posttoday

ผู้ประกอบการไทยรอวันฟ้าใส ในเมียนมา

03 เมษายน 2564

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

ฃสถานการณ์ในเมียนมาสองวันมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ การปราบปรามของ SAC ที่มีต่อประชาชนที่เดินออกมาประท้วงตามท้องถนนหรือกลุ่ม CDM ภาพที่ออกมาจากช่องทางใน Facebook และYouTube ค่อนข้างจะแรงมากๆ 

ในฐานะที่เป็นประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ผมก็ได้พยายามหาทางที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศเมียนมามาโดยตลอด แต่ในปรากฎการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมต้องทำงานหนักขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในเมียนมา ได้มีทางออกที่ไม่ต้องสูญเสียธุรกิจจากผลพวงของความไม่สงบในครั้งนี้ครับ

การค้า-การลงทุนในเมียนมาที่ผ่านมา จากชีวิตจริงของผมเอง ได้มีวิวัฒนาการที่สามารถแบ่งออกเป็นสามช่วงสำคัญๆ ที่ผมอยากจะขอนำมาเล่าให้ท่านฟังจากประสบการณ์จริงของผม 

ที่ผมทำธุรกิจที่ประเทศนี้มาตั้งแต่ปี 1990 จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 31 ปีแล้ว จึงไม่ได้นั่งเทียนเขียน หรือหลับฝันไปแล้วลุกขึ้นมาเขียนอย่างแน่นอนครับ อยากจะบอกว่าช่วงแรกของการค้า-การลงทุนนั้น อยู่ในช่วงปี 1988-2000 ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่มืดมนที่สุด เพราะการเข้าไปทำการค้า-การลงทุน ทางรัฐบาลเมียนมาในยุคนั้น ยังมีความเข้มงวดมากๆ จึงทำให้ไม่ค่อยมีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ 

เงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของเมียนมามีน้อยมาก รัฐบาลจึงได้มีนโยบายที่จะต้องหาเงินตราต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศเมียนมา แม้แต่การเดินทางเข้าประเทศทุกครั้ง ยังจะต้องมีการแลกเงินเหรียญสหรัฐกับเงินเหรียญที่ทางรัฐบาลพม่าได้ออกธนบัตรทดแทนเอง(พวกเรามักจะเรียกเล่นๆว่ากงเต็กดอลลาร์) 

โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1:1 เป็นจำนวน 400 เหรียญสหรัฐ เพื่อให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปที่ย่างกุ้ง นำเอาไปใช้ทดแทนการใช้เงินเหรียญสหรัฐนั่นเอง นั่นหมายความว่าทุกคนที่เป็นชาวต่างชาติเข้าประเทศพม่า จะต้องใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 400 เหรียญสหรัฐอย่างแน่นอน และถ้าหากว่าใช้ไม่หมด ก็จะต้องนำไปแลกที่ตลาดมืดแทน แม้จะขาดทุนบ้างก็ต้องจำใจยอม เพราะถ้านำกลับไปบ้าน ก็ไม่สามารถที่จะใช้ได้อีกเลยนั่นเอง 

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการไปทำการค้า-การลงทุนที่นั่นคืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสองระบบ ในอัตราที่ทางการประกาศใช้คือ 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ 6.5 จ๊าด ในขณะที่ตลาดมืด อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับ 500-1,000 จ๊าดแล้วแต่สถานการณ์ 

ดังนั้นเวลาที่เรานำเงินเข้าไปลงทุนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ล้านเหรียญ จะได้เงินจ๊าดเพียง 6,500,000 จ๊าด แต่ถ้าแลกในตลาดมืดจะได้มากกว่า 500,000,000-1,000,000,000 จ๊าดแล้วแต่กรณี แล้วเราจะทำการค้าอะไรที่สามารถมีกำไรได้มากถึงหลายร้อยล้านจ๊าด เมื่อไหร่จะมีกำไรได้มากพอที่ลงทุนไปละครับทีนี้ เลยทำให้ไม่มีนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าทำไปทำการค้าได้เลยครับ 

อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ ข้อกฎหมายและกฎอัยการศึกนี่แหละครับ ซึ่งผมไม่ขออธิบายถึงความยากลำบากครับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ายากมากๆๆที่จะมีคนกล้าเข้าไปลงทุนที่เมียนมา

ส่วนระยะที่สอง คือช่วงเวลาในปี 2000-2012 ช่วงนี้เริ่มเห็นวี่แววว่าจะสดใสขึ้นมาบ้าง เริ่มมีนักธุรกิจต่างชาติทะยอยเดินทางเข้าไปจับจองที่ทางในการทำธุรกิจมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ชื่อคนเมียนมาถือหุ้นแทน ยุคนี่เป็นยุคที่คนที่กล้าเสี่ยงและคนที่เห็นโอกาสเข้าไปลงทุนที่นั่น แต่ก็ถูกฉ้อฉลกันเยอะ 

เราจะได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆในยุคนี้เยอะ และในปี 2002 ได้มีธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งล้มละลาย ทำให้เกิดปัญหาด้านการค้า-การลงทุนอย่างรุนแรง และต่อมาในปี 2007 ก็เกิดปัญหาการประท้วงการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันแบบลอยตัว เราได้เห็นการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ทำให้มีการสูญเสียเยอะมากเช่นกัน 

ยุคนี้การทำการค้า-การลงทุนอุปสรรคจะไม่เหมือนยุคมืดครับ แตกต่างกันเยอะมาก แต่ก็ยากลำบากมากเช่นกัน 

ในยุคที่สามคือช่วงปี 2012 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในยุคดังกล่าวรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ได้รัฐบาลประชาธิปไตยยุคแรกในปี 2010 นำโดย ฯพณฯท่านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งท่านได้มีการพัฒนาประเทศอย่างเร่งรีบ 

ในปี 2012 ได้มีการตรากฏหมายสำคัญๆออกมาหลายฉบับ ที่เห็นได้ชัดคือการออกกฎหมายยกเลิกการใช้อัตราแลกเปลี่ยนสองอัตรา เปลี่ยนมาใช้อัตราเดียวกันทั้งบนดินและใต้ดิน เท่ากันหมด ในอัตรา 1:840 จ๊าด และกฎหมายการลงทุน กฎหมายการยกเลิกห้ามนำเข้ารถยนต์ ฯลฯ 

ต่อด้วยการบริหารประเทศโดยพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2015 ทำให้ท่านอ่อง ซาน ซูจีผงาดขึ้นมานำทีมบริหารประเทศ และได้มีการตรากฎหมายต่างๆออกมาพัฒนาประเทศเมียนมาอีกเยอะมาก 

แต่พอปี 2020 การเลือกตั้งครั้งที่ 3 ที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างล้นหลาม เราคงไม่ไปวิจารณ์ว่าใครชนะใครแพ้ หรือไม่ต้องพูดว่าสาเหตุมาจากอะไร เอาเป็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นชนวนที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบกระทันหันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั่นเองครับ 

ดั่งที่ทราบๆกันดีว่าเหตุการณ์ครั้งนี้บานปลายออกไป จนเราไม่สามารถทำนายได้ว่าจะจบลงอย่างไร หรือจบแบบไหน ใครจะแพ้ใครจะชนะไม่สำคัญหรอกครับ  แต่ที่แน่ๆประเทศเมียนมาแพ้ราบคาบ ประชาชนเองก็เจ็บ-ตายไปมิใช่น้อย อีกทั้งเศรษฐกิจกำลังจะพังลงอย่างย่อยยับ 

ผมเองอดทนรอคอยด้วยการทำธุรกิจในประเทศเมียนมามายาวนานถึง 31 ปี เพื่อรอวันที่เห็นแสงสว่าง แต่พอฟ้าเปิดได้ไม่นาน 

วันที่อุดส่าห์รอคอย ก็หายวับไปกับตา คงจะต้องตั้งตารอคอยต่อไปละครับ เพราะถ้าหากท้อถอย แล้วถอนตัวออกมา สิ่งที่สร้างไว้มา 31 ปี ก็จะล่มสลายลงเหมือนกองทรายที่ถูกคลื่นทะเลซัดหายไปนั่นแหละครับ ไม่สามารถเรียกร้องให้ใครมาช่วยได้หรอกครับ 

เราคงต้องอดทนรอคอยกันต่อไปครับ สักวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างสงบ หวังว่าฟ้าหลังฝน จะมีแสงสว่างสดใสขึ้นอีกครั้งครับ