตนเองไปนั่นเองครับ

คราวนี้ผมขอท้าวความต่ออีกนิดหนึ่ง สำหรับท่านที่ไม่ได้ติดตามรายการในวันนั้น จะได้เข้าใจเรื่องราวได้ต่อเนื่อง เล่าต่อเลยนะครับ เรื่องราวที่เรากล่าวถึงในวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวันนั้นเหตุที่ต้องเล่าเพราะมีคนถามมาเรื่องอดีตท่านฑูตเมียนมาประจำยูเอ็น ได้ถูกวางแผนลอบสังหารในข่าวของวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา (ผมคงไม่เล่าเรื่องราวนี้นะครับ) มีใครเข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง?  ชาวเมียนมาโพ้นทะเลมีอิทธิพลมากพอจะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่?

ผมเลยบอกว่าอย่าไปรับรู้เรื่องนั้นแล้วนำมาวิจารณ์เลย ไม่ว่าเราจะรู้ความจริงหรือไม่รู้ก็ตาม ก็ไม่ควรจะนำมาวิจารณ์ให้เกิดความเสียหายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลย

เพราะเราเองเป็นบุคคลภายนอก ไม่ควรจะเข้าไปก้าวก่ายเรื่องกิจการภายในของประเทศเขาครับ แต่ถ้าอยากรู้ว่าชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่อยู่ในต่างประเทศ ผมพอจะอธิบายได้ครับ 

ชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอยู่หลายรัฐหลายเมืองด้วยกัน และต้องแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือกลุ่มที่ไปเรียนหนังสือหรือไปทำงาน พอไปถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว ไม่ยอมกลับมา แล้วลงหลักปักฐานที่นั่น และกลุ่มที่โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่นั่นโดยการนำเอาทรัพย์สินที่มีอยู่ ไปลงทุนทำธุรกิจที่นั่นและไม่ยอมกลับประเทศนั่นเอง

คนที่เป็นนักเรียนนักศึกษาหรือคนทำงานนั้น ผมคิดว่าไม่น่าสนใจเท่าไหร่ แต่ที่น่าสนใจคือคนที่อพยพไปอย่างจริงๆจังๆนะครับ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนที่อพยพมาจากการปราบปรามผู้มีความเห็นต่างของรัฐบาล ในยุคการปฎิวัติปี 1962 ซึ่งในยุคนั้น การสื่อสารยังไม่ได้มีการแพร่หลายเหมือนปัจจุบัน

แต่ที่ผมได้รับรู้มา เป็นเพราะผมมีหุ้นส่วนคนหนึ่ง เป็นชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่พ่อ-แม่ได้หอบลูกจูงหลายลี้ภัยการเมืองในยุคนั้น ไปอาศัยอยู่ที่ไต้หวัน และได้อพพยต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเองครับ เหตุนี้เองที่ทำให้เราสองคนได้รู้จักกันในช่วงจังหวะชีวิตของผมไปเรียนมัธยมปลายที่ไต้หวันนั่นเองครับ 

ชาวเมียนมาโพ้นทะเลที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาในยุคนั้น บางครอบครัวไปด้วยทรัพย์ที่นำติดตัวออกไปด้วยไม่น้อย บ้างก็ไปด้วยเสื่อผืนหมอนใบ แล้วจึงไปสร้าง “ America Dream” ซึ่งก็ประสบความสำเร็จกันมิใช่น้อย (ผมอาจจะเจอแต่คนที่สำเร็จ ส่วนคนที่ล้มเหลวไม่ได้เจอก็ได้)

ผมได้เดินทางไปที่ New York เพื่อไปตรวจตลาดที่นั่น ผมได้ไปพักที่บ้านหุ้นส่วนผมที่กล่าวข้างต้นมานับสิบครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งที่ไปสำรวจตลาด หุ้นส่วนผมจะพาไปที่ไชน่าทาวน์ แต่หลังๆมาเมื่อสักยี่สิบกว่าปีก่อน ที่ New Yorkไชน่าทาวน์ในแมนฮัตตั้นเริ่มที่จะแออัด ทำให้มีการขยายไปเปิดใหม่เป็นไชน่าทาวน์แห่งที่สองที่บลุคลินและแห่งที่สามที่เขตฟราทชิ่ง ทำให้ร้านค้าที่ขายสินค้าของชาวตะวันออกเริ่มขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับ

สิ่งที่ผมไปทุกครั้งจะต้องพบเจอคือชาวจีนโพ้นทะเลที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศเมียนมานั่นเองครับ จึงพอจะอนุมาณได้ว่าเป็นชาวเมียนมาโพ้นทะเลครับ จากสายตาและการเยี่ยมเยือนร้านค้า ที่หุ้นส่วนผมพาไปเดินสำรวจ

ผมคิดว่ามีเกินกว่าสิบร้านค้าแน่นอนครับ ซึ่งต้องบอกว่าแต่ละคนต่างประสบผลสำเร็จในชีวิตอย่างดีเยี่ยมเลยครับ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารที่เป็นของชาวเมียนมาโพ้นทะเลเชื้อสายจีนอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันครับ

นอกจากที่ประกอบธุรกิจในไชน่าทาวน์อย่างที่ผมเห็นแล้ว ที่นั่นยังมีการจัดตั้งสมาคมชาวเมียนมาโพ้นทะเลด้วยเช่นกัน แต่เขาไม่ได้ใช้ชื่อสมาคมว่าชาวเมียนมาโพ้นทะเล แต่สมาชิกที่มาร่วมประชุมกันในสมาคมนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นชาวเมียนมาเชื้อสายจีนทั้งนั้นครับ

อาทิตย์นี้ผมจะขอเล่าเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ อาทิตย์หน้าผมจะมาเล่าถึงภาษาที่เขาใช้สื่อสารกันนะครับ น่าสนใจทีเดียวครับ เพราะเราคาดไม่ถึงแน่นอนครับ