posttoday

สถานะชนชาติพันธุ์ในเมียนมา

22 สิงหาคม 2563

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

ช่วงนี้เป็นฤดูการเลือกตั้งของเมียนมา เสียงปี่กลองในเมียนมาเลยดังกระหึ่มตลอดเดือนที่ผ่านมา ทุกๆพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ต่างเร่งคัดเลือกตัวผู้สมัครกันทุกพรรค พรรคไหนที่อยู่ในอำนาจก็เนื้อหอม พรรคไหนโนเนม ก็ลำบากหน่อย

แต่จริงๆแล้วในความเห็นของผม ผมก็ว่าลำบากกันทุกพรรคแหละครับ เพียงแต่ลำบากกันคนละแบบ พรรคโด่งดังอย่าง NLD หรือพรรค USDP เขาก็ลำบากตรงที่ไม่รู้จะเลือกใครลงสมัครดี เพราะตัวเลือกมีเยอะ พรรคเล็กๆอีกเก้าสิบกว่าพรรค ก็ลำบากเพราะหาคนมาลงสมัครไม่ค่อยจะได้

ส่วนคนที่ผิดหวังจากพรรคใหญ่ๆไม่เลือกให้ลงสมัคร ก็ต้องไปตั้งพรรคกันเองก็หลายพรรค คงจะคล้ายๆกับประเทศไทยเรานั่นแหละครับ

แต่วันนี้ ผมอยากจะเอาเรื่องของสถานะของชนชาติพันธ์มาเล่าให้อ่านกันเล่นๆ เพราะมีหลายพรรคการเมืองที่เป็นพรรคของชนชาติพันธ์ เพื่อจะให้เห็นว่าความเป็นประชาธิปไตยของเมียนมานั่น ไม่สามารถเทียบเท่ากับประเทศไทยได้เลย

แต่เขาก็ต้องอดทนอยู่ในสถานะเช่นนั้น เขาไม่เห็นมีการออกมาเดินประท้วงกันเลยครับ ถ้าหากเราเจอเหมือนเขา ผมเชื่อว่าเดินประท้วงกันเต็มท้องถนนแน่นอน ราชดำเนินคงไม่มีที่ว่างให้คนทำมาหากินแน่ๆครับที่เมียนมาเขามีชนชาติพันธ์เยอะมาก มีมากถึง 135 เผ่าพันธ์ แต่ละเผ่าพันธ์ล้วนแต่มีอาวุธอยู่ในมือกันเกือบแปดเก้าสิบเปอร์เซนต์ 

ดังนั้นหากไม่ได้รับความยุติธรรม ทางรัฐบาลเขาก็คงไม่อยากเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นตามชายแดนเช่นกันแต่หากไม่ควบคุมให้ดีก็ลำบากมากครับ ที่เมียนมาวันนี้ ทุกเผ่าชนชาติพันธ์ต่างออกมาตั้งพรรคกันเกือบทั้งนั้น 

วันนี้มีพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมีมากถึง 79 พรรคอีรุงตุงนังกันไปหมดครับ แต่ที่หนักหนาสาหัสที่สุด เห็นจะเป็นพรรคที่เป็นกลุ่มที่ไม่พึงปารถนาของรัฐบาลนั่นแหละครับ 

เมื่อสัปดาห์นี้ในวันที่ 19-21 สิงหาคมนี้ ทางรัฐบาลเมียนมาได้จัดให้มีการประชุมสันติภาพสนธิสัญญาปางหลวงครั้งที่ 4 ขึ้น แต่มีชนชาติพันธ์ 7 กลุ่มที่รัฐบาลไม่ได้เชิญเข้าร่วมประชุมด้วย อันประกอบด้วย

1,Arakan Army (AA) และ 2,กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ Ta'ang (TNLA) 3,United Wa State Army (UWSA) 4,National Democratic Alliance Army (NDAA) / Mongla 5,Shan State Progressive Party (SSPP) / SSA- North 6,กองทัพ Kachin Independence Army (KIA), และ 7,Myanmar National Democratic Alliance Army (NDAA) / Kokang group

ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นถึงความไม่พึงปารถนาให้มีส่วนร่วมในเวทีเลือกตั้ง ในนั้นมีกลุ่มใหญ่ๆอยู่สองกลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มกองกำลัง AA หรืออาระกันอาร์มี่ กลุ่มกองกำลังสมาพันธ์ว้า หรือ UWSA ที่มีอิทธฺพลในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมานั่นเอง

ผมขอยกเอากลุ่มว้ามาเล่าก่อนนะครับ เพราะกลุ่มนี้มีฐานที่มั่นอยู่ติดชายแดนภาคเหนือของไทยเรา ที่ตั้งสำคัญของเขาอยู่ที่เมืองลา อยู่ติดชายแดนสิบสองปันนาของจีน

ฝั่งจีนคือเมืองต่าล่อ ฝั่งเมียนมาคือเมืองลา หากจากเชียงตุงไม่ไกล และอำเภอแม่สายอยู่ห่างจากเชียงตุงไม่ไกลนัก กองกำลังพลว้าส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาจีน ไทยใหญ่และว้าได้เป็นอย่างดี

โดยภาษากลางของเขาคือภาษาจีนยูนนานหรือจีนฮ่อนั่นแหละครับ ดังนั้นเขาจึงใกล้ชิดกับจีนมากๆ การที่รัฐบาลกลางเมียนมาจะทำอะไรเขาก็ต้องมองหน้าจีนด้วยเช่นกันครับ นี่เป็นสิ่งที่ยากจะบริหารให้เข้มข้นได้ครับ

ดังนั้นการตัดสินใจฉีกเขาออกจากการเลือกตั้งถือเป็นความกล้ามากของรัฐบาลเมียนมาครับ มาดูอีกกลุ่มคือกลุ่มอาระกันอาร์มี่ กลุ่มนี้จะเป็นแขกทั้งนั้น

ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงยา ซึ่งก็มีปัญหามาโดยตลอด ดังนั้นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทาง UEC หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาได้ประกาศไม่ยอมให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง

อีกทั้งมีชาวมุสลิม 7 คนที่สมัครแล้วถูกปฎิเสธ จึงไม่เหนือความคาดหมายครับ เพราะสถานะของกลุ่มชนชาวมุสลิมในเมืองใหญ่ๆ ถึงแม้จะมีจำนวนที่ไม่น้อยเลย

แต่เขามักจะถูกมองอีกมุมหนึ่งเสมอ ผมเคยเล่าให้ฟังมาแล้วในคอลัมน์นี้ว่าชนชาวมุสลิมที่มีหน้าตากระเดียดไปทางแขกมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือที่ภาษาพม่าเรียกว่า “มะป่องติ่ง” ต่างจากแขกที่เป็นฮินดูมาก เวลาไปติดต่องานราชการต่างๆ

หากมีบัตรประชาชนหรือมะป่องติ่งที่ระบุว่าเป็นมุสลิม ก็จะได้รับการบริการเปรียบเสมือนประชาชนชั้นสอง แม้แต่เวลาเราจะรับพนักงานเข้าทำงาน หากหน้าตาออกแขกๆ สิ่งแรกคือต้องถามว่ามีมะป่องติ่งหรือปล่าว ถ้าหากบอกว่ามีก็ต้องเช็คอีกว่ามีทะเบียนบ้านหรือใบสำคัญอื่นๆอีกมากมายหรือไม่

ซึ่งสามารถบอกได้เลยว่าอาจจะมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ผ่านมาได้ จะเห็นว่ายุ่งยากมากเลยครับ นอกจากนี้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินปัญหาของโรฮิงยา (ร้อยละร้อยคือชาวมุสลิม) ยิงกันไม่รู้จักจบ

อีกทั้งทหารเมียนมาเองก็ค่อนข้างจะหวั่นๆชนชาติพันธ์กลุ่มนี้มาก เพราะเขาสู้ยิบตา พอมีการจัดประชุมสันติภาพปางหลวง รัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับให้เขาร่วมประชุมด้วย ก็จึงไม่แปลกใจเลยครับ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ผมบอกไว้ด้านบน ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลเมียนมาตลอดมา การบ่งบอกสถานะของชนชาติพันธ์จึงไม่ดีเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะยกมาให้พวกเราดูคือ แม้ภายในเขาดูออกจะวุ่นวาย แต่ว่าพอเขาเจอภาวะวิกฤติ เช่นในช่วงถูกอังกฤษยึดครอง การถูกรุกรานโดยญี่ปุ่น

การถูกชาติตะวันตกบอยคอท หรือยุคนี้ที่เจ้าวายร้าย COVID-19 อาละวาดหนัก เขาก็ยังช่วยๆกัน ร่วมแรงร่วมใจกันก้าวข้ามวิกฤติเหล่านั้นไปให้ได้

ไม่ต้องออกมาเดินขบวนกันให้เสียเวลา จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดมากครับ