posttoday

การเผชิญกับโควิด-19 ด้วยความไม่พร้อม

09 มกราคม 2564

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์นี้ผมมีความรู้สึกเครียดมาก อาจจะเป็นเพราะจากการที่เสพข่าวสารเยอะเกินไปก็เป็นได้ แต่มีความรู้สึกว่าในประเทศไทยเรานี้ มีแต่คนเก่งๆกันทั้งนั้น 

ในขณะที่รัฐบาลทำอะไรก็มีเรื่องให้ตำหนิติเตียนไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการล็อคดาวน์หรือไม่ก็ตาม หรือการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนในขณะนี้หลายๆด้าน 

แม้แต่การวิ่งไล่จับกุมบ่อนคาสิโน ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งออกมาให้ข่าวเสมอว่าทำไม่ถูกบ้างละ ทำช้าไปบ้างละ จนเมื่อวานนี้ผมตัดสินใจเลิกดูข่าวสักสองวัน เป็นการทำใจให้ร่มๆ ไม่ไปเครียดมากจนเกินไปครับ

ผมมีความรู้สึกว่าบางครั้ง คนที่อยู่ในความสุขมักจะไม่รู้ว่าความสุขเป็นอย่างไร จนกว่าเขาจะเข้าไปอยู่บนความทุกข์ นั่นแหละถึงจะรู้ว่าที่ผ่านมานั่นคือความสุข 

ในขณะที่ประชาชนหลายๆประเทศ เขาอาจจะไม่ได้มีความสะดวกสบายเหมือนกับประเทศที่เจริญแล้ว แต่เขาก็มีความสุขได้ 

ดังนั้นเราอย่าเอาสิ่งที่เรามองเห็นหรือความเชื่อส่วนตัว มาตัดสินใจว่าคนอื่นไม่มีความสุข  ผมกำลังอยากจะสื่อให้พวกเรามองไปที่ประเทศเมียนมา เราอาจจะเห็นว่าเขาไม่เจริญเท่าเรา 

บางครั้งเวลาผมเดินทางไปต่างเมืองในประเทศเมียนมา จะเห็นคนเขาเป็นอยู่ที่ค่อนข้างจะแร้นแค้นกว่าเรา แต่ในความเป็นจริง เขาอาจจะมีความสุขมากกว่าเราก็เป็นได้ครับ 

บทเรียนที่การระบาดของเจ้าวายร้ายผีน้อยCOVID-19 ครั้งนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่า เขาเองก็สามารถที่จะฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ แล้วเดินไปข้างหน้าต่อไปได้ นี่คือความจริงที่สามารถดูจากตัวเลขที่เริ่มลดลงมาจนกระทั่งเหลือเพียงหลักร้อยรายต่อวันครับ

ในประเทศเมียนมา มีความไม่เสมอภาคมากมาย และความไม่พร้อมที่จะรับมือเจ้าโรคระบาดนี้อีกเยอะในสายตาคนภายนอก เช่น เขามีความไม่เสมอภาคด้านการศึกษา ที่ต้องยอมรับว่าอัตราส่วนของคนด้อยการศึกษาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก 

คนชนบทของเขา ไม่ได้เข้าเล่าเรียนหนังสือยังมีอีกเยอะมาก ชนชาติพันธ์ของเขา ถ้าไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนของทางรัฐบาล จะไม่สามารถพูดภาษาเมียนมาได้เลย หรือการสื่อสารการคมนาคมในเมียนมา ค่อนข้างจะแย่มากๆ ถนนหนทางที่ไปต่างเมือง ยังมีอีกหลายเมือง ที่ไม่มีถนนตัดผ่าน หรือสุขลักษณะของประชาชน ก็ยังอยู่ในขั้นที่จะต้องปรับปรุงอีกเยอะ 

แม้แต่อัตราการเข้าถึงสถานพยาบาลก็ยังแย่กว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน สิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย ก็จะเป็นแพทย์แผนโบราณ ที่มีตั้งแต่การทรงเจ้าเข้าทรง หรือแม้แต่ยาสมุนไพรต่างๆที่มีให้เห็นกันแพร่หลาย 

ผมไม่ใช่ว่าจะแอนตี้ยาสมุนไพรเสียทั้งหมดนะครับ แต่บางโรคเราก็ควรจะเชื่อใจแพทย์แผนปัจจุบันเข้าไว้ก่อน เพราะแพทย์แผนปัจจุบันเขามีเครื่องมือที่จะส่องดูตับไตใส้พุงเรา จนมองเห็นหมดจดไปหมด 

ในขณะที่แพทย์แผนโบราณนั้น ได้แต่นั่งแมะจับชีพจร แล้วมาคาดเดาเอาว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ ผมคนหนึ่งละที่ไม่เอาด้วยครับ แต่ถ้าเราดูจากตัวเลขการติดเชื้อใหม่ของชาวเมียนมา 

ราจะเห็นว่ามันลดลงอย่างมีนัยยะทีเดียวครับ เรามาดูว่าแล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งๆที่ประเทศแถบยุโรปที่มีความพร้อมมากกว่าเขา กลับมีสถานการณ์ที่เลวร้ายลงทุกวัน 

สิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปตามความรู้สึกของผม คือ การที่คนของเขามีความเชื่อมั่นตัวเองสูง และไม่ค่อยจะเชื่อฟังใครง่ายๆ อีกอย่างคือความเป็นประชาธิปไตยจ๋า 

ดังนั้นใครจะบอกให้เขาทำโน่น นี่ นั่น  เขามักจะไม่เชื่อเสียทีเดียวไว้ก่อน รอจนกระทั้งเรื่องราวใหญ่โตแล้ว ค่อยมาเชื่อว่าใช่ แต่ก็สายไปเสียแล้ว 

ในขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างเมียนมา เขาจะเชื่อแต่พระสงฆ์องค์เจ้า หรือผู้นำสูงสุดของเขา ไม่ว่าท่านดอร์ ออง ซาน ซูจี พูดว่าอย่างไร เขาจะเชื่อไปหมด นี่อาจจะเป็นปฐมเหตุที่ทำให้ตัวเลขลดลงก็เป็นได้ครับ 

และอีกประการหนึ่ง คนเมียนมาค่อนข้างจะรับฟังข่าวสารหรือการเสพข่าวที่ได้มา ในอดีตทุกวันจะมีการไปนั่งร้านชา แล้วก็โม้กันได้ทั้งวัน 

แต่ปัจจุบันนี้ ร้านชาได้ถูกประกาศให้ปิดตัวลง ทำให้คนหันไปดูข่าวสารจากมือถือ ตามโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อข่าวยิ่งรุนแรงคนก็ยิ่งต้องระมัดระวังตัว ผสมโรงกับทางการที่กระพือข่าวโดยท่านดอร์ ออง ซาน ซูจี ออกมาให้ข่าวด้วยตนเอง ผ่านFacebook YouTube สัปดาห์ละหลายๆครั้ง จึงทำให้คนตระหนักถึงภัยร้ายแรงของเจ้าวายร้าย COVID-19

อีกประการหนึ่งคือการมีจิตสำนึกต่อสังคม ความรักในชนชาติและชุมชนของตนเอง ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยยะก็เป็นได้ครับ

ดังนั้นเราคนไทยทุกคน ก็ควรจะหันมามองตัวเราเองได้แล้วครับ อย่าเพิ่งออกมาวิจารณ์ ออกมาตำหนิคนอื่นที่ไม่ใช่พวกของตนเอง ออกมายุยงส่งเสริมให้ไปจัดการกับคนนั้นคนนี้ หรือไปกล่าวโทษกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ว่าเป็นพวกที่ทำให้เกิดปัญหาโรคระบาดเลยครับ

หากเรารีบๆมีจิตสำนึกทางสังคม แล้วช่วยกันคิดหาทางแก้ไขปัญหา เราจึงจะรอดพ้นจากภัยร้ายนี้ไปได้ครับ