posttoday

จุดเริ่มต้นของการเสียแชมป์สินค้าที่ครองใจชาวเมียนมา

24 เมษายน 2564

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รับแจ้งจากเพื่อนนักธุรกิจที่เมียนมาว่า ทางการเมียนมาได้การประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าสินค้าทางด่านชายแดนเมียวดีทั้งหมด 5 ชนิดด้วยกัน

ได้แก่ 1,เครื่องดื่มน้ำหวานทุกชนิด 2,นมสดและนมข้นหวาน 3.กาแฟผงและกาแฟสำเร็จรูป 3,ชาสำเร็จรูป 4,ผลิตภัณฑ์คอฟฟี่เมท

ทำให้เกิดความโกลาหลขึ้น เพราะพ่อค้าชายแดนรู้ว่าเมื่อทางการประกาศปิดด่านชายแดน จะทำให้สินค้าที่ขายตามเมืองที่ใกล้กับชายแดนอาจจะขาดตลาด จึงทำให้ทุกคนต่างวิ่งกันขาขวิด เพื่อกักตุนสินค้ากันอย่างเต็มที่ละครับ

มีคำถามจากแฟนคลับถามมาว่า “การที่ทางการเมียนมาประกาศปิดด่านห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภทเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนหรือไม่?” หากมองว่าเป็นเพียงสินค้าบางประเภทเท่านั้น คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้ามากเท่าไหร่

แต่ผมกลับมองต่างมุมครับ ผมคิดว่ามีผลกระทบแน่นอนครับ จะมากหรือน้อยต้องดูจากผลที่จะตามมาอีก 2-6 เดือนข้างหน้าก่อน จึงจอบได้ชัดเจนครับ แต่วันนี้ผมอยากจะให้ดูจากสินค้า 5 ประเภทนี้ก่อนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

สิ่งแรกเลย เราต้องยอมรับว่าสินค้า 5 ประเภทนี้ เป็นสินค้ายอดนิยมที่ชาวเมียนมานิยมบริโภคยี่ห้อของไทยเรา หากปล่อยเนินนานไป สินค้าทดแทน (Substitution Product) ที่ผลิตจากในประเทศเมียนมาและผลิตจากประเทศอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน ก็จะเข้ามาแทนที่สินค้าไทย ซึ่งเป็นไปได้สูงมาก ดังนั้นตามที่ผมกล่าวไว้ว่าต้องดูอีก 2-6 เดือนข้างหน้าก่อนนั้น

ความหมายคือต้องวัดจาก “ความจงรักภักดีต่อตัวสินค้า”(Product loyalty customers ) ซึ่งวิธีการทำการสำรวจแบบง่ายๆที่สุด คือการเฝ้ามองดูตัวเลขยอดขาย ว่าจะตกหล่นลงไปมากน้อยแค่ไหน หรือให้สังเกตุดูว่า บนชั้นวางสินค้าขายในร้านค้า

หากมีสินค้าประเภทเดียวกันหลากหลายยี่ห้อ บรรจุขนาดเดียวกัน ราคาเท่ากันหรือถูกแพงกว่ากันไม่มาก ลูกค้าจะเลือกหยิบซื้อยี่ห้อไหนเป็นหลัก นี่ต้องอาศัยคนที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้น จึงจะรู้ได้จากการวัดผลเช่นนี้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของสินค้าหรือผู้ขายสินค้าที่จะต้องทำอยู่แล้ว ผลของการประเมินจะมีความแน่นอนมาก ไม่จำเป็นต้องไปจ้างบริษัทของฝรั่งมังค่าให้เสียเงินเยอะๆ ก็สามารถทำเองได้ครับ

ส่วนการได้เปรียบเสียเปรียบในการนำเข้าจากทางชายแดนกับทางท่าเรือนั้น มีผลอย่างแน่นอนครับ เช่นการนำเข้าจากชายแดน ถ้าจะพูดแบบตรงไปตรงมา ก็มีการหลบเลี่ยงการเสียภาษีบ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป มีไม่กี่บริษัทหรือสินค้าไม่กี่ตัว ที่เสียภาษีเต็มโดยไม่หลบเลี่ยงภาษีเลย พูดไปเดี๋ยวจะคิดว่าผมโฆษณาตนเอง เพราะผมได้รับการสอนมาจากป๋าเฉลียว บริษัท กระทิงแดง จำกัด ให้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ดังนั้นการนำสินค้าเข้าเมียนมา เราจึงไม่มีการหลบหลีกหาช่องว่างทางกฎหมายเลย ทำให้ทุกวันนี้ราคาสินค้าของเรา จึงมีราคาที่แพงกว่าชาวบ้านเขานิดหน่อยครับ 

ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งสำหรับการนำเข้าจากชายแดนคือความรวดเร็วในการขนส่ง ถ้ามาทางชายแดนแม่สอด-เมืองเมียวดี สองวันก็ถึงเมืองย่างกุ้งแล้ว แต่ถ้ามาทางเรืออย่างเร็วก็ต้องหนึ่งอาทิตย์ เพราะเรือจะต้องจอดขนถ่ายสินค้ากันที่ท่าเรือสิงค์โปร์

ดังนั้นสินค้าที่เป็นนมสดหรือนมโยเกิร์ต  ที่มีวันหมดอายุเพียง 21 วันหลังวันผลิต จึงไม่สามารถไปทางเรือได้ครับ เพราะจะเหลือเวลาขายไม่กี่วัน

ด้านข้อได้เปรียบที่มาจากทางเรือของสินค้าคือ สินค้าจะไม่มีการตกหล่นหรือสูญเสียมากนัก ในขณะที่สินค้าที่มาจากทางรถ มีโอกาสเสียหายมากกว่าเยอะ เพราะต้องขนถ่ายสินค้ากันมากถึง 3-4 ครั้ง ภาษาของชาวขนส่งต้องบอกว่า “สินค้าช้ำหมด” คือกล่องและบรรจุภัณฑ์อาจจะมีการบุบเสียหายได้นั่นเอง อีกอย่างหนึ่งคือสินค้าจะมาตรงเวลากำหนด ไม่เหมือนทางรถ ซึ่งแม้ว่าจะมีระยะเวลาการเดินทางที่สั้นกว่า

แต่บางครั้งก็อาจจะมีความไม่แน่ไม่นอนครับ อาจจะมีปัญหาระหว่างทางก็เป็นไปได้ แต่ถ้ามาทางเรือจะตรงตามตารางเวลาที่แน่นอน ส่วนค่าขนส่งทางเรือหรือค่าระวางสินค้า ถ้าคิดต่อหน่วยแล้ว ค่าขนส่งจะถูกกว่ามาทางรถจากชายแดนเยอะมาก

ดังนั้นเวลาเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมียนมาเขาคิดค่าภาษีบวกเข้าไปแล้ว จะเกิดการได้เปรียบทางด่านชายแดน ทางการเมียนมาจึงได้กำหนดราคาที่ศุลกากรกำหนดให้เป็นตัวตั้งในการคิดค่าภาษีตามพิกัดภาษี (Tariff rate )  หรือราคาที่ทางศุลกากรยอมรับได้ ( Except Price)  จึงสูงกว่าทางด่านชายแดนมากขึ้นถึง 20% เลยทีเดียว เพื่อไม่ให้เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกันทั้งสองทางนั่นเอง

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่เป็นปกติ การเดินทางพร้อมทั้งการขนส่งล้วนมีปัญหาอยู่มาก ทำให้ระบบโลจีสติกส์ ผิดเพี้ยนไปหมด หากกำหนดไม่ให้นำเข้าทางชายแดน แต่ให้มีการนำเข้าทางเรือเท่านั้น สินค้าทุกชิ้นจะต้องถูกนำเข้ามาทางท่าเรือเดินสมุทรที่เมืองย่างกุ้งก่อน

จากนั้นจึงกระจายไปยังเมืองต่างๆ แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่า เมืองย่างกุ้งเป็นจุดศูนย์กลางของการประท้วงอยู่ในขณะนี้ จึงทำให้มีปัญหาในการกระจายสินค้ามาก และค่าขนส่งจากมือผู้ค้าส่ง ผ่านไปยังคู่ค้าที่อยู่ต่างจังหวัด จึงต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก

ในขณะที่ลูกค้าที่อยู่ตามเมืองชายแดน เช่นเมืองพะอาน เมืองเมาะละแมง เมืองอื่นๆอีกหลายเมือง จากเดิมรับสินค้าที่เมืองเมียวดี ค่าขนส่งจะถูกมาก ต่อไปนี้ก็จะต้องจ่ายค่าขนส่งเพิ่มขึ้น เพราะต้องมารับสินค้าจากย่างกุ้ง ดังนั้นจึงทำให้ราคาสินค้าจะต้องสูงขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

สรุป ราคาสินค้าที่กล่าวมาทั้ง 5 ประเภท จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สินค้าแพงขึ้น หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อจากราคาสินค้าเพิ่มสูงนั่นเอง สิ่งที่ผมกังวลใจไปกว่านั้นก็คือ หากสินค้าตัวอื่นๆถูกกำหนดให้นำเข้าทางเรือทั้งหมด โ

อกาสที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หันไปบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ หรือสินค้าผลิตจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ถ้าหากสถานการณ์เช่นนี้เกิดมีการลากยาวออกไป จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความเคยชินในการบริโภค หรือเขามีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าที่ราคาถูกกว่าของไทยเรา อันนี้อันตรายมากเลยครับ

ดังนั้นการที่ตลาดสินค้าอุปโภค-บริโภค ไทยเราครองแชมป์ความนิยมในการใช้สินค้าไทยมาช้านาน จึงเป็นที่น่ากังวลใจว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของหมัดแรกที่ต่อยมาสู่ใบหน้าแชมป์ไทย หมัดต่อๆไปอาจจะทำให้น็อคเอาค์แชมป์เก่าไทยเราได้นะครับ