posttoday

บทบาทอาเชียน ท่ามกลางความขัดแย้งในเมียนมา

27 กุมภาพันธ์ 2564

โดย กริช วิฑูรสถิตย์

ตั้งแต่ต้นอาทิตย์นี้ เราจะเห็นความพยายามของสมาชิกในประเทศอาเชียน ที่เกิดความกังวลใจในสถานการณ์ที่ประเทศเมียนมา ซึ่งนำโดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศอินโดนีเชีย ฯพณฯท่าน เร็ตโน มาร์ซูดี ซึ่งออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการประชุมเพื่อหาทางออก ในการเสริมสร้างสันติภาพในประเทศเมียนมา ซึ่งต้องขอชื่นชมท่านเป็นอย่างยิ่งครับ

ความขัดแย้งในประเทศเมียนมาครั้งนี้ ค่อนข้างจะรุนแรง อีกทั้งยังขยายพื้นที่การชุมนุมแบบอารยะขัดขืนไปทั่วทั้งประเทศ วันนี้ได้มีการเดินขบวนประท้วงกันอย่างกว้างขวางมากมายร่วมสองร้อยเมืองไปแล้ว 

ส่วนผู้ที่ร่วมเดินขบวนส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีความร้อนลุ่มด้วยอารมณ์ที่รุนแรงกันทั้งนั้น ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนๆนักธุรกิจชาวเมียนมาทั้งที่ในประเทศไทย และที่ยังอยู่ในย่างกุ้ง เกือบจะทุกคนล้วนมีความคิดเห็นที่ใกล้เคียงกัน  

เนื่องจากเขาเองก็คงจะประเมินสถานการณ์ว่า งานนี้คงไม่จบง่ายๆแน่นอน ถ้าหากเหตุการณ์บานปลายออกไป ผลเสียที่จะตามมา ต้องมีการเสียสละทั้งเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องพังยับเยิน สังคมที่ไม่สงบจะยังคงต้องลุกโชนอีกยาวนานแน่นอน 

ประเทศเมียนมา อาจจะต้องถอยหลังไปตั้งต้นใหม่อีกครั้งก็เป็นไปได้สูงมากทีเดียว

ในส่วนของปัญหาจากทางฝ่ายการเมือง ผมก็มีเพื่อนนักการเมืองหลายท่านที่สนิทที่พอจะคุยกันได้ และมีอยู่ท่านหนึ่ง ท่านนี้เป็นสมาชิกพรรค NLD มาช้านาน (เนื่องด้วยความปลอดภัยของท่าน จึงขอสงวนนามท่านนะครับ) 

ท่านก็เล่าให้ฟังว่า ทางพรรคท่านไม่สามารถที่จะถอยได้เช่นกัน สามาชิกทุกคนยังคงมีกำลังใจที่เข้มแข็งมาก และเชื่อมั่นในตัวผู้นำพรรคเป็นอย่างยิ่ง ถามว่าแล้วคิดว่าจะมีทางชนะหรือไม่ 

ท่านบอกว่าต้องชนะแน่ เพราะประชาชนเกือบทั้งประเทศที่สนับสนุนอยู่ ส่วนรายละเอียด คงไม่สามารถที่จะนำเสนอทางสาธารณะได้ครับ

หากเรามองย้อนกลับมาที่สมาชิกประเทศอาเชียน ทางประเทศอินโดนีเซียหนึ่งในสมาชิกของประชาคมอาเชียน เขาก็จะพยายามที่จะฉกฉวยโอกาสนี้ เพื่อแสดงตนเป็นผู้นำอาเชียน 

โดยในช่วงแรกนั้นข่าวที่ออกมาว่า เขาจะดำเนินการด้วยการเชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสมาชิกประเทศ เข้าร่วมหารือกันเพื่อหาทางออก แต่อยู่ๆเมื่อต้นสัปดาห์ กลายเป็นว่ารัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอินโดนีเซีย ออกตัวแรงมาก

ด้วยการดึงเอาประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วม ในการเอื้อเฟื้อสถานที่ในกรุงเทพฯให้เป็นที่นัดพบกัน ระหว่างรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมาในชุดใหม่นี้ กับฯพณฯท่าน เร็ตโน มาร์ซูดี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทยนั่งร่วมโต๊ะสนทนาด้วย 

ผมเห็นภาพนี้แล้ว ค่อยข้างจะกังวลใจเป็นอย่างยิ่งครับ เกรงว่าจะเกิดการเข้าใจบิดเบือนจากกลุ่ม CDM และฝ่ายพรรค NLD เกิดขึ้นได้ เพราะต้องยอมรับว่า ในขณะนี้สถานการณ์ในประเทศเมียนมากำลังร้อนระอุด้วยไฟของความไม่พอใจของฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ และกลุ่มประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วงด้วยการแสดงอารยะขัดขืนหรือกลุ่ม CDM  และก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากละครับ

ในความคิดเห็นส่วนตัวผม ผมได้แสดงความเห็นด้วยที่จะให้ประเทศไทยเป็นผู้ไกล่เกลี่ย แต่เราต้องระมัดระวังและต้องอะลุ่มอะล่วยมากๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้ทุกๆฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ และต้องใช้ศิลป์ในการเจรจาอย่างเต็มที่ 

ผมคงมิบังอาจไปสอนหนังสือสังฆราชหรอกครับ เพียงแต่กังวลใจถึงสถานะของประเทศไทยเรา ซึ่งอาจจะเสียโอกาสในการแสดงตัวเป็นผู้นำไปเท่านั้น เชื่อว่าคณะทำงานของรัฐบาลทุกท่าน ล้วนแล้วแต่มีความสามารถสูงด้วยกันทั้งนั้น 

ท่านคงมีเหตุผลที่ดีมากอยู่ในใจอย่างแน่นอน เพียงแต่เราเองซึ่งเป็นส่วนเสี้ยวเล็กๆในสังคม อาจจะไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการดำเนินการก็ได้ครับ

การแสดงตนของทางฝั่งประเทศอินโดนีเซีย เขาค่อนข้างจะชัดเจนมากว่า ต้องการเป็นผู้นำในการไกล่เกลี่ยครั้งนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจคือ หากประสบผลสำเร็จในการดึงเอาสันติภาพกลับมาสู่เมียนมา 

พวกเราชาวอาเชียนก็จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทุกประเทศ แต่ต้องไม่ลืมถึงผลในทางตรงกันข้ามด้วย 

ดังนั้นถ้าหากประเทศอินโดนีเชียซึ่งอยู่ห่างไกลกับประเทศเมียนมามาก ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมา หากผลที่ออกมาในทางลบ เขาจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ผิดจากประเทศไทยเรา เพราะเรามีดินแดนติดกับประเทศเมียนมายาวมากกว่าสองพันกิโลเมตร

หากมีความไม่สงบเกิดขึ้น หนทางที่จะเกิดการทะลักเข้ามาสู่ประเทศไทยเราของประชาชนผู้หลี้ภัย ย่อมทะลักเข้าสู่ประเทศไทยเราก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย 

ดังนั้นบางเรื่องที่เขาดำเนินการอยู่ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราก็ควรจะต้องปฎิเสธเขาได้ เพราะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุดคือเราครับ เราต้องเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุดครับ

ผมมีความเชื่อว่า ประเทศไทยเรามีผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับประเทศเมียนมามากมายหลายท่าน 

ดังนั้นหากเราได้มีโอกาสพูดคุยหรือรับฟังเหตุและผลที่จะตามมาอย่างไรจากปากของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น 

ก็อาจจะได้อะไรดีๆจากเขาเหล่านั้นก็เป็นไปได้นะครับ