posttoday

อุทกภัยในเมียนมา

25 กรกฎาคม 2563

โดยกริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

วันนี้ผมขออนุญาต คั่นรายการจากแนะนำนิคมอุตสาหกรรมสักหนึ่งสัปดาห์นะครับ เพราะเข้าสู่ฤดูฝนอีกแล้ว ซึ่งทุกครั้งมักจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมตามมาทุกปี

ในปีนี้แม้มรสุมจะมาไม่เร็วมาก แต่ก็ดูเหมือนว่าก็ไม่ล่าช้าเกินไป เรียกว่ามาตามนัดเลยครับ โดยเริ่มจากเหตุการณ์แรกโดยมีมรสุมกระหน่ำใส่รัฐกะฉิ่นทางภาคเหนือของประเทศเมียนมา

เมื่อวันที่ 2 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเหตุการณ์เหมืองหยกในเขตเมืองปะกั่น (Hpakant) รัฐกะฉิ่นถล่ม จนมีแรงงานเสียชีวิตไปร่วม 300 คน ซึ่งข่าวนี้ดังข้ามประเทศเลย นี่เป็นเพียงการออกแขกก่อนลิเกจะมาของฤดูน้ำหลากเท่านั้น ต้องดูกันยาวๆครับ

เพราะประเทศเมียนมามีอะไรที่เราคาดไม่ถึงเยอะครับ เดี๋ยวจะเล่าให้อ่านเล่นๆกันนะครับ ที่ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์มากๆอย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังมาหลายครั้งหลายตอนแล้ว ทั้งทรัพยากรใต้ดินและบนดิน ซึ่งบนดินหมายถึงป่าไม้และแม่น้ำลำธารยังอุดมสมบูรณ์มาก

การตัดไม้ทำลายป่ายังมีไม่เยอะ ทำให้การอุ้มน้ำของป่าไม้ยังมีมาก น้ำจึงไม่ค่อยเหือดแห้งเหมือนบ้านเรา

ดังนั้นจึงทำให้การเกษตรของเขาทำได้ดีกว่าเรา ผมเคยพาเพื่อนที่เป็นคนในวงการค้าข้าวไปเที่ยวดูตลาดและเข้าไปดูที่ต่างเมือง เรามีมติเป็นเอกฉันท์ว่าเมียนมาดีกว่าเราจริงๆแหะ เพราะตอนที่เราไปนั้น ที่บ้านเรากำลังเกิดฝนแล้งพอดี

แต่ไปที่นั่นเราได้เห็นน้ำในนาและคนกำลังทำนาเขียวชะอุ่มอยู่ จึงมีฉันทามติเช่นนั้นครับ พอน้ำได้มีป่าไม้มาซับน้ำ น้ำในแม่น้ำจึงไม่เหือดแห้งหายไป แม้การลอกคูคลองและแม่น้ำเขาจะไม่ได้ทำกัน

พอมรสุมเข้าแค่นั้นแหละ น้ำก็จะเอ่อล้นตลิ่งเป็นประจำครับ น้ำท่วมจึงเป็นเรื่องปกติของเขาเลยครับ

ผมเข้ามาทำมาหารับประทานที่นี่มาร่วมสามสิบปี เรียกว่าไม่มีปีไหนที่ไม่ได้ทำ CSR บริจาคสิ่งของเลยครับ ต้องมีงานเข้าแทบจะทำไม่ไหวเลยครับ

ส่วนที่มีคนถามว่าที่เขตไหนจะท่วมเยอะที่สุด ต้องบอกว่าถ้าเราแบ่งประเทศเมียนมาเป็นสองฝั่ง คือฝั่งซ้ายและฝั่งขวา

เราจะเห็นชัดนะครับว่า ทางฝั่งซ้ายหรือฝั่งตะวันตกนั้นอยู่ในเขตครอบครองของแม่น้ำอิยะวดี แม่น้ำนี้ไหลมาจากปลายๆของเทือกเขาหิมาลัยเข้ามาทางรัฐกะฉิ่นทางเหนือของเมียนมา รวมตัวลงมาเป็นแม่น้ำมิค่ากับแม่น้ำมาริก้า

แล้วมารวมเป็นแม่น้ำอิยวดี จากนั้นจะไหลลงมาผ่านรัฐสะกาย รัฐมัณฑะเลย์รัฐมะไกว และอีกเสี้ยวหนึ่งของทางตะวันตกของรัฐพะโค แล้วจึงไหลเข้าสู่รัฐอิยะวดี

พอมาถึงรัฐอิยะวดีก็แตกออกเป็นแม่น้ำสายเล็กสายน้อยอีกสิบเอ็ดสายแต่ละสายก็ไม่เล็กนะครับ กว้างใหญ่เอาการเลยครับ ที่นี่สายที่กว้างที่สุดกว้างถึงห้ากิโลเมตรเลยทีเดียวครับ ดังนั้นลุ่มแม่น้ำอิยะวดีจึงมีความงดงามมาก

ผมเองก็มิอาจทราบได้ว่าท่านกวีเอกของไทยท่าน “ยาขอบ” ท่านไปนั่งดูส่วนไหนของลุ่มแม่น้ำอิยะวดี จึงได้มีบทประพันธ์เป็นบทเพลงที่เป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ออกมาครับ

ส่วนน้ำท่วมในฝั่งนี้ผมจะเห็นมาโดยตลอดครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านรัฐมัณฑะเลย์ที่เห็นเป็นประจำทุกปี เรียกว่าเป็นเทศกาลน้ำท่วมเลยครับ ถ้าเรานั่งรถมาจากสนามบินจะเข้าเมือง แล้ววิ่งมาทางถนนสายเก่า เราจะเห็นน้ำท่วมตะลิ่งที่นั่นเป็นประจำ

สิ่งที่ติดตา คือ ชาวบ้านมักมาปลูกกระท่อมใว้บนไหล่ถนน บางครั้งก็รุกล้ำมากินพื้นที่ถนนทุกปีครับ ปีนี้ก็คงไม่เหนือความคาดหมาย

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา เขื่อนที่ Shwe Ge ทางเหนือของมัณฑะเลย์ในเขต Amarapura เกิดแตก ทำให้มีน้ำทะลักท่วมเมืองมัณฑะเลย์เสียหายหนักมาก แต่คาดว่าน่าจะทุเลาลงในวันที่ 23 นี้แล้วละครับ

ทางฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันออกของประเทศเมียนมา ก็เป็นเขตอิทธิพลของลุ่มน้ำสาละวินเขาละครับ แม่น้ำสาละวินไหลลงมาจากรัฐฉาน ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายที่รัฐฉาน ไหลมารวมกันไหลลงสู่ทะเลสาบอินเล

ท่านที่เคยไปเที่ยวคงนึกภาพออก ที่ทะเลสาบนี้โด่งดังไปทั่วโลก เพราะมีการปลูกพืชผักด้วยวิธีใช้วัชพืชใต้น้ำมาโป๊ะๆกันลอยบนน้ำ แล้วจึงดำน้ำไปเอาดินขึ้นมาโป๊ะต่อ ทำเป็นแปลงเพาะปลูกกันบนน้ำเลย

ที่ขึ้นชื่ออีกอย่างของทะเลสาบอินเล คือ เจดีย์กลางน้ำที่ประดิษฐานของพระบัวเข็มห้าองค์ ทุกปีช่วงเข้าพรรษาและออกพรรษาจะมีเทศกาลใหญ่ที่นั่น มีการแห่เรือกันมา

ซึ่งพี่น้องไตหรือชาวไตหนอง (ชนชาติพันธุ์ไทใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง) จะพากันแต่งสวยแต่งหล่อแห่เรือมาที่วัด สวยงามตามปะสาครับ

อ้าว.....คุยเรื่องน้ำท่วมกลายเป็นเรื่องท่องเที่ยวเสียนี่ กลับมาครับ

น้ำจากแม่น้ำต่างๆที่ไหลมาแล้วไหลออกไปรวมตัวกันเป็นแม่น้ำสาละวินไหลลงสู่รัฐกะหย่า รัฐกะหยิ่น(กระเหรี่ยง) ในแต่ละรัฐยังมีแม่น้ำอื่นๆอีกหลายสายเข้ามาสมทบกัน ทำให้แม่น้ำสาละวินใหญ่ขึ้นๆ

แล้วจึงเข้าสู่รัฐมอญ ออกสู่ทะเลที่เมืองเมาะละแมงที่ปากน้ำเมาะละแมงน้ำที่นี่จึงมีความใหญ่โต ในฤดูน้ำหลากก็มีความเชี่ยวกรากไม่แพ้กันกับแม่น้ำอิยะวดีเลยครับ

น้ำที่ท่วมฝั่งแม่น้ำสาละวินนี้ เราจะได้ยินข่าวสารมาโดยตลอดครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2018 ปีนั้นน้ำท่วมที่นี่ถึงสามครั้ง ท่วมครั้งแรกประชาชนก็แห่กันเรี่ยไรเงินและสิ่งของไปช่วยกัน

พอน้ำลดชาวบ้านก็เริ่มเข้าไร่นาเพาะปลูกกัน ยังไม่ทันไรน้ำมาอีกแล้ว ไร่นาเรือกสวนเสียหายหมด น้ำแห้งครั้งที่สองก็เหมือนเดิม พอท่วมครั้งที่สามคนเรี่ยไรก็ชักจะเพลียเหมือนกัน จึงไม่ค่อยมีคนช่วยแล้ว

ดีที่ผม(พระเอกขี่ม้าขาวมา...ฮา)เข้ารับตำแหน่งประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมาใหม่ๆ เลยชวนเพื่อนๆเรี่ยไรสิ่งของและเงินไปจัดซื้อข้าวสารอาหารแห้งไปช่วย

ครั้งนั้นได้เงินและสิ่งของเป็นมูลค่ากว่า 1.800.000 บาท (หนึ่งล้านแปดแสนบาท)ทีเดียว ต้องกราบขอบพระคุณเพื่อนๆที่มีใจเมตตาทุกท่านเลยครับปีนี้ดูทีท่าแล้วคงจะเอาเรื่องไม่เบาเช่นเคย

เพราะเท่าที่สอบถามเพื่อนๆที่อยู่ในพื้นที่เขาเล่าว่า ปีนี้น้ำเยอะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ดังนั้นคงจะหนักเอาการละครับ