posttoday

นิคมอุตสาหกรรมโตงตะโก่ง

31 กรกฎาคม 2563

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

หลังจากเว้นวรรคมาหนึ่งอาทิตย์ เพื่อเขียนเรื่องอุทกภัยในเมียนมา เราคงต้องต่อที่การเปรียบเทียบนิคมอุตสาหกรรมต่อนะครับ

ผมจะพยายามนำเอานิคมอุตสาหกรรมในย่างกุ้งมาเล่าจุดดีจุดเด่นเขามีอะไรบ้าง อีกทั้งจะเอาจุดด้อยของแต่ละนิคมอุตสาหกรรมมาอธิบายให้ทราบกันด้วยครับ

วันนี้เรามาดูนิคมอุตสาหกรรมโตงตะโก่งหรือถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษ (South Dagon Industrial Zone) ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองและมีความเจริญบุกเข้าไปถึงหมดแล้วครับ นิคมฯนี้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงย่างกุ้ง

โดยสามารถเดินทางไปได้หลายทาง เพียงข้ามสะพานมหาบันดูล่าแล้วเลี้ยวขวา หรือไปทางสนามกีฬาตูวันน่า แล้วตรงไปทางติ่งกันจุน หรือเลี้ยวซ้ายไปทางตาเกต้าซึ่งเข้าไปได้ทั้งสามทาง หรือถ้ามาจากต่างจังหวัดจะเข้ามาโดยผ่านทางหลวงหมายเลข2 ของประเทศเมียนมา ก็สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกมากๆ

พอเข้าไปสู่นิคมอุตสาหกรรมซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 Zone ด้วยกัน โดย Zone แรกจะเป็นพื้นที่โรงงานบางส่วน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดค้าส่งสินค้าประเภทเหล็กทุกชนิด ส่วน Zone 2 จะเป็นโรงงานเหล็ก มีทั้งหลอมเหล็ก ผลิตเหล็กชนิดต่างๆ โรงงานรีไซเคิลเหล็ก ส่วนZone 3 จะมีโรงงานสารพัดแล้วละครับ ทั้งอาหารแปรรูป โรงงาน Packagingหลากหลายมาก

พื้นที่ส่วน Zone 1 และZone 2 ค่อนข้างจะแน่นมากๆจะหาพื้นที่ว่างเปล่าไม่ค่อยมี เพราะที่นี่เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เก่ามากๆ ส่วน Zone 3 ยังพอมีที่ว่างอยู่บ้าง แต่ก็เหลืออีกไม่มากนัก การหาซื้อนั้นส่วนหนึ่งที่พอจะเป็นไปได้คือต้องหาซื้อโรงงานเก่าละครับ

จุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมนี้คืออยู่ใกล้ใจกลางเมืองมาก ประมาณไม่เกิน 5-6 ก.ม.เท่านั้น เรียกว่าอยู่ในชุมชนเลยครับ คนงานหาง่ายมาก อาหารการกินสะดวกมาก มีร้านอาหารหรูๆในนิคมอุตสาหกกรมนี้หลายร้าน มีซุปเปอร์มาร์เก็ต ปั้มน้ำมัน และสิ่งอำนวยความสะดวกครบตั้งอยู่ภายในนิคมฯด้วยเช่นกัน

ข้อเสียหรือจุดด้อยของนิคมอุตสาหกรรมนี้ คือ ความวุ่นวายในนิคมอุตสาหกรรมที่แก้ไม่ได้สักที ทั้งท่อระบายน้ำควันที่เกิดจากการหลอมเหล็ก มลพิษเตาไฟที่ใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงาน

อีกทั้งเวลาฝนตกแทบไม่อยากเข้าไปเลยครับ อีกอย่างที่สำคัญคือราคาที่ดินค่อนข้างจะแพงมากๆ ที่สำคัญคือคนงานเยอะมาก ถ้ามีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมียามรักษาการณ์ที่ใว้ใจได้จริงๆ ไม่งั้นของหายแน่ๆครับ

ที่จริงผมเองก็เคยเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนี้มาก่อน เมื่อปี 2007-2009 ผมได้มาเช่าอาคารในนิคมอุตสาหกรรมนี้เพื่อผลิตเครื่องสำอางค์ร่วมกับน้องๆบริษัทเครื่องสำอางค์ยี่ห้อหนึ่งในประเทศไทย

ซึ่งผมนำเข้าไปขายในเมียนมาในยุคนั้น การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้าไปขาย ถ้าจะโฆษณาสินค้าที่เป็นสินค้านำเข้า จะต้องจ่ายค่าโฆษณาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเมียนมา เราจึงตกลงใจร่วมกันไปตั้งโรงงานที่นั่น แล้วนำเข้าวัตถุดิบจากกรุงเทพฯไปผลิตที่นั่น ซึ่งขั้นตอนเยอะมาก ต้องขออนุญาตโน่น นี่ นั่น เยอะแยะไปหมดพอขออนุญาตผ่านหมด จึงได้เริ่มผลิต

ส่วนการจัดจำหน่ายนั้น ผมก็มาเช่าร้านค้าที่หน้าตลาด Yuzonna Plaza ซึ่งห่างจากตลาดค้าส่งแม่งกะลาเซ ประมาณ 500 เมตร การค้ากำลังดำเนินไปด้วยดี ในปลายเดือนเมษายน ปี 2008 ปรากฏว่ามีมรสุมพัดผ่านประเทศเมียนมา ชื่อว่า “นากีส” แรงลมได้เพิ่มกระแสลมแรงขึ้นแรงขึ้นทุกวัน

ซึ่งตัวผมเองได้เดินทางกลับมากรุงเทพฯแล้ว ปล่อยให้ลูกน้องอยู่โยงที่โรงงานที่ย่างกุ้ง จนกระทัjงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2008 พายุกระหน่ำเข้ามาทางรัฐอิระวดีเข้าสู่กรุงย่างกุ้ง ทำให้บ้านเมืองถล่มทะลายหมด ต้นไม้ถอนรากถอนโคน พังยับเยินไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ไร่นาล่ม บ้านเรือนพังเป็นแถบๆ มีผู้ประสบภัยมากมาย และมีผู้เสียชีวิตแสนสามหมื่นแปดพันกว่าคน ศพเกลื่อนท้องนา รัฐอิยะวดีไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้ เพราะทางการเมียนมาไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไปได้

ผมต้องใส่โสร่งติดรถเพื่อนชาวเมียนมาเข้าไปแจกข้าวสารและเครื่องบรรเทาภัย ในส่วนของธุรกิจส่วนตัวของผม โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโตงตะโก่งเละ!!!!

โรงงานและบ้านเป็นอาคารสามชั้น บนชั้นสามถูกต้นไม้ที่ต้นใหญ่ประมาณหนึ่งคนโอบ พุ่งเข้าชนทะลุถึงห้องเก็บของเดชะบุญที่พนักงานเขานอนกันที่ชั้นสอง เลยรอดปลอดภัยมาครับ

ดังนั้นผมจึงมีความคุ้นเคยกับนิคมอุตสาหกรรมโตงตะโก่งเป็นอย่างยิ่ง อีกอย่างหนึ่งที่ผมประทับใจไม่รู้ลืม คือทุกวันเวลาที่เดินออกนอกบ้าน จะพบแต่ชาวบ้านที่เป็นแรงงานที่ตัวดำๆ เปรอะเปื่อนไปด้วยฝุ่นควันของถ่านหินที่เขาใช้เผาเตาหลอม

ยิ่งในช่วงพลบค่ำ แรงงานจะออกมาอาบน้ำหน้าโรงงาน ใช้ผงซักฟอกขัดตัวยังไงก็ไม่ขาวไปได้เลยแต่ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้วครับ ล่าสุดที่ผมเข้าไปเยี่ยมเยือน บ้านหลังเก่าที่เคยอาศัยอยู่ก็หาไม่เจอแล้วครับเพราะนิคมอุตสาหกรรมโตงตะโก่งไม่ได้เลอะเทอะเปรอะเปื่อนเหมือนเดิมแล้ว

การค้าขายเหล็กแบบเดิมๆก็เปลี่ยนไปเป็นแบบโมเดิร์นเทรดแล้ว เตาหลอมแบบเก่าๆ ก็ได้เริ่มหายากขึ้นแล้วครับ เริ่มมีเครื่องจักรกลทันสมัยเข้ามา อีกทั้งหน้าตาโรงงานก็เริ่มดูดีขึ้น ผู้คนชาวแรงงานก็ดูดีขึ้นเยอะ

เริ่มเห็นสาวๆแต่งเนื้อแต่งตัวสวยงามขึ้นเยอะแล้วครับ