posttoday

การพัฒนาประเทศของรัฐบาลเมียนมาต่อจากนี้ไป

26 มิถุนายน 2564

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

การสร้างคะแนนนิยมของรัฐบาลทั่วๆไป ไม่ว่าประเทศไหนในโลก สิ่งที่จะต้องทำคือให้ประชาชนอยู่ดีกินดี การพัฒนาประเทศให้มีความมั่งคั่ง อีกทั้งให้มีความเจริญ มั่นคง สถาพร นี่เป็นวัตถุประสงค์หลักของรัฐบาลทั่วไปของทุกๆประเทศ  

หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างสิ่งที่กล่าวมานี้ได้ ก็จะไม่ได้รับคะแนนนิยมเลย ผมไม่จำเพาะเจาะจงที่จะกล่าวถึงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เป็นเพราะตัวผมเองก็เคยอาศัยอยู่ในหลายๆประเทศ จึงอยากจะขอนำเอาสิ่งที่เขาทำกันหลายๆที่ มาเล่าสู่กันฟังนะครับ 

ประเทศแรกที่จะขออนุญาตเล่า คือประเทศไต้หวัน ในยุคที่ผมไปเรียนมัธยมปลายที่นั่น เป็นช่วงวาระสุดท้ายของประธานาธิบดีเจียง ไค เช็ค ดำรงตำแหน่งอยู่ เพราะพอผมเรียนขึ้นปีที่สอง ท่านก็ได้ถึงแก่อสัญกรรม และบุตรชายของท่านคือประธานาธิบดีเจียง จิง กั๋ว ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อจากท่าน

ในการเรียกคะแนนนิยมของท่านประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค เท่าที่ผมจำได้ท่านไม่ได้พัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่เจริญมั่งคั่งสักเท่าไหร่เลย เพราะมัวแต่สอนให้ประชาชนพยายามบุกยึดคืนประเทศจีนอยู่นั่นแหละ ดังจะเห็นได้จากบทเรียนเกือบจะทั้งหมด หากมีการกล่าวถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็จะสร้างภาพให้เป็นเสมือนหนึ่งปีศาจร้ายหรือมหาโจร ในบทเรียนวิชา “ลัทธิไตรประชา”

ที่เขาสอนประชาธิปไตยแบบที่บิดาแห่งชาติของจีนคณะชาติ (ชื่อเรียกเก่าของไต้หวันที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้ว) คือท่านประธานาธิบดีซุน ยัด เซนได้บัญญัติไว้ ถูกนำมาเรียบเรียงเป็นตำราเรียนใหม่หมด ทุกคำที่กล่าวถึงผู้นำหรือกลุ่มบุคคลระดับแนวหน้าของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน จะต้องมีคำว่า “มหาโจร” ต่อท้ายชื่อเรียกขานเสมอ

พอมาถึงยุคของท่านประธานาธิบดีเจียง จิง กั๋ว จึงได้เริ่มมีการพัฒนาประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการสร้าง 10 เมกกะโปรเจ็กต์ขึ้น เริ่มตั้งแต่ 1. สร้างโรงงานกำเนิดไฟฟ้านิวเครียร์ที่จีหลง 2. สร้างสนามบินนานาชาติเถาแหยน ที่ยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ 3. สร้างระบบรถไฟที่ใช้ไฟฟ้า 4.สร้างท่าเรือน้ำลึกไถจง 5.สร้างทางด่วนพิเศษจงซาน จากเหนือจรดใต้

6. สร้างอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ที่เกาสง 7. สร้างโรงงานถลุงเหล็กที่เกาสง 8. สร้างโรงกลั่นน้ำมันที่เกาสง 9. สร้างท่าเรือน้ำลึกที่ฮัวเหลียน 10. สร้างทางด่วนสายไทเปไปทางเมืองฮัวเหลียน ที่อยู่ทางฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เกิดการสร้างงานขึ้นมาอย่างมหาศาล

พอประชาชนมีรายได้ ก็ตามมาด้วยการสร้างงานเพื่อพัฒนาประเทศขึ้นมาอีกมากมายหลายโครงการ สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจนอีกอย่าง คือการเกิดขึ้นมาของ “อุตสาหกรรมหลังบ้าน” คือทุกบ้านที่มีหลังบ้านว่างอยู่ ก็จะรับงานเชื่อมต่อมาจากโรงงานอุตสาหกรรมอีเล็คโทรนิค ไปทำเองที่บ้าน แล้วจึงนำชิ้นงานส่งกลับไปที่โรงงาน รับค่าแรงเป็นสิ่งตอบแทน

ปรากฎว่าทุกบ้านทุกเรือนต่างมีงานทำ แม่บ้านที่ดูแลบ้านก็ไม่ต้องปล่อยให้มีเวลาว่างสูญเปล่าไปอย่างไร้ค่า จึงทำให้ไต้หวันเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว จากช่วงที่ผมเรียนอยู่ที่นั่น เศรษฐกิจของไต้หวันยังไม่ดีเท่าไหร่ ดูได้จากค่าเงินหยวนเอ็นทีต่อเงินบาท คือ 2 หยวนต่อ1บาท แต่ห้าปีผ่านไปเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นมาก จำได้ว่าเงินบาทเราถูกกว่าเงินหยวนเอ็นทีเสียอีกครับ

เรามาดูที่ประเทศญี่ปุ่นบ้าง การสร้างประเทศญี่ปุ่นนั้น หากจำกันได้ เริ่มจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ผมยังไม่ทันเกิดเลย แฮ่...) ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แพ้สงคราม ทำให้เศรษฐกิจจตกต่ำเอามากๆ ชาวประชาแทบจะลืมตาอ้าปากไม่ได้

แต่ญี่ปุ่นเริ่มขอเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ 18 ที่กรุงโตเกียว ในวันที่ 10-18 เดือนตุลาคม ปี 1964 ได้มีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซินกันเซน ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้นทันตาเห็น

แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นรุดหน้าไปได้นั้น คือความมีวินัยของประชาชน ผมเคยไปอยู่ที่นั่นมาสามปี (หลังจากที่จบมัธยมปลายที่ไต้หวัน แล้วจึงไปต่อที่ญี่ปุ่น) ต้องยอมรับว่าในยุคที่ผมอยู่ที่นั่น ก็ทึ่งกับความเป็นมนุษย์เมืองใหญ่ของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะทุกอย่างเขามีระเบียบไปหมด บ้านเรือนไม่ค่อยจะเห็นใครทำผิดกฎระเบียบกันมากมายเหมือนอย่างประเทศแถบสุวรรณภูมิเลย

ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกามาอีกหลายสิบปี เพิ่งจะมาเสียตำแหน่งให้กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนไปเมื่อไม่นานมานี้เอง

อีกประเทศหนึ่งที่อยากกล่าวถึง คือประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผมจำได้ว่าในยุคที่ผมอยู่ญี่ปุ่นนั้น ผมได้เดินทางไปเที่ยวที่กรุงโซลมาครั้งหนึ่ง ในตอนนั้นยังคงอยู่ในยุคของประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ที่มีแต่การคอรัปชั่น รัฐบาลยังมีการประกาศใช้เคอร์ฟิวอยู่เลย

พอตกกลางคืนใกล้เที่ยงคืน ผับบาร์เริ่มจะปิด ที่ล็อบบี้โรงแรมจะมีวัยรุ่นที่ติดเคอร์ฟิวกลับบ้านไม่ทัน มานอนกันบนโซฟากันเลยครับ ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ประเทศเกาหลีใต้พัฒนาเร็วมากนั้น เกิดจากการร่วมใจของประชาชนที่ช่วยกันแอนตี้คอรัปชั่นกัน โดยที่เกาหลีใต้ใช้เวลาไม่เกินสองทศวรรษ ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ

เรามาดูประเทศเมียนมากันบ้าง หลังจากที่ท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จากพรรค USDP ขึ้นครองอำนาจ ท่านได้เปลี่ยนแปลงประเทศกันขนานใหญ่ ด้วยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการลงทุน การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและระบบการเงิน-การธนาคาร ซึ่งผมได้นำมาเขียนเล่าให้อ่านไปแล้วหลายครั้ง

ทำให้ประเทศเมียนมาเริ่มเห็นแสงสว่างขึ้นทันที ต้องยอมรับว่าท่านเป็นผู้มีคุณูปการต่อประเทศเมียนมาอย่างสูงจริงๆ แต่พอเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เราต้องจับตามองประเทศเมียนมากันใหม่อีกครั้งว่า ท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางไหน? และหากประเทศยังมีความไม่สงบอยู่ ท่านจะทำการปกครองประเทศเมียนมาอย่างไร?

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายคะแนนนิยมต่อคณะก่อการของท่านอย่างแท้จริงครับ

ภาพ-คลังภาพบางกอกโพสต์, โพสต์ทูเดย์