posttoday

เทศกาลเต็งจั่น ปีใหม่เมียนมา

17 เมษายน 2564

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันที่ 13 เมษายนของทุกปี จะเป็นวันสงกรานต์ของประเทศไทย เราเองก็รู้จักวันสงกรานต์กันทุกคน ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตอนเด็กๆเราจะตั้งตารอคอยเพื่อจะได้เล่นน้ำสงกรานต์กัน พอโตขึ้นมาหน่อย พอจะเข้าใจถึงวัฒนธรรมไทยบ้างแล้ว ก็ต้องไปรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ ผู้หลักผู้ใหญ่กัน เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้สืบทอดต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน แต่พออายุมากขึ้น ชักจะไม่อยากจะเล่นน้ำให้เปียกแล้ว เวลาลูกๆอยากจะไปเล่นน้ำสงกรานต์ ก็ได้แต่พาลูกๆไปตระเวนเล่นน้ำสงกรานต์ ในขณะที่เราก็มีหน้าที่เป็นสารถี แค่คนขับรถและปิดกระจกอยู่แต่ในรถ กลัวเปียกน้ำครับ พอแก่ตัวมา ก็มีหน้าที่นั่งอยู่บนตั่ง ให้เด็กๆพนักงานและลูกหลานรดน้ำดำหัว เรามีหน้าที่แบมือรับน้ำที่เขารดให้ พร้อมทั้งกล่าวคำอวยพรไป เฮ้อ.....เราแก่ไปอีกปีแล้วนะนี่!!!!

ในช่วงชีวิตที่มีสีสันที่สุดของวันสงกรานต์ ผมคิดว่าน่าจะเป็นช่วงที่อายุตั้งแต่ 12-17 ขวบ ช่วงที่ผมอาศัยอยู่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพราะที่นั่นจะมีการจัดงานเทศกาลที่สนุกมาก เพราะพี่น้องชาวลาว (จากเดิมที่เข้าใจว่ามีแต่ประเทศไทยเรามีงานสงกรานต์ ก็เริ่มจะเข้าใจแล้วว่ามีอีกหลายประเทศที่มีงานสงกรานต์เช่นกัน) เขาก็มีงานสงกรานต์เหมือนกับเรา ทั้งสองฝั่งโขงจึงมีการจัดงานร่วมกัน โดยเฉพาะช่วงค่ำ จะร่วมกันจัดงานที่เกาะกลาง ที่อยู่กลางแม่น้ำโขง ที่นี่จะมีการจัดเวทีชกมวย รำวง การแสดงอีกเยอะแยะไปหมด อีกทั้งยังมีซุ่มการพนันทุกชนิด ทั้งไฮโล โปปั่น น้ำเต้า ปู ปลา ปาเป้าลูกโป่ง สาวน้อยตกน้ำ มีหมดเลยครับ

ในยุคนั้นการข้ามไปมาหาสู่กันสะดวกมาก ไม่ต้องมีพิธีรีตองทางตรวจคนเข้าเมืองให้ยุ่งยากเลย ทั้งสองฝั่งโขงเปรียบเสมือนบ้านพี่เมืองน้อง พอตกเย็นเราก็จะนั่งเรือไปเที่ยวกันยันสว่าง  เรียกว่าสนุกมากๆ ไม่ลืมเลือนเลยครับ เสียดายที่ประเพณีนี้เริ่มจะไม่มีแล้ว เพราะหลังจากประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เรามีความห่างเหินกันไประยะหนึ่ง พอความสัมพันธ์กลับมาอีกครั้ง ก็เริ่มมีการเข้มงวดมากขึ้นตามวิวัฒนาการของโลกไปแล้วครับ

เรามาดูทางด้านประเทศจีนบ้าง ที่สิบสองปันนาหรือเมืองจิ่งหง มณฑลยูนนาน ก็มีสงกรานต์เหมือนกัน เพราะที่นั่นประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ ดังนั้นจึงมีวัฒนธรรมเหมือนบ้านเรา พอสิบสองปันนาเปิดการท่องเที่ยวให้ประชาชนคนจีนได้รู้จักกันมากขึ้น ก็มีการนำเอาประเพณีสงกรานต์มาเป็นจุดขายของเมือง แต่เขาจัดให้มีการโชว์ในหมู่บ้านท่องเที่ยวเพื่อเรียกแขกเสียแล้ว โดยมีการจัดให้เป็นการแสดงเพื่อเรียกแขกให้เข้ามาเล่นรดน้ำสงกรานต์กันทุกวัน วันละหลายรอบ จนทำให้ความศักดิ์สิทธิ์หรือมนต์ขลังของสงกรานต์หายไปเยอะ ผมเคยเข้าไปเที่ยวที่นี่หลายครั้ง ไม่ค่อยจะประทับใจเลยครับ มีความรู้สึกว่าปลอมๆยังไงไม่รู้ ไม่เหมือนสงกรานต์ของบ้านเราจริงๆครับ

ที่ประเทศกัมพูชาก็มีประเพณีนี้เหมือนกัน ผมมีโอกาสได้เข้าไปที่นั่นในช่วงสงกรานต์น้อยมาก จึงไม่ค่อยจะมีอะไรมาเล่าครับ แต่ที่ประเทศเมียนมา ผมก็มีโอกาสอยู่ที่ย่างกุ้งในวันสงกรานต์เยอะกว่าครับ จึงทราบว่าที่นี่เขาเรียกว่า “เต็งจั่น” (อ่านตามตัวอักษร แต่ถ้าภาษาวัยรุ่นหน่อยเขาเรียก “ตะจั่น”กันครับ) เขาถือเอาวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ของเขามาช้านาน ที่เมียนมาเขาเอาดอกประดู่หรือที่คนเมียนมาเรียกว่า “ปะเด่าป่าน” มาเป็นสัญญาลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์หรือเต็งจั่นครับ พอใกล้วันเต็งจั่นทุกปี ดอกประดู่หรือปะเด่าป่านจะบานสะพรั่ง เขาก็จะนำมาประดับประดาเต็มไปหมด สาวๆก็จะนำมาประดับไว้บนมวยผม มีการฟ้อนรำตามเพลงสงกรานต์กัน พร้อมทั้งเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานครับ ที่ประเทศเมียนมาจะให้ความสำคัญกับวันเต็งจั่นนี้มาก เพราะจะมีวันหยุด 7-10 วันไม่เท่ากันของแต่ละปี (เป็นวันที่เถ้าแก่สลบเหมือด ไปไม่ได้ทำมาหากินกัน)

ทุกๆปีของเทศกาลเต็งจั่น ทุกเมืองทางรัฐบาลจะจัดซุ้มถาวรบนถนนสายสำคัญๆให้ พร้อมทั้งจัดท่อสายยางสำหรับน้ำใช้ในการรดน้ำให้ ช่วงยุคแรกๆ การใช้ซุ้มของประชาชนจะเป็นการใช้ฟรี ใครอยากจะไปเล่นน้ำที่ไหนก็สามารถทำได้ไม่มีข้อกำหนด แต่ในระยะหลังๆ เมื่อความเจริญเข้ามาสู่ประเทศเมียนมา การค้า-การขายมีมากขึ้น พ่อค้าก็เริ่มมีการใช้ซุ้มดังกล่าว มาทำเป็นสถานที่สำหรับโปรโมทสินค้ากันหมด  ทางการก็เริ่มเข้ามาเก็บค่าใช้จ่ายจากคนที่ต้องการซุ้ม จนหลังๆมานี้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่ทางการเป็นเงินจ๊าดที่มีตัวเลข 8 หลักเลยทีเดียว ในขณะที่คนจะต้องการเล่นน้ำบนซุ้มดังกล่าว ก็ต้องจ่ายเงินค่าหัวฉีดน้ำหลักหมื่นจ๊าดต่อวันเลยครับ

ประเพณีอย่างอย่างที่น่าสนใจของวันเต็งจั่น คือลูกหลานจะกลับบ้านเพื่อไปกราบพ่อแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพ ที่บริษัทต่างๆก็เช่นกันครับ พอเปิดงานวันแรกหลังจากหยุดงานมาหลายวัน เขาจะนำสิ่งของเช่น เสื้อ-ผ้า ชาหมัก(ละเพะ)ที่คนเมียนมานิยมทานกัน ขนม ดอกไม้ มาขอกราบที่เท้ากันครับ เขาจะให้ผู้ที่เขาเคารพนั่งที่เก้าอี้ แล้วนำผ้าเช็ดหน้ามาวางที่เท้า จากนั้นก็จะก้มลงกราบ เป็นการแสดงถึงการเคารพขั้นสูงสุดจากใจจริงๆ ผมเองก็ได้รับเป็นประจำทุกปี เสียดายที่ผมไม่อยู่เป็นเวลาสองปีแล้ว ถ้าอยู่คงจะได้รับการคารวะเช่นทุกปีครับ

ที่น่าชื่นใจอีกอย่างหนึ่งคือ ทุกปีเวลาเปิดทำงานหลังเทศกาลเต็งจั่น เราจะเห็นพนักงานหลายคนที่โกนหัวโล้นมาทำงาน สืบสาวราวเรื่องจึงทราบว่า ทุกปีเขาเหล่านั้นจะไปบวชพระกัน ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย จะโกนหัวบวชกัน แรกๆเลยก็แปลกใจว่าทำไมบวชกันบ่อยจัง ที่เมียนมาไม่เหมือนไทยตรงที่เขาไม่ถือสาเรื่องชายสามโบสถ์หรอกครับ ที่นี่เขาสามารถบวชเรียนได้เท่าที่ใจปารถนาครับ เสียดายจริงๆที่เมื่อปีกลายเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้ทางการระงับการเฉลิมฉลองเต็งจั่นกัน พอมาปีนี้เจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ต้องงดไปอีกปี หวังว่าปีหน้า จะมีการเฉลิมฉลองเต็งจั่นกันให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยครับ